- Details
- Category: ธปท.
- Published: Friday, 30 May 2014 22:19
- Hits: 4289
ธปท. มองจีดีพีปีนี้โตไม่ถึง 2.7% แม้ คสช.เดินหน้ากระตุ้น ศก. เชื่อส่งผลชัดเจนปี 58 - เล็งหั่นเป้าส่งออกปีนี้ คาดโตไม่ถึง 4.5%
ธปท. มองจีดีพีปีนี้โตไม่ถึง 2.7% แม้ คสช.เดินหน้ากระตุ้น ศก. เชื่อส่งผลชัดเจนปี 58 เล็งหั่นเป้าส่งออกปีนี้ คาดโตไม่ถึง 4.5% ขณะที่เศรษฐกิจเดือน เม.ย. ทรงตัวจากเดือนก่อนหน้า การผลิตอุตสาหกรรมทรงตัว - ส่งออกฟื้นตัวช้า โดยยังติดลบ 0.9% ส่วนนำเข้าติดลบ 13.8% ด้าน เงินเฟ้อทั่วไป เม.ย. อยู่ที่ 2.45% - เงินเฟ้อพื้นฐาน อยู่ที่ 1.66%
นายเมธี สุภาพงษ์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายนโยบายเศรษฐกิจการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) เปิดเผยว่า แม้ว่าไทยจะมีการทำรัฐประหาร โดยมีคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช.เข้ามาบริหารจัดการประเทศในช่วงนี้ โดยเฉพาะการเร่งมาตรการทางเศรษฐกิจออกมา เชื่อว่าจะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจอย่างชัดเจนในปี 2558 มากกว่า ในขณะที่ปีนี้อาจจะได้รับผลดีบ้างแต่ไม่มากนัก เนื่องจากได้ผ่านมาครึ่งปีแล้ว ดังนั้นโอกาสที่จีดีพีปีนี้จะขยายตัวปรับขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 2.7% คงไม่ง่าย
"โอกาสคงไม่ง่ายที่จีดีพีจะกลับไปที่ 2.7% คงต้องรอดูว่าในเดือนหน้าตัวเลขจีดีพีที่จะปรับใหม่จะออกมาเป็นอย่างไร โดยแม้ว่าจะมีการกระตุ้นเศรษฐกิจออกมา แต่เป็นลักษณะของการทยอยไม่ใช่เกิดขึ้นทันที และนี่ก็ผ่านมาครึ่งปีแล้วจึงเชื่อว่าผลบวกส่วนใหญ่จะไปเกิดขึ้นในปีหน้า" นายเมธี กล่าว
นอกจากนั้น ในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.)ใน เดือน มิ.ย. คาดว่าจะมีการปรับลดเป้าส่งออกปีนี้ เหลือเติบโตไม่ถึง 4.5% หลังจากที่ก่อนหน้าที่กระทรวงพาณิชย์เพิ่งปรับเป้าส่งออกปีนี้ลงเหลือโต 3.5%
" แม้การส่งออกจะโตน้อยกว่า 4.5% แต่ยังถือเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่สำคัญของปีนี้ รวมถึงการใช้จ่ายของภาครัฐที่น่าจะช่วยหนุนอีกแรงหนึ่ง จากการเร่งเบิกจ่ายงบปี 57 ที่ยังค้างอยู่ ในขณะที่งบประมาณปี 58 จะมีทั้งงบประจำและงบลงทุนเข้ามาจะช่วยสนับสนุนให้เศรษฐกิจกลับเข้าสู่ภาวะปกติได้" นายเมธี กล่าว
ส่วนการที่ชาวนาได้รับเงินจำนำข้าว ถือว่ามีส่วนช่วยสนับสนุนเศรษฐกิจได้บ้าง โดยเฉพาะการกระตุ้นอุตสาหกรรมการเกษตร ค้าปลีกและค้าส่ง ซึ่งจะได้รับอานิสงส์จากตรงนี้ด้วย
นายเมธี เปิดเผยถึงภาพรวมเศรษฐกิจเดือนเมษายน 2557 ทรงตัวจากเดือนก่อนหน้า โดยการผลิตภาคอุตสาหกรรมทรงตัวสอดคล้องกับการใช้จ่ายของครัวเรือนและธุรกิจที่ยังกังวลต่อสถานการณ์ทางเศรษฐกิจและการเมือง ขณะเดียวกันการส่งออกในภาพรวมฟื้นตัวได้ช้า แม้การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมปรับตัวดีขึ้น แต่การส่งออกสินค้าเกษตรได้รับผลกระทบจากราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่ตกต่ำและอุปสงค์จากจีนที่ชะลอตัว สำหรับภาคการท่องเที่ยวปรับตัวดีขึ้นหลังการยกเลิก พ.ร.ก. ฉุกเฉิน
ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจ การว่างงานอยู่ในระดับต่ำ อัตราเงินเฟ้อปรับสูงขึ้นตามราคาอาหารส่าเร็จรูปและราคาพลังงาน ดุลการค้าเกินดุล ดุลบัญชีเดินสะพัดขาดดุลจากการส่งกลับกำไรและเงินปันผล ไปต่างประเทศของบริษัทต่างชาติ ดุลเงินทุนเคลื่อนย้ายเกินดุลจากทั้งการลงทุนโดยตรงและการลงทุนในหลักทรัพย์ของนักลงทุนต่างชาติ โดยรวมดุลการช่าระเงินเกินดุล
ทั้งนี้ การส่งออกเดือน เม.ย.57 หดตัว 0.9% จากช่วงเดียวกันปีก่อน ตามการส่งออกสินค้าเกษตรและสินค้าเกษตรแปรรูปที่ได้รับผลจากคำสั่งซื้อจากจีนที่ลดลง รวมถึงการส่งออกสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ที่มีความต้องการจากจีนและอาเซียนชะลอตัว และการส่งออกปิโตรเลียมที่ลดลง เนื่องจากมีการปิดซ่อมบำรุงโรงงาน
ส่วนนำเข้าเดือน เม.ย. หดตัว 13.8% จากช่วงเดียวกันปีก่อน โดยมีมูลค่า 1.65 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ ตามการนำเข้าสินค้าทุน วัตถุดิบ และสินค้าขั้นกลางเป็นสำคัญ โดยอัตราการลดลงทรงตัวจากเดือนก่อนที่หดตัว 13.7%
โดย ในเดือน เม.ย.ดุลการค้าเกินดุล 559 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลงจากเดือนก่อนหน้าที่เกินดุล 3,480 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยการเกินดุลการค้าในเดือนนี้เป็นผลมาจากการนำเข้าสินค้าที่ยังคงหดตัวสูง
ในขณะที่ดุลบริการ รายได้ และเงินโอน ขาดดุล 1,202 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ตามการส่งกลับกำไรและเงินปันผลของบริษัทต่างชาติ ส่งผลให้โดยรวมดุลบัญชีเดินสะพัดขาดดุล 643 ล้านดอลลาร์สหรัฐ จากเดือนก่อนหน้าที่เกินดุล 2,898 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
สำหรับอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเดือน เม.ย. เร่งขึ้นอยู่ที่ 2.45% จากเดือน มี.ค. อยู่ที่ 2.11% ซึ่งเป็นไปตามอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานและราคาพลังงานเป็นสำคัญ
โดยในเดือนเดียวกันนี้ อัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน (ไม่รวมราคาอาหารสดและพลังงาน) เร่งขึ้นต่อเนื่องจากเดือน มี.ค.ที่อยู่ 1.31% เป็น 1.66% จากการส่งผ่านต้นทุนก๊าซหุงต้มและเครื่องประกอบอาหารไปยังราคาอาหารสำเร็จรูปและราคาพลังงานที่เร่งขึ้นจากเดือนก่อนตามราคาขายปลีก ในขณะที่ราคาอาหารสดชะลอลงจากราคาผักและผลไม้ที่มีผลของฐานสูงในปีก่อน
ด้านดัชนีการอุปโภคบริโภคภาคเอกชนเดือน เม.ย. หดตัว 0.8% จากระยะเดียวกันปีก่อน ตามการใช้จ่ายสินค้าคงทนที่ลดลงและการใช้จ่ายสินค้าไม่คงทนที่โดยรวมทรงตัว เนื่องจากครัวเรือนที่มีภาระหนี้สินในระดับสูงยังคงระมัดระวังในการใช้จ่าย ประกอบกับภาวะเศรษฐกิจ ที่ชะลอตัวและราคาสินค้าเกษตรสำคัญที่ตกต่ำกระทบต่อรายได้ครัวเรือน
สำหรับ ดัชนีการลงทุนภาคเอกชน หดตัว 4.7% จากระยะเดียวกันปีก่อน เนื่องจากผู้ประกอบการชะลอการลงทุนออกไปเพื่อรอความชัดเจนทางเศรษฐกิจและการเมือง ส่งผลให้การลงทุนในหมวดเครื่องจักรและอุปกรณ์หดตัวต่อเนื่อง โดยเฉพาะการลงทุนของอุตสาหกรรมยานยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ และเครื่องใช้ไฟฟ้า ขณะที่การลงทุนในหมวดก่อสร้างชะลอลงตามภาวะเศรษฐกิจ
สำนักข่าวอีไฟแนนซ์ไทย