- Details
- Category: ธปท.
- Published: Wednesday, 30 October 2019 17:09
- Hits: 4717
นโยบายการเงิน กันยายน 2562 ผ่อนคลาย (dovish) เศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มขยายตัวชะลอลง
เรื่อง รายงานนโยบายการเงิน ฉบับเดือนกันยายน 2562
ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยรายงานนโยบายการเงิน ฉบับเดือนกันยายน 2562 ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อเสริมสร้างความเข้าใจของสาธารณชนเกี่ยวกับแนวทางการดำเนินนโยบายการเงินและการประเมินภาวะเศรษฐกิจของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) สาระสำคัญสรุปได้ดังนี้
การดำเนินนโยบายการเงินในช่วงไตรมาสที่ 3 ปี 2562
เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวต่ำกว่าที่ประเมินไว้และต่ำกว่าระดับศักยภาพจากการส่งออกที่ลดลง ซึ่งส่งผลไปสู่อุปสงค์ในประเทศ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปีนี้มีแนวโน้มต่ำกว่าที่ประเมินไว้และต่ำกว่ากรอบเป้าหมายจากราคาพลังงานและอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานที่ต่ำกว่าคาด แต่มีแนวโน้มปรับเข้าสู่กรอบเป้าหมายในปีหน้า ขณะที่ระบบการเงินมีความเสี่ยงในบางจุดที่อาจสร้างความเปราะบางให้กับเสถียรภาพของระบบการเงินในอนาคต ในการประชุมวันที่ 7 สิงหาคม 2562 คณะกรรมการฯ มีมติ 5 ต่อ 2 เสียงให้ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงร้อยละ 0.25 ต่อปี จากร้อยละ 1.75 เป็นร้อยละ 1.50 ต่อปี และมีมติเอกฉันท์ในวันที่ 25 กันยายน 2562 ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ร้อยละ 1.50 ต่อปี
ทั้งนี้ ในการประชุมล่าสุด คณะกรรมการฯ เห็นว่านโยบายการเงินที่ผ่อนคลายจะช่วยเอื้อให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปกลับสู่กรอบเป้าหมายและสนับสนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจ ท่ามกลางความไม่แน่นอนที่สูงขึ้นโดยเฉพาะจากต่างประเทศเป็นหลัก อย่างไรก็ดี คณะกรรมการฯ ยังมีความกังวลต่อสถานการณ์เงินบาทที่แข็งค่าเมื่อเทียบกับประเทศคู่ค้าคู่แข่ง ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจมากขึ้นในภาวะที่ความเสี่ยงด้านต่างประเทศเพิ่มสูงขึ้น จึงเห็นควรให้ติดตามสถานการณ์อัตราแลกเปลี่ยนและเงินทุนเคลื่อนย้ายอย่างใกล้ชิด รวมทั้งพิจารณาดำเนินมาตรการที่เหมาะสมเพิ่มเติมตามความจำเป็น สำหรับการดูแลความเสี่ยงด้านเสถียรภาพระบบการเงินในระยะต่อไปที่เศรษฐกิจมีแนวโน้มชะลอลงและอัตราดอกเบี้ยอยู่ในระดับต่ำต่อเนื่อง ควรใช้มาตรการ microprudential และ macroprudential ร่วมกันอย่างเหมาะสมและตรงจุด
สำหรับในระยะข้างหน้า คณะกรรมการฯ จะติดตามพัฒนาการของข้อมูล (data dependent) ทั้งการขยายตัวทางเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อ เสถียรภาพระบบการเงิน รวมทั้งปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ โดยเฉพาะผลกระทบของการกีดกันทางการค้าระหว่างประเทศอย่างใกล้ชิด เพื่อประกอบการดำเนินนโยบายการเงินที่เหมาะสมในระยะต่อไป โดยพร้อมใช้เครื่องมือเชิงนโยบายที่มีอยู่อย่างเหมาะสม อย่างไรก็ดี เศรษฐกิจไทยยังเผชิญกับปัญหาเชิงโครงสร้างที่กระทบกับความสามารถในการแข่งขันและแนวโน้มการขยายตัวของเศรษฐกิจในอนาคต ซึ่งต้องได้รับการแก้ไขอย่างจริงจังจากทุกภาคส่วน
