- Details
- Category: ธปท.
- Published: Wednesday, 20 May 2020 23:25
- Hits: 7859
คณะกรรมการฯ มีมติ 4 ต่อ 3 เสียง ให้ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายร้อยละ 0.25 ต่อปี จากร้อยละ 0.75 เป็นร้อยละ 0.50 ต่อปี โดยให้มีผลทันที
ผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน ครั้งที่ 3/2563
นายทิตนันทิ์ มัลลิกะมาส เลขานุการ คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) แถลงผลการประชุม กนง. ในวันที่ 20 พฤษภาคม 2563 คณะกรรมการฯ มีมติ 4 ต่อ 3 เสียง ให้ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายร้อยละ 0.25 ต่อปี จากร้อยละ 0.75 เป็นร้อยละ 0.50 ต่อปี โดยให้มีผลทันที
ในการตัดสินนโยบาย คณะกรรมการฯ ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยในปี 2563 มีแนวโน้มหดตัวกว่าประมาณการเดิมตามแนวโน้มเศรษฐกิจโลกที่หดตัวรุนแรงกว่าที่คาดและผลกระทบจากมาตรการควบคุมการระบาดทั่วโลก อัตราเงินเฟ้อทั่วไปมีแนวโน้มติดลบกว่าที่ประเมินไว้ เสถียรภาพระบบการเงินเปราะบางมากขึ้นตามภาวะเศรษฐกิจ กรรมการส่วนใหญ่เห็นว่านโยบายการเงินที่ผ่อนคลายมากขึ้นจะช่วยลดผลกระทบจากปัจจัยลบที่เกิดขึ้น รวมทั้งสอดประสานกับมาตรการการคลังของรัฐบาลและมาตรการด้านการเงินและสินเชื่อที่ได้ออกไปก่อนหน้านี้
ขณะที่กรรมการ 3 ท่าน เห็นควรให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ในการประชุมครั้งนี้และเร่งรัดประสิทธิผลของมาตรการด้านการเงินและสินเชื่อที่ได้ประกาศไปแล้ว คณะกรรมการฯ โดยรวมเห็นว่า ควรผลักดันให้สถาบันการเงินเร่งปรับปรุงโครงสร้างหนี้ของลูกหนี้ โดยเฉพาะครัวเรือนและธุรกิจ SMEs ให้เกิดผลในวงกว้างมากขึ้น และเร่งรัดการให้สินเชื่อผ่านโครงการต่างๆ ที่ได้ออกมาก่อนหน้าเพื่อแก้ปัญหาสภาพคล่องให้ตรงจุดและทันการณ์
เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มหดตัวกว่าที่ประเมินไว้ การท่องเที่ยวและการส่งออกสินค้าได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจประเทศคู่ค้ามากกว่าคาด ขณะที่อุปสงค์ในประเทศทั้งการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนหดตัวกว่าที่ประเมินไว้จากการว่างงานที่เพิ่มสูงขึ้นและมาตรการควบคุมการระบาด อย่างไรก็ดี มาตรการการเงินการคลังจะมีส่วนช่วยบรรเทาปัญหาสภาพคล่องของครัวเรือนและธุรกิจ รวมทั้งสนับสนุนให้เศรษฐกิจไทยทยอยฟื้นตัวได้ คณะกรรมการฯ เห็นว่ามาตรการด้านการคลังที่ตรงจุดและทันการณ์ยังมีความจำเป็นต่อการสนับสนุนการจ้างงานและธุรกิจ SMEs เพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและรักษาศักยภาพการเจริญเติบโตในระยะต่อไป
