WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

ธปท.เผย ศก.เดือน ส.ค.ฟื้นต่อเนื่องจากเดือนก่อน จากอุปสงค์ใน ปท.-ท่องเที่ยวหนุน มั่นใจทั้งปีจีดีพีโตตามเป้า 1.5%

  ธปท.เผย ศก.เดือน ส.ค.ฟื้นต่อเนื่องจากเดือนก่อน จากอุปสงค์ใน ปท.-ท่องเที่ยวหนุน มั่นใจทั้งปีจีดีพีโตตามเป้า 1.5% แม้การบริโภค-ส่งออกชะลอ เชื่อไม่สะเทือนเป้าหมาย ชี้แรงส่ง ศก.ครึ่งปีหลังมาจากการใช้จ่ายภาครัฐ - เอกชน  โดยส่งออก ส.ค.-6.6% นำเข้า  -8.3% ส่งผลเกินดุลการค้า 2.19 พันล้านดอลล์ และเกินดุลบัญชีฯ 239 ล้านดอลล์

      นางรุ่ง  มัลลิกะมาส ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายนโยบายเศรษฐกิจการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย หรือ ธปท. เปิดเผยภาวะเศรษฐไทยในเดือน ส.ค. ว่าเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มฟื้นตัวได้ต่อเนื่อง จากอุปสงค์ในประเทศและภาคการท่องเที่ยว   

   "แรงส่งในเดือนสิงหาคม 2557 ลดลงเล็กน้อย หลังจากที่เร่งขึ้นในช่วงที่สถานการณ์ทางการเมืองคลี่คลายใหม่ๆ การใช้จ่ายในประเทศทั้งของภาครัฐและภาคเอกชนจึงอ่อนแรงลงบ้าง"  นางรุ่ง กล่าว  

   ขณะที่ภาคการท่องเที่ยวปรับดีขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป และการผลิตสินค้าอุตสาหกรรมขยายตัวเล็กน้อย โดยในหมวดอิเล็กทรอนิกส์มีการสะสมสินค้าคงคลังเพื่อเตรียมการส่งออกในระยะต่อไป และหมวดปิโตรเลียมผลิตมากขึ้นเมื่อโรงกลั่นกลับมาเปิดดำเนินการหลังการปิดซ่อมบำรุงชั่วคราวในเดือนก่อนๆสำหรับการส่งออกสินค้าโดยรวมยังคงอ่อนแอ   

    ด้านเสถียรภาพในประเทศ อัตราการว่างงานอยู่ในระดับต่ำ อัตราเงินเฟ้อลดลงเล็กน้อยตามราคาอาหารสดและพลังงาน สำหรับเสถียรภาพต่างประเทศดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุล และสัดส่วนเงินสำรองระหว่างประเทศต่อหนี้ระยะสั้นอยู่ในเกณฑ์มั่นคง

    “ในเดือนนี้จะมีตัวเลขหลายตัวที่มันอาจจะลดลงบ้าง เมื่อเทียบกับเดือนที่แล้ว ก็ไม่อยากให้ตกใจ มันเป็นเรื่องปกติของประเทศที่เกิดวิกฤตแล้วกลับมาฟื้นตัว ดูอย่างสหรัฐช่วงนี้กำลังฟื้นตัว ตัวเลขบ้างเดือนก็ดีบางเดือนก็แย่ อย่าไปตกใจ แต่พอเศรษฐกิจเริ่มกลับมาแข็งแกร่ง ตัวเลขหลายตัวจขะขึ้นพร้อมกันหมดอย่างแน่นอน”นางรุ่ง กล่าว

   ดัชนีความเชื่อมั่นทางธุรกิจในเดือน ส.ค. ปรับลดลงมาอยู่ที่ 49.1 จากเดือน ก.ค. ที่อยู่ที่ 49.6 โดยคาดว่าดัชนีความเชื่อมั่นจะมีแนวโน้มฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป จากเศรษฐกิจที่เริ่มกลับมาฟื้นตัวได้อย่างต่อเนื่อง โดยมองว่าดัชนีความเชื่อมั่นภาคุรกิจในอีก 3 เดือนข้างหน้าคาดอยู่ที่ 55.8 

   “ เดือนนี้ดัชนีความเชื่อมั่นทางธุรกิจมีการปรับลดลงบ้าง เนื่องจากการส่งออกที่ชะลอตัว การบริโภคที่มีการอ่อนแรงลงบ้าง แต่เชื่อว่ายังไม่ใช่ปัจจัยที่น่าห่วง”นางรุ่ง กล่าว

   การลงทุนเอกชนในเดือน ส.ค.ลดลง5.6% จากช่วงเดียวกันปีก่อน และเป็นอัตราการปรับลดลงที่มากกว่าเดือนก่อนหน้า ซึ่งลดลง 3.6% จากช่วงเดียวกันปีก่อน แต่หากเทียบกับเดือนก่อน ดัชนีการลงทุนเอกชนเดือน ส.ค.ปรับลดลง 1.2%