การประเมินแนวโน้มเศรษฐกิจการเงินเพื่อประกอบการดำเนินนโยบายการเงิน
- เศรษฐกิจโลก
เศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มขยายตัวชะลอลง เนื่องจากการกีดกันทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีนที่รุนแรงขึ้นส่งผลกระทบต่อการผลิต การส่งออก และการลงทุนภาคเอกชน ขณะที่การบริโภคภาคเอกชนยังเป็นแรงสนับสนุนสำคัญจากการจ้างงานที่อยู่ในเกณฑ์ดี ประกอบกับทิศทางนโยบายการเงินที่ผ่อนคลายมากขึ้นและมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น จะช่วยสนับสนุนการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศอุตสาหกรรมหลักในระยะต่อไป คณะกรรมการฯ จึงปรับลดข้อสมมติอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าลงเป็นร้อยละ 2.8 ในปี 2562 และร้อยละ 2.7 ในปี 2563 อย่างไรก็ดี เศรษฐกิจประเทศคู่ค้ายังมีโอกาสขยายตัวต่ำกว่ากรณีฐาน ตามความไม่แน่นอนของสภาวะการกีดกันทางการค้าฯ ที่ยืดเยื้ออาจส่งผลต่อแนวโน้มการบริโภคและการลงทุน ตลอดจนแนวโน้มการฟื้นตัวของวัฏจักรอิเล็กทรอนิกส์และการส่งออก รวมถึงปัญหาภูมิรัฐศาสตร์อื่น ๆ ที่อาจส่งผลต่อความผันผวนในตลาดการเงินและตลาดสินค้าโภคภัณฑ์
ธนาคารกลางหลายแห่งปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย และส่วนใหญ่มีทิศทางการดำเนินนโยบายการเงินที่ผ่อนคลาย (dovish) มากขึ้นเพื่อช่วยประคับประคองเศรษฐกิจ โดยธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายอีกครั้งในเดือนกันยายน 2562 เป็นร้อยละ 1.75 - 2.00 โดยคาดว่า Fed จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพิ่มเติมอีก 1 ครั้งในปีนี้และอีก 1 ครั้งในปี 2563 ส่วนธนาคารกลางยุโรป (ECB) ประกาศชุดมาตรการผ่อนคลายทางการเงินเพิ่มเติมในเดือนกันยายน ขณะที่ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) มีแนวโน้มผ่อนคลายนโยบายการเงินเพิ่มเติม หากเศรษฐกิจมีทิศทางชะลอลงอย่างมีนัยสำคัญ ธนาคารกลางอื่นในภูมิภาคปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงเพื่อสนับสนุนเศรษฐกิจและเงินเฟ้อที่มีแนวโน้มปรับลดลง อาทิ ธนาคารกลางออสเตรเลีย (RBA) ธนาคารกลางเกาหลีใต้ (BOK) ธนาคารกลางอินเดีย (RBI) ธนาคารกลางฟิลิปปินส์ (BSP) และ ธนาคารกลางอินโดนีเซีย (BI)
กลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่ (emerging markets: EMs) ยังคงเผชิญเงินทุนเคลื่อนย้ายที่ผันผวน โดยเงินทุนไหลออกจาก EMs ตามความกังวลของนักลงทุนหลังจาก Fed ส่งสัญญาณดำเนินนโยบายผ่อนคลายน้อยกว่าที่ตลาดคาด การกีดกันทางการค้าฯ ทวีความรุนแรงขึ้น ความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์ (geopolitical risks) ที่เพิ่มขึ้น รวมทั้งธนาคารกลางใน EMs หลายแห่ง (รวมไทย) ดำเนินนโยบายผ่อนคลายมากขึ้น อย่างไรก็ดี เงินทุนเคลื่อนย้ายไหลกลับเข้า EMs ในช่วงปลายไตรมาส หลังจากความกังวลเกี่ยวกับการกีดกันการค้าฯ ผ่อนคลายลง ประกอบกับธนาคารกลางของกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมหลักดำเนินนโยบายการเงินที่ผ่อนคลายมากขึ้น
- ภาวะการเงินและเสถียรภาพระบบการเงินไทย
