- Details
- Category: ธปท.
- Published: Sunday, 09 August 2020 17:28
- Hits: 27893
คณะกรรมการฯ มีมติเป็นเอกฉันท์ ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ร้อยละ 0.50 ต่อปี
ผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน ครั้งที่ 5/2563
นายทิตนันทิ์ มัลลิกะมาส เลขานุการ คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) แถลงผลการประชุม กนง. ในวันที่ 5 สิงหาคม 2563
คณะกรรมการฯ มีมติเป็นเอกฉันท์ ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ร้อยละ 0.50 ต่อปี
ในการตัดสินนโยบาย คณะกรรมการฯ ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มทยอยฟื้นตัวตามการผ่อนคลายมาตรการควบคุมการระบาดของ COVID-19 ในประเทศและการทยอยฟื้นตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจทั่วโลก แต่ยังต้องระวังความเสี่ยงจากโอกาสเกิดการระบาดระลอกที่สอง อัตราเงินเฟ้อทั่วไปมีแนวโน้มติดลบในปีนี้ แต่มีแนวโน้มกลับสู่กรอบเป้าหมายในช่วงปี 2564 ตามที่ประเมินไว้ เสถียรภาพระบบการเงินเปราะบางมากขึ้นตามภาวะเศรษฐกิจ คณะกรรมการฯ เห็นว่านโยบายการเงินที่ผ่อนคลายมากตั้งแต่ต้นปี มาตรการการคลังของรัฐบาล รวมทั้งมาตรการการเงินและสินเชื่อที่ออกมาเพิ่มเติม ช่วยบรรเทาผลกระทบที่เกิดขึ้นและจะสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจได้หลังการระบาดคลี่คลาย เอื้อให้อัตราเงินเฟ้อกลับสู่กรอบเป้าหมาย และลดความเสี่ยงต่อเสถียรภาพระบบการเงิน คณะกรรมการฯ จึงเห็นควรให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ในการประชุมครั้งนี้ และเห็นว่าควรผลักดันให้สถาบันการเงินเร่งปรับปรุงโครงสร้างหนี้ทั้งหนี้ครัวเรือนและธุรกิจให้เกิดผลในวงกว้างมากขึ้น และเร่งรัดการให้สินเชื่อผ่านโครงการต่าง ๆ เพื่อแก้ปัญหาสภาพคล่องให้ตรงจุดและทันการณ์
เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มทยอยฟื้นตัวตามการผ่อนคลายมาตรการควบคุมการระบาดของ COVID-19 ในไทยและการทยอยฟื้นตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจทั่วโลกโดยคาดว่าจะใช้เวลาไม่ต่ำกว่าสองปีที่กิจกรรมทางเศรษฐกิจโดยรวมจะกลับสู่ระดับก่อนการแพร่ระบาดอย่างไรก็ดี การฟื้นตัวจะแตกต่างกันมากระหว่างภาคเศรษฐกิจ ด้านการส่งออกสินค้าเริ่มฟื้นตัวแต่ยังอยู่ในระดับต่ำ การส่งออกบริการ นักท่องเที่ยวต่างชาติมีแนวโน้มฟื้นตัวช้ากว่าที่ประเมินไว้ ขณะที่นักท่องเที่ยวในประเทศฟื้นตัวดีขึ้น ส่วนหนึ่งจากมาตรการส่งเสริมการท่องเที่ยวในประเทศ ด้านอุปสงค์ในประเทศหดตัวทั้งการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชน การจ้างงานและรายได้ของครัวเรือนได้รับผลกระทบรุนแรงจากเศรษฐกิจที่หดตัวและจะใช้เวลาฟื้นตัวนาน คณะกรรมการฯ จึงเห็นว่ามาตรการภาครัฐในระยะข้างหน้าจำเป็นต้องสนับสนุนการจ้างงาน ส่งเสริมการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ และการฟื้นตัวของเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง ทั้งมาตรการด้านการคลังที่ตรงจุดและทันการณ์ นโยบายการเงินที่ผ่อนคลายต่อเนื่อง มาตรการด้านการเงินและสินเชื่อที่ช่วยเสริมสภาพคล่อง รวมถึงนโยบายด้านอุปทานเพิ่มเติมเพื่อสนับสนุนการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ การปรับรูปแบบการทำธุรกิจ และการพัฒนาทักษะแรงงานให้สอดคล้องกับบริบทใหม่หลังจากการแพร่ระบาดของ COVID-19 คลี่คลายลงด้วย
