WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

1a 1DG

แนวทางการกำกับดูแลกลุ่มธุรกิจทางการเงินของธนาคารพาณิชย์ที่ทำธุรกิจเกี่ยวกับดิจิทัล

     ธปท. ปรับแนวทางดูแลกลุ่ม ธพ. ส่งเสริมการพัฒนาบริการผ่านเทคโนโลยี ยกระดับธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล ยกเลิกข้อจำกัดการลงทุนในธุรกิจ FinTech

     นางรุ่ง มัลลิกะมาส ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ภายใต้แนวนโยบายภูมิทัศน์ใหม่ภาคการเงินไทยเพื่อเศรษฐกิจดิจิทัลและการเติบโตอย่างยั่งยืน (แนวนโยบาย Financial Landscape) ที่มุ่งเน้นการสร้างสมดุลระหว่างการส่งเสริมนวัตกรรมและการบริหารความเสี่ยง เพื่อให้ภาคการเงินสามารถใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีในการพัฒนานวัตกรรมและบริการทางการเงินที่ดีขึ้น และสามารถบริหารจัดการความเสี่ยงใหม่ๆ ได้อย่างเหมาะสมนั้น

     ที่ผ่านมาเทคโนโลยีในภาคการเงินที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วผลักดันให้ธนาคารพาณิชย์ (ธพ.) เริ่มปรับโครงสร้างกลุ่มธุรกิจทางการเงิน (กลุ่ม ธพ.) และให้ความสนใจกับการเพิ่มบทบาทในธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล (digital assets: DA) มากขึ้น ซึ่งเป็นโอกาสในการยกระดับการให้บริการทางการเงิน แต่ก็อาจทำให้เกิดความเสี่ยงรูปแบบใหม่ ๆ ธปท. จึงได้ปรับปรุงเกณฑ์ให้กลุ่ม ธพ. มีความยืดหยุ่นมากขึ้นในการประกอบธุรกิจ และยกระดับการกำกับกลุ่ม ธพ. ให้สอดคล้องกับความเสี่ยงที่เปลี่ยนไป โดยพิจารณาทั้งประโยชน์ต่อประชาชนและความเสี่ยงต่อเสถียรภาพของระบบการเงินโดยรวม ซึ่งมีสาระสำคัญดังนี้

  • ยกเลิกเพดานการลงทุนในธุรกิจ FinTech จากเดิมที่เคยกำหนดไว้ที่ 3% ของเงินกองทุน เพื่อให้กลุ่ม ธพ. ใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีทางการเงิน (FinTech) ได้มากขึ้น เนื่องจากเห็นประโยชน์ที่ชัดเจน อีกทั้งกลุ่ม ธพ. มีประสบการณ์การลงทุนในธุรกิจ FinTech มากขึ้น และหน่วยงานกำกับดูแลมีแนวทางดูแลความเสี่ยงในระดับหนึ่งแล้ว
  • ให้บริษัทในกลุ่ม ธพ. สามารถลงทุนในกิจการที่ประกอบธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับ DA ภายใต้เพดานที่ 3% ของเงินกองทุน เพื่อให้การขยายตัวเป็นไปอย่างค่อยเป็นค่อยไป ช่วยจำกัดความเสี่ยงใหม่ ๆ ที่อาจกระทบความเชื่อมั่นต่อ ธพ. และให้กลุ่ม ธพ. พิจารณาการลงทุนหรือจัดสรรทรัพยากรอย่างรอบคอบ โดยเมื่อมีมาตรฐานการกำกับดูแลที่เป็นสากลหรือมีแนวทางการบริหารความเสี่ยงที่ชัดเจนเพียงพอ ก็สามารถปรับเพิ่มหรือยกเลิกเพดานการลงทุนที่กำหนดได้เป็นการทั่วไป เช่นเดียวกับเพดานการลงทุนในธุรกิจ FinTech
  • หาก ธพ. สามารถยกระดับมาตรฐานของกิจการ DA ใดให้เป็นไปตามที่กำหนดได้ เช่น เรื่องธรรมาภิบาล การดูแลความเสี่ยงระบบงาน และการคุ้มครองผู้ใช้บริการ อนุญาตให้ไม่นับเงินลงทุนของกิจการนั้นในเพดานการลงทุน เพื่อสร้างแรงจูงใจในการยกระดับมาตรฐานการดำเนินธุรกิจ DA ในกลุ่ม ธพ. อันจะนำไปสู่การยกระดับมาตรฐานธุรกิจ DA ของประเทศ
  • ให้ธุรกิจที่ยังมีความเสี่ยงหรือยังไม่มีหน่วยงานกำกับดูแล สามารถดำเนินงานในกรอบ Sandbox ได้ในวงจำกัดก่อน เพื่อพิจารณาถึงประโยชน์ของประเทศ การดูแลความเสี่ยง และผลกระทบต่อระบบในภาพรวม ก่อนการให้บริการในวงกว้างต่อไป
  • ให้กลุ่ม ธพ. จำกัดความเสี่ยงจากความเชื่อมโยงที่อาจเกิดต่อ ธพ. เพื่อให้การดำเนินงานในธุรกิจใหม่ ๆ ของกลุ่ม ธพ. ไม่กระทบต่อผู้ฝากเงินและระบบการเงิน โดยยังไม่อนุญาตให้ ธพ. ประกอบธุรกิจ DA ได้โดยตรง กลุ่ม ธพ. มีโครงสร้างกรรมการที่ไม่มีการขัดกันของผลประโยชน์ มีเงินกองทุนเพียงพอรองรับความเสี่ยงใหม่ ๆ และ ธพ. มีระบบงานต่าง ๆ แยกออกจากธุรกิจที่มีความเสี่ยง