ภาวะการเงินไทยโดยรวมยังผ่อนคลาย สะท้อนจากอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่แท้จริงที่ยังอยู่ในระดับต่ำ เมื่อเทียบกับกลุ่มประเทศ EMs อัตราดอกเบี้ยในตลาดการเงินไทยทั้งอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลระยะสั้น อัตราผลตอบแทนตราสารหนี้ภาคเอกชน และอัตราดอกเบี้ยเงินให้กู้ยืมของ ธพ. บางประเภทปรับลดลงสอดคล้องกับอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ส่วนอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลระยะยาวปรับลดลงเร็วจากปัจจัยทั้งในและต่างประเทศ การระดมทุนในภาพรวมขยายตัวต่อเนื่องจากไตรมาสก่อน อย่างไรก็ดี สินเชื่อภาคเอกชนขยายตัวชะลอลงจากทั้งสินเชื่อธุรกิจในภาคอุตสาหกรรมพาณิชย์ และบริการเป็นสำคัญ สินเชื่อภาคครัวเรือนขยายตัวชะลอลงเช่นกัน โดยเฉพาะสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยและสินเชื่อยานยนต์ ด้านเงินบาทต่อดอลลาร์ สรอ. แข็งค่าขึ้นจากสิ้นไตรมาสก่อน จากความกังวลต่อเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวและการกีดกันทางการค้าฯ ที่ทวีความรุนแรงและยืดเยื้อ โดยเฉพาะหลังจากสหรัฐฯ ประกาศจะจัดเก็บภาษีนำเข้าจากจีนเพิ่มเติม และได้ระบุว่าจีนเป็น currency manipulator ส่งผลให้สินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงต่ำมีราคาสูงขึ้น อาทิ ทองคำ รวมถึงเงินเยนและเงินบาทที่ปรับแข็งค่าขึ้น สำหรับดัชนีค่าเงินบาทที่แท้จริง (REER) แข็งค่าขึ้นจากไตรมาสก่อนเช่นกัน
ระบบการเงินไทยมีความเสี่ยงในบางจุดที่อาจสร้างความเปราะบางให้กับเสถียรภาพระบบการเงินในอนาคต โดยความเสี่ยงบางด้านปรับลดลงหลังการออกมาตรการดูแลเฉพาะจุดและสอดคล้องกับแนวโน้มเศรษฐกิจที่ชะลอลง เช่น ความเสี่ยงในภาคอสังหาริมทรัพย์ได้รับการดูแลไปบางส่วนจากเกณฑ์การกำกับดูแลสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยที่ปรับปรุงใหม่ (LTV) สะท้อนจาก (1) มาตรฐานการพิจารณาให้สินเชื่อของสถาบันการเงินรัดกุมขึ้นโดยเฉพาะสินเชื่อที่อยู่อาศัยสัญญาที่ 2 ขึ้นไปของผู้กู้รายเดิม (2) การเก็งกำไรในตลาดอสังหาริมทรัพย์ชะลอลง (3) ราคาที่อยู่อาศัยเริ่มมีแนวโน้มชะลอลงซึ่งช่วยให้ผู้ที่ต้องการซื้อเพื่ออยู่อาศัยจริงสามารถซื้อที่อยู่อาศัยได้ในราคาที่เหมาะสมขึ้น และ (4) ผู้ประกอบการปรับตัวสอดคล้องกับอุปสงค์ที่ชะลอลง ขณะที่ความเสี่ยงบางด้านยังไม่ปรับดีขึ้น ได้แก่ (1) ความสามารถในการรองรับปัจจัยลบที่ส่งผลกระทบต่อรายได้ของภาคครัวเรือนและธุรกิจ SMEs ที่ลดลง (2) อุปทานคงค้างในตลาดอสังหาริมทรัพย์ที่มีความเสี่ยงมากขึ้นจากอุปสงค์ทั้งในและต่างประเทศที่มีแนวโน้มชะลอลง และ (3) พฤติกรรมแสวงหาผลตอบแทนที่สูงขึ้น (search for yield) ที่อาจนำไปสู่การประเมินความเสี่ยงต่ำกว่าที่ควร (underpricing of risks) โดยเฉพาะสหกรณ์ออมทรัพย์และกลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่
- แนวโน้มเศรษฐกิจและเงินเฟ้อของไทย
เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวชะลอลงที่ร้อยละ 2.8 และ 3.3 ในปี 2562 และ 2563 ตามลำดับ ต่ำกว่าที่ประเมินไว้ในรายงานนโยบายการเงิน ฉบับก่อนและต่ำกว่าระดับศักยภาพจากทั้งอุปสงค์ต่างประเทศและในประเทศที่ชะลอลง โดยปริมาณการส่งออกสินค้าและบริการมีแนวโน้มขยายตัวต่ำกว่าที่เคยประเมินไว้ตามปริมาณการค้าโลกและเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าที่มีแนวโน้มชะลอตัวมากขึ้น นอกจากนี้ การส่งออกสินค้าที่หดตัวเริ่มส่งผลกระทบต่อการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชน ขณะที่การใช้จ่ายภาครัฐมีแนวโน้มขยายตัวต่ำลง ส่วนหนึ่งจากการเลื่อนการลงทุนของรัฐวิสาหกิจ สำหรับประมาณการอัตราเงินเฟ้อทั่วไปมีแนวโน้มชะลอลงโดยเฉพาะในปี 2562 ตามราคาหมวดพลังงานที่มีแนวโน้มลดลงและอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานที่ชะลอลงตามแรงกดดันด้านอุปสงค์ แต่อัตราเงินเฟ้อทั่วไปมีแนวโน้มปรับเข้าสู่กรอบเป้าหมายในปี 2563 ตามแนวโน้มการขยายตัวของเศรษฐกิจและแรงกดดันเงินเฟ้อด้านต้นทุนจากนโยบายการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ
มูลค่าการส่งออกสินค้าของไทยในปี 2562 มีแนวโน้มหดตัว จากด้านปริมาณเป็นสำคัญ เนื่องจากสภาวะการกีดกันทางการค้าฯ มีแนวโน้มรุนแรงและยืดเยื้อมากขึ้น สำหรับด้านราคาปรับลดลงเช่นกันตามราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก ในระยะถัดไป คาดว่าการส่งออกสินค้าจะฟื้นตัวตามแนวโน้มการส่งออกจากผู้ประกอบการที่ย้ายฐานการผลิตมายังไทยในช่วงก่อนหน้า นอกจากนี้ การนำเข้าสินค้าไทยจากสหรัฐฯ เพื่อทดแทนการนำเข้าจากจีนมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในหลายหมวดสินค้ามากขึ้น
การส่งออกบริการโดยรวมมีแนวโน้มขยายตัวชะลอลง ตามแนวโน้มจำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศในเกือบทุกสัญชาติและการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวต่อคนที่ปรับลดลงตามภาวะเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว อย่างไรก็ดี มาตรการกระตุ้นภาคการท่องเที่ยวของภาครัฐผ่านการขยายระยะเวลามาตรการยกเลิกค่าธรรมเนียมการตรวจลงตรา ณ ด่านตรวจคนเข้าเมือง (visa on arrival: VOA) จากเดิมที่จะสิ้นสุดในเดือนตุลาคม 2562 เป็นเดือนเมษายน 2563 จะช่วยเพิ่มจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติได้บ้าง
การบริโภคภาคเอกชนมีแนวโน้มขยายตัวชะลอลง จากปัจจัยด้านกำลังซื้อที่ยังไม่เข้มแข็ง เนื่องจากการจ้างงานและชั่วโมงการทำงานในภาคการผลิตเพื่อการส่งออกได้รับผลกระทบมากขึ้นจากการส่งออกที่หดตัว ขณะเดียวกันรายได้เกษตรกรมีแนวโน้มหดตัวในปีหน้าจากผลของฐานราคาที่สูงจากปัญหาภัยธรรมชาติปีนี้ นอกจากนี้ หนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูงอาจเป็นปัจจัยกดดันมากขึ้นโดยเฉพาะในช่วงที่รายได้ของครัวเรือนมีแนวโน้มชะลอตัว แม้ในระยะสั้นการบริโภคจะได้รับแรงสนับสนุนจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจจากภาครัฐในช่วงครึ่งหลังของปี 2562
การลงทุนภาคเอกชนมีแนวโน้มขยายตัวต่ำกว่าที่ประเมินไว้ ตามการส่งออกสินค้าที่หดตัวและอุปสงค์ในประเทศที่ชะลอลง อย่างไรก็ดี มาตรการกระตุ้นการลงทุนของภาครัฐช่วยพยุงการลงทุนภาคเอกชนได้บ้าง ในระยะต่อไป การลงทุนภาคเอกชนยังมีแนวโน้มปรับดีขึ้นจากการย้ายฐานการผลิตของผู้ประกอบการในต่างประเทศมาไทยเพิ่มเติม เพื่อหลีกเลี่ยงผลกระทบจากการกีดกันทางการค้าฯ ที่รุนแรงและยืดเยื้อ รวมถึงความเชื่อมั่นของนักลงทุนที่มีแนวโน้มปรับดีขึ้นจากการลงทุนต่อเนื่องในโครงสร้างพื้นฐานในเขตระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor: EEC) และโครงการร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน (public-private partnership: PPP)
