- Details
- Category: ธปท.
- Published: Sunday, 15 February 2015 00:18
- Hits: 3176
ผู้ว่า ธปท.คาดจีดีพีปีนี้โต 4% บริโภค-ท่องเที่ยวฟื้นเด่นชัด ส่วน ปชช.กังวลภาวะเงินฝืดเป็นเรื่องความรู้สึก
ผู้ว่า ธปท.คาดจีดีพีปีนี้โต4%โดยครึ่งปีแรกโตประมาณ 4% และโต 3%กว่าในครึ่งปีหลัง จากการบริโภค-ท่องเที่ยวฟื้นเด่นชัด ส่วนกรณี ปชช.กังวลเงินฝืดและระวังใช้จ่ายเป็นเรื่องของความรู้สึก ยันโอกาสที่เงินเฟ้อจะติดลบยากมาก เพราะราคาน้ำมันจะต้องลงไปต่ำถึง 25 เหรียญฯต่อบาเรล
นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า แนวโน้มเศรษฐกิจของไทย หรือ จีดีพี ปีนี้ คาดว่าจะขยายตัวได้ 4% โดยครึ่งปีแรกคาดว่าจีดีพีจะขยายตัวได้ 4% และครึ่งปีหลังคาดว่าจะขยายตัวได้ที่ระดับ 3% กว่า โดยเศรษฐกิจฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการอุปโภคบริโภค การท่องเที่ยวที่ฟื้นตัวกลับมาอย่างเห็นได้ชัด ส่วนการลงทุนเริ่มกลับมาเล็กน้อย ขณะที่ภาคการส่งออกเป็นส่วนที่ยังไม่ค่อยดีเท่าใดนัก เนื่องจากเศรษฐกิจต่างประเทศยังฟื้นตัวล่าช้า
"สำหรับตัวเลขจีดีพีของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจ และสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ จะเป็นตัวเลขล่าสุดที่มีข้อมูลจนถึงเดือนธันวาคมของปีที่ผ่านมา โดยแนวโน้มเศรษฐกิจในระยะต่อไปจะเป็นอย่างไรคงจะต้องพิจารณาในรายละเอียดเบื้องลึกของข้อมูลที่จะประกาศออกมาในแต่ละภาคส่วนเป็นสำคัญ"นายประสาร กล่าว
อย่างไรก็ดี ในส่วนของข้อกังวลเรื่องของภาวะเงินฝืดที่อาจจะเกิดขึ้นจากพฤติกรรมของประชาชนที่มีการระมัดระวังเรื่องของการใช้จ่ายมากขึ้น เพื่อรอดูแนวโน้ม รวมถึงทิศทางของเศรษฐกิจ และการดำเนินนโยบายของรัฐบาลนั้น คงปฏิเสธไม่ได้ว่าเรื่องดังกล่าวเป็นเรื่องของความรู้สึก แต่ทั้งนี้ เวลาที่ ธปท.พิจารณาก็จะมองในภาพรวมเป็นหลัก ซึ่งจะมองจากการอุปโภคบริโภค โดยเท่าที่รับรู้ข้อมูลในด้านดังกล่าวก็มีสัญญาณการฟื้นตัวที่ดีขึ้น แม้ว่าจะไม่ได้รวดเร็วมากนัก แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะช้าเสียทีเดียว
นอกจากนี้ เรื่องของราคาน้ำมันของตลาดโลกที่มีการปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับที่ผ่านมาไทยมีการปรับโครงสร้าง ส่งผลให้การส่งต่อไปยังผู้อุปโภคบริโภคได้น้อย โดยในช่วงเดือนที่ผ่านมาตัวเลขที่ ธปท.คำนวณก็คือหากราคาน้ำมันในตลาดโลก 34 บาท จะมีการส่งต่อไปยังผู้อุปโภคบริโภคเพียงแค่ 13 บาท เนื่องจากมีการปรับโครงสร้าง อย่างไรก็ดี เมื่อเวลาผ่านไปสักระยะเรื่องของกองทุนน้ำมันก็อยู่ในระดับที่ดีพอสมควร และมีการส่งต่อไปยังผู้บริโภคก็จะทำให้มีกำลังซื้อมากขึ้น ขณะที่ทางด้านของภาคเอกชนในช่วงที่ผ่านมาก็จะพบว่ามีการรอดูสถานการณ์อยู่ แต่ในช่วงหลังก็เริ่มที่จะเห็นว่าบางโครงการ เช่น โทรคมนาคม เริ่มมีการลงทุน เป็นต้น
“หากจะบอกว่าเรากำลังเผชิญกับภาวะเงินฝืดทางเทคนิคจากการที่อัตราเงินเฟ้อมีโอกาสติดลบนั้น คงต้องเรียนว่าเงินเฟ้อพื้นฐานยังไม่ได้ติดลบ แต่ในส่วนของเงินเฟ้อทั่วไปซึ่งมีการรวมน้ำมันกับอาหารสดเข้ามาด้วย เพราะฉะนั้นสิ่งที่ทำให้เงินเฟ้อทั่วไปติดลบก็คือเรื่องของราคาน้ำมัน แต่หากเราดูเงินเฟ้อพื้นฐานจะไม่ติดลบ โดยแม้ว่าความต้องการจะมีการชะลอลงก็จริง แต่ก็ไม่ถึงกับทรุด ซึ่งลักษณะของเงินฝืด (Deflation)ความต้องการจะต้องทรุด แต่สถานการณ์ตอนนี้ไม่ใช่แบบนั้น”นายประสาร กล่าว
นายประสาร กล่าวต่อไปอีกว่า การที่คาดการณ์ว่าความต้องการอุปโภคบริโภคจะลดลงอย่างต่อเนื่องนั้น เป็นมุมมองทางด้านร้าย ซึ่ง ธปท.มีการประเมินทั้งปีเงินเฟ้อพื้นฐานน่าจะอยู่ที่ระดับ 1% ขณะที่เงินเฟ้อทั่วไปอาจจะลดต่ำลงไปกว่าเล็กน้อย แต่ก็ถือว่าอยู่ในแนวขอบล่างของประมาณการณ์เงินเฟ้อ โดยเชื่อว่าไม่น่าจะติดลบในปีนี้ เนื่องจากช่วงครึ่งปีหลังจะเป็นบวก ขณะที่ในปี 59ตัวเลขที่ ธปท. คาดการณ์เงินพื้นฐานน่าจะอยู่ที่ 2.5% เพราะเชื่อว่าราคาน้ำมันจะปรับเพิ่มขึ้นมา
“เวลาที่เราพูดถึงของราคาน้ำมัน ในเวลานี้ซึ่งมีการปรับตัวลดลง หากจะให้เงินเฟ้อติดลบราคาน้ำมันจะต้องลงไปอีก 25 เหรียญต่อบาเรล เพราะครั้งที่ผ่านมาคือมีการปรับลดลงจาก 100 เหรียญต่อบาเรลเป็น 50 เหรียญต่อบาเรล ซึ่งเป็น 50% ของที่ปรับลงของราคาน้ำมันตลาดโลก เพราะฉะนั้นหากจะให้ลดลงอีก 50% ก็จะต้องเหลือ25 เหรียญต่อบาเรล ซึ่งคงไม่มีผู้ใดคิดว่าจะลดลงไปถึงระดับดังกล่าว"นายประสาร กล่าว
สำนักข่าวอีไฟแนนซ์ไทย