- Details
- Category: ธปท.
- Published: Thursday, 23 December 2021 11:09
- Hits: 42530
กนง.มีมติเป็นเอกฉันท์ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ร้อยละ 0.50 ต่อปี
ผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน ครั้งที่ 8/2564
นายปิติ ดิษยทัต เลขานุการ คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) แถลงผลการประชุม กนง. ในวันที่ 22 ธันวาคม 2564
คณะกรรมการฯ มีมติเป็นเอกฉันท์ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ร้อยละ 0.50 ต่อปี
คณะกรรมการฯ ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มฟื้นตัวได้ต่อเนื่อง ขณะที่อัตราเงินเฟ้อทั่วไปปรับเพิ่มขึ้นชั่วคราวจากราคาพลังงานเป็นหลัก แต่ยังต้องติดตามพัฒนาการเงินเฟ้อโลกและการส่งผ่านต้นทุน ทั้งนี้ การระบาดของ COVID-19 สายพันธุ์ Omicron เป็นความเสี่ยงสำคัญต่อแนวโน้มเศรษฐกิจโดยรวมในระยะข้างหน้า จึงจำเป็นต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดต่อไป คณะกรรมการฯ เห็นว่านโยบายการเงินที่ผ่อนคลายต่อเนื่องจะช่วยสนับสนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจในภาพรวม จึงเห็นควรให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ ประกอบกับมาตรการทางการเงินการคลังที่มีความต่อเนื่อง เน้นการฟื้นฟูและยกระดับศักยภาพทางเศรษฐกิจจะมีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมให้รายได้ฟื้นตัวอย่างเข้มแข็ง
คณะกรรมการฯ คาดว่าเศรษฐกิจไทยจะขยายตัวร้อยละ 0.9 ในปี 2564 และจะขยายตัวต่อเนื่องในปี 2565 และ 2566 ที่ร้อยละ 3.4 และ 4.7 ตามลำดับ จากการฟื้นตัวของการใช้จ่ายในประเทศและนักท่องเที่ยวต่างชาติที่จะทยอยกลับมามากขึ้น ทั้งนี้ การฟื้นตัวในหลายสาขาธุรกิจมีแนวโน้มปรับดีขึ้นสอดคล้องกับกิจกรรมทางเศรษฐกิจ อย่างไรก็ดี ประเมินว่าการระบาดของสายพันธุ์ Omicron จะกระทบเศรษฐกิจในช่วงแรกของปี 2565
โดยยังมีความเสี่ยงด้านต่ำที่ผลกระทบอาจรุนแรงและยืดเยื้อกว่าคาด ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของสถานการณ์การระบาดและความเข้มงวดของมาตรการควบคุม นอกจากนี้ ยังต้องติดตามการฟื้นตัวของตลาดแรงงาน โดยเฉพาะการจ้างงานและรายได้แรงงานที่ยังอยู่ต่ำกว่าช่วงก่อนการระบาด
แนวโน้มอัตราเงินเฟ้อในระยะปานกลางคาดว่าจะอยู่ในกรอบเป้าหมาย และคาดว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปี 2564 2565 และ 2566 จะอยู่ที่ร้อยละ 1.2 1.7 และ 1.4 ตามลำดับ โดยอัตราเงินเฟ้อทั่วไปจะเพิ่มขึ้นชั่วคราวจากปัจจัยด้านอุปทานโดยเฉพาะราคาพลังงาน ซึ่งคาดว่าจะคลี่คลายในช่วงครึ่งหลังของปี 2565 ทั้งนี้ โอกาสที่แรงกดดันเงินเฟ้อจะเพิ่มขึ้นได้ต่อเนื่องยังมีไม่มากจากความสามารถในการส่งผ่านต้นทุนของผู้ประกอบการที่ยังจำกัดจากเศรษฐกิจที่ทยอยฟื้นตัว รวมถึงการจ้างงานและรายได้แรงงานที่ยังเปราะบาง อย่างไรก็ดี คณะกรรมการฯ ประเมินว่ายังมีความเสี่ยงที่อัตราเงินเฟ้อจะสูงกว่าคาดในบริบทที่เงินเฟ้อโลกปรับสูงขึ้นเร็ว โดยจะติดตามพัฒนาการของปัจจัยข้างต้นอย่างใกล้ชิด
