- Details
- Category: ธปท.
- Published: Sunday, 01 September 2019 22:02
- Hits: 5847
ธปท.กังวลปัญหาตปท.กดจีดีพีปีนี้หลุด 3% ลั่นส่งออกไทยผ่านจุดต่ำสุดแล้ว
ธปท. รับจีดีพีปีนี้มีโอกาสต่ำ 3% หวั่นสถานการณ์ต่างประเทศประเทศรุนแรงเป็นตัวกดดัน แต่ยังมั่นใจส่งออก Q4/62 มีโอกาสกลับมาเป็นบวกรับอานิสงส์ฐานต่ำ ลั่นส่งออกผ่านจุดต่ำสุดแล้ว ด้านศก.ไทย ก.ค.62 ขยายตัวเล็กน้อย หลังส่งออกพลิกเป็นบวก 3.8% ครั้งแรกในรอบ 8 เดือน พร้อมติดตามการว่างงาน หวั่นประชาชนผิดนัดชำระหนี้เพิ่ม
นายดอน นาครทรรพ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) ไทยปีนี้ มีโอกาสโตต่ำกว่า 3% เป็นผลจากสถานการณ์ภายนอกประเทศที่รุนแรงขึ้น โดยเฉพาะสถานการณ์สงครามการค้าระหว่างสหรัฐ และจีน ขณะที่มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐที่ออกมานั้น ยังต้องติดตามว่าจะสามารถประคองเศรษฐกิจปีนี้ได้มากน้อยแค่ไหน ด้านภาคการส่งออกมองว่า ผ่านจุดต่ำสุดแล้ว และมีโอกาสที่จะขยายตัวเป็นบวกได้ในไตรมาส 4/2562 จากฐานที่ต่ำ และการเร่งการส่งออกก่อนบังคับใช้มาตรการภาษีของสหรัฐ
“มีความเป็นไปได้ที่จีดีพีไทยปีนี้จะต่ำกว่า 3% โดยที่เรามองต่ำ เพราะสถานการณ์ภายนอกที่รุนแรงขึ้นและเป็นความเสี่ยงที่สำคัญที่ไม่น่าไว้ใจ ขณะที่ภาคการส่งออกเริ่มเห็นทิศทางที่ดีขึ้น อาจเป็นบวกได้ หรือติดลบน้อยลง เนื่องจากครึ่งปีหลังจะมีการส่งออกกลุ่มสินค้า ฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์เข้ามาช่วย และเรื่องของวัฏจักรอิเล็กทรอนิกส์ โลกแม้ยังไม่ฟื้นแต่เชื่อจะไม่ลดลงต่อ และเป็นไปได้ ที่จะมีการเร่งส่งสินค้ามากขึ้นก่อนการขึ้นภาษีรอบใหม่”นายดอน กล่าว
นายดอน กล่าวว่า ภาวะเศรษฐกิจไทยในเดือนกรกฎาคม 2562 ที่ผ่านมา ขยายตัวดีขึ้นเล็กน้อยจากเดือนก่อน โดยเครื่องชี้การบริโภคภาคเอกชนขยายตัวดีในหมวดสินค้าคงทนและกึ่งคงทน แต่โดยรวมยังอยู่ในทิศทางชะลอลงเมื่อเทียบกับช่วงครึ่งปีแรก ขณะที่การส่งออกขยายตัว 3.8% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งเป็นการขยายตัวครั้งแรกในรอบ 8 เดือน แต่หากหักทองคำ การส่งออกยังติดลบเล็กน้อยที่ 1.7% จากอุปสงค์ในตลาดโลกที่ชะลอตัว ตามภาวะเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้า ผลของมาตรการกีดกันทางการค้าระหว่างสหรัฐ และจีน วัฏจักรสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ที่ยังชะลอตัวต่อเนื่อง และราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่หดตัว ส่งผลให้การส่งออกในหลายหมวดสินค้ายังหดตัว
อย่างไรก็ตาม การส่งออกในบางสินค้าขยายตัวได้ โดยส่วนหนึ่งเป็นผลจากการทดแทนสินค้าจีนในตลาดสหรัฐ เช่น เครื่องรับโทรทัศน์ ตู้เย็น ยางล้อ ปลากระป๋อง และเสื้อผ้าสำเร็จรูป นอกจากนี้ เครื่องปรับอากาศขยายตัวดีขึ้น โดยได้รับผลดีจากสภาพอากาศที่ร้อนกว่าปกติโดยเฉพาะยุโรป และออสเตรเลีย รวมทั้งการส่งออกผลไม้ไปจีนยังขยายตัวต่อเนื่อง แม้เศรษฐกิจจีนชะลอตัวลง
ด้านการนำเข้าสินค้า กลับมาขยายตัวที่ 9% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน หากหักทองคำขยายตัว 4.2% โดยเป็นการขยายตัวใน 3 หมวดสินค้า คือ หมวดวัตถุดิบและสินค้าขั้นกลางไม่รวมเชื้อเพลิง ตามการนำเข้าเหล็กและชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ขณะที่การนำเข้าเชื้อเพลิงหดตัวทั้งด้านราคาและด้านปริมาณ ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการปิดซ่อมบำรุงโรงกลั่นบางรายที่ต่อเนื่องจากเดือนก่อน ด้านหมวดสินค้าทุนที่ไม่รวมเครื่องบินและแท่นขุดเจาะขยายตัวในหลายสินค้า และหมวดสินค้าอุปโภคบริโภคตามการนำเข้าในหลายสินค้า โดยอัตราการขยายตัวของการนำเข้าหมวดสินค้าอุปโภคบริโภคที่สูงมากในเดือนนี้ ส่วนหนึ่งเป็นผลจากฐานต่ำในบางสินค้า
