- Details
- Category: ธปท.
- Published: Sunday, 17 February 2019 00:38
- Hits: 7626
ผู้ว่าแบงก์ชาติ เผยเงินบาทแข็งค่าเร็วจากปัจจัยภายนอก แนะภาคธุรกิจบริหารความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน
ดร.วิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า หลังจาก midterm election มุมมองของนักลงทุนเกี่ยวกับค่าเงินดอลลาร์ สรอ.เปลี่ยนไป จากหลายปัจจัย ทั้งจากเหตุการณ์ government shutdown ที่ยาวนานที่สุดในประวัติศาสตร์ การที่นักลงทุนเทขายหุ้นจากมุมมองความเสี่ยงที่เปลี่ยนไป ตลอดจนการที่ธนาคารกลางของสหรัฐฯส่งสัญญาณว่าจะปรับขึ้นดอกเบี้ยช้ากว่าเดิม ในขณะที่ปัญหาความขัดแย้งทางการค้าระหว่างสหรัฐกับจีนยังไม่คืบหน้า ปัจจัยเหล่านี้ส่งผลให้ค่าเงินดอลลาร์ สรอ.อ่อนค่าลง และผลตอบแทนของพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯปรับลดลง
โดยการอ่อนค่าลงของเงินดอลลาร์ สรอ. ทำให้สกุลเงินของประเทศเกิดใหม่แข็งค่าขึ้น ส่วนผลกระทบจะมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับสถานะของแต่ละประเทศ ทั้งดุลบัญชีเดินสะพัดและเงินที่เข้ามาลงทุนในระยะยาว (FDI) สำหรับประเทศไทย ตั้งแต่ต้นปี 2562 เงินบาทแข็งค่าขึ้น 3.93% อยู่ในระดับกลางๆ เมื่อเทียบกับสกุลเงินประเทศเกิดใหม่และประเทศในภูมิภาค โดยมีเงินหลายสกุลในประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ที่แข็งค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์ สรอ. เร็วกว่าค่าเงินบาท
สำหรับ ปัจจัยที่ทำให้ปัจจัยที่ทำให้ค่าเงินบาทปรับขึ้นเร็วในช่วงเดือนมกราคมและต่อเนื่องมาถึงปัจจุบันมาจากการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดที่ยังค่อนข้างสูง โดยในปี 2561 ไทยเกินดุลบัญชีเดินสะพัด 3.7 หมื่นล้านเหรียญดอลลาร์ สรอ. แบ่งเป็นการเกินดุลการค้า 2.3 หมื่นล้านล้านเหรียญดอลลาร์ สรอ. และเป็นการเกินดุลบริการ 1.4 หมื่นล้านเหรียญดอลลาร์ สรอ. ขณะที่รายได้จากการท่องเที่ยวที่ลดลงในช่วงไตรมาส 3 ปรับดีขึ้นมากในช่วงปลายปี 2561 ต่อเนื่องมาถึงต้นปี 2562 ซึ่งเป็น high season นอกจากนี้ มีเงินลงทุนจากต่างชาติที่เข้ามาลงทุนระยะยาว (FDI) มากขึ้นด้วย
ดร.วิรไท เปิดเผยต่อว่า โจทย์สำคัญไม่ใช่ค่าเงินบาทควรอยู่ที่ระดับเท่าใดเนื่องจากไม่สามารถกำหนดได้ แต่สิ่งสำคัญคือทำอย่างไรให้ระบบเศรษฐกิจของประเทศจะสามารถรองรับความผันผวนจากการเปลี่ยนแปลงของค่าเงินได้
โดยในด้านเศรษฐกิจมหภาค สาเหตุของการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดส่วนหนึ่งเพราะการลงทุนของไทยที่ผ่านมาอยู่ในระดับต่ำ ดังนั้นไทยจำเป็นต้องเร่งปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ โดยช่วงที่เงินบาทที่แข็งค่าถือเป็นโอกาสดีที่จะลงทุน นำเข้าเครื่องจักรเพื่อยกระดับศักยภาพการผลิต
สำหรับ ภาคธุรกิจ อัตราแลกเปลี่ยนเป็นส่วนหนึ่งของราคา ซึ่งปัจจุบันยังเน้นแต่การแข่งขันด้านราคาอยู่ค่อนข้างมาก แต่การแข่งขันด้านราคาอย่างเดียวอาจไม่ยั่งยืน จำเป็นต้องให้ความสำคัญกับการพัฒนาคุณภาพสินค้า และทำให้สินค้ามีจุดขาย
ขณะที่ยังคงต้องให้ความสำคัญกับการบริหารความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนเนื่องจากความผันผวนจะยังคงมีอยู่ต่อไป ซึ่งการบริหารความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนที่เป็นพื้นฐานแรกคือการใช้สกุลเงินให้สอดคล้องกับประเทศคู่ค้า และต้องมีการบริหารความเสี่ยงอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจากข้อมูลพบว่าผู้นำเข้าค่อนข้างมีวินัยมีการปิดความเสี่ยงต่อเนื่อง ในขณะที่ผู้ส่งออกมักจะเร่งทำตอนค่าเงินแข็ง ไม่ใช่ได้ทยอยทำ หรือการเลือกใช้สกุลเงินท้องถิ่นหรือเงินสกุลของคู่ค้าเป็น invoice currency แทนการใช้เงินดอลลาร์สหรัฐ ปัจจุบันแม้ไทยจะค้าขายโดยตรงกับสหรัฐเพียงประมาณ 10% แต่ในการซื้อขายส่วนใหญ่ยังอยู่ในรูปเงินดอลลาร์สหรัฐกว่า 70%
สำหรับ ธปท. ได้ดำเนินการอย่างต่อเนื่องที่จะทำให้ระบบการเงินมีเครื่องมือป้องกันความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยนที่เพียงพอเพื่อผู้ประกอบการสามารถเลือกใช้ได้เหมาะสม อาทิ การทำให้ตลาด forward โปร่งใสขึ้นมากขึ้น โครงการ FX option ที่ผู้ประกอบการสามารถล็อกเรท การมีบัญชีเงินฝากสำหรับเงินตราต่างประเทศ (FCD) สำหรับผู้ประกอบการที่ยังไม่ต้องการแลกเงินตราต่างประเทศเป็นเงินบาท รวมทั้ง การส่งเสริมให้มีการใช้เงินสกุลท้องถิ่นในการค้าขาย ซึ่งหนึ่งในโครงการที่ผลักดันคือการส่งเสริมให้ใช้ บาท-หยวนในมณฑลยูนานในช่วงเริ่มต้น ปัจจุบันขยายไปทั่วประเทศ
Click Donate Support Web