            นอกจากนี้ กลุ่ม ธพ. ในฐานะที่เป็นกลุ่มธุรกิจที่ถูกกำกับดูแลอย่างเข้มข้น ได้รับความไว้วางใจจากสาธารณชน และสามารถขยายตลาดสำหรับบริการใหม่ ๆ ได้เร็วจากฐานลูกค้าที่กว้างและหลากหลาย ซึ่งรวมถึงประชาชนกลุ่มเปราะบางด้วยนั้น จะต้องให้ความสำคัญกับการคุ้มครองผู้ใช้บริการ การแนะนำผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ โดยเฉพาะ DA ที่มีความเสี่ยงสูงจึงต้องทำอย่างระมัดระวัง พิจารณาถึงความรู้ทางการลงทุนและความสามารถในการรับความเสี่ยงของลูกค้าด้วย

            ธปท. เชื่อว่าการปรับเกณฑ์ดังกล่าว จะเอื้อให้ธุรกิจในภาคการเงินสามารถปรับตัวได้เท่าทันการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี สามารถดำเนินธุรกิจให้เติบโตได้อย่างยั่งยืน ระบบการเงินได้รับประโยชน์จากการแข่งขัน เกิดการพัฒนาบริการให้มีประสิทธิภาพ เพิ่มการเข้าถึงบริการทางการเงินของประชาชน และทำให้ธุรกิจ DA ในประเทศมีมาตรฐานการบริการที่เป็นที่ยอมรับ ภายใต้การบริหารความเสี่ยงที่ดี ผู้บริโภคได้รับการคุ้มครองอย่างเหมาะสม ซึ่งสอดคล้องกับผลลัพธ์ที่คาดหวัง รวมทั้งผลการรับฟังความคิดเห็นต่อแนวนโยบาย Financial Landscape

            ทั้งนี้ ธปท. จะออกร่างหลักเกณฑ์เพื่อรับฟังความเห็นบน BOT website ก่อนที่จะออกประกาศหลักเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องภายในครึ่งแรกของปี 2565

การกำกับดูแลกลุ่มธุรกิจทางการเงินของธนาคารพาณิชย์ที่ทำธุรกิจเกี่ยวกับดิจิทัล บริบทและความจำเป็นในการกำกับดูแล

            การพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยีด้านดิจิทัล โดยเฉพาะสินทรัพย์ดิจิทัล (digital assets: DA) มีแนวโน้มที่จะขยายตัวอย่างรวดเร็ว  การเปลี่ยนแปลงดังกล่าว เป็นโอกาสที่จะนำเทคโนโลยีมาช่วยพัฒนาบริการทางการเงิน แต่ขณะเดียวกันก็มาพร้อมความเสี่ยง ทั้งต่อเสถียรภาพของระบบการเงิน เช่น การนำ DA มาใช้เป็นสื่อในการชำระเงิน (Means of Payment) ในวงกว้าง หรือถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือฟอกเงิน

