- Details
- Category: ธปท.
- Published: Monday, 21 January 2019 17:55
- Hits: 2455
ธปท.อยู่ระหว่างพิจารณา กรณี`กิตติพันธ์`ถูกกล่าวหาทุจริตปล่อยกู้ EARTH
ธปท.แจง กรณี ‘กิตติพันธ์ อนุตรโสตถิ’อดีตผู้บริหาร KTB ปล่อยกู้ EARTH กระทบต่อความน่าเชื่อถือตัวบุคคล ชี้ยังรอข้อมูลจี้แจงจาก KTB เพิ่ม ก่อนพิจารณาตัดสินตามขั้นตอน
นางจันทวรรณ สุจริตกุล ผู้ช่วยผู้ว่าการสายยุทธศาสตร์และความสัมพันธ์องค์กร ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า กรณีข่าวเกี่ยวกับอดีตผู้บริหารของ ธนาครกรุงไทย ถูกกล่าวโทษว่าไม่รักษาผลประโยชน์ธนาคาร ปฎิบัติหน้าที่ไม่สุจริต กรณีปล่อยกู้ EARTH เป็นเรื่องที่กระทบต่อคุณสมบัติและความน่าเชื่อถือของผู้ทำหน้าที่บริหารสถาบันการเงิน อย่างไรก็ตาม เนื่องจากอดีตผู้บริหาร ธ.กรุงไทยได้มีหนังสือร้องขอความเป็นธรรม และ ธปท. เห็นว่ายังมีข้อมูลที่ต้องให้ ธ.กรุงไทย ชี้แจงเพิ่มเติมในบางประเด็น ขณะนี้จึงอยู่ระหว่างการรอข้อมูลดังกล่าวเพื่อนำมาประกอบการพิจารณาและดำเนินการตามขั้นตอนต่อไป
ทางธปท.ยืนยันว่า การแต่งตั้งผู้บริหารระดับสูงในสถาบันการเงิน เป็นเรื่องที่ ธปท. ให้ความสำคัญมาโดยตลอด จึงได้กำหนดมาตรฐานคุณสมบัติของการเป็นผู้บริหารสถาบันการเงินไว้ในระดับที่สูง เพื่อให้เกิดความเชื่อมั่นในระบบสถาบันการเงิน ซึ่งก็เป็นแนวที่ธนาคารกลางและผู้กำกับดูแลทั่วโลกใช้ในการกำกับดูแลสถาบันการเงิน
อนึ่ง วานนี้ นายกิตติพันธ์ อนุตรโสตถิ อดีตรองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานธุรกิจขนาดใหญ่ ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KTB กล่าวในงานเปิดใจชี้แจงข้อกล่าวหาเกี่ยวกับ EARTH หลังถูก KTB กล่าวโทษว่าไม่รักษาผลประโยชน์ธนาคาร ปฎิบัติหน้าที่ไม่สุจริต กรณีปล่อยกู้ EARTH พร้อมยืนยันความบริสุทธิ์ พร้อมยื่นอุทธรณ์ภายใน 60 วัน
สำนักข่าวอีไฟแนนซ์ไทย
กิตติพันธ์ แนะหาคนกลางตรวจสอบปัญหาหนี้ EARTH พร้อมสอบครอบคลุมผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่าย
นายกิตติพันธ์ อนุตรโสตถิ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารซีไอเอ็มบีไทย ในฐานะอดีตรองกรรมการผู้จัดการ ธนาคารกรุงไทย (KTB) โพสต์ในเฟซบุ๊กส่วนตัวถึงกรณีที่คณะกรรมการตรวจสอบชุดพิเศษของ KTB กล่าวหาว่ากระทำการทุจริตและบกพร่องเกี่ยวกับการให้สินเชื่อแก่ บมจ.เอ็นเนอร์ยี่ เอิร์ธ (EARTH)
