WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

BOA copyกนง.เผยรายงานประชุม 25 ก.ย.ชี้ศก.โตต่ำ แต่ความเสี่ยงภาคอสังหาฯ ลดลง

  ธปท.เผยรายงาน กนง.ชี้ศก.ไทยมีแนวโน้มขยายตัวต่ำกว่าศักยภาพ เหตุสงครามการค้าสหรัฐ-จีน รุนแรง-Brexit พร้อมกังวลบาทแข็ง กดดันอุปสงค์ในประเทศ พบความเสี่ยงอสังหาฯ ลดลงตามลำดับ

  รายงานข่าวจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยรายงานการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (ฉบับย่อ) วันที่ 25 ก.ย.62โดยมีนายวิรไท สันติประภาพ ผู้ว่าการ ธปท. เป็นประธานว่า คณะกรรมการคาดว่าเศรษฐกิจไทยในปีนี้คาดว่าจะขยายตัวได้ 2.8% และในปีหน้าคาดว่าจะขยายตัวได้ 3.3%

  ทั้งนี้ เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวต่ำกว่าประมาณการเดิมและต่ำกว่าระดับศักยภาพ จากการส่งออกสินค้าที่หดตัวและเริ่มส่งผลต่ออุปสงค์ในประเทศ โดยการส่งออกมีแนวโน้มหดตัวกว่าที่ประเมินไว้

  “เดิมปีนี้คาดว่าจีดีพีจะขยายตัวได้ 3.3% และปีหน้าคาดว่าจะขยายตัวได้ 3.7% โดยเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวต่ำกว่าประมาณการ เนื่องจากความเสี่ยงเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะจากเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าที่อาจขยายตัวต่ำเพิ่มขึ้น”รายงานธปท.ระบุ

 สำหรับการส่งออกที่ชะลอตัว เป็นไปตามเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าและปริมาณการค้าโลกที่ชะลอลงจากการกีดกันทางการค้าระหว่างประเทศที่ทวีความรุนแรงขึ้น ประกอบกับวัฏจักรสินค้าอิเล็กทรอนิกส์มีแนวโน้มฟื้นตัวช้ากว่าที่คาด

  ด้านการส่งออกภาคบริการมีแนวโน้มขยายตัวชะลอลงตามเศรษฐกิจโลก การบริโภคภาคเอกชนได้รับแรงกดดันจากรายได้และการจ้างงานของครัวเรือนที่ปรับลดลงในหลายภาคเศรษฐกิจ โดยเฉพาะภาคการผลิตเพื่อการส่งออก

  รวมทั้งภาคครัวเรือนในภาคเกษตรบางส่วนได้รับผลกระทบจากภัยธรรมชาติ ประกอบกับแรงกดดันจากหนี้ครัวเรือนที่ยังอยู่ในระดับสูง อย่างไรก็ตาม มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐจะเป็นปัจจัยสนับสนุนการบริโภคภาคเอกชนในปีนี้ให้ขยายตัวได้ใกล้เคียงกับประมาณการเดิม

       สำหรับ การลงทุนภาคเอกชนมีแนวโน้มขยายตัวต่ำกว่าที่ประมาณการไว้ ส่วนหนึ่งจากการส่งออกสินค้าที่ชะลอตัวและอุปสงค์ในประเทศที่ลดลง อย่างไรก็ตาม การย้ายฐานการผลิตมายังไทยและโครงการร่วมลงทุนของรัฐและเอกชนในโครงสร้างพื้นฐานจะช่วยสนับสนุนการลงทุนในระยะต่อไป

   ด้านการใช้จ่ายภาครัฐ มีแนวโน้มขยายตัวชะลอลง ส่วนหนึ่งจากการเลื่อนการลงทุนของรัฐวิสาหกิจ แม้การอุปโภคภาครัฐมีแนวโน้มขยายตัวสูงขึ้นจากการปรับสัดส่วนโครงสร้างงบประมณ 2563 จากแผนเดิม ซึ่งส่งผลให้งบรายจ่ายประจำมีสัดส่วนสูงขึ้น

   ส่วนอัตราแลกเปลี่ยน เงินบาทเทียบดอลลาร์ แข็งค่าจากการประชุมครั้งก่อน แม้จะอ่อนค่าลงในเดือนสิงหาคมภายหลังการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย แต่ยังเคลื่อนไหวตามปัจจัยในตลาดการเงินโลกเป็นสำคัญ โดยเฉพาะภายหลังการประกาศปรับเพิ่มภาษีนำเข้าของสหรัฐ และจีน ส่งผลให้เงินบาทแข็งค่าขึ้นตามค่าเงินเยนและราคาทองคำซึค่งเป็นสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงต่ำ