สำหรับ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยทั้งปี 2563 มีแนวโน้มติดลบมากกว่าที่คาดตามราคาพลังงานที่ลดลงเป็นสำคัญ อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ในระดับต่ำต่อเนื่อง ทั้งนี้ คณะกรรมการฯ จะติดตามความเสี่ยงด้านเศรษฐกิจต่างประเทศและการระบาดของ COVID-19 ในต่างประเทศ การผ่อนคลายมาตรการควบคุมและโอกาสที่การระบาดในประเทศอาจกลับมา รวมทั้งประสิทธิผลของมาตรการการคลังและมาตรการด้านการเงินและสินเชื่อ ซึ่งจะมีผลต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยในระยะต่อไป
ด้านภาวะการเงิน ตลาดการเงินมีเสถียรภาพ หลัง ธปท. ออกมาตรการดูแลเสถียรภาพตลาดการเงิน รวมทั้งจัดตั้งกองทุนเพื่อรักษาสภาพคล่องของการระดมทุนในตลาดตราสารหนี้ (BSF) อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลปรับลดลงและอัตราผลตอบแทนหุ้นกู้ที่ซื้อขายในตลาดรองผันผวนน้อยลง ตลาดตราสารหนี้กลับมาทำหน้าที่ได้เป็นปกติมากขึ้น อย่างไรก็ดี คณะกรรมการฯ ให้ติดตามสถานการณ์ของสหกรณ์ออมทรัพย์ที่อาจได้รับผลกระทบจากการลงทุนในตราสารหนี้ ด้านสินเชื่อขยายตัวโดยเฉพาะสินเชื่อธุรกิจขนาดใหญ่ ส่วนสินเชื่อเพื่ออุปโภคบริโภคชะลอลงบ้าง สภาพคล่องในระบบการเงินในภาพรวมยังอยู่ในระดับสูง
อย่างไรก็ดี ต้องดูแลให้สภาพคล่องกระจายตัวไปสู่ภาคธุรกิจและครัวเรือนที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ COVID-19 อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ธนาคารพาณิชย์ (ธพ.) ปรับลดลงหลังการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ผ่านมาและการปรับลดอัตราเงินนำส่งกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน (FIDF fee) เป็นการชั่วคราว ด้านอัตราแลกเปลี่ยน เงินบาทแข็งค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์ สรอ. และเงินสกุลภูมิภาค คณะกรรมการฯ กังวลต่อสถานการณ์เงินบาทที่อาจกลับมาแข็งค่าขึ้น ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ จึงเห็นควรให้ติดตามสถานการณ์ตลาดการเงินและตลาดอัตราแลกเปลี่ยนอย่างใกล้ชิด
ระบบสถาบันการเงินมีเสถียรภาพ ธนาคารพาณิชย์มีระดับเงินกองทุนและเงินสำรองที่เข้มแข็ง แต่ในระยะข้างหน้ายังต้องติดตามความเสี่ยงที่อาจสร้างความเปราะบางให้เสถียรภาพของระบบธนาคารพาณิชย์ โดยเฉพาะความเสี่ยงจากการผิดนัดชำระหนี้ของธุรกิจและครัวเรือนหลังมาตรการช่วยเหลือด้านสภาพคล่องของภาครัฐทยอยสิ้นสุดลง คณะกรรมการฯ เห็นว่าสถาบันการเงินจึงต้องเร่งดำเนินการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ของลูกหนี้ รวมถึงเร่งรัดการให้สินเชื่อผ่านโครงการต่างๆ ที่ได้ออกมาก่อนหน้าและให้ ธปท. ร่วมกับหน่วยงานกำกับดูแลที่เกี่ยวข้องเตรียมแนวทางรองรับความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นหากความสามารถในการชำระหนี้ของลูกหนี้ด้อยลงกว่าคาด รวมถึงดูแลสภาพคล่องและกลไกการทำงานของระบบสถาบันการเงินให้มีเสถียรภาพและสามารถทำหน้าที่ได้อย่างต่อเนื่อง