นายกิตติพันธ์ ตั้งข้อสังเกตว่าการตรวจสอบนั้นต้องโปร่งใสและกระทำโดยผู้ที่มีความเป็นกลางและเป็นธรรม ให้ครอบคลุมในทุกๆด้านที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้ได้คำตอบที่ชัดเจนกับสังคมและผู้เสียหายทั้งหมดว่าความเสียหายเกิดจากอะไรกันแน่ และที่สำคัญจะนำไปป้องกันเหตุการณ์อย่างเดียวกันในอนาคตอย่างไร
"ผมยกตัวอย่างว่าเราควรพัฒนากระบวนการที่ชัดเจนในการช่วยบรรเทาปัญหาลูกหนี้และในขณะเดียวกันปกป้องสิทธิของเจ้าหนี้ระหว่างที่เจรจาหาทางออกหรือเริ่มมีปัญหาในการชำระหนี้หรือไม่ เพื่อป้องกันการที่ลูกหนี้จะล้มลงและยากมากกว่าเดิมในการกลับมาทาธุรกิจและอาจทำให้ความเสียหายมากกว่าที่ควรเป็น"นายกิตติพันธ์ ระบุ
พร้อมทั้งเสนอให้การตรวจสอบครอบคลุมถึงผู้มีส่วนร่วมหลักๆ ของกรณี EARTH ได้แก่ ลูกหนี้ ผู้สอบบัญชี เจ้าหนี้ธนาคารรายอื่น ผู้จัดจำหน่ายหุ้นกู้ และผู้จัดอันดับเครดิต โดยขอให้มีการนำข้อมูลต่าง ๆ มาเปิดเผยอย่างละเอียด
นอกจากนั้น ควรจะเป็นการตรวจสอบโดยหน่วยงานที่เป็นกลางที่มีความเป็นมืออาชีพ โดยมีผู้กำกับดูแลเป็นเจ้าภาพเพื่อแสวงหาข้อเท็จจริงอย่างเป็นธรรมให้กับทุกฝ่าย บริษัทสอบบัญชีใหญ่ๆใน Big 4 นอกจาก PWC ซึ่งน่าจะมี conflict of interest และต้องเป็นบริษัทที่มีบริการด้าน Forensic Audit น่าจะมีความเป็นมืออาชีพ มีความเป็นกลางและช่วยแสวงหาข้อเท็จจริงว่าความเสียหายที่แท้จริงเกิดจากอะไร เพื่อให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่ายได้ ไม่ใช่เป็นการตรวจสอบโดยองค์กรที่ได้รับความเสียหายที่ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องนั้นเป็นผู้ตั้งกรรมการตรวจสอบเอง
อินโฟเควส
`กิตติพันธ์` ยืนยันความบริสุทธิ หลัง KTB กล่าวโทษทุจริตปล่อยกู้ EARTH
นายกิตติพันธ์ อนุตรโสตถิ อดีตรองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานธุรกิจขนาดใหญ่ ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KTB กล่าวในงานเปิดใจชี้แจงข้อกล่าวหาเกี่ยวกับ EARTH หลังถูก KTB กล่าวโทษว่าไม่รักษาผลประโยชน์ธนาคาร ปฎิบัติหน้าที่ไม่สุจริต กรณีปล่อยกู้ EARTH พร้อมยืนยันความบริสุทธิ์ และตั้งข้อสังเกตคณะกรรมการตรวจสอบ KTB อาจจะเข้าข่ายไม่เป็นกลาง เล็งยื่นอุทธรณ์ภายใน 60 วัน โดยมีสาระสำคัญดังนี้
