- Details
- Category: ธปท.
- Published: Thursday, 04 April 2019 19:21
- Hits: 4624
ธปท.จับมือแบงก์ชาติอาเซียน ยกระดับการชำระเงินในภูมิภาคผ่านดิจิทัล
ผู้ว่าธปท. ผนึกแบงก์ชาติอาเซียน ลงนามความร่วมมือพัฒนานวัตกรรมทางการเงิน ยกระดับการชำระเงินในภูมิภาคผ่านระบบดิจิทัล หวังสร้างโครงสร้างพื้นฐานการชำระเงินและมาตรฐานการเชื่องโยง เชื่อลดความสะดวก-ลดต้นทุนผู้ใช้บริการ
นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยภายหลังการร่วมลงนามความร่วมมือกับธนาคารกลางอาเซียน ในการเชื่อมโยงระบบการชำระเงินในอาเซียน (ASEAN Payment Connectivity) ว่า ในการร่วมลงนามครั้งนี้ เพื่อสนับสนุนการพัฒนานวัตกรรมทางการเงิน ซึ่งธนาคารกลางสามารถมีบทบาทสำคัญในฐานะผู้ขับเคลื่อนให้เกิดการเชื่อมโยงบริการชำระเงิน โดยเรื่องที่สำคัญ คือ การผลักดันให้เกิดโครงสร้างพื้นฐานการชำระเงินและมาตรฐานกลางที่สามารถเชื่อมโยงกันได้ ซึ่งเชื่อว่าการดำเนินการดังกล่าวนั้นจะช่วยเชื่อมโยงบริการชำระเงินระหว่างประเทศ รวมทั้งสนับสนุนให้เกิดการพัฒนาต่อยอดนวัตกรรมทางการเงินในอนาคต
“ในวันนี้ เราได้เห็นความร่วมมือของสถาบันการเงิน ผู้ให้บริการ Non-Bank และผู้ให้บริการบัตรเครดิต/เดบิต ในการพัฒนาบริการชำระเงินระหว่างประเทศด้วยเทคโนโลยีใหม่ เช่น QR Code/Distributed Ledger Technology (Blockchain),Application Programming Interface (API) และ Card network ซึ่งการพัฒนานวัตกรรมทางการเงินเหล่านี้ จะช่วยตอบโจทย์ความต้องการของผู้ใช้บริการกลุ่มต่างๆที่หลากหลายและจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพของระบบการเงิน ทำให้การธุรกิจและการค้าระหว่างประเทศสะดวกขึ้น ลดต้นทุนของผู้ใช้บริการ รวมทั้งเพิ่มการเข้าถึงบริการทางการเงินของประชาชนในอาเซียนให้ทั่วถึงยิ่งขึ้น”นายวิรไท กล่าว
สำหรับ การร่วมมือระหว่างกัมพูชาและไทย คือ การชำระเงินระหว่างประเทศด้วย Interoperable QR Payment ซึ่งดำเนินการโดยธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) หรือ SCB ที่ได้พัฒนาและทดสอบการให้บริการชำระเงินด้วย Interoperable QR Payment ข้ามประเทศ ซึ่งสอดคล้องกับมาตรฐาน EMV โดยร่วมกับสาขาของธนาคารในประเทศกัมพูชา บริการนี้จะช่วยอำนวยความสะดวกสำหรับการชำระเงินรายย่อยระหว่างลูกค้าและร้านค้าของทั้งสองประเทศ ด้วยบริการดังกล่าว นักท่องเที่ยวไทยจะสามารถใช้ mobile banking application ของธนาคารไทย ในการสแกน QR code เพื่อชำระเงินค่าสินค้าและบริการให้กับร้านค้าในกัมพูชาที่ร่วมให้บริการ ซึ่งจะมีการเปิดให้บริการจริงในระยะต่อไป
ขณะที่ความร่วมมือกับ อินโดนีเซียและไทย จะดำเนินการในเรื่อง บริการธุรกรรม L/C ระหว่างอินโดนีเซียและไทย และภายในอาเซียนด้วย Enterprise Blockchain โดยผู้ดำเนินการคือ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BBLร่วมกับ GC Marketing Solutions Company Limited (GCM) ซึ่งเป็นผู้ดำเนินธุรกิจปิโตรเคมีและเป็นบริษัทในกลุ่มของ PTT Global Chemical Company Limited (GC) ได้ทดสอบการทำธุรกรรมสินเชื่อเพื่อการค้า (Trade Finance) ระหว่างไทยกับอินโดนีเซียโดยใช้ Voltron Application บน R3 CORDA Platform