การใช้จ่ายภาครัฐมีแนวโน้มช่วยสนับสนุนเศรษฐกิจต่ำกว่าที่คาดไว้ จากการลงทุนของรัฐวิสาหกิจที่ล่าช้ากว่าแผน นอกจากนี้ มีการปรับโครงสร้างงบประมาณตามร่าง พ.ร.บ. งบประมาณรายจ่ายประจาปี พ.ศ. 2563 ล่าสุดที่ปรับสัดส่วนงบประมาณรายจ่ายลงทุนลงและเพิ่มสัดส่วนงบประมาณรายจ่ายประจา ส่งผลให้แนวโน้มการลงทุนภาครัฐชะลอลงต่อเนื่อง ขณะที่รายจ่ายเพื่อการอุปโภคภาครัฐปรับเพิ่มขึ้นในปี 2563
อัตราเงินเฟ้อทั่วไปมีแนวโน้มต่ำกว่าที่ประเมินไว้และต่ำกว่ากรอบเป้าหมายในปี 2562 ที่ร้อยละ 0.8 เนื่องจากราคาหมวดพลังงานและอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานในเดือนมิถุนายนถึงสิงหาคม 2562 ออกมาต่ำกว่าที่ประเมินไว้ ประกอบกับอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานมีแนวโน้มชะลอลงตามแรงกดดันด้านอุปสงค์ ขณะที่ราคาหมวดพลังงานมีแนวโน้มปรับลดลงตามราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก แม้ราคาหมวดอาหารสดจะมีแนวโน้มปรับสูงขึ้นในระยะสั้นซึ่งมีส่วนช่วยทำให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเพิ่มขึ้นได้บ้าง อย่างไรก็ดี คณะกรรมการฯ ประเมินว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปมีแนวโน้มปรับเข้าสู่กรอบเป้าหมายในปี 2563 ที่ร้อยละ 1.0 โดยประมาณการอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานมีแนวโน้มปรับสูงขึ้นจากร้อยละ 0.6 ในปี 2562 เป็นร้อยละ 0.9 ในปี 2563 ตามแนวโน้มการขยายตัวของเศรษฐกิจและแรงกดดันด้านต้นทุนที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นจากนโยบายการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำในปีหน้า
ความเสี่ยงที่ประมาณการเศรษฐกิจและประมาณการอัตราเงินเฟ้อจะต่ำกว่ากรณีฐานมีมากขึ้นกว่าที่ประเมินไว้ในรายงานนโยบายการเงินฉบับก่อน ตามความเสี่ยงด้านต่างประเทศเป็นสำคัญ ทั้งนี้ โอกาสที่เศรษฐกิจไทยอาจขยายตัวต่ำกว่ากรณีฐานมาจาก (1) เศรษฐกิจประเทศคู่ค้าและปริมาณการค้าโลกอาจชะลอลงกว่าที่คาดจากการกีดกันทางการค้าระหว่างประเทศที่รุนแรงขึ้นและกระทบต่อการส่งออกสินค้าของไทยมากกว่าที่คาด (2) ราคาน้ำมันดิบที่อาจปรับสูงขึ้นกว่าที่ประเมินไว้จากสถานการณ์ในตะวันออกกลางที่ตึงเครียดขึ้น (3) การดำเนินนโยบายภาครัฐอาจล่าช้าและขาดความต่อเนื่องจากรัฐบาลชุดก่อน และ (4) รายได้ของครัวเรือนอาจชะลอลงมากและส่งผลกระทบต่อการบริโภคภาคเอกชนมากกว่าที่คาด
อย่างไรก็ดี โอกาสที่เศรษฐกิจไทยอาจขยายตัวสูงกว่ากรณีฐานมาจาก (1) เศรษฐกิจคู่ค้าที่อาจขยายตัวมากกว่าคาดจากมาตรการกระตุ้นเพิ่มเติมของภาครัฐ การกีดกันทางการค้าระหว่างประเทศในระยะถัดไปที่คลี่คลายลง รวมถึงวัฏจักรสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ฟื้นตัวเร็วกว่าคาด และ (2) อุปสงค์ในประเทศที่อาจขยายตัวมากกว่าคาดจากการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐและโครงการ PPP ซึ่งอาจจูงใจให้เอกชนลงทุนมากขึ้น รวมถึงกรณีที่ภาครัฐออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติม สำหรับประมาณการอัตราเงินเฟ้อทั่วไปและอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานยังมีความเสี่ยงที่จะต่ำกว่ากรณีฐานเช่นกัน สอดคล้องกับความเสี่ยงของประมาณการเศรษฐกิจ
******************************************
กด Like - Share เพจ Corehoon-Power Time เพื่อติดตามเคล็ดลับ ข่าวสาร เทรนด์ และบทวิเคราะห์ดีๆ อัพเดตทุกวัน คัดสรรมาเพื่อท่านนักลงทุนโดยเฉพาะ
Click Donate Support Web