ตลอดระยะเวลา 16 เดือนที่ผ่านมา ตนเองได้ถูกกล่าวหาอยู่ฝ่ายเดียว ในประเด็นว่ามีการทุจริตและบกพร่องเกี่ยวกับการให้สินเชื่อ บริษัท เอ็นเนอร์ยี่ เอิร์ธ จำกัด (มหาชน) หรือ EARTH ซึ่ง มีผู้บริหารธนาคารกรุงไทยที่เกี่ยวข้องหลายระดับ ซึ่งจะต้องถูกลงโทษทางวินัยและถูกดำเนินคดี ซึ่งคิดว่าไม่เป็นธรรมกับตัวเอง เพราะตามข้อเท็จจริงแล้วมันมีรายละเอียดที่จะบอกได้ว่า ตนเองไปเกี่ยวข้องตรงไหน อย่างไร และตรงนั้นมันเป็นสาเหตุของปัญหาหรือเปล่า
"คณะกรรมการบริหารธนาคารกรุงไทย แต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบชุดพิเศษ เพื่อสอบสวนหาผู้รับผิดชอบในความเสียหายที่เกิดขึ้นตั้งแต่วันที่ 20 มิถุนายน 60 ซึ่งเป็นเวลาน้อยกว่า 1 เดือนหลังจากเอิร์ธผิดนัดชำระหนี้ ซึ่งแปลกมาก ผมจึงไม่เข้าใจว่าจะแก้ปัญหาได้อย่างไร ผมเห็นว่าไม่น่าจะเป็นวิธีแก้ปัญหาที่ถูกต้องตามหลักสากล "
นอกจากนี้ ขอตั้งข้อสังเกตการแต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบ โดยคณะกรรมการบริหาร KTB ซึ่งถือว่าเป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียด้วย เห็นว่าไม่ถูกต้อง เพราะมีส่วนในการอนุมัติสินเชื่อด้วย จึงไม่เห็นด้วยว่าเป็นเรื่องที่ถูกต้องตามหลักธรรมาภิบาลที่ดี นอกจากนี้ ได้ถูกตั้งข้อกล่าวหาที่คลุมเครือมาก ไม่ชัดเจน
"ผมได้รับเอกสารจากทาง KTB เมื่อวันที่ 25 ธ.ค. ที่ผ่านมา โดยเป็นข้อกล่าวหาที่ร้ายแรง ที่กรุงไทยระบุว่า ท่านไม่รักษาผลประโยชน์ของธนาคาร และ ปฎิบัติหน้าที่โดยไม่สุจริต เพื่อการแสวงหาประโยชน์จากบุคคลภายนอกเพื่อผลประโยชน์ของตนเองทำให้ธนาคารเกิดความเสียหายอย่างร้ายแรง ซึ่งผมถือว่าเป็นกล่าวหาที่ร้ายแรง ผมในฐานะประชาชนคนหนึ่งที่ถูกกล่าวหาต้องเดินหน้าต่อสู้เพื่อปกป้องสิทธิของตัวเองตามกระบวนการกฎหมาย โดยตอนนี้กำลังพิจารณาร่วมกับที่ปรึกษากฎหมายเกี่ยวกับการอุทธรณ์กลับไปยังกรุงไทยภายใน 60 วัน ซึ่งขึ้นกับธนาคารว่าจะพิจารณารับเรื่องอุทธรณ์หรือไม่"นายกิตติพันธ์ กล่าว
สำหรับ การชี้แจงที่เกี่ยวข้องกับการอนุมัตสินเชื่อให้กับ EARTH เป็นลูกค้าธนาคารมาก่อนที่ตนเองจะเข้ามาทำหน้าที่ต่อ ในขณะนั้น EARTH ยังเป็นลูกหนี้ชั้นดี ไม่มีประวัติด่างพร้อย งบการเงินได้รับการรับรองจาก บริษัท PWC ซึ่งเป็นบริษัทผู้ตรวจสอบบัญชีระดับโลก ตนเองเป็นผู้ดูแลสายงานที่นำเสนอขออนุมัติสินเชื่อ ใน 2 วงเงิน มูลค่าประมาณ 4,500 ล้านบาท เมื่อปี 58 คำขออนุมัติผ่านการตรวจสอบจากสายงานประเมินความเสี่ยง ผ่านการกลั่นกรองจากคณะกรรมการกลั่นกรองสินเชื่อ และ ผ่านการอนุมัติจากคณะกรรมการบริหาร ถือว่าได้ดำเนินการอย่างถูกต้องทั้งในแง่คุณสมบัติของลูกค้า การประเมินความเสี่ยง การกลั่นกรอง ก่อนเสนอให้บอร์ดบริหารพิจารณาขั้นสุดท้าย ซึ่งตนเองไม่ใช่ผู้อนุมัติสินเชื่อ เพราะไม่มีอำนาจอนุมัติสินเชื่อ