นอกจากนี้ หากธนาคารพาณิชย์ (ธพ.) จะเข้ามาประกอบธุรกิจ DA ก็อาจก่อให้เกิดความเสี่ยงแก่ ธพ. นั้นเอง เพราะไปเกี่ยวข้องกับสินทรัพย์ที่ผันผวนสูง รวมถึงอาจเป็นช่องทางส่งผ่านความเสี่ยงมายังประชาชนที่เป็นลูกค้าของ ธพ. เช่น ถูกชักชวนให้ลงทุนใน DA โดยขาดความรู้ความเข้าใจในการลงทุนที่ดีพอ

            ดังนั้น การกำกับดูแลกลุ่มธุรกิจทางการเงิน (กลุ่ม ธพ.) จึงควรรักษาความสมดุลระหว่างการพัฒนาด้านนวัตกรรมและการดูแลความเสี่ยงที่อยู่บนพื้นฐานของความรับผิดชอบต่อสังคมโดยรวม (responsible innovation) เนื่องจาก ธพ. อยู่ในฐานะที่แตกต่างจากธุรกิจทั่วไป เพราะรับเงินฝากของประชาชน และได้รับความไว้วางใจมาอย่างยาวนาน ดังนั้น การเข้าไปมีส่วนร่วมทางธุรกิจใด ๆ ของ ธพ. จึงต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ เพื่อป้องกันไม่ให้ใช้ช่องทางธุรกิจนี้จนนำไปสู่การขยายความเสี่ยงที่ไม่พึงประสงค์

            ธปท. ในฐานะผู้ดูแลเสถียรภาพเศรษฐกิจการเงินและสถาบันการเงิน รวมถึงผู้ใช้บริการทางการเงิน ที่อาจได้รับผลกระทบจากความเสี่ยงต่าง ๆ เหล่านี้ จึงต้องเข้ามากำกับดูแลให้การขยายตัวของธุรกิจใหม่ ๆ โดยเฉพาะ DA คำนึงถึงประโยชน์ต่อประชาชน ความเสี่ยงต่าง ๆ และเสถียรภาพของระบบการเงิน  ซึ่งสอดคล้องกับทิศทางการกำกับดูแลของหลายองค์กรในต่างประเทศที่เริ่มตระหนักถึงความจำเป็นที่จะต้องดูแล ทั้งนี้ แนวทางการกำกับดูแลจะอยู่บนพื้นฐานของความยืดหยุ่น ปรับเปลี่ยนได้ตามระดับความเสี่ยง  โดยหากพิสูจน์ได้ว่ามีประโยชน์ชัดเจนและสามารถดูแลหรือบริหารจัดการความเสี่ยงได้ ก็พร้อมจะผ่อนปรนมากขึ้น

วัตถุประสงค์ของการกำกับดูแล

สนับสนุนเทคโนโลยีหรือการพัฒนาบริการทางการเงินที่จะช่วยให้ระบบการเงินมีประสิทธิภาพ และเพิ่มการเข้าถึงบริการทางการเงิน เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อประชาชนและภาคธุรกิจ ไม่ปิดกั้นการใช้ DA ในรูปแบบที่มีประโยชน์

ป้องกันความเสี่ยงต่อเงินฝากของประชาชน และความเสี่ยงต่อความเชื่อมั่นของประชาชนต่อธุรกิจ ธพ.

คุ้มครองผู้บริโภคให้ได้รับบริการอย่างเป็นธรรม ป้องกันการชักชวนให้ผู้ที่เป็นกลุ่มเสี่ยงและไม่เข้าใจ DA เพียงพอมาลงทุน

ธุรกิจ DA ในประเทศมีมาตรฐานการให้บริการที่เหมาะสม มีการคุ้มครองลูกค้า มีการดูแลเรื่องการฟอกเงินหรือกิจกรรมที่ไม่พึงประสงค์ ซึ่งจะเป็นผลดีต่อกลุ่ม ธพ. ลูกค้า และระบบการเงินโดยรวม

แนวทางกำกับดูแล เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์

(1) เพิ่มความยืดหยุ่นในการประกอบธุรกิจของกลุ่ม ธพ. ส่งเสริม Open Competition โดยสนับสนุนนวัตกรรมในภาคการเงิน ให้ธุรกิจเกิดการแข่งขัน เพื่อให้ผู้ใช้บริการได้รับประโยชน์สูงสุด

