WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

BOAวรไท สนตประภพ copy copyผู้ว่า ธปท.แนะแบงก์คงดบ.กู้ช่วยปชช. แต่แนะขึ้นฝั่งรายใหญ่-เงินฝาก

    ผู้ว่า ธปท. ชี้แบงก์พาณิชย์ยังไม่จำเป็นต้องขึ้นดอกเบี้ยเงินกู้ ตามดบ.นโยบาย เหตุสภาพคล่องตลาดการเงินสูง แต่แนะควรขึ้นฝั่งธุรกิจขนาดใหญ่ที่เคยได้ดบ.พิเศษ พร้อมหนุนให้ขึ้นฝั่งเงินฝากกระตุ้นการออม พร้อมแจง เหตุหั่นเป้าจีดีพี ปีหน้าเหลือ 4% เพราะยังมีปัจจัยเสี่ยงรอบด้าน ทั้งสงครามการค้า-เศรษฐกิจจีน-Brexit

     นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ภายหลังจากที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีมติขึ้นดอกเบี้ย 0.25% เป็นครั้งแรกในรอบ 7 ปี ส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยปรับขึ้นมาอยู่ที่ 1.75% จาก 1.5% ซึ่งสร้างความกังวลให้กับประชาชนว่าภาระหนี้จะเพิ่มขึ้นนั้น มองว่า จากสภาพคล่องในตลาดการเงินที่อยู่ในระดับสูงในปัจจุบัน ทำให้ไม่มีความจำเป็นที่ธนาคารพาณิชย์จะต้องเร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ที่คิดกับประชาชน ดังนั้นจึงเชื่อว่า ประชาชนจะไม่ได้รับผลกระทบจากการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของ กนง.ในรอบที่ผ่านมาแน่นอน แต่ที่ควรปรับความเป็นกลุ่มที่ได้ดอกเบี้ยต่ำพิเศษ เช่นธุรกิจขนาดใหญ่  

      “ที่ผ่านมามีข่าวว่า ภาระหนี้ของประชาชนจะเพิ่มขึ้นหลังขึ้นดอกเบี้ย แต่จากที่เราประเมินสินเชื่อประชาชนในขาเงินกู้ ไม่คิดว่าประชาชนจะได้รับผลกระทบ เพราะว่าปัจจุบัน สภาพคล่องส่วนเกินอยู่สูงมาก และการแข่งขันที่สูงในปัจจุบัน จึงยังไม่เห็นความจำเป็นที่แบงก์จะต้องเร่งขึ้นดอกเบี้ย และตอนนี้หลายแบงก์ก็ออกมาพูดคล้ายๆกันว่า ยังไม่มีความจำเป็นที่จะขึ้นดอกเบี้ยในตอนนี้ และหากดูผลิตภัณฑ์ทางการเงินหลายอย่าง เช่น บ้านก็จะมีโปรโมชั่นคงดอกเบี้ย 3 ปีแรกเอาไว้ หรือ ผลิตภัณฑทางการเงินอื่น เช่น สินเชื่อบัตรเครดิต สินเชื่อบุคคล ก็มีเกณฑ์ดอกเบี้ยที่ธปท.กำหนดไว้อยู่แล้ว”นายวิรไทย กล่าว

     นายวิรไท กล่าวว่า ในทางตรงกันข้าม กลับพบว่า เริ่มเห็นสัญญาณที่ธนาคารเริ่มปรับดอกเบี้ยในด้านของเงินฝาก โดยเฉพาะเงินฝากประจำ เนื่องจากที่ผ่านมา เมื่อดอกเบี้ยนโยบายปรับเพิ่มขึ้น อัตราดอกเบี้ยในตลาดเงิน จะปรับขึ้นสอดคล้องกับอัตราดอกเบี้ยนโยบายทันที ดังนั้น กองทุนตราสารหนี้ กองทุนตลาดเงินระยะสั้น จึงมีผลตอบแทนที่เพิ่มขึ้นไปแล้ว จึงถือว่าเป็นข้อดีของการออมด้วย เพราะผลตอบแทนในตลาดเงินหรือพวกตราสารหนี้ระยะสั้นที่ปรับเพิ่มขึ้นทันทีนั้น จะไปสร้างแรงกดดันให้กับธนาคารพาณิชย์ต้องปรับอัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำขึ้น เพื่อลดความเสี่ยงในเรื่องการย้ายเงินฝากจากเงินฝากประจำไปยังกองทุน หรือ ตราสารหนี้ระยะสั้นแทน