นอกจากนี้ EARTH ยังได้รับการจัดอันดับเรทติ้ง BBB- (ลูกหนี้มีความสามารถในการชำระดอกเบี้ยและเงินต้นในเกณฑ์ที่เพียงพอ) โดย TRIS ซึ่งเป็นการยืนยันความสามารถในการชำระหนี้ว่าอยู่ในเกณฑ์ดี และ KTB ได้เป็นผู้จัดการการจัดจำหน่าย หุ้นกู้ EARTHธ 2 รุ่น วงเงินรวม 5,500 ล้านบาท เพื่อเป็นการสนับสนุนเงินทุนหมุนเวียน ถือเป็นการกลั่นกรองอีกครั้งว่าเป็นลูกค้าที่ดีที่ธนาคารจะนำหุ้นกู้ไปขายให้กับลูกค้ารายย่อยได้
"สินเชื่อ 2 วงเงิน มูลค่า 4,500 ล้านบาท ที่เอิร์ธได้รับอนุมัติจากธนาคารกรุงไทย โดยผมมีส่วนร่วมในการนำเสนอเมื่อ 58 นั้น เป็นสินเชื่อปกติ ไม่มีการผิดนัดชำระ และไม่มีการทำผิดเงื่อนไข แต่อย่างใด สินเชื่อทั้งสองวงเงินนี้ เป็นส่วนหนึ่งของสินเชื่อที่ธนาคารกรุงไทยให้กับเอิร์ธ เมื่อเกิดการผิดนัดชำระหนี้ในเดือนพฤษภาคม 60 โดยเริ่มจากจำนวน 200 กว่าล้านบาท แต่เมื่อไม่ได้รับการผ่อนผันทำให้เกิดผลกระทบกับวงเงินอื่น ภาษาด้านแบงค์เรียกว่า Cross Default ทำให้วงเงินอื่นทั้งหมดเปรียบเสมือนว่าผิดนัดชำระหนี้ไปด้วย ทำให้สินเชื่อทั้งหมด 12,000 ล้านบาทกลายเป็น NPL ความเสียหายที่เกิดกับธนาคารกรุงไทย อันเนื่องมาจากเอ็นพีแอลของเอิร์ธ จึงไม่ได้เกิดจากสินเชื่อ 2 วงเงินที่ผมมีส่วนร่วมในการนำเสนอเมื่อปี 58" นายกิตติพันธ์ กล่าว
ส่วนการทำหน้าที่ของตนเองในตำแหน่ง กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารซีไอเอ็มบีไทย จำกัด(มหาชน) หรือ CIMBT ยังเป็นไปตามปกติ แต่ยอมรับว่า ขณะนี้ กลุ่ม CIMB ได้มีการหารือกับทางธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) เกี่ยวกับการดำรงตำแหน่งในปัจจุบันว่าจะมีแนวทางอย่างไรที่เหมาะสม ซึ่งเป็นดุลยพินิจของกลุ่ม CIMB
กิตติพันธ์ อนุตรโสตถิ อดีตผู้บริหาร KTB ตั้งโต๊ะชี้แจงกรณีถูกกล่าวโทษปล่อยกู้ EARTH จ่อยื่นอุทธรณ์ข้อกล่าวหา