สภาพคล่องในระบบการเงินยังอยู่ในระดับสูง แต่ความเสี่ยงด้านเครดิตยังเป็นอุปสรรคต่อการกระจายตัวของสินเชื่อ โดยเฉพาะสำหรับธุรกิจ SMEs ด้านอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยโดยรวมทรงตัว สำหรับอัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทเทียบกับดอลลาร์ สรอ. ยังคงเคลื่อนไหวผันผวนในระดับสูง จากความไม่แน่นอนของสถานการณ์ COVID-19 ที่อาจรุนแรงขึ้นและการดำเนินนโยบายการเงินของประเทศเศรษฐกิจหลักภายใต้แรงกดดันเงินเฟ้อในระดับสูง คณะกรรมการฯ เห็นควรให้ติดตามพัฒนาการของตลาดการเงินโลกและไทยอย่างใกล้ชิด นอกจากนี้ เห็นควรให้ผลักดันการสร้างระบบนิเวศใหม่ของตลาดอัตราแลกเปลี่ยน (FX ecosystem) อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการสนับสนุนให้ผู้ประกอบการ SMEs ป้องกันความเสี่ยงจากความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนมากขึ้น
คณะกรรมการฯ เห็นว่ามาตรการภาครัฐและการประสานนโยบายมีความสำคัญต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ โดยมาตรการสาธารณสุขเพื่อควบคุมการระบาดที่เอื้อให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจฟื้นตัวต่อเนื่องยังมีความสำคัญ มาตรการการคลังควรสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจอย่างตรงจุด โดยเน้นการสร้างรายได้และเร่งเตรียมมาตรการเพื่อฟื้นฟูและยกระดับศักยภาพทางเศรษฐกิจ ขณะที่นโยบายการเงินช่วยสนับสนุนให้ภาวะการเงินโดยรวมยังผ่อนคลายต่อเนื่อง
สำหรับ มาตรการด้านการเงินและสินเชื่อควรเร่งกระจายสภาพคล่องไปสู่ผู้ได้รับผลกระทบให้ตรงจุดและลดภาระหนี้ อาทิ มาตรการสินเชื่อฟื้นฟู มาตรการพักทรัพย์พักหนี้ และมาตรการอื่นๆ ของสถาบันการเงินเฉพาะกิจ ควบคู่กับการผลักดันให้สถาบันการเงินเร่งสนับสนุนการรวมหนี้สินเชื่อที่อยู่อาศัยและสินเชื่อรายย่อยอื่นๆ (debt consolidation) และปรับปรุงโครงสร้างหนี้อย่างยั่งยืน (มาตรการแก้หนี้ระยะยาว 3 ก.ย. 64) ให้เห็นผลในวงกว้างและสอดคล้องกับความสามารถในการชำระหนี้ของลูกหนี้ในระยะยาว
ภายใต้กรอบการดำเนินนโยบายการเงินที่มีเป้าหมายเพื่อรักษาเสถียรภาพราคา ควบคู่กับดูแลเศรษฐกิจให้เติบโตอย่างยั่งยืนและเต็มศักยภาพ และรักษาเสถียรภาพระบบการเงิน คณะกรรมการฯ ยังคงให้น้ำหนักกับการสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจเป็นสำคัญ ทั้งนี้ คณะกรรมการฯ จะติดตามปัจจัยสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อแนวโน้มเศรษฐกิจ ได้แก่ พัฒนาการของการกลายพันธุ์ของ COVID-19 ความเพียงพอของมาตรการการคลังและมาตรการด้านการเงินและสินเชื่อ และการส่งผ่านต้นทุนที่สูงขึ้น โดยพร้อมใช้เครื่องมือนโยบายการเงินที่เหมาะสมเพิ่มเติมหากจำเป็น
ธนาคารแห่งประเทศไทย
ประชุม กนง. 22 ธ.ค.คาดยังคงดอกเบี้ยที่ 0.5% ท่ามกลางความไม่แน่นอนที่มีมากขึ้นจากโอมิครอน (ศูนย์วิจัยกสิกรไทย)
ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินว่า ในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ในวันที่ 22 ธ.ค. นี้ กนง. จะพิจารณาคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 0.50% ท่ามกลางความเสี่ยงที่มีมากขึ้นจากโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอน ซึ่งอาจส่งผลให้จำนวนนักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้ามาในไทยอาจน้อยกว่าที่คาดการณ์ไว้ รวมถึงอาจส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของผู้บริโภคและส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจหยุดชะงักอีกครั้ง ท่ามกลางปัจจัยเสี่ยงต่างๆ เหล่านี้ คาดว่ากนง. น่าจะยังคงนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายและคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 0.5% ในการประชุมนโยบายการเงินที่จะถึงนี้เพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย
โดยกนง. คงให้น้ำหนักต่อความเสี่ยงทางเศรษฐกิจมากกว่าแรงกดดันจากเงินเฟ้อที่มีมากขึ้น โดยมีมุมมองว่าแม้เงินเฟ้อไทยจะพุ่งสูงขึ้นตามแนวโน้มเงินเฟ้อโลก แต่คาดว่าระดับเงินเฟ้อไทยจะยังอยู่ในกรอบเป้าหมายของกนง. นอกจากนี้ ในการประชุมนโยบายการเงินครั้งนี้จะมีการประกาศประมาณการเศรษฐกิจและเงินเฟ้อ
ซึ่งคาดว่าธปท. อาจมีอาจปรับประมาณการเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นในปีนี้และลดลงในปีหน้า สำหรับในด้านของเงินเฟ้อ คาดว่าธปท. อาจปรับประมาณการเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นทั้งในปีนี้และปีหน้า หลังจากเงินเฟ้อโลกมีแนวโน้มที่จะยังอยู่ในระดับสูงต่อไปอีกสักระยะหนึ่งท่ามกลางปัญหาคอขวดในห่วงโซ่อุปทาน
อย่างไรก็ดี กนง. มีแนวโน้มที่จะเผชิญแรงกดดันมากขึ้นในช่วงครึ่งปีแรกของปีหน้า หากเฟดยังคงเผชิญแรงกดดันจากเงินเฟ้ออย่างมากและมีความจำเป็นต้องพิจารณาปรับขึ้นดอกเบี้ยมากกว่าที่ได้ส่งสัญญาณไว้ อาจเป็นปัจจัยกระตุ้นให้เกิดเงินทุนไหลออกจากประเทศไทย และส่งผลให้ค่าเงินบาทอ่อนค่าลงกว่าเดิมได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงครึ่งปีแรกของปีหน้า เนื่องจากเฟดคงจะส่งสัญญาณล่วงหน้าหากจะมีการเปลี่ยนแปลงนโยบายการเงินใดๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการประชุมเฟดในเดือนมี.ค. 2565 ก่อนที่วงเงิน QE จะสิ้นสุดลง
นอกจากนี้ ยังคงต้องติดตามแนวโน้มภาคการท่องเที่ยวและดุลบัญชีเดินสะพัดของไทย ท่ามกลางความเสี่ยงจากโอมิครอนที่มีมากขึ้น หากการท่องเที่ยวฟื้นตัวได้อย่างแข็งแกร่ง ดุลบัญชีเดินสะพัดที่กระเตื้องขึ้นอาจจะหนุนเงินบาทให้กลับมาแข็งค่าขึ้นได้บ้าง ในทางตรงข้าม หากสถานการณ์ภาคการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจไทยได้รับผลกระทบอย่างมากจากการแพร่ระบาดของสายพันธุ์โอมิครอน
ขณะที่หากเฟดมีการปรับขึ้นดอกเบี้ยมากกว่าที่เคยส่งสัญญาณไว้จนก่อให้เกิดเงินทุนไหลออกจากไทย กนง. คงเผชิญกับความท้าทายในการดำเนินนโยบายการเงินมากขึ้น จากดุลบัญชีเดินสะพัดของไทยจะอ่อนแอกว่าที่คาด และอาจเป็นแรงกดดันให้ค่าเงินบาทอ่อนค่าลงกว่าเดิมได้ ทำให้กนง. ต้องเผชิญกับสถานการณ์ทางเลือกที่จะต้องชั่งน้ำหนักระหว่างประเด็นการเติบโตทางเศรษฐกิจและเสถียรภาพด้านการเงินผ่านอัตราแลกเปลี่ยน