- Details
- Category: ธปท.
- Published: Thursday, 02 October 2014 17:54
- Hits: 3700
ผู้ว่า ธปท. ระบุ ศก.ไทยผ่านจุดต่ำสุดแล้ว มั่นใจครึ่งหลังปีนี้จีดีพีโต 3% ปีหน้าโต 4.8%
ผู้ว่า ธปท. ระบุ ศก.ไทยผ่านจุดต่ำสุดแล้ว มั่นใจครึ่งหลังปีนี้จีดีพีโต3% ปีหน้าโต 4.8% ระบุไม่จำเป็นต้องมีซอฟต์โลนเพิ่มอีก ชี้หนุนแบงก์ผ่อนปรนดอกเบี้ยสินเชื่อเอสเอ็มอีเต็มที่แล้ว พร้อมแนะจับตา 2 ปัจจัยเสี่ยง การฟื้นตัวของ ศก.โลก- ทิศทางดอกเบี้ย อาจส่งผลกระทบต่อเงินทุนเคลื่อนย้าย
นายประสาร ไตรรัตน์วรกูล ผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ยืนยันว่า เศรษฐกิจไทยได้ผ่านจุดต่ำสุดมาแล้ว และเริ่มฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยมองว่าในช่วงครึ่งปีหลัง อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ หรือ จีดีพี จะเติบโตได้ 3% และปีหน้าที่ระดับ 4.8% โดยมีแรงขับเคลื่อนจากการใช้จ่ายภาครัฐที่มีความชัดเจนมากขึ้น โดยเฉพาะมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเร่งด่วนที่คาดว่าจะมีเม็ดเงินเข้าระบบไม่ต่ำกว่า 5.5 หมื่นล้านบาท
“การเมืองที่ดีขึ้น การบริหารงานภาครัฐที่กลับมาปกติ ส่งผลให้นโยบายการคลังถูกขับเคลื่อน โดยเฉพาะการใช้จ่ายภาครัฐ ซึ่งน่าจะเป็นการแสดงความมั่งมั่นของรัฐบาลที่จะพยายามประคองและกระตุ้นเศรษฐกิจในปีนี้ ซึ่งน่าจะส่งผลต่อความเชื่อมั่นต่อภาคเอกชน และให้ภาคเอกชนลงทุนต่อได้ด้วย”นายประสาร กล่าว
ทั้งนี้ ธปท.มองว่า ในปี 58 แรงส่งเศรษฐกิจที่สำคัญ น่าจะมาจากการใช้จ่ายภาครัฐที่เริ่มกลับมามีบทบาทต่อเศรษฐกิจมากขึ้น รวมทั้งสร้างความเชื่อมั่นเอกชน ทั้งนี้เริ่มเห็นการใช้จ่ายครัวเรือน ในส่วนของสินค้าไม่คงทน ปรับดีขึ้น ขณะที่การลงทุน โดยเฉพาะภาคก่อสร้างฟื้นตัวชัดเจน การใช้จ่ายภาครัฐเอกชนดีขึ้น
นายประสาร กล่าวต่อว่า ขณะนี้ยังไม่จำเป็นต้องออกสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ หรือ ซอฟต์โลนเพิ่มเติมเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ที่ได้รับผลกระทบจากการเมือง เนื่องจากที่ผ่านมา ธปท.ได้หารือกับสถาบันการเงินต่างๆ เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ทั้งการปรับลดอัตราดอกเบี้ย ผ่อนปรน หรือการยืดระยะเวลาในการชำระเงินทั้งเงินต้น และดอกบี้ย และการเสริมสภาพคล่องเพื่อเป็นเงินทุนหมุนเวียน
“เราคงไม่ต้องออกเพิ่มเติมแล้ว เพราะที่ผ่านมาก็เกือบจะเหมือนซอฟต์โลนแล้ว การหารือกับแบงก์ช่วยเหลือเอสเอ็มอี ดอกเบี้ยที่ต่ำมาก เราขยายเวลาต่างๆ ค่อนข้างมากแล้ว”นายประสาร กล่าว
ส่วนปัจจัยเสี่ยงที่ต้องติดตามในระยะต่อไป คือ เศรษฐกิจโลกที่ฟื้นตัวอย่างช้าๆ และมีการฟื้นตัวช้าเร็วต่างกัน ส่งผลให้การดำเนินนโยบายทางการเงินแต่ละประเทศมีความแตกต่างกันมากขึ้น ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อการเคลื่อนย้ายเงินทุนระหว่างประเทศ และตลาดการเงินโลกผันผวน ส่วนอีกเรื่องคือ อัตราดอกเบี้ยที่อยู่ในระดับต่ำเป็นเวลานาน อาจทำให้อัตราการออมของครัวเรือนลดลง และเป็นแรงจูงใจให้ไปลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงบางประเภท
“ปัจจัยเสี่ยง คือ เศรษฐกิจโลกที่ฟื้นตัวต่างกัน อาจส่งผลกระทบต่อการเคลื่อนย้ายเงินทุน และอัตราดอกเบี้ยต่ำทำให้แรงจูงใจในการออมลดลง แม้ตอนนี้ยังไม่ได้เกิดปัญหาที่ชัดเจน แต่เป็นประเด็นที่ต้องระมัดระวังและติดตามต่อไป”นายประสาร กล่าว
สำนักข่าวอีไฟแนนซ์ไทย