นายกิตติพันธ์ อนุตรโสตถิ อดีตรองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานธุรกิจขนาดใหญ่ ธนาคารกรุงไทย (KTB) กล่าวเปิดใจกรณีถูกกล่าวหาการให้สินเชื่อบมจ. เอ็นเนอร์ยี่ เอิร์ธ (EARTH) 4.5 พันล้านบาท โดยยืนยันว่าคำขออนุมัติสินเชื่อดังกล่าว กระทำอย่างถูกต้องทั้งในแง่คุณสมบัติของลูกค้า การประเมินความเสี่ยง การกลั่นกรอง ก่อนเสนอให้บอร์ดบริหารพิจารณาขั้นสุดท้าย
"EARTH เป็นลูกค้าธนาคารมาก่อนที่ผมจะเข้ามา ในขณะนั้นเป็นลูกหนี้ชั้นดี ไม่มีประวัติด่างพร้อย งบการเงินได้รับการรับรองจาก บริษัท PWC ซึ่งเป็นบริษัทผู้ตรวจสอบบัญชีระดับโลก คำขออนุมัติผ่านการตรวจสอบจากสายงานประเมินความเสี่ยง ผ่านการกลั่นกรองจากคณะกรรมการกลั่นกรองสินเชื่อ และผ่านการอนุมัติจากคณะกรรมการบริหาร"
นายกิตติพันธ์ กล่าวว่า คณะกรรมการบริหารธนาคารกรุงไทย ได้แต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบชุดพิเศษ เพื่อสอบสวนหาผู้รับผิดชอบในความเสียหายที่เกิดขึ้นตั้งแต่วันที่ 20 มิถุนายน 2560 ซึ่งเป็นเวลาน้อยกว่า 1 เดือนหลังจาก EARTH ผิดนัดชำระหนี้ และได้มีมติกล่าวหาว่าตนกระทำผิด
"ผมคิดว่าไม่เป็นธรรมกับตัวผมเอง เพราะตามข้อเท็จจริงแล้วมันมีรายละเอียดที่จะบอกได้ว่าผมไปเกี่ยวข้องตรงไหน อย่างไร และตรงนั้นมันเป็นสาเหตุของปัญหาหรือเปล่า ผมได้รับข้อกล่าวหา แต่ไม่มีรายละเอียดว่าผมทำผิดอะไรบ้าง อย่างไร เมื่อไหร่ เพื่อผมจะได้แก้ข้อกล่าวหาได้ถูกต้อง แต่ธนาคารกรุงไทยไม่เคยมีความชัดแจ้งในเรื่องนี้ ผมจึงอยู่ในฐานะที่ไม่ทราบจะชี้แจงอย่างไรกับคณะกรรมการตรวจสอบที่ธนาคารกรุงไทยตั้งขึ้นมา และผมก็ได้ตั้งสังเกตว่าคณะกรรมการตรวจสอบของธนาคารกรุงไทยชุดนี้อาจจะไม่เป็นกลาง และมีคำถามว่ากระบวนการตรวจสอบดังกล่าวต้องการแสวงหาข้อเท็จจริงหรือคนผิดกันแน่"นายกิตติพันธ์ กล่าว
นายกิตติพันธ์ กล่าวถึงการเดินหน้าต่อสู้เพื่อยืนยันความบริสุทธิ์ของตนเองนั้น ปัจจุบันอยู่ระหว่างการร่วมกันปรึกษาหาแนวทางร่วมกับที่ปรึกษาทางกฏหมาย ซึ่งอาจจะดำเนินการอุทธรณ์กลับไปที่ธนาคารกรุงไทย ซึ่งมีระยะเวลาการอุทธรณ์ภายใน 60 วัน หลังจากที่ได้รับหนังสือรับทราบข้อกล่าวหาจากธนาคารกรุงไทยในวันที่ 25 ธ.ค. 61 แต่การอุทธรณ์นั้นจะขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของธนาคารกรุงไทยว่าจะพิจารณาคำอุทธรณ์ของตนหรือไม่ แต่ในฐานะที่ตนเองเป็นประชาชนคนหนึ่งที่ถูกกล่าวโทษอย่างร้ายแรง จะต้องใช้สิทธิของตนเองเพื่อปกป้องและยืนยันความบริสุทธิ์ของตนเอง เพราะธนาคารกรุงไทยได้กล่าวโทษตนอย่างร้ายแรง