อัตราเงินเฟ้อทั่วไปปรับสูงขึ้นบ้างตามราคาน้ำมันดิบที่เพิ่มขึ้น แต่ยังมีแนวโน้มติดลบในปี 2563 อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานมีแนวโน้มอยู่ในระดับต่ำ ทั้งนี้ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปมีแนวโน้มกลับเข้าสู่กรอบเป้าหมายในช่วงปี 2564 ตามราคาน้ำมันดิบที่จะทยอยปรับสูงขึ้นและการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ การคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อในระยะปานกลางยังยึดเหนี่ยวอยู่ในกรอบเป้าหมาย
ด้านภาวะการเงิน อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ของธนาคารพาณิชย์และอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลทรงตัวในระดับต่ำ ขณะที่ส่วนต่างของอัตราผลตอบแทนตราสารหนี้ภาคเอกชนและพันธบัตรรัฐบาลยังคงอยู่ในระดับสูง ด้านสินเชื่อระบบธนาคารพาณิชย์ขยายตัวจากสินเชื่อธุรกิจขนาดใหญ่เพื่อทดแทนการออกตราสารหนี้ ขณะที่สินเชื่อธุรกิจ SMEs และสินเชื่ออุปโภคบริโภคชะลอลง แม้ว่าส่วนหนึ่งจะได้รับอานิสงส์จากมาตรการเลื่อนการชำระหนี้ คณะกรรมการฯ เห็นว่าสภาพคล่องโดยรวมในระบบการเงินยังอยู่ในระดับสูง ซึ่งต้องเร่งดำเนินการให้กระจายตัวไปสู่ภาคธุรกิจและครัวเรือนที่ได้รับผลกระทบมากขึ้น ด้านอัตราแลกเปลี่ยน ค่าเงินบาทผันผวนสูงขึ้นจากการประชุมครั้งก่อน ในช่วงสองสัปดาห์ที่ผ่านมาค่าเงินบาทกลับมาโน้มแข็งค่าตามการอ่อนค่าของดอลลาร์ สรอ. คณะกรรมการฯ เห็นว่าหากเงินบาทกลับมาแข็งค่าขึ้นเร็วอาจส่งผลกระทบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจได้ จึงเห็นควรให้ติดตามสถานการณ์ตลาดอัตราแลกเปลี่ยนอย่างใกล้ชิด รวมทั้งประเมินความจำเป็นของการดำเนินมาตรการที่เหมาะสมเพิ่มเติม
ระบบการเงินมีเสถียรภาพ แม้ว่าจะเปราะบางมากขึ้นตามภาวะเศรษฐกิจ ธนาคารพาณิชย์มีระดับเงินกองทุนและเงินสำรองที่เข้มแข็ง แต่ในระยะข้างหน้าต้องเตรียมพร้อมรับผลกระทบจากสถานการณ์ COVID-19 ที่ยังไม่แน่นอน และความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นจากความสามารถในการชำระหนี้ของธุรกิจและครัวเรือนที่ลดลง คณะกรรมการฯ เห็นว่าควรผลักดันให้สถาบันการเงินเร่งปรับปรุงโครงสร้างหนี้ของลูกหนี้รายย่อยและธุรกิจให้สอดคล้องกับกระแสรายได้และความสามารถในการชำระหนี้ในบริบทใหม่หลังการแพร่ระบาดของ COVID-19 คลี่คลายลง รวมถึงเร่งรัดการให้สินเชื่อผ่านโครงการต่าง ๆ อาทิ โครงการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (soft loan) การค้ำประกันสินเชื่อโดยบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) การสนับสนุนสินเชื่อโดยสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ เป็นต้น
มองไปข้างหน้า คณะกรรมการฯ จะติดตามพัฒนาการของการขยายตัวทางเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อ เสถียรภาพระบบการเงิน และปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ ทั้งจากเศรษฐกิจต่างประเทศ ผลกระทบจากการระบาดของ COVID-19 รวมถึงประสิทธิผลของมาตรการการคลังและมาตรการด้านการเงินและสินเชื่อ เพื่อประกอบการดำเนินนโยบายการเงินในระยะต่อไป โดยพร้อมใช้เครื่องมือนโยบายการเงินที่เหมาะสมเพิ่มเติมหากจำเป็น
กนง.มีมติคงดบ.ที่ 0.5% คาดศก.กลับสู่ปกติใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 2 ปี
กนง. มีมติเอกฉันท์คงดบ.นโยบาย 0.5% ต่อปี คาดศก.จะกลับมาเป็นปกติใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 2 ปี ชี้จากนี้ดอกเบี้ยไม่ใช่พระเอกต่อภาคศก. ฝากรัฐเน้นจ้างงาน ปรับโครงสร้าง-ฟื้นฟูศก.ต่อเนื่อง เฝ้าระวังเงินบาทแข็งค่ากระทบศก.