      “แรงกดดันที่จะให้แบงก์ปรับขึ้นทันทีนั้น อาจไม่ได้เป็นแบบที่ผ่านมาที่จะเกิดขึ้นแบบทันทีทันใด เพราะที่ผ่านมาเราปรับขึ้นแบบต่อเนื่องกัน และที่ผ่านมาสภาพคล่องค่อนข้างตึงตัว แต่วันนี้เรามีสภาพคล่องในระบบส่วนเกินสูง และมาจากดอกเบี้ยที่ผ่อนคลายมากเป็นพิเศษ โอกาสที่จะเห็นผลได้เร็วนั้นในคงต้องรอเวลา แต่จะมีบางกลุ่มที่ผลตอบแทนขึ้นทันที คือ ในตลาดตราสารหนี้”นายวิรไท กล่าว

     นายวิรไท กล่าวว่า การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในครั้งนี้ เนื่องจากคณะกรรมการเห็นว่า อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มใกล้กับศักยภาพมากขึ้น ดังนั้นความจำเป็นที่จะต้องใช้นโยบายการเงินแบบผ่อนคลายมากเป็นพิเศษจึงลดลง และอัตราดอกเบี้ยอยู่ในระดับต่ำเป็นเวลานาน อาจส่งผลให้เกิดความเประบางในด้านเสถียรภาพของระบบการเงิน เนื่องจากจะเริ่มเห็นการแสวงหาผลตอบแทนที่สูง โดยไม่คำนึงถึงความเสี่ยง เป็นต้น

      สำหรับ กรณีที่คณะกรรมการปรับลดอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) มาอยู่ที่ 4% จากเดิมคาด 4.2% และปีนี้คาดอยู่ที่ 4.2% จากเดิมคาด 4.4% นั้น เนื่องจาก มองว่า ในปีหน้าเศรษฐกิจยังมีความไม่แน่นอน และมีปัจจัยเสี่ยงหลายด้าน เช่น ผลกระทบจากสงครามทางการค้าระหว่างสหรัฐ-จีน เนื่องจากไทยเป็นประเทศแบบเปิดและต้องพึ่งพาการส่งออกค่อนข้างมาก ดังนั้นจึงต้องติดตามสถานการณ์ดังกล่าวอย่างใกล้ชิด แม้ว่าไทยจะได้รับทั้งผลกระทบในทางบวกและลบ โดยผลกระทบในทางบวก เช่น อาจเห็นการย้ายฐานการผลิตของจีนมายังไทย เป็นต้น ในขณะเดียวกัน อุตสาหกรรมบางประเภท เช่น อุตสาหกรรมรถยนต์ ชิ้นส่วนรถยนต์ ซึ่งไทยเป็นผู้ส่งออกโดยตรง อาจได้รับผลกระทบจากมาตรการดังกล่าวได้

     นอกจากนี้ ภาวะเศรษฐกิจจีน นอกจากจะได้รับผลกระทบจากมาตรการกีดกันทางการค้า ยังมีเรื่องการปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจหลายอย่างของจีน เนื่องจากที่ผ่านมา จีนพึ่งพิงหนี้จากภาคธุรกิจค่อนข้างสูง และในภาวะการเงินที่เริ่มตึงตัว อาจส่งผลกระทบต่อความสามารถในการต่อหนี้ของภาคธุรกิจได้ ดังนั้นจึงอาจส่งผลกระทบต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจจีนอย่างมีนัยสำคัญ

      ขณะเดียวกัน ยังต้องติดตาม ปัจจัยด้านภูมิรัฐศาสตร์ ซึ่งมีความไม่แน่นอนสูง ทั้งเรื่อง Brexit การที่สหราชอาณาจักรจะออกจะสหภาพยุโรป ยังไม่แน่นอนว่า ข้อตกลงล่าสุดจะเป็นอย่างไร และผลกระทบมากน้อยแค่ไหน และปัญหาตะวันออกกลางที่มีผลกระทบต่อราคาน้ำมัน ปัญหาการประท้วงในยุโรป ที่เป็นแนวโน้มของการต่อต้านรัฐบาล ก็มีความรุนแรงและกระจายตัวมากขึ้น เรื่องแบบนี้ก็เป็นปัจจัยเสี่ยงที่เราต้องติดตาม