ส่วนการทำหน้าที่ในฐานะกรรมการผู้จัดการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย (CIMBT) นั้น นายกิตติพันธ์ กล่าวว่า ได้เข้าไปปรึกษาหารือกับทางกลุ่ม CIMB แล้ว เพื่อหาแนวทางที่เหมาะสมที่สุด หลังจากที่ถูกกล่าวโทษจากธนาคารกรุงไทย แต่ปัจจุบันทางกลุ่ม CIMB ยังไม่ได้มีข้อสรุปของแนวทางออกมา พร้อมกับปรึกษากับทางธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เกี่ยวกับแนวทางการดำเนินงานในตำแหน่งหน้าที่ของตนในปัจจุบัน และข้อสังเกตเกี่ยวกับคณะกรรมการตรวจสอบของธนาคารกรุงไทยที่อาจจะเข้าข่ายไม่เป็นกลาง ซึ่งยังคงต้องความชัดเจนของธปท.ต่อไป
อินโฟเควสท์
‘เอกนิติ’ สั่งฟันผู้บริหาร-พนักงานกรุงไทย ปล่อยกู้ 'เอิร์ธ' ทำแบงก์เสียหาย เตรียมส่ง ป.ป.ช. ดำเนินการกราวรูด ทั้งคดีอาญามาตรา 157 จำนวน 4 คน ผิดวินัยร้ายแรง 4 คน และผิดวินัยอีก 16 คน ลั่น! ต้องหาคนผิดมาลงโทษ
แหล่งข่าวจากธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ว่า นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ อธิบดีกรมสรรพากร ในฐานะประธานกรรมการ (บอร์ด) , นายไกรฤทธิ์ อุชุกานนท์ชัย รองประธานบอร์ด สั่งการให้ นายผยง ศรีวณิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย ดำเนินการลงโทษผู้ที่ทำให้ธนาคารเสียหายจากการปล่อยสินเชื่อให้กับ บริษัท เอ็นเนอร์ยี่ เอิร์ธ จำกัด (มหาชน) ทั้งทางวินัยและทางอาญา
"การดำเนินความผิดทางอาญานั้น จะมีการส่งเรื่องให้สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ดำเนินการในฐานความผิดตามมาตรา 157 ประมวลกฎหมายอาญา ฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบฯ กับกลุ่มคนที่เกี่ยวข้องจำนวน 4 ราย และผิดวินัยแต่ไม่ร้ายแรงอีก 16 ราย"
เอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ อธิบดีกรมสรรพากร
นายเอกนิติ เปิดเผยว่า คณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับการปล่อยกู้ให้กับเอิร์ธ ได้รายงานให้ที่ประชุมคณะกรรมการ (บอร์ด) ทราบว่า ได้สรุปผลสอบสวนข้อเท็จจริงแล้ว พบการกระทำผิดในหลายขั้นตอน ซึ่งมีทุกระดับ ขึ้นกับหลักฐานว่า มีมากน้อยแค่ไหน ดังนั้น เมื่อเกิดการโกงในธนาคารของรัฐ หากมีข้อพิสูจน์ที่ชัดเจนเมื่อไหร่ ก็ต้องดำเนินการตามคดีทุกขั้นตอน