นายทิตนันทิ์ มัลลิกะมาส ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการเงินธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และในฐานะเลขานุการ คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) เปิดเผยว่า คณะกรรมการมีมติเอกฉันท์ ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 0.5% ต่อปี
โดยคณะกรรมการจะติดตามพัฒนาการของการขยายตัวทางเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อ เสถียรภาพระบบการเงิน และปัจจัยเสี่ยงต่างๆทั้งจากเศรษฐกิจต่างประเทศ และผลกระทบจากการระบาดของไวรัสโควิด-19 รวมถึงติดตามประสิทธิผลของมาตรการการคลังและมาตรการด้านการเงินและสินเชื่อ เพื่อประกอบการดำเนินนโยบายการเงินในระยะต่อไป โดยพร้อมใช้เครื่องมือนโยบายการเงินที่เหมาะสมเพิ่มเติมหากจำเป็น
ขณะเดียวกัน ยังติดตามสถานการณ์อัตราแลกเปลี่ยน จากสภาพคล่องในตลาดการเงินโลกที่ยังอยู่ในระดับสูง ซึ่งอาจเข้ามากดดันค่าเงินบาทให้ปรับแข็งค่าขึ้น ซึ่ง คณะกรรมการจะติดตามดูแลตลาดอัตราแลกเปลี่ยนใกล้ชิด เนื่องจากไม่ต้องการให้เงินบาทแข็งค่าเร็วจนกระทบกับเศรษฐกิจ
สำหรับ การประชุมในครั้งนี้ คณะกรรมการประเมินว่า เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มทยอยฟื้นตัวตามการผ่อนคลายมาตรการควบคุมการระบาดของไวรัสโควิด-19 ในประเทศและการทยอยฟื้นตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจทั่วโลก แต่ยังต้องระวังความเสี่ยงจากโอกาสเกิดการระบาดระลอกที่ 2 โดยคาดว่าจะใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 2 ปี ที่กิจกรรมทางเศรษฐกิจโดยรวมจะกลับสู่ระดับก่อนการแพร่ระบาด
อย่างไรก็ตาม การฟื้นตัวจะแตกต่างกันมากระหว่างภาคเศรษฐกิจ ด้านการส่งออกสินค้าเริ่มฟื้นตัวแต่ยังอยู่ในระดับต่ำ การส่งออกบริการ นักท่องเที่ยวต่างชาติมีแนวโน้มฟื้นตัวช้ากว่าที่ประเมินไว้ ขณะที่นักท่องเที่ยวในประเทศฟื้นตัวดีขึ้น ส่วนหนึ่งจากมาตรการส่งเสริมการท่องเที่ยวในประเทศ
ทั้งนี้ คณะกรรมการจึงเห็นว่า มาตรการภาครัฐในระยะข้างหน้าจำเป็นต้องสนับสนุนการจ้างงาน ส่งเสริมการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ และการฟื้นตัวของเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง ทั้งมาตรการด้านการคลังที่ตรงจุดและทันการณ์ นโยบายการเงินที่ผ่อนคลายต่อเนื่อง มาตรการด้านการเงินและสินเชื่อที่ช่วยเสริมสภาพคล่อง
“โควิดครั้งนี้ กระทบการจ้างงานแรงมาก แม้จะเป็นปัญหาเชิงโครงสร้างแต่ต้องเร่งแก้ไขโดยเร็ว ขณะที่มาตรการที่ควรเน้นในการแก้ไขปัญหา มองว่า อัตราดอกเบี้ยคงไม่ใช่พระเอก เพราะดอกเบี้ยลดลงต่ำมากเป็นประวัติการณ์เมื่อเทียบกับอดีต ปัจจัยที่ควรเน้น คือ การจ้างงาน การดูแลเศรษฐกิจให้ฟื้นตัว ดังนั้นจะต้องประสานนโยบายต่างๆ รวมถึงการให้ความสำคัญกับการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ ให้ปรับตัวสอดคล้องกับบริบทของโลกหลังโควิด-19 ได้”นายทิตนันทิ์ กล่าว
