- Details
- Category: ธปท.
- Published: Friday, 03 October 2014 23:18
- Hits: 3302
ธปท.เผย ฟิทช์คงอันดับเครดิตไทยที่ BBB+เป็นไปตามคาด พร้อมแจงเงินบาทอ่อนค่าช่วงนี้มาจากปัจจัย ตปท.เป็นหลัก
ธปท.เผย ฟิทช์คงอันดับเครดิตไทยที่ BBB+เป็นไปตามคาด จากพื้นฐานศก.-เสถียรภาพการเงินอยู่ในเกณฑ์ดี พร้อมระบุแม้ ศก.ปีนี้โตต่ำกว่าศักยภาพ แต่เชื่อไม่กระทบเครดิตตราสารหนี้ภาครัฐ เหตุต้องใช้หลายปัจจัยประเมินไม่ได้ดูแค่จีดีพี ด้านเงินบาทอ่อนค่าช่วง 2 สัปดาห์นี้ราว 0.6% จากปัจจัย ตปท.เป็นหลัก
นายจิรเทพ เสนีวงศ์ ณ อยุธยา โฆษก ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า การคงอันดับเครดิต Rating ของไทยที่ BBB+ ของ Fitch นั้น เป็นไปตามที่คาดการณ์ไว้ เนื่องจากในช่วง 1-2 ปี ที่ผ่านมา Credit Rating Agency ยังคงมองว่าพื้นฐานเศรษฐกิจไทยยังอยู่ในเกณฑ์ดี โดยการประเมินมีการให้น้ำหนักกับประเด็นพื้นฐานทางเศรษฐกิจมากกว่าอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจที่เป็นระยะสั้น
ทั้งนี้ Credit Rating Agency มีความเห็นสอดคล้องกันว่า พื้นฐานทางเศรษฐกิจและเสถียรภาพการเงินของไทยไม่ได้ถูกกระทบจากปัญหาการเมืองในช่วงที่ผ่านมา และเมื่อหลังจากที่การเมืองมีความชัดเจนมากขึ้ย ความเชื่อมั่นและเศรษฐกิจที่ปรับตัวดีขึ้น ประกอบกับสถานะด้านอื่นๆ เช่น สเถียรภาพด้านต่างประเทศ ความยืดหยุ่นของเศรษฐกิจไทยต่อ Shock และหนี้ของรัฐบาลที่ยังอยู่ในเกณฑ์ดี และสูงกว่าประเทศอื่นๆในภูมิภาคเดียวกับไทยทำให้ Fitch และ Credit Rating Agency รายอื่นๆยังคงอันดับความน่าเชื่อถือของไทยไว้
อย่างไรก็ตาม สถาบันจัดอันดับเรตติ้ง 3 ค่ายใหญ่ ยังคงแนวฌโน้มเรตติ้งไทยมีเสถียรภาพ สะท้อนให้เห็นถึงความเชื่อมั่นต่อสถานการณ์ทางเศรษฐกิจและการเงินของประเทศที่ยังคงมั่นคง และมีเสถียรภาพ ซึ่งทำให้สถาบันอันดับเรตติ้งประเมินได้ว่า จะยังไม่มีการปรับเปลี่ยนอันดับความน่าเชื่อถือของไทยในช่วง 1-2 ปีข้างหน้า ปัจจัยนี้ช่วยเสริมให้ตลาดการเงินไทยมีความน่าสนใจในสายตานักลงทุน โดยเฉพาะนักลงทุนต่างชาติ
สำหรับผลการประมูลพันธบัตรรัฐบาลและพันธบัตร ธปท.ในช่วงที่ผ่านมา โดยรวมยังได้รับการตอบรับจากนักลงทุนเป็นอย่างดี มีผู้สนใจเข้าลงทุนมากกว่าวงเงินเสนอขายโดยเฉลี่ยประมาณ 1.5-2 เท่าต่อครั้ง
นายจิรเทพ กล่าวต่อถึง กรณีที่การขยายตัวทางเศรษฐกิจหรือจีดีพีที่ต่ำกว่าศักยภาพ จะลดทอนความน่าเชื่อถือของตราสารหนี้ภาครัฐในระยะต่อไปหรือไม่ว่า การขยายตัวของเศรษฐกิจในปีนี้ถือว่าเป็นการปรับตัวดีขึ้น หลังจากที่ถูกกระทบจากปัญหาการเมืองที่ยืดเยื้อมานาน ซึ่งคงต้องต่ำกว่าศักยภาพในระยะเริ่มต้นของการฟื้นตัว และในปีหน้า ธปท.ประเมินว่า จีดีพีจะเติบโตได้ที่ 4.8% ซึ่งก็เป็นระดับที่น่าพอใจ สะท้อนการฟื้นตัวที่แข็งแกร่งขึ้น
