WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

ผลวิจัย ธปท.ระบุหนี้ครัวเรือนสูงเสี่ยงสกัดบริโภคโต แนะแก้ไขอย่างบูรณาการ

       ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)เผยแพร่บทวิจัยเรื่อง"การเพิ่มขึ้นของหนี้ครัวเรือน:นัยต่อเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ"ในการสัมมนาวิชาการประจำปี 57 ว่า หลายปีที่ผ่านมา นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐและการลดลงของข้อจำกัดในการเข้าถึงสินเชื่อมีส่วนสำคัญที่ทำให้หนี้สินของครัวเรือนไทยเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว และปัจจุบันอยู่ที่ 83% ของ GDP ซึ่งเป็นระดับที่ใกล้เคียงกับประเทศพัฒนาแล้วmที่มีรายได้ต่อหัวของประชากรและมีความสามารถในการชำระหนี้สูงกว่าไทยมาก จึงมีคำถามว่าหนี้ครัวเรือนของไทยที่เพิ่มสูงขึ้นกระทบต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจและเสถียรภาพทางการเงินของไทยหรือไม่

     บทวิจัยนี้ชี้ให้เห็นว่าการเร่งตัวของหนี้ครัวเรือนในช่วงที่ผ่านมา ยังไม่เป็นปัจจัยเสี่ยงระยะสั้นต่อเสถียรภาพของระบบการเงินโดยรวม เนื่องจากมูลค่าหนี้ที่เพิ่มขึ้นส่วนใหญ่กระจุกตัวในกลุ่มผู้ที่รายได้ปานกลางถึงสูง ซึ่งมีความสามารถในการชาระหนี้ที่ดีกว่า อย่างไรก็ตาม ความเสี่ยงต่อสถาบันการเงินแต่ละประเภทจะต่างกันขึ้นอยู่กับกลุ่มลูกหนี้ของตน

   สำหรับ นัยต่อเศรษฐกิจมหภาค ภาระหนี้ที่เพิ่มขึ้นจะส่งผลให้การบริโภคของครัวเรือนขยายตัวได้น้อยลงอย่างมีนัยสำคัญในช่วงต่อไป โดยเฉพาะกลุ่มครัวเรือนที่มีสัดส่วนภาระหนี้ต่อรายได้ (DSR) สูงกว่า 40% ขึ้นไป ซึ่งคนกลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่มีความเปราะบางทางการเงิน และมีความกังวลใจต่อการชำระหนี้ในอนาคต นอกจากนั้น หากอัตราดอกเบี้ยมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจะส่งผลต่อสุขภาพทางการเงินของภาคครัวเรือน ทำให้มีสัดส่วนของครัวเรือนที่มีความเปราะบางทางการเงินสูงขึ้น

    ทั้งนี้ ความเปราะบางนี้จะเกิดเพิ่มขึ้นทั้งกลุ่มรายได้น้อยเนื่องจากมีประเภทหนี้ที่อ่อนไหวต่อการเปลี่ยนแปลงของดอกเบี้ย และกลุ่มครัวเรือนรายได้ปานกลางถึงสูง เพราะจะทำให้มีสัดส่วนครัวเรือนที่มีภาระการชาระหนี้ข้ามเส้นมาอยู่ในระดับเปราะบางมากขึ้นอย่างมีนัยสาคัญ (DSR สูงกว่าร้อยละ 40)

    ผู้วิจัยมีข้อเสนอแนะ 4 ข้อ คือ 1) ให้ผู้ดำเนินนโยบายดูแลไม่ให้เศรษฐกิจตกอยู่ในภาวะเงินฝืด เพราะในช่วงดังกล่าวรายได้ครัวเรือนจะลดลงแต่ภาระการชำระหนี้ที่แท้จริงจะสูงขึ้น ซึ่งกระทบต่อความสามารถในการชำระหนี้ของครัวเรือนได้ 2) ดูแลความเสี่ยงทางการเงินของภาคครัวเรือน ผ่านการส่งเสริมการใช้ผลิตภัณฑ์ประกันภัยที่เหมาะสม 3) ส่งเสริมการวางแผนทางการเงินแก่ครัวเรือน และ 4) ดูแลไม่ให้หนี้สาธารณะสูงเกินไป เพื่อให้ภาครัฐมีความสามารถในการจัดการกับความผันผวนของเศรษฐกิจที่อาจสูงขึ้นในอนาคต

    อย่างไรก็ตาม ผู้วิจารณ์เห็นด้วยกับข้อสรุปของงานวิจัยนี้ โดยเฉพาะในประเด็นความท้าทายของการบริหารจัดการเศรษฐกิจจะสูงขึ้นภายใต้ภาระหนี้ที่สูงของภาคครัวเรือน และมีความเห็นว่าการแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนจะต้องทำในลักษณะบูรณาการและเป็นความรับผิดชอบของทุกภาคส่วน โดยเน้นการสร้างความรู้และวินัยทางการเงินให้กับภาคครัวเรือน การกำกับดูแลให้การนำเสนอผลิตภัณฑ์สินเชื่อของสถาบันการเงินเหมาะสมและมีความรับผิดชอบ รวมทั้งพัฒนาฐานข้อมูลให้ครบถ้วนครอบคลุมเพื่อการวิเคราะห์ความเสี่ยงที่ถูกต้องเหมาะสม

                        อินโฟเควสท์ 

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!