สำหรับ สปป. ลาวและไทย ลงนามร่วมกันในเรื่องการชำระเงินระหว่างประเทศด้วย Interoperable QR Paymentธนาคารธนชาต จำกัด (มหาชน) หรือ TBANK และ Banque Pour Le Commerce Exterieur Lao Public (BCEL) ได้ร่วมพัฒนาการบริการชำระเงินระหว่างประเทศด้วย QR Payment ระหว่างไทยและ สปป. ลาว บริการดังกล่าวจะช่วยให้ลูกค้าของ BCEL สามารถชำระเงินในประเทศไทยและมีผลทันทีด้วยการสแกน QR Code ที่ร้านค้าด้วย mobile application ของ BCEL และยังช่วยให้คนไทยซึ่งเป็นลูกค้าของธนาคารธนชาต หรือธนาคารอื่นๆ ที่เดินทางไป สปป. ลาว สามารถชำระเงินที่ร้านค้าของ BCEL ผ่าน mobile banking application ของแต่ละธนาคาร ทั้งนี้ ธนาคารธนชาตตั้งเป้าหมายที่จะขยายความร่วมมือกับธนาคารอื่นในกลุ่มประเทศ CLMV เพื่อขยายเครือข่ายด้านการชำระเงินเพิ่มมากขึ้นในอนาคต
ส่วนความร่วมมือกับเมียนมาและไทยนั้น จะร่วมกันในด้านการโอนเงินระหว่างประเทศด้วยเทคโนโลยี Blockchain โดยธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KTB และ Shwe Bank เมียนมาได้ร่วมกับ Everex ซึ่งเป็นพันธมิตรทางธุรกิจ พัฒนาบริการส่งเงินระหว่างประเทศที่มีความสะดวก ปลอดภัยและมีผลทันที โดยใช้ Blockchain platform - “Krungthai Bank and Shwe Bank Remittance powered by Everex” ซึ่งจะให้ลูกค้าสามารถโอนเงินโดยไม่จำกัดสถานที่และเวลา ด้วยอัตราแลกเปลี่ยนที่แข่งขันได้ผ่านบริการ mobile application ของธนาคารกรุงไทย
ส่วนความร่วมมือกับสิงคโปร์และไทย ได้ลงนามในการดำเนินการโอนเงินระหว่างประเทศผ่าน API ซึ่ง DBS และธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KBANK ได้ร่วมพัฒนาบริการโอนเงินระหว่างประเทศโดยใช้เทคโนโลยี API (API-based funds transfer service) เพื่อรองรับการโอนเงินจากสิงคโปร์มาไทย บริการดังกล่าวมีความพิเศษที่อนุญาตให้ผู้โอนสามารถตรวจสอบสถานะบัญชีของผู้รับโอนก่อนการโอนเงิน และสามารถโอนเงินได้สูงสุด 1.5 ล้านบาทต่อรายการ
นอกจากนี้ ธนาคารกรุงเทพ ยังได้ร่วมกับผู้ให้บริการ Thai Payment Network และ UnionPay ในการทดลองให้บริการชำระเงินด้วย QR โดยใช้มาตรฐาน EMV ช่วยให้ลูกค้าสามารถชำระเงินระหว่างประเทศผ่านเครือข่ายของ UnionPay โดยใช้ BBL BeWallet application ที่ผูกกับบัตรเดบิต Be1st โดยในช่วงเริ่มต้นจะสามารถใช้บริการในประเทศสิงคโปร์ได้โดยผ่านร้านค้าของ United Overseas Bank
นายวิรไท กล่าวว่า และสุดท้ายความร่วมมือกับมาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และไทย โดยลงนามความร่วมมือในการโอนเงินระหว่างประเทศผ่าน API โดยกลุ่ม CIMB Group ได้ให้บริการ SpeedSend ซึ่งใช้เทคโนโลยี API ในการให้บริการโอนเงินระหว่างประเทศ โดย SpeedSend เป็นบริการโอนเงินระหว่างประเทศมีค่าธรรมเนียมถูกและอัตราแลกเปลี่ยนที่แข่งขันได้ นอกเหนือจากการเชื่อมโยงกับ 10 ประเทศอาเชียนแล้ว SpeedSend ยังเชื่อมโยงอาเชียนกับ 31 ประเทศทั่วโลกผ่านเทคโนโลยี API และเครือข่ายของธนาคารซึ่งมีความร่วมมือกับสถาบันการเงินและผู้ให้บริการโอนเงินในหลากหลายประเทศ โดยปัจจุบันรายการส่วนใหญ่เป็นการโอนเงินจากธนาคาร CIMB ไทยไปยังฟิลิปปินส์
สำนักข่าวอีไฟแนนซ์ไทย