  • ให้กลุ่มธุรกิจทางการเงินของ ธพ. ใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีทางการเงิน (FinTech) ได้มากขึ้น โดยยกเลิกเพดานการลงทุนในธุรกิจ FinTech เนื่องจากเห็นประโยชน์ที่ชัดเจนของการพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการ นอกจากนี้ ธพ. มีประสบการณ์เกี่ยวกับ FinTech มากพอ และมีแนวทางการดูแลความเสี่ยงของ FinTech ที่มั่นใจได้ในระดับหนึ่งแล้ว
  • ให้กลุ่มธุรกิจทางการเงินของ ธพ. มีบทบาทในธุรกิจ DA อย่างค่อยเป็นค่อยไป และมีมาตรฐานการให้บริการ การคุ้มครองผู้ใช้บริการที่เหมาะสม ความเสี่ยงใหม่ ๆ ของ DA แม้จะไม่กระทบฐานะทางการเงินของกลุ่ม ธพ. ภายใต้หลักเกณฑ์กำกับที่มีอยู่เดิม แต่อาจส่งผลกระทบถึงความเชื่อมั่นของ ธพ. ดังนั้น การขยายบทบาทของกลุ่ม ธพ. ในธุรกิจ DA อย่างค่อยเป็นค่อยไป จะช่วยจำกัดผลที่อาจเกิดจากความเสี่ยงใหม่ๆ ได้ อีกทั้งจะช่วยให้กลุ่ม ธพ. พิจารณาการลงทุนหรือจัดสรรทรัพยากรอย่างรอบคอบ

            โดยให้บริษัทในกลุ่ม ธพ. สามารถลงทุนในกิจการที่ประกอบธุรกิจเกี่ยวกับ DA ได้ ภายใต้ limit ที่ 3% ของเงินกองทุน โดยเป็นระดับที่ไม่ได้ต่ำเกินจนเป็นข้อจำกัดของการเข้าไปเรียนรู้ของ ธพ. ขณะเดียวกันก็ไม่สูงเกินไปจนกระทบกับฐานะการเงินของ ธพ. นอกจากนี้ การกำกับ limit ไว้ก่อนในระยะแรกยังมีประโยชน์ทางอ้อม ดังนี้

ช่วยสร้างแรงจูงใจในการยกระดับมาตรฐานของธุรกิจ DA โดยหากกลุ่ม ธพ. สามารถยกระดับมาตรฐานของกิจการ DA กิจการใด ให้เท่ากับมาตรฐานที่ ธปท. กำหนดได้ (เช่น มาตรฐานด้าน CG, IT, market conduct) ก็ไม่ต้องนับเงินลงทุนของธุรกิจนั้น ๆ ใน limit ได้

เมื่อมีมาตรฐานการกำกับดูแลที่เป็นสากล หรือมีข้อมูล/ตัวอย่างจากต่างประเทศว่าสามารถคลายความกังวลได้ ก็สามารถพิจารณาปรับเพิ่มหรือยกเลิก limit ได้ เช่นเดียวกับ FinTech limit

สำหรับ DA ใหม่ที่ประโยชน์ยังไม่ชัดเจนหรือยังไม่ได้รับการกำกับดูแล ให้ทดลองนวัตกรรมใน Sandbox ได้ เพื่อประเมินผลดีผลเสียต่อระบบการเงิน ทดสอบแนวทางการคุ้มครองผู้บริโภคที่เหมาะสม และให้มั่นใจได้ว่ามีการบริหารความเสี่ยงที่รัดกุม ไม่กระทบเสถียรภาพระบบการเงิน รวมทั้งพิจารณาถึงประโยชน์ต่อเศรษฐกิจ โดยหากปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ที่เกี่ยวข้อง และมาตรฐานที่ ธปท. คาดหวัง ก็จะสามารถออกจาก Sandbox เพื่อประกอบธุรกิจในวงกว้างได้