นายทิตนันทิ์ กล่าวว่า สำหรับอัตราเงินเฟ้อทั่วไป ปรับสูงขึ้นบ้างตามราคาน้ำมันดิบที่เพิ่มขึ้น แต่ยังมีแนวโน้มติดลบในปีนี้ ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานมีแนวโน้มอยู่ในระดับต่ำ ทั้งนี้ ประเมินว่า อัตราเงินเฟ้อทั่วไปจะกลับเข้าสู่กรอบเป้าหมายในปี 64 ตามราคาน้ำมันที่จะทยอยปรับสูงขึ้นและการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ
ด้านภาวะการเงิน อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ของธนาคารพาณิชย์และอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลทรงตัวในระดับต่ำ ขณะที่ส่วนต่างของอัตราผลตอบแทนตราสารหนี้ภาคเอกชน และพันธบัตรรัฐบาลยังคงอยู่ในระดับสูง ด้านสินเชื่อระบบธนาคารพาณิชย์ขยายตัวจากสินเชื่อธุรกิจขนาดใหญ่เพื่อทดแทนการออกตราสารหนี้
ขณะที่ สินเชื่อธุรกิจเอสเอ็มอี และสินเชื่ออุปโภคบริโภคชะลอลง แม้ว่าส่วนหนึ่งจะได้รับอานิสงส์จากมาตรการเลื่อนการชำระหนี้ คณะกรรมการเห็นว่า สภาพคล่องโดยรวมในระบบการเงินยังอยู่ในระดับสูง ซึ่งต้องเร่งดำเนินการให้กระจายตัวไปสู่ภาคธุรกิจและครัวเรือนที่ได้รับผลกระทบมากขึ้น
สำหรับ อัตราแลกเปลี่ยน ค่าเงินบาทผันผวนสูงขึ้นจากการประชุมครั้งก่อน ในช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมาค่าเงินบาทกลับมาแข็งค่าตามการอ่อนค่าของสหรัฐ โดยคณะกรรมการเห็นว่า หากเงินบาทกลับมาแข็งค่าขึ้นเร็วอาจส่งผลกระทบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจได้ จึงเห็นควรให้ติดตามสถานการณ์ตลาดอัตราแลกเปลี่ยนอย่างใกล้ชิด รวมทั้งประเมินความจำเป็นของการดำเนินมาตรการที่เหมาะสมเพิ่มเติม
ด้านระบบการเงินมีเสถียรภาพ แม้ว่าจะเปราะบางมากขึ้นตามภาวะเศรษฐกิจ ธนาคารพาณิชย์มีระดับเงินกองทุนและสำรองที่เข้มแข็ง แต่ในระยะข้างหน้าต้องเตรียมพร้อมรับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 ที่ยังไม่แน่นอน และความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นจากความสามารถในการชำระหนี้ของธุรกิจและครัวเรือนที่ลดลง
ทั้งนี้ คณะกรรมการเห็นว่า ควรผลักดันให้สถาบันการเงินเร่งปรับปรุงโครงสร้างหนี้ของลูกหนี้รายย่อย และธุรกิจให้สอดคล้องกับกระแสรายได้ และความสามารถในการชำระหนี้ในบริบทใหม่หลังการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 คลี่คลายลง รวมถึงเร่งรัดการให้สินเชื่อผ่านโครงการต่างๆ เช่น โครงการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ การค้ำประกันสินเชื่อโดยบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) การสนับสนุนสินเชื่อโดยสถาบันการเงินเฉพาะของรัฐ เป็นต้น
"เศรษฐกิจยังมีความไม่แน่นอน ซึ่ง คณะกรรมการจะติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด พร้อมเตรียมมาตรการที่เหมาะสมและจำเป็นสำหรับพร้อมใช้"นายทิตนันทิ์ กล่าวปิดท้าย
สำนักข่าวอีไฟแนนซ์ไทย