- Details
- Category: ธปท.
- Published: Tuesday, 08 October 2019 19:25
- Hits: 4439
ธปท.ปลื้มเวิลด์แบงก์-IMF มองแบงก์ไทยแกร่ง แนะคุมหนี้ครัวเรือนเพิ่ม
ผู้ว่าธปท. ปลื้ม หลัง IMF-เวิลด์แบงก์ ประเมินตามโครงการ FSAP พบระบบสถาบันการเงินไทยมีเสถียรภาพ-มั่นคง พร้อมหนุนไทยออกมาตรการ Macroprudential คุมหนี้ครัวเรือน
นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยผลการประเมินภาคการเงินไทยตามโครงการ Financial Sector Assessment Program (FSAP) ซึ่งดำเนินการโดยคณะผู้ประเมินจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) และธนาคารโลก (เวิลด์แบงก์) ว่า ระบบการเงินไทยโดยรวมมีเสถียรภาพ มีความมั่นคง แต่ยังต้องติดตามความเสี่ยง เช่น ความเปราะบางในภาคครัวเรือนที่มีภาระหนี้ที่อยู่ในระดับสูง
ทั้งนี้ ผู้ประเมิน สนับสนุนในการออกมาตรการเชิงป้องกัน (Macroprudential Policy) เพื่อดูแลไม่ให้ความเปราะบางของหนี้ครัวเรือนขยายตัวจนส่งผลกระทบในวงกว้าง อย่างไรก็ตาม ในระยะต่อไป ธปท.จะติดตามและประเมินความเสี่ยงของเสถียรภาพระบบการเงินในลักษณะมองไปข้างหน้า เพื่อให้ประเมินสถานการณ์ต่างๆที่มีโอกาสเกิดขึ้นในอนาคต
สำหรับ การประเมินด้านการกำกับดูแลภาคการธนาคารตามมาตรฐานสากล พบว่า ไทยอยู่ในระดับดีมากถึง 24 ข้อ และระดับดี 5 ข้อ โดยผลการประเมินที่ดีมาก เช่น ธนาคารพาณิชย์มีฐานะมั่นคง มีเงินกองทุนและสภาพคล่องสูง หลักเกณฑ์การดูแลความมั่นคงและการตรวจสอบธนาคารพาณิชย์มีประสิทธิภาพเท่าทันความเสี่ยง และธปท.มีความร่วมมืออย่างใกล้ชิดกับธนาคารพาณิชย์และหน่วยงานกำกับดูแลทั้งในและต่างประเทศ
ส่วนที่ผลประเมินดี เช่น การกำกับดูแลสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ (SFI) ที่รับเงินฝาก ให้เทียบเคียงกับการกำกับดูแลธนาคารพาณิชย์ อำนาจการกำกับดูแลเพื่อแก้ไขฐานะทางการเงินของธนาคารพาณิชย์ การกำกับดูแลธนาคารพาณิชย์ในการจัดการดูแลหนี้เสียและการกันเงินสำรอง เป็นต้น
ด้านระบบบาทเนตได้รับการประเมินดีมาก 16 ข้อ และระดับดี 1 ข้อ และที่สำคัญได้รับผลการประเมินในด้านหน้าที่ความรับผิดชอบในการกำกับดูและดับดีมากทั้ง 5 ข้อ ซึ่งสะท้อนการดำเนินการและความร่วมมือของผู้กำกับดูแล รวมถึงการทำงานร่วมกับภาคเอกชน เพื่อพัฒนาระบบการเงินไทยให้สามารถสนับสนุนการเติบโตของเศรษฐกิจได้อย่างยั่งยืน และเป็นประโยชน์ต่อการสร้างความน่าเชื่อถือของประเทศ ทำให้นักลงทุนเกิดความมั่นใจในเสถียรภาพของเศรษฐกิจไทย
นายวิรไท กล่าวว่า สำหรับข้อเสนอแนะของผู้ประเมิน ประกอบด้วย 1.พัฒนากรอบการกำกับดูแล SFI ให้เทียบเคียงกับธนาคารพาณิชย์ 2.พิจารณานำกรอบกฎเกณฑ์และแนวทางตรวจสอบธนาคารพาณิชย์มาปรับใช้กับสหกรณ์การเงินตามความเหมาะสม
3.พิจารณาขยายการใช้มาตรการเชิงป้องกัน ไปยังสถาบันการเงินอื่น เช่น SFI และสหกรณ์การเงิน 4.พิจารณารูปแบบที่เหมาะสมในการจัดตั้งคณะกรรมการ เพื่อกำกับดูแลเสถียรภาพระบบการเงิน
สำหรับ ประโยชน์ของการเข้ารับประเมินครั้งนี้ จะช่วยให้ทราบถึงจุดแข็งและจุดที่ควรปรับปรุงในภาคการเงิน และผลักดันให้เกิดการปฏิรูปโครงสร้างพื้นฐานทางการเงินให้เข้มแข็งและก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว
“ครั้งนี้ เป็นการเข้าร่วมการประเมินโดยสมัครใจของไทยเป็นครั้งที่ 2 หลังจากที่ไทยเคยประเมินในครั้งแรกเมื่อปี 2550 โดยพบว่า ระบบการเงินไทยมีเสถียรภาพ มีความมั่นคงรองรับความผันผวนได้ดี และการกำกับดูแลภาคการเงินไทยมีประสิทธิภาพสูง เป็นไปตามมาตรฐานสากลเทียบเคียงกับประเทศชั้นนำ”นายวิรไท กล่าว
นางสาวรื่นวดี สุวรรณมงคล เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) กล่าวว่า การประเมินด้านกำกับดูแลตลาดทุน และโครงสร้างพื้นฐานของระบบชำระราคาและส่งมอบหลักทรัพย์ โดยไทยเป็นประเทศแรกๆที่ได้รับการประเมินตามมาตรฐาน International Organization of Securities Commissions Principles (IOSCO) และได้รับผลการประเมินดีมาก ทัดเทียมตลาดทุนชั้นนำของโลก เช่น สหรัฐ สิงคโปร์ และฮ่องกง
ด้านการประเมินด้านการกำกับดูแลภาคธุรกิจหลักทรัพย์ ตามมารตรฐานสากล พบว่า ได้รับการประเมินดีถึงดีมากถึง 35 ข้อ เทียบเคียงประเทศชั้นนำ เช่น สหรัฐ ออสเตรเลีย และฮ่องกง
นายสุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) กล่าวว่า การเข้ารับการประเมิน FSAP สาขาประกันภัยครั้งนี้ โดยคปภ.ได้รับผลการประเมินภาคในระดับที่ดีมากถึง 22 ขเอ จากทั้งหมด 26 ข้อ โดยการกำกับดูแลของ คปภ. มีพัฒนาการและประสิทธิภาพที่ดีอย่างต่อเนื่อง
สำนักข่าวอีไฟแนนซ์ไทย