"ส่วนคนข้างนอกที่เกี่ยวข้องก็มีกลไกดูอยู่แล้ว ซึ่งต้องเป็นไปตามกระบวนการและต้องให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่ายตามกระบวนการตรวจสอบข้อเท็จจริง แต่เมื่อเกิดความเสียหายจำนวนมากกับธนาคาร ก็ต้องหาคนผิดมาลงโทษ แต่รายละเอียดขอให้ผู้บริหารกรุงไทยเป็นคนชี้แจง" นายเอกนิติ กล่าว
นายผยง ศรีวณิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย กล่าวว่า กรณีเอิร์ธพบการกระทำความผิดและบกพร่องทั้งเชิงระบบบุคคล ซึ่งมีการกระทำผิดระเบียบธนาคารหลายจุด แต่รายละเอียดยังบอกไม่ได้ สำหรับขั้นตอนนั้นจะดำเนินการทางวินัยต่อไป ซึ่งมีหลายระดับ โดยยังไม่ขอเปิดเผยโทษสูงสุดทางวินัย
ผยง ศรีวณิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย
แหล่งข่าวระบุว่า เอิร์ธเริ่มเข้ามาเป็นลูกค้าของธนาคารกรุงไทย ภายหลังจากเจ้าหน้าที่ฝ่ายสินเชื่อเสนอวงเงินให้กับบริษัทลูกของเอิร์ธในราวปี 2555 ผ่านสายงานลูกค้าธุรกิจขนาดใหญ่ ที่ นางจรี วุฒิสันติ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ เป็นผู้ดูแล ก่อนที่ นายกิตติพันธ์ อนุตรโสตถิ จะเข้ามารับไม้ต่อ ซึ่งตามกระบวนการปล่อยสินเชื่อต้องผ่านคณะกรรมการสินเชื่อ คณะกรรมการกลั่นกรองสินเชื่อ โดยเลขานุการบอร์ดจะบันทึกการทำธุรกรรมและเส้นทางการเบิกถอนวงเงินไปใช้ ซึ่งสามารถเห็นเชื่อมโยงเส้นทางของวงเงินสินเชื่ออยู่แล้ว
อย่างไรก็ตาม หลังจากเอิร์ธปฏิเสธการชำระหนี้และใช้เป็นเหตุผลยื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการต่อศาลล้มละลายกลาง เมื่อวันที่ 21 ก.ย. 2560 ทำให้บรรดาเจ้าหนี้และคู่ค้าดำเนินการฟ้องคดี จนบริษัทตกอยู่ในภาวะที่มีหนี้สินมากกว่าสินทรัพย์ โดยมีหนี้สินรวมทั้งสิ้น 47,480 ล้านบาท ขณะที่ สินทรัพย์รวมมีเพียง 31,828 ล้านบาทเศษ จนเกิดข้อโต้แย้งถึงมูลหนี้ที่สูงมาก แต่ผู้บริหารเอิร์ธก็ได้ระบุยอดรวมมูลหนี้ที่ถูกฟ้องว่า มีจำนวน 36,972 ล้านบาทเศษ พร้อมประมาณความเสียหายที่ต้องชดใช้ไม่น่าจะเกิน 70% ของมูลหนี้ทั้งหมด ซึ่งจะเท่ากับ 25,881 ล้านบาทเศษ และใช้เป็นที่มาของมูลหนี้ดังกล่าว
ในที่สุด ศาลล้มละลายกลางรับคำร้องขอฟื้นฟูกิจการและที่ประชุมเจ้าหนี้มีมติผ่านแผนฟื้นฟู ปรากฏว่า มีเจ้าหนี้จำนวน 2,433 ราย ที่ยื่นคำขอรับชำระหนี้ รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 152,518.23 ล้านบาทเศษ ซึ่งระหว่างทางมีผู้โต้แย้งมูลหนี้ ศาลจึงนัดฟังคำสั่งเห็นชอบหรือไม่ เห็นชอบกับแผนในวันที่ 15 พ.ย. 2561