(2) ยกระดับแนวทางกำกับดูแลธุรกิจของกลุ่ม ธพ. โดยกำกับตามระดับความเสี่ยง (risk-proportionality) เสี่ยงมาก-กำกับเข้ม เสี่ยงน้อย-ยืดหยุ่นได้ ให้รองรับการปรับเปลี่ยนโครงสร้างและการขยายไปสู่ธุรกิจดิจิทัลของกลุ่ม ธพ. เพื่อป้องกันผลกระทบต่อผู้ฝากเงินและระบบการเงิน รวมถึงมีการคุ้มครองลูกค้าอย่างเหมาะสม (ตัวอย่างของแนวทางการกำกับดูแลตามภาคผนวก)

  • ต้องมีการบริหารจัดการความเสี่ยงที่ดี โดยให้ความสำคัญกับการดูแลเงินฝากของประชาชนและระบบการเงินโดยรวมเป็นลำดับแรก และดูแลความเชื่อมโยงกับบริษัทในกลุ่ม ธพ. ที่อาจ expose กับความเสี่ยงใหม่ ๆ ได้

- ยังไม่อนุญาตให้ ธพ. ประกอบธุรกิจ DA โดยตรง เพื่อป้องกันความเสี่ยงใหม่ ๆ ที่อาจเกิดขึ้น

- มีธรรมาภิบาลที่ดี โดยโครงสร้างการบริหารงานต้องมีอิสระ คณะกรรมการไม่เป็นชุดเดียวกันทั้งหมด เพื่อป้องกันความขัดแย้งทางผลประโยชน์ภายในกลุ่ม (conflict of interests) รวมทั้งมีกลไกที่ดูแลความเสี่ยงด้านเทคโนโลยี

- มีเงินกองทุนเพียงพอรองรับความเสี่ยงของธุรกิจ ธพ. และ กลุ่ม ธพ. โดยเงินกองทุนสะท้อนความเสี่ยงของธุรกิจและความเสี่ยงใหม่ ๆ เช่น หากมีการถือครองเหรียญ DA ต้องมีการดำรงเงินกองทุนที่มากขึ้น เพื่อสะท้อนความเสี่ยงของสินทรัพย์ (สอดคล้องกับแนวทางที่หลายประเทศอยู่ระหว่างพิจารณา)

- ป้องกันผลกระทบจากความเชื่อมโยงระหว่าง ธพ. ที่ต้องดูแลเงินฝากของประชาชน กับกลุ่ม ธพ. ที่อาจมี exposure ต่อความเสี่ยงใหม่ๆ มากขึ้น เพื่อไม่ให้กระทบต่อบริการและความเชื่อมั่นของประชาชนที่มีต่อ ธพ. ทั้งด้านการเงิน การดำเนินงาน และด้านชื่อเสียง

  • ป้องกันธุรกิจของกลุ่ม ธพ. จากการถูกใช้เป็นช่องทางการทำผิดกฎหมาย ซึ่งอาจกระทบต่อความน่าเชื่อถือของกลุ่ม ธพ. รวมถึงเป็นผลเสียต่อระบบการเงินโดยรวม โดยกลุ่ม ธพ. จะต้องให้ความสำคัญกับการปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ด้าน AML เนื่องจากธุรกิจ DA อาจถูกใช้เป็นช่องทางในการฟอกเงินหรือในธุรกรรมผิดกฎหมายได้ง่าย
  • มีการคุ้มครองลูกค้า เนื่องจากผลิตภัณฑ์ทางการเงินรูปแบบใหม่ที่มีความผันผวนสูง เช่น DA อาจไม่เหมาะกับทุกคน กลุ่ม ธพ. จึงต้องดูแลให้การเสนอขายหรือการแนะนำผลิตภัณฑ์เหมาะกับกลุ่มลูกค้าที่มีความรู้ทางการเงินและการยอมรับความเสี่ยงต่างกัน รวมทั้งควรสร้างความรู้ความเข้าใจให้ลูกค้า และดูแลการใช้ข้อมูลลูกค้าอย่างรัดกุม (data governance)