   ขณะที่ในเดือนกันยายน เงินบาทปรับแข็งค่าต่อเนื่อง สอดคล้องกับราคาสินทรัพย์เสี่ยงของประเทศตลาดเกิดใหม่ ตามพัฒนาการที่ดีขึ้นของการเจรจาการค้าระหว่างสหรัฐ และจีนรวมทั้งการเจรจา Brexit

   ในระยะข้างหน้า ตลาดการเงินยังผันผวนสูง จากความยืดเยื้อของการกีดกันทางการค้าและการเจรจา Brexit รวมถึงแนวโน้มการชะลอตัวลงของเศรษฐกิจโลก ซึ่งอาจกดดันให้ราคาสินทรัพย์และอัตราแลกเปลี่ยนผันผวนได้

   นอกจากนี้ คณะกรรมการ ยังกังวลต่อการแข็งค่าของเงินบาทเทียบกับประเทศคู่ค้าคู่แข่งภายใต้แนวโน้มที่เศรษฐกิจขยายตัวชะลอลง โดยเห็นว่าเศรษฐกิจอาจอ่อนไหวต่ออัตราแลกเปลี่ยนที่แข็งค่ามากขึ้น ซึ่งจะเป็นปัจจัยกดดันเพิ่มเติมต่ออุปสงค์ในประเทศที่ชะลอลง คณะกรรมการจึงเห็นควรให้ติดตามสถานการณ์อัตราแลกเปลี่ยนและเงินทุนเคลื่อนย้าย รวมถึงผลกระทบต่อเศรษฐกิจผ่านช่องทางต่างๆ

  ทั้งนี้ พบว่า ความเสี่ยงในระบบการเงินที่อาจสร้างความเปราะบางให้กับเสถียรภาพระบบการเงินในอนาคตได้รับ

การดูแลไปแล้วบางส่วนด้วยมาตรการดูแลเสถียรภาพระบบการเงินที่ได้ดำเนินการไป อาทิ ความเสี่ยงในภาคอสังหาริมทรัพย์ที่ปรับดีขึ้นหลังหลักเกณฑ์การกำกับดูแลสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยที่ปรับปรุงใหม่ (loan-tovalue: LTV)  และธนาคารพาณิชย์ (ธพ.) มีแนวโน้มที่จะระมัดระวังการปล่อยสินเชื่อมากขึ้น

  ความเสี่ยงในจุดอื่น ๆ ยังไม่ปรับดีขึ้นและเป็นประเด็นที่ต้องติดตาม คือการก่อหนี้ของภาคครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง และพฤติกรรมแสวงหาผลตอบแทนที่สูงขึ้นในช่วงดอกเบี้ยต่ำ  ด้านความเสี่ยงในภาคอสังหาริมทรัพย์ยังมีอุปทานคงค้างในบางพื้นที่ ส่วนหนึ่งจากอุปสงค์ต่างชาติที่ปรับลดลงตามแนวโน้มเศรษฐกิจโลก

  รวมทั้งผลกระทบต่อเศรษฐกิจผ่านช่องทางต่าง ๆ อย่างใกล้ชิด และให้พิจารณาดำเนินมาตรการเพิ่มเติมตามความจำเป็นในจังหวะที่เหมาะสม ทั้งมาตรการต่าง ๆ ที่ ธปท. สามารถดำเนินการได้เอง เช่น การผ่อนคลายกฎเกณฑ์เงินทุนเคลื่อนย้ายด้านขาออกอย่างต่อเนื่องเพื่อส่งเสริมให้คนไทยออกไปลงทุนต่างประเทศมากขึ้น และมาตรการที่ต้องดำเนินการร่วมกับหน่วยงานอื่น อาทิ การส่งเสริมการลงทุนเพื่อลดการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดที่ยังคงอยู่ในระดับสูง

  โดยนอกจากนี้ คณะกรรมการฯ เห็นถึงความจำเป็นที่ต้องรักษาขีดความสามารถในการดำเนินนโยบายการเงิน (policy space) เพื่อรองรับความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจที่อาจเกิดขึ้นในระยะข้างหน้า และเห็นควรให้ติดตามผลของการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายและมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐที่จะส่งผ่านไปสู่เศรษฐกิจ

สำนักข่าวอีไฟแนนซ์ไทย- -9 ต.ค. 62 11:30 น.

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!