มองไปข้างหน้า คณะกรรมการฯ จะติดตามพัฒนาการของการขยายตัวทางเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อ เสถียรภาพระบบการเงิน และปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ทั้งจากเศรษฐกิจต่างประเทศ ผลกระทบจากการระบาดของ COVID-19 รวมถึงความเพียงพอของมาตรการการคลังและมาตรการด้านการเงินและสินเชื่อ เพื่อประกอบการดำเนินนโยบายการเงินในระยะต่อไป โดยพร้อมใช้เครื่องมือนโยบายการเงินที่เหมาะสมเพิ่มเติมหากจำเป็น
กรุงศรี เผยกนง. ลดดอกเบี้ยเหลือ 0.50% ตามคาด มองหมดกระสุนดอกเบี้ย
กลุ่มงานโกลบอลมาร์เก็ตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) มีความเห็นต่อผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ที่มีมติด้วยคะแนนเสียง 4 ต่อ 3 ให้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25% มาที่ระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 0.50% ซึ่งสอดคล้องกับคาดการณ์ของตลาด ขณะที่ค่าเงินบาทอ่อนค่าลงเล็กน้อยที่ระดับ 31.92 ต่อดอลลาร์ ภายหลังการลงมติ โดยนับตั้งแต่ต้นปี เงินบาทอ่อนค่าลงมากกว่า 6% ซึ่งเป็นผลจากผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจอย่างรุนแรงจากการระบาดของไวรัสโคโรนา (COVID-19) และภาวะเงินทุนไหลออก อย่างไรก็ตาม ในช่วงท้ายตลาด เงินบาทกลับมาซื้อขายที่ระดับแข็งค่ากว่าก่อนการประกาศมติ โดยคณะกรรมการยังแสดงความกังวลในเรื่องความเป็นไปได้ที่เงินบาทจะกลับมาแข็งค่าอีกครั้ง ซึ่งจะเป็นอุปสรรคต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ
คณะกรรมการ กนง. มีความเห็นว่าเศรษฐกิจไทยในปี 2563 มีแนวโน้มหดตัวมากกว่าที่ประเมินไว้ตามทิศทางแนวโน้มเศรษฐกิจโลกและผลกระทบจากมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดไวรัสทั่วโลก โดยคาดการณ์ว่าอัตราเงินเฟ้อมีแนวโน้มปรับลงต่อเนื่องและติดลบ ขณะที่เสถียรภาพการเงินเริ่มเปราะบางมากขึ้น การชะลอตัวของภาคการท่องเที่ยวและการส่งออก รวมทั้งการหดตัวของอุปสงค์ในประเทศจากการว่างงานที่เพิ่มขึ้น จะทำให้ส่งผลให้เศรษฐกิจหดตัวอย่างรุนแรง
คณะกรรมการกนง. มีกำหนดการประชุมรอบถัดไปในวันที่ 24 มิถุนายน 2563 ความเห็นของ กนง. ในวันนี้ยังแสดงถึงมุมมองที่สนับสนุนนโยบายการเงินแบบผ่อนปรน แม้ว่าการลงมติด้วยคะแนนสูสีที่ 4:3 โดยมีคณะกรรมการ 3 ท่านต้องการให้คงดอกเบี้ย แสดงให้เห็นถึงการสิ้นสุดของวัฎจักรการปรับลดดอกเบี้ยในรอบนี้แล้ว และคณะกรรมการ กนง. ได้กล่าวย้ำถึงความพร้อมที่จะใช้เครื่องมือทางการเงินที่เห็นว่าเหมาะสมและจำเป็น แต่ได้ตัดคำว่า ‘ดอกเบี้ยนโยบาย’ ออกไป ทั้งนี้ กลุ่มงานโกลบอล มาร์เก็ตส์คาดว่า อัตราดอกเบี้ยจะยังอยู่ที่ระดับ 0.50% ในระยะข้างหน้า และ กนง. น่าจะใช้มาตรการแบบเจาะจงเป้าหมายเพิ่มเติม ควบคู่ไปกับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจทางการคลังเพื่อช่วยพยุงเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบอย่างหนักจากการแพร่ระบาดของไวรัส