ความคาดหวังจากการกำกับดูแลกลุ่มธุรกิจทางการเงินในยุคดิจิทัล

  • ระบบการเงินได้รับประโยชน์จากเทคโนโลยีในการพัฒนาบริการให้มีประสิทธิภาพ ตอบสนองความต้องการของลูกค้า และเพิ่มการเข้าถึงบริการทางการเงินของประชาชน
  • ธุรกิจในภาคการเงินสามารถปรับตัวได้เท่าทันการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี สามารถดำเนินธุรกิจได้อย่างยั่งยืน โดย ธปท. สนับสนุนให้ภาคการเงินปรับตัวเข้าสู่เศรษฐกิจดิจิทัลโดยไม่ได้เน้นที่ความเร็วในการ adopt นวัตกรรมทุกรูปแบบ แต่เน้นที่ประโยชน์ต่อประชาชนและเศรษฐกิจ โดยจะต้องมีการบริหารความเสี่ยงที่เหมาะสม
  • ธุรกิจ DA ในประเทศมีมาตรฐานการให้บริการที่เหมาะสม มีการคุ้มครองลูกค้า มีการดูแลเรื่องการฟอกเงินหรือกิจกรรมที่ไม่พึงประสงค์ ซึ่งจะเป็นผลดีต่อกลุ่ม ธพ. ลูกค้า และระบบการเงินโดยรวม

ภาคผนวก : ตัวอย่างการกำกับดูแลการประกอบธุรกิจ DA ของกลุ่ม ธพ.

ธปท. สรุปความคิดเห็นที่ได้จากการเปิดรับฟังต่อแนวนโยบายภูมิทัศน์ใหม่ภาคการเงินไทย เพื่อเศรษฐกิจดิจิทัลและการเติบโตอย่างยั่งยืน

       จากการที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้จัดทำแนวนโยบายภูมิทัศน์ใหม่ภาคการเงินไทยเพื่อเศรษฐกิจดิจิทัลและการเติบโตอย่างยั่งยืน (consultation paper) และเปิดรับฟังความเห็นจากผู้ที่เกี่ยวข้องและสาธารณชนในช่วงวันที่ 1 - 28 กุมภาพันธ์ 2565 นั้น ในภาพรวม ภาคส่วนต่าง ๆ เห็นด้วยกับหลักคิดของ ธปท. ในการสร้างสมดุลระหว่างการส่งเสริมนวัตกรรมและการบริหารความเสี่ยง เพื่อสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านไปสู่เศรษฐกิจดิจิทัลและการเติบโตอย่างยั่งยืน ผ่าน 3 ทิศทาง คือ

    (1) เปิดโอกาสให้ภาคการเงินใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีและข้อมูล ภายใต้หลักการ 3 open (open competition, open infrastructure และ open data) (2) สนับสนุนให้ภาคธุรกิจและครัวเรือนปรับตัวเข้าสู่เศรษฐกิจการเงินดิจิทัลและรับมือกับความเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อมได้อย่างยั่งยืน และ (3) กำกับดูแลอย่างยืดหยุ่นและสร้างภูมิคุ้มกันให้ภาคการเงินรับมือกับความเสี่ยงได้อย่างเท่าทัน โดยส่วนใหญ่เห็นว่าความท้าทายสำคัญ คือ การผลักดันแนวนโยบายภายใต้ทิศทางดังกล่าวให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรมในทางปฏิบัติ และมีข้อเสนอแนะสรุปสาระสำคัญได้ดังนี้ (รายละเอียดดังตารางสรุปความเห็นแนบ)

  1. ขอให้ ธปท. เร่งให้แนวทางที่ชัดเจนเกี่ยวกับทิศทาง 3 ด้านของ ธปท. โดยเฉพาะในเรื่อง

            1.1 การเปิดให้ผู้เล่นรายเดิมและรายใหม่แข่งขันกันพัฒนานวัตกรรมที่เป็นประโยชน์ได้อย่างเท่าเทียม โดยเฉพาะการเปิดให้ขอจัดตั้งธนาคารที่ให้บริการในรูปแบบใหม่บนช่องทางดิจิทัลหรือ virtual bank และการให้ผู้ให้บริการทางการเงินเข้ามาทดลองหรือพัฒนานวัตกรรมและบริการทางการเงินได้ยืดหยุ่นขึ้น รวมถึงทดลองหรือประยุกต์ใช้สินทรัพย์ดิจิทัล เพื่อเรียนรู้กลไกและการนำไปเพิ่มมูลค่า ตลอดจนประเมินความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นต่อระบบการเงินได้

            1.2 การกำกับดูแลที่ยืดหยุ่นเหมาะสมกับความเสี่ยง แต่มีความเท่าเทียมกันระหว่างผู้ให้บริการที่ประกอบธุรกิจที่มีความเสี่ยงลักษณะเดียวกัน (level playing field)