อย่างไรก็ตาม ไทยยังคงมีปัญหาเชิงโครงสร้างทางเศรษฐกิจ ที่เป็นจุดอ่อนสำคัญที่ต้องเร่งพัฒนา เพื่อให้สามารถฟื้นตัวกลับมาสู่ระดับศักยภาพ เพราะจะสะท้อนถึงความสามารถในการหารายได้ของประเทศในอนาคต สำหรับข้อพิจารณาในการจัดอันดับความน่าเชื่อถือของตราสารหนี้ภาครัฐ จะคำนึงถึงปัจจัยทางด้าน โครงสร้างทางเศรษฐกิจและการเงิน อัตราการขยายตัวและแนวโน้มเสถียรภาพและความเสี่ยงในภาคเศรษฐกิจต่างๆ การดำเนินนโยบายเศรษฐกิจภาครัฐ ภาระหนี้ และความสามารถในการชำระหนี้ของภาครัฐบาล เป็นต้น
"จะเห็นได้ว่าการขยายตัวของเศรษฐกิจเป็นเพียงหนึ่งในหลายๆ ปัจจัย หากทางการมีการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจมหภาคที่เหมาะสม และเน้นการรักษาสมดุล รวมทั้งผลักดันการปฏิรูปโครงสร้างพื้นฐานอย่างต่อเนื่อง ย่อมจะเป็นการรักษาเสถียรภาพทางการเงิน ซึ่งรวมถึงเสถียรภาพในตลาดการเงิน และเสริมสร้างศักยภาพระยะยาวของเศรษฐกิจ ซึ่งทั้งหมด ล้วนเป็นปัจจัยบวกต่อการจัดอันดับความน่าเชื่อถือของประเทศ และของตราสารหนี้ภาครัฐในระยะต่อไป"นายจิรเทพ กล่าว
ที่สำคัญการที่ไทยเริ่มมีเสถียรภาพทางการเมือง สร้างความต่อเนื่องในการทำนโยบายเศรษฐกิจมหภาค โดยเฉพาะการลงทุนของภาครัฐ จะเป็นปัจจัยสำคัญที่จะช่วยยกระดับความสามารถในการแข่งขันของประเทศ และ Crowding in การลงทุนของภาคเอกชน ทำให้เศรษฐกิจกลับมาสู่ Potential growth ในระยะต่อไป
ส่วนสถานการณ์ค่าเงินบาท ธปท.ยอมรับว่า ในช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมาอ่อนค่าลง 0.6% โดยมาจากปัจจัยภายนอกเป็นหลัก เนื่องจาก ค่าเงินดอลลาร์ปรับตัวแข็งค่าขึ้นอย่างต่อเนื่อง หลังจากตัวเลขอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ หรือ จีดีพี ไตรมาส 2 ปรับตัวดีขึ้นจาก 4.2% เป็น 4.6% ขณะที่ด้านยุโรปยังไม่มีความชัดเจนเรื่องมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ จึงเป็นแรงสนับสนุนให้มีแรงซื้อดอลลาร์อย่างต่อเนื่อง
“เมื่อเทียบกับภูมิภาคก็อ่อนทั้งหมด เราก็อ่อนค่าอยู่กลางๆ ปัจจัยในประเทศไม่ได้มีผลอย่างมีนัยสำคัญ แม้ตัวเลขการนำเข้า และส่งออกจะชะลอลงต่อเนื่องก็ตาม ตอนนี้คงเป็นเรื่องของยุโรป และสหรัฐมากกว่า”นายจิรเทพ กล่าว
ส่วนการประชุมธนาคารกลางโลก หรือ World Bank ที่จะหารือกันในเร็วๆนี้ นั้น มองว่าคงมีการพูดคุย และถกเถียงกันในเรื่องการฟื้นตัวของเศรษฐกิจประเทศต่างๆที่มีความแตกต่างกัน รวมถึงประสิทธิภาพของมาตรการในการดูแลเศรษฐกิจในแต่ละประเทศด้วยว่าจะได้ผลมากน้อยแค่ไหน
ด้านสถานการณ์ในยุโรป ธปท.อยู่ระหว่างติดตามผลกระทบด้านเงินทุนเคลื่อนย้าย โดยเฉพาะความไม่ชัดเจนเกี่ยวกับมาตรการในการกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่จากการประเมินเบื้องต้นพบว่า ขณะนี้ยังไม่เห็นการไหลออกที่ผิดปกติ นอกจากนี้ ยังต้องติดตามการเติบโตของเศรษฐกิจจีนในระยะต่อไปด้วย
“คงต้องมอนิเตอร์อย่างใกล้ชิด ในเรื่องของเงินทุนไหลเข้าไหลออก แต่ตอนนี้ยังไม่เห็นเงินไหลออกที่มันชัดเจน แต่มองว่าจากรายละเอียดของมาตรการยุโรปที่ไม่ชัดเจนนั้น ทำให้ตลาดมองว่าประสิทธิภาพและนโยบายก็จะไม่ชัดเจนตามไปด้วย คงต้องติดตามดูระยะหนึ่งก่อน”นายจิรเทพ กล่าว
สำนักข่าวอีไฟแนนซ์ไทย