   โดยการลงทุนภาคก่อสร้างค่อนข้างทรงตัวตามฟื้นที่ได้รับอนุญาตก่อสร้างนอกเขตเทศบาล ขณะที่การลงทุนในเครื่องจักร และอุปกรณ์หดตัวจากเดือนก่อน เพราะอุปสงค์โดยรวมยังต่ำกว่าระดับปกติ โดยเฉพาะการส่งออกสินค้าที่ลดลงและมีทิศทางการฟื้นตัวค่อนข้างช้า   

    “ การส่งออกสินค้าที่ลดลง และมีทิศทางการฟื้นตัวช้านั้น ส่งผลให้หลายอุตสาหกรรมมีกำลังการผลิตส่วนเกิน การลงทุนเพื่อขยายกำลังการผลิตจึงอยู่ในระดับต่ำและส่วนใหญ่เป็นการลงทุนเพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิต”นางรุ่ง กล่าว  

     ส่วนในระยะข้างหน้า การลงทุนภาคเอกชนยังคงมีแนวโน้มฟื้นตัว โดยได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการลงทุนเพื่อขยายกำลังการผลิตที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น เช่น ในอุตสาหกรรมยานยนต์และพลังงาน สะท้อนจากการอนุมัติการส่งเสริมการลงทุน หรือ BOI ที่ทยอยอนุมัติต่อเนื่อง โดยปัจจุบันมียอดอนุมัติฯไปแล้วกว่า 47% ของยอดขอรับการส่งเสริมการลงทุน ที่ค้างอยู่ทั้งหมด

      นางรุ่ง  กล่าวต่อว่า  การส่งออกในเดือน ส.ค. มีมูลค่า 18,655 ล้านดอลลาร์ หดตัว 6.6% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ตามอุปสงค์ที่ชะลอตัวลงในเกือบทุกตลาด ส่งผลให้การส่งออกหดตัวสูงในหลายหมวด เช่น ยานยนต์ และเครื่องใช้ไฟฟ้า หดตัวตามการส่งออกไปยังตลาดตะวันออกกลางและอาเซียน สะท้อนการชะลอตัวของเศรษฐกิจในกลุ่มประเทศดังกล่าว   

   ส่วนหมวดการส่งออกที่เคยขยายตัวดีตั้งแต่ต้นปีแต่ปรับตัวลดลงในเดือนนี้ คือ เครื่องจักรและอุปกรณ์ หดตัวตามอุปสงค์จากญี่ปุ่น และกลุ่มประเทศยุโรปที่เศรษฐกิจชะลอตัว และการส่งออกปิโตรเคมีหดตัวตามอุปสงค์จากจีนที่ชะลอตัวลง สำหรับการส่งออกผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมยังคงหดตัวสูงจากผลของฐานสูงในระยะเดียวกันของปีก่อน รวมถึงอุปสงค์จากจีนซึ่งเป็นประเทศผู้นำเข้าหลักชะลอตัวลง   

   นอกจากนี้ การส่งออกที่หดตัวสูงในเดือนนี้ ส่วนหนึ่งเป็นผลจากปัจจัยฐานสูงของการส่งออกทองคำ ซึ่งหากไม่รวมทองคำแล้วการส่งออกหัวตัวลดลงเหลือ 1.9%

   “การส่งออกยังมีแนวโน้มอ่อนแอต่อเนื่อง จากทั้งปัญหาเชิงโครงสร้าง และภาวะเศรษฐกิจโลกที่ยังคงเปราะบางอยู่ในหลายๆประเทศ”นางรุ่ง กล่าว

    การนำเข้าในเดือนสิงหาคมมีมูลค่า 16,455 ล้านดอลลาร์ หดตัวที่ 8.3% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งเป็นการหดตัวในทุกหมวดทั้งสินค้าอุปโภคบริโภค และสินค้าทุน โดยการนำเข้าสินค้าทุนที่หดตัวส่วนหนึ่งเป็นผลจากการนำเข้าเครื่องบิน และแท่นขุดเจาะซึ่งมีมูลค่าสูงในเดือนก่อนหน้า ส่วนการนำเข้าวัตถุดิบและสินค้าขั้นกลาง หดตัวทั้งจากหมวดเชื้อเพลิง และหมวดวัตถุดิบ และสินค้าขั้นกลางที่ไม่ใช่เชื้อเพลิง   

   สำหรับมูลค่าการนำเข้าน้ำมันดิบในเดือนนี้ปรับดีขึ้นจากเดือนก่อนหน้า ตามการเปิดทำการของโรงกลั่นที่ปิดซ่อมในช่วงก่อนหน้า แต่ยังคงหดตัวเมื่อเทียบกับระยะเดียวกันของปีก่อน จากฐานที่สูง เนื่องจากเหตุการณ์น้ำมันรั่วทำให้มีการบันทึกมูลค่าการนำเข้าน้ำมันดิบเหลื่อมเดือน  