            1.3 การผลักดันให้ผู้เล่นรายใหม่และรายเดิมสามารถเข้าถึงโครงสร้างพื้นฐานกลางและข้อมูลได้อย่างเป็นธรรมกับทุกฝ่าย

            1.4 บทบาทของภาคสถาบันการเงินในเรื่องความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม รวมถึงมาตรฐานที่สถาบันการเงินต้องปฏิบัติตามในเรื่องนี้

 

ขอให้ ธปท. พิจารณาแนวทางการดูแลความเสี่ยงและผลข้างเคียงอย่างรอบด้าน ได้แก่

            2.1 ดูแลผู้ใช้บริการทางการเงินในช่วงเปลี่ยนผ่านไปสู่เศรษฐกิจดิจิทัลและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม อาทิ การให้ความรู้และคุ้มครองผู้ใช้บริการทางการเงิน โดยเฉพาะบริการทางการเงินดิจิทัลรูปแบบใหม่ที่ผู้ใช้บริการยังไม่คุ้นเคย การมีมาตรการรองรับสำหรับผู้ที่ยังไม่พร้อมปรับตัวเข้าสู่การเงินดิจิทัล และไม่พร้อมรับมือกับความเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อม และการดูแลไม่ให้ผู้ให้บริการแข่งขันกันให้สินเชื่อจนทำให้ปัญหาหนี้ครัวเรือนรุนแรงขึ้น

            2.2 ดูแลเสถียรภาพระบบการเงิน อาทิ การเปิดให้ผู้เล่นใหม่เข้ามาแข่งขันและเชื่อมต่อกับโครงสร้างพื้นฐานกลาง ที่ต้องกำกับดูแลให้ได้มาตรฐาน เพื่อไม่ให้เป็นจุดอ่อน (weakest link) และส่งผลต่อเสถียรภาพระบบการเงินโดยรวม

  1.        ผลักดันให้ภาคธุรกิจและครัวเรือนปรับตัวเข้าสู่เศรษฐกิจดิจิทัลและการเติบโตอย่างยั่งยืน ซึ่งเป็นเรื่องระดับประเทศที่ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน และต้องมีสิ่งจูงใจ (incentive) เพื่อช่วยลดต้นทุนของภาคธุรกิจในการปรับตัวไปสู่ดิจิทัลและกิจกรรมที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น เช่น มาตรการด้านภาษี และช่วยกระตุ้นให้ประชาชนปรับพฤติกรรมทางการเงิน เช่น ใช้ประโยชน์จากข้อมูลและเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence: AI) หรือการใช้เกม (gamification) ช่วยในการออกแบบผลิตภัณฑ์หรือการให้บริการที่จูงใจ และช่วยกระตุ้นให้ผู้ใช้บริการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม

      ทั้งนี้ ธปท. จะนำความเห็นและข้อเสนอแนะดังกล่าวมาใช้ประกอบการกำหนดทิศทางและแนวทางการดำเนินการด้านต่าง ๆ ภายใต้แนวนโยบายภูมิทัศน์ใหม่ภาคการเงินไทยร่วมกับผู้ที่เกี่ยวข้อง โดยจะทยอยเผยแพร่เอกสารทิศทางและแนวนโยบายด้านต่างๆ ได้แก่ การกำกับดูแลกลุ่มธุรกิจทางการเงินของธนาคารพาณิชย์ที่ทำธุรกิจเกี่ยวกับดิจิทัล\

       การพัฒนาระบบการชำระเงินไทย การดำเนินงานด้านสิ่งแวดล้อมของสถาบันการเงิน และร่างหลักเกณฑ์การขออนุญาตจัดตั้ง virtual bank ภายในไตรมาส 2 ปี 2565 และทิศทางของ open banking ประมาณไตรมาส 3 ปี 2565 เพื่อรับฟังความคิดเห็นในแต่ละเรื่องจากผู้ที่เกี่ยวข้องต่อไป

 

 Click Donate Support Web 

 

EXIM One 720x90 C J

AXA 720 x100

aia 720 x100

วิริยะ 720x100GC 720x100TU720x100sme 720x100

BANPU 720x100QIC 720x100

ais 720x100

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!