ขณะที่ดุลการค้าในเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา เกินดุล 1,692 ล้านดอลลาร์ และดุลบัญชีเดินสะพัด เกินดุล 1,768 ล้านดอลลาร์ ด้านเครื่องชี้การบริโภคภาคเอกชน ขยายตัวดีขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน ตามการใช้จ่ายในหมวดสินค้าคงทนที่ขยายตัวจากยอดจดทะเบียนจักรยานยนต์และยอดจำหน่ายรถยนต์เชิงพาณิชย์ และสินค้ากึ่งคงทนที่ขยายตัวตามยอดขายปลีกสินค้ากึ่งคงทน ทั้งนี้ การบริโภคภาคเอกชนโดยรวมยังขยายตัวในระดับต่ำเมื่อเทียบกับช่วงครึ่งปีแรก ส่วนหนึ่งจากปัจจัยสนับสนุนกำลังซื้อโดยรวมที่แผ่วลง สอดคล้องกับดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่ปรับลดลงต่อเนื่อง โดยรายได้รวมนอกภาคเกษตรกรรมหดตัว ตามจำนวนผู้มีงานทำที่ปรับลดลง
ด้านอัตราการว่างงานปรับเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนมาอยู่ที่ 1.1% จากเดือนก่อนหน้าที่ 0.9% โดยยังต้องติดตามในระยะต่อไปว่าสถานการณ์เป็นอย่างไร เนื่องจากอาจมีผลต่อความสามารถในการชำระหนี้ในระยะต่อไป จากกรณีการวางงานที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะจากแรงงานภาคเกษตร อย่างไรก็ตาม ยอมรับว่า เรื่องหนี้ภาคครัวเรือนเป็นสิ่งที่ธปท.กังวล และพยายามติดตามดูแลอย่างใกล้ชิด
นายดอน กล่าวว่า สำหรับการลงทุนภาคเอกชน ยังทรงตัวจากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยเครื่องชี้ภาคการลงทุนเครื่องจักรและอุปกรณ์ขยายตัวเล็กน้อย ขณะที่เครื่องชี้การลงทุนในหมวดก่อสร้างหดตัวจากทั้งพื้นที่ได้รับอนุญาตก่อสร้างทั่วประเทศที่หดตัวต่อเนื่อง ยกเว้นพื้นที่เพื่ออุตสาหกรรมที่ยังขยายตัวได้ และยอดจำหน่ายวัสดุก่อสร้างที่หดตัวตามยอดจำหน่ายเสาเข็มคอนกรีตเป็นสำคัญ
ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ที่ 0.98% และอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ที่ 0.41% โดยอัตราเงินเฟ้อทั่วไปที่อยู่ที่ 0.98% เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่ 0.87% จากอัตราเงินเฟ้อหมวดอาหารสดที่ปรับเพิ่มขึ้นเป็นสำคัญ สำหรับราคาหมวดพลังงานหดตัวน้อยลง ตามระดับราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศที่ปรับเพิ่มขึ้นตามราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานชะลอลงจากเดือนก่อนสะท้อนอุปสงค์ในประเทศที่ชะลอลง
ส่วนกรณีที่ ธปท. ออกพันธบัตร (บอนด์) ของธปท.เพิ่มขึ้นทั้งระยะสั้น และระยะยาว โดยในบอนด์ระยะยาว 1 ปี เพิ่มขึ้นมากที่สุด 10,000 ล้านบาท โดยเพิ่มขึ้นเป็น 50,000 ล้านบาทในเดือนกันยายน จาก 40,000 ล้านบาท ในเดือนสิงหาคม ขณะเดียวกัน หากเป็นบอนด์ระยะสั้น 3 เดือน เพิ่มขึ้น 5,000 ล้านบาท เป็น 35,000 ล้านบาท จาก 30,000 ล้านบาทในเดือนสิงหาคม และ 6 เดือน เพิ่มขึ้น 5,000 ล้านบาท จาก 35,000 ล้านบาท เป็น 40,000 ล้านบาท โดยสาเหตุที่ปรับเพิ่มขึ้น เพื่อให้สอดคล้องกับสภาพคล่องในประเทศ ทั้งนี้ยืนยันว่า ไม่มีความกังวลหากนักลงทุนจะเข้ามาลงทุนในบอนด์ระยะยาวเพิ่ม แต่สิ่งที่ธปท.กังวล คือ การเข้ามาลงทุนในบอนด์ระยะสั้นจำนวนมาก เนื่องจาก อาจเป็นการเข้ามาเพื่อพักเงิน หรือเพื่อเก็งกำไร
สำนักข่าวอีไฟแนนซ์ไทย