   “ ในเดือนนี้การนำเข้ายังอยู่ในระดับต่ำ สอดคล้องกับอุปสงค์ทั้งในและต่างประเทศที่ยังไม่ฟื้นตัวได้เต็มที่ ทั้งการนำเข้าสินค้าทุน และสินค้าอุปโภคบริโภค ยานยนต์และชิ้นส่วนที่ลดลง”นางรุ่ง กล่าว  

    ดุลการค้า ในเดือน ส.ค. เกินดุล 2.19 พันล้านดอลลาร์ จากเดือน ก.ค. ที่ผ่านมาที่เกินดุล 1.45 พันล้านดอลลาร์ เป็นผลจากการนำเข้าที่ยังคงหดตัวสูง   ส่งผลให้โดยรวมแล้ว ในเดือน ส.ค. ดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลเล็กน้อยที่ 239 ล้านดอลลาร์ ปรับเพิ่มขึ้นจากเดินก่อนหน้าที่ขาดดุล 864 ล้านดอลลาร์   

   “ ดุลการค้าในเดือน ส.ค. ที่ผ่านมายังคงเกินดุลเพิ่มมากขึ้น ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผลจากการที่นำเข้ายังคงหดตัวอยู่ในระดับสูงอยู่” นางรุ่ง กล่าว    

   ขณะที่เงินทุนเคลื่อนย้าย ในเดือน ส.ค.มีเงินทุนไหลออกสุทธิ 1,033 ล้านดอลลาร์ จากเดือนก่อนที่มีเงินไหลเข้าสุทธิ 4,692 ล้านดอลลาร์ โดยเป็นการไหลออกจาการขายพันธบัตรระยะสั้น ธปท.ของนักลงทุนต่างชาติ และการชำระคืนเงินกู้ระยะสั้นที่ครบกำหนดของสถาบันรับฝากเงินเป็นสำคัญ  

    ในเดือน ส.ค. อัตราเงินเฟ้อทั่วไปชะลอลงต่อเนื่องจากเดือนก่อนหน้ามาอยู่ที่ 2.09% ตามราคาอาหารสดที่ชะลอลงตามราคาผักและผลไม้ที่ปรับลดลงอย่างต่อเนื่อง จากปริมาณผลผลิตออกสู่ตลาดมากขึ้นตามสภาพอากาศที่เอื้ออำนวย ประกอบกับการปรับโครงสร้างราคาพลังงานในประเทศของภาครัฐ เมื่อวันที่ 29 ส.ค. ที่ผ่านมาทำให้ราคาน้ำมันเชื้อเพลิงบางประเภทปรับลดลง   

    “ปัจจัยที่ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อลดลง ยังมาจากราคาพลังงานยังชะลอตัวตามราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศที่ปรับลดลงตามราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก เนื่องจากปัญหาความไม่สงบในประเทศผู้ผลิตและส่งออกน้ำมันที่กระทบต่ออุปทานน้ำมันโลกผ่อนคลายลง”นางรุ่ง กล่าว   

    ด้านอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน ทรงตัวใกล้เคียงกับเดือนก่อนที่ 1.83% โดยราคาสินค้าและบริการส่วนใหญ่ยังทรงตัวตามต้นทุนการผลิตและอุปสงค์ในประเทศที่อยู่ในระดับต่ำ ขณะที่การส่งผ่านไปยังต้นทุนมายังราคาอาหารสำเร็จรูปน้อยลงจากเดือนก่อนหน้าด้วย

   ทั้งนี้  แม้ว่าภาพรวมเศรษฐกิจที่ออกมาโดยรวมยังคงชะลอตัวลงทั้งภาคการส่งออก และการบริโภคที่ยังหดตัว แต่ธปท. เชื่อว่าอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ หรือ จีดีพี ปีนี้ยังคงเติบโตได้ตามเป้าหมายที่วางไว้ที่ 1.5% โดยจะมีแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจในครึ่งปีหลังจากการเบิกจ่ายภาครัฐที่คาดว่าจะสามารถเบิกจ่ายได้ตามเป้าหมายที่ 94% การใช้จ่ายของภาครัฐและเอกชน และการลงทุนจากภาครัฐและเอกชนด้วย  

    “มาตรการที่ออกมาในขณะนี้เรายังไม่ได้ประเมินไว้ในจีดีพีว่าจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจหรือไม่ เนื่องจากยังไม่เห็นมาตรการที่ออกมาเลย แต่อย่างไรก็ตามมองว่ามาตรการดังกล่าวน่าจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจหรือมีผลในปีหน้ามากกว่าในปีนี้”นางรุ่ง กล่าว  

สำนักข่าวอีไฟแนนซ์ไทย

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!