- Details
- Category: ธปท.
- Published: Friday, 17 October 2014 12:55
- Hits: 3424
ผู้ว่าธปท. เผยแนวโน้มหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพีปีหน้าทรงตัว จากปัจจุบันอยู่ที่ 83% เหตุเศรษฐกิจมีโอกาสโตมากกว่าปีนี้
ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า แม้ว่าสัดส่วนหนี้ภาคครัวเรือนต่อจีดีพีปัจจุบันมีอยู่ในระดับสูงที่ 83% แต่อัตราในการเติบโตเริ่มลดลงมาตั้งแต่กลางปีที่แล้ว แต่เมื่อเทียบสัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพีในปัจจุบันยังเป็นตัวเลขที่สูง เนื่องจากปีนี้จีดีพีเติบโตได้ไม่ดีนัก จึงส่งผลให้อัตราส่วนหนี้ครัวเรือนสูงขึ้น อย่างไรก็ตามมองว่าในปีหน้าหากจีดีพีเติบโตขึ้นนั่นหมายความว่าเศรษฐกิจมีการเติบโต เกิดการจ้างงานสร้างรายได้ น่าจะทำให้อัตราส่วนทรงตัว
"อัตราส่วนหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพีในปีหน้าคงไม่สูงกระฉูด อย่างน้อยก็ทรงตัว ซึ่งในเรื่องนี้การแก้ไขต้องเวลานานอย่าไปตั้งความหวัง 1-2 ปีหนี้ครัวเรือนจะลดฮวบฮาบ ซึ่งทางแก้ที่ดีที่สุดคือการแก้ด้วยรายได้" ดร.ประสาร กล่าว
ทั้งนี้ ปัญหาหนี้ครัวเรือนที่เกิดขึ้นส่วนใหญ่มาจากครัวเรือนที่มีรายได้ต่ำ สิ่งที่ต้องเข้าไปแก้ไขคือการเสริมรายได้ การให้ความรู้ความเข้าใจในเรื่องของการออม และเข้าใจปัญหาด้วยว่าการแก้ไขหนี้ต้องแก้ด้วยการสร้างรายได้ซึ่งเป็นการแก้ที่ต้นเหตุ แต่ไม่ใช่แก้ที่ปลายเหตุคือการแก้หนี้ด้วยหนี้
ผู้ว่าธปท. ยังได้ยกตัวอย่างกรณีที่มีชาวนาฆ่าตัวตายหนี้หน้าทำเนียบรัฐบาล ว่า หากดูจากปลายเหตุคือบุคคลดังกล่าวมีหนี้นอกระบบ นั่นคือเมื่อมีรายได้ไม่เพียงพอก็ไปกู้หนี้นอกระบบ แต่ปัญหาที่แท้จริงแล้วคือต้องไปดูที่ต้นเหตุคือการบริหารรายได้ และถือว่าในประเด็นของการหารายได้เป็นโจทย์ที่ท้าทายในระดับนโยบายที่จะต้องทำให้ได้เพื่อแก้ไขปัญหาหนี้ภาคครัวเรือนที่เกิดขึ้น
"ดังนั้น สิ่งที่ควรจะทำคือ สถาบันการเงินจะต้องขยายศักยภาพทางด้านบริหารด้านการเงินในระบบออกไป เพื่อสร้างโอกาสให้ประชาชนเข้าถึงระบบการเงิน นอกจากนี้ต้องมีการให้ความรู้ประชาชนเรื่องการหารายได้ การออม ต้องทำหลายอย่างประกอบกัน" ดร.ประสาร กล่าว
สำนักข่าวอีไฟแนนซ์ไทย
ผู้ว่า ธปท.ระบุแก้หนี้นอกระบบต้องที่ต้นเหตุ มองให้กู้ดอกต่ำไปใช้หนี้แค่ยาแก้ปวด
นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)กล่าวถึงปัญหาหนี้นอกระบบที่เป็นสาเหตุให้ชาวบ้านจาก จ.ลพบุรี จุดไฟเผาตัวเองเมื่อวานนี้ว่า การแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบไม่สามารถทำได้ในระยะสั้น เพราะต้องทำพร้อมกันหลายแนวทางเพื่อแก้ปัญหาที่ต้นเหตุ โดยเฉพาะการให้ความรู้กับลูกหนี้ในด้านการออมเงิน ลดการก่อหนี้ และการสร้างรายได้ ขณะที่การให้สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำไปช่วยเหลือสินเชื่อดอกเบี้ยสูงนั้นเป็นการแก้ไขปัญหาที่ปลายเหตุเท่านั้น
“การให้สินเชื่อดอกเบี้ยที่ถูกกว่าก็เหมือนกับการให้ยาแก้ปวดเป็นครั้งคราว ซึ่งคงกินยาแก้ปวดตลอดชีวิตไม่ได้ ทำให้ต้องมาคิดว่าการแก้ไขปัญหาอย่างแท้จริง ควรจะกลับไปที่สาเหตุ คือการแก้ไขปัญหาจากการสร้างรายได้จึงจะมีความเหมาะสมมากกว่า"นายประสาร กล่าว
การที่รัฐบาลได้ดำเนินโครงการช่วยเหลือชาวนาที่มีรายได้ลดลงผ่านการจ่ายเงินช่วยค่าต้นทุนการผลิต 1,000 บาทต่อไร่ รายละไม่เกิน 15 ไร่ รวมวงเงินกว่า 40,000 ล้านบาทนั้น นายประสาร กล่าวว่า คงไม่เป็นประโยชน์ที่จะมาเถียงกันว่าเป็นประชานิยมหรือไม่ เพราะรัฐบาลจำเป็นต้องเร่งแก้ปัญหาในระยะสั้นไปก่อน และการจ่ายเงินช่วยเหลือชาวนาเป็นการจ่ายเงินโดยตรงที่มีกำหนดระยะเวลา ไม่ใช่โครงการผูกพันระยะยาว อีกทั้งไม่ได้ทำให้เกิดการบิดเบือนกลไกตลาด
มาตรการดังกล่าวเป็นเพียงมาตรการระยะสั้นในช่วง 1-2 เดือน ที่มีผลเพียงเล็กน้อย ซึ่งในระยะยาวจะต้องเร่งสร้างการศึกษา ให้ความรู้ ฝึกฝนทักษะอาชีพเพื่อเพิ่มช่องทางการหารายได้ ส่วนการปรับโครงสร้างภาคการเกษตรด้วยการแบ่งโซนเพาะปลูก ก็เป็นข้อเสนอที่ต้องพิจารณา แต่ท้ายที่สุดราคาผลิตผลการเกษตรจะต้องไม่บิดเบือน เพราะจะเป็นการสร้างภาพลวงตา ทำให้เกษตรกรเข้ามาปลูกกันมาก ส่งผลให้ราคาสินค้าตกต่ำ และเกิดการเคลื่อนย้ายแรงงานไปสู่ภาคเกษตรกว่า 7 แสนคนในช่วงที่ผ่านมา
นายประสาร กล่าวว่า สำหรับปัญหาหนี้สินภาคครัวเรือน ซึ่งขณะนี้อยู่ในระดับสูงถึง 83% ของผลผลิตมวลรวมในประเทศ(จีดีพี)นั้น ธปท.อยู่ระหว่างติดตามปัญหาอย่างใกล้ชิด โดยหนี้ครัวเรือนมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างมากเมื่อ 2 ปีก่อน แต่เริ่มชะลอตัวลงบ้างในช่วงกลางปี 56 โดยกลุ่มที่มีปัญหาส่วนใหญ่จะเป็นผู้ที่มีรายได้น้อย ส่วนผู้ที่มีรายได้ปานกลางและรายได้มากไม่มีผลกระทบ
"การแก้ไขปัญหาหนี้สินภาคครัวเรือน นั้นไม่ใช่เรื่องที่ทำได้ง่าย และต้องใช้เวลา ไม่สามารถแก้ได้ทั้งหมดภายใน 1-2 ปี"นายประสาร กล่าว
อินโฟเควสท์