สำนักข่าวอีไฟแนนซ์ไทย

ธปท. เผยเศรษฐกิจไทยพ.ย.ขยายตัวต่อเนื่องจากบริโภค-ลงทุนเอกชน, คาด GDP Q4/61 โตกว่า Q3/61 แม้ส่งออกไม่เร่งตัวมาก

    น.ส.พรเพ็ญ สดศรีชัย ผู้อำนวยการฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า เศรษฐกิจไทยในเดือนพฤศจิกายน 2561 ขยายตัวจากเดือนก่อน โดยการบริโภคภาคเอกชนขยายตัวต่อเนื่อง ส่งผลให้การผลิตภาคอุตสาหกรรมขยายตัวตาม การลงทุนภาคเอกชนขยายตัวต่อเนื่องเช่นกัน

     สำหรับ จำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศกลับมาขยายตัว แม้จำนวนนักท่องเที่ยวจีนยังหดตัว ด้านการส่งออกสินค้าทรงตัว ขณะที่การใช้จ่ายภาครัฐหดตัวเล็กน้อย จากรายจ่ายลงทุนเป็นสำคัญ

       ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปชะลอลงตามราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศและอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน สำหรับอัตราการว่างงานที่ปรับฤดูกาลทรงตัวจากเดือนก่อน ดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลลดลงตามดุลการค้าเป็นสำคัญ ขณะที่ดุลบัญชีเงินทุนเคลื่อนย้ายขาดดุลสุทธิ

      เครื่องชี้การบริโภคภาคเอกชนขยายตัวต่อเนื่องจากระยะเดียวกันปีก่อน แม้ชะลอลงบ้างเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวสูง โดยเป็นการขยายตัวในทุกหมวดการใช้จ่าย สำหรับปัจจัยสนับสนุนกำลังซื้อโดยรวมปรับลดลงเล็กน้อย โดยรายได้ครัวเรือนในภาคเกษตรกรรมหดตัวจากทั้งด้านราคาและด้านผลผลิตที่ปรับลดลงจากปัญหาฝนทิ้งช่วงในบางพื้นที่ โดยเฉพาะผลผลิตข้าวหอมมะลิขณะที่รายได้รวมลูกจ้างนอกภาคเกษตรกรรมทรงตัว ทั้งนี้ การบริโภคภาคเอกชนที่ขยายตัวส่งผลให้การผลิตภาคอุตสาหกรรมขยายตัวสอดคล้องกัน โดยเฉพาะการผลิตในหมวดยานยนต์ และหมวดผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม สอดคล้องกับยอดจำหน่ายยานยนต์ในประเทศที่ขยายตัวดี

       เครื่องชี้การลงทุนภาคเอกชนขยายตัวจากระยะเดียวกันปีก่อน จากเครื่องชี้การลงทุนในหมวดเครื่องจักรและอุปกรณ์ ตามการนำเข้าสินค้าทุนของภาคเอกชน โดยเฉพาะการนำเข้าเครื่องจักรเพื่อใช้ในการตรวจสอบอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ตามการย้ายฐานการผลิตของธุรกิจฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์มายังไทยในช่วงก่อนหน้า ยอดจำหน่ายเครื่องจักรในประเทศ และยอดจดทะเบียนรถยนต์เพื่อการลงทุน ขณะที่เครื่องชี้การลงทุนในหมวดก่อสร้างหดตัวตามพื้นที่ได้รับอนุญาตก่อสร้าง แต่ยอดจำหน่ายวัสดุก่อสร้างยังขยายตัวดี ทั้งนี้ในภาพรวมเครื่องชี้การลงทุนภาคเอกชนที่ปรับฤดูกาลแล้ว เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนจากการลงทุนในหมวดเครื่องจักรและอุปกรณ์เป็นสำคัญ

     จำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศขยายตัวที่ 4.5% จากระยะเดียวกันปีก่อน ตามการขยายตัวของจำนวนนักท่องเที่ยวเกือบทุกตลาดสำคัญ อาทิ นักท่องเที่ยวอาเซียน โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวมาเลเซีย ส่วนหนึ่งเป็นผลจากฐานต่ำในปีก่อน จากการปราบปรามรถนำเที่ยวผิดกฎหมาย นักท่องเที่ยวฮ่องกง และอินเดียขยายตัวดีตามการเปิดเส้นทางบินมายังไทยเพิ่มเติม ประกอบกับได้รับผลดีจากมาตรการยกเว้นค่าธรรมเนียม visa on arrival ที่เริ่มมีผลเมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน 2561 อย่างไรก็ดี จำนวนนักท่องเที่ยวจีนยังคงหดตัว ทั้งนี้ เมื่อปรับฤดูกาลแล้ว จำนวนนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน ตามจำนวนนักท่องเที่ยวมาเลเซีย อินเดีย และจีนเป็นสำคัญ โดยเฉพาะจีนที่จำนวนนักท่องเที่ยวปรับฤดูกาลเพิ่มขึ้นเป็นครั้งแรกในรอบ 4 เดือน สะท้อนสัญญาณการปรับตัวที่ดีขึ้น

      มูลค่าการส่งออกสินค้าทรงตัว 0.2% จากระยะเดียวกันปีก่อน และหากหักทองคำหดตัว 0.6% โดยการส่งออกสินค้าในหลายหมวดหดตัวจาก 1) ผลของฐานสูงจากระยะเดียวกันปีก่อน อาทิ ฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ที่ผู้ผลิตมีการใช้กำลังการผลิตเต็มที่ในปีก่อน โทรศัพท์มือถือจากการเหลื่อมเดือนของการเปิดตัวโทรศัพท์มือถือรุ่นใหม่ ยานยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์จากการเร่งส่งออกรถยนต์นั่งส่วนบุคคลไปฟิลิปปินส์ก่อนปรับขึ้นภาษีสรรพสามิตรถยนต์ในช่วงต้นปี 2561 และสินค้าเกษตรโดยเฉพาะข้าว จากการส่งออกไปยังประเทศที่ได้รับความเสียหายจากภัยธรรมชาติในช่วงเดียวกันปีก่อน 2) ผลของมาตรการกีดกันทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน ประกอบกับวัฎจักรสินค้าอิเล็กทรอนิกส์และอุปสงค์ต่อรถยนต์ในจีนชะลอตัว ส่งผลให้การส่งออกสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ และยางพาราไปจีนหดตัว

        "การส่งออกในเดือน พ.ย.ได้รับผลจากสงครามการค้า และราคาน้ำมันที่ปรับลดลงทำให้มูลค่าส่งออกลดลงด้วย ซึ่งทุกอย่างเป็นตามไปที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ประเมินไว้ แต่คาดว่าเศรษฐกิจในเดือน ธ.ค.จะมีแนวโน้มดีขึ้น โดยผลกระทบจากสงครามการค้ามีความผ่อนคลาย ทำให้ไตรมาส 4/2561 จะขยายตัวได้ดีกว่าไตรมาส 3/2561 ที่ขยายตัว 3.3% ส่วนทั้งปีจะขยายตัวได้ตามเป้าหมายที่ 4.2% หรือไม่ จะต้องขอดูตัวเลขในเดือน ธ.ค.อีกครั้ง"น.ส.พรเพ็ญ ระบุ

        อย่างไรก็ดี การส่งออกสินค้าที่มูลค่าเคลื่อนไหวตามราคาน้ำมันดิบขยายตัวต่อเนื่อง โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม เคมีภัณฑ์ และปิโตรเคมี ทั้งนี้ การส่งออกไปสหรัฐฯ เร่งขึ้นในเดือนนี้จากการส่งออกยางล้อรถยนต์เป็นสำคัญ รวมทั้งเริ่มเห็นผลดีจากการทดแทนสินค้าจีนในตลาดสหรัฐฯ ในบางกลุ่มสินค้า

       มูลค่าการนำเข้าสินค้าขยายตัวสูงต่อเนื่องที่ 16.2% จากระยะเดียวกันปีก่อน และหากหักทองคำขยายตัว 19.4% โดยเป็นการขยายตัวในหลายหมวดสินค้า ได้แก่ 1) หมวดวัตถุดิบและสินค้าขั้นกลาง ตามการนำเข้าน้ำมันดิบ เคมีภัณฑ์ ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ และโลหะ 2) หมวดสินค้าทุน ตามการนำเข้าหมวดเครื่องจักรและอุปกรณ์ สอดคล้องกับการขยายตัวของการลงทุนภาคเอกชน 3) หมวดสินค้าอุปโภคบริโภค ขยายตัวตามการนำเข้าทั้งหมวดสินค้าไม่คงทนและสินค้าคงทน สอดคล้องกับการบริโภคภาคเอกชนที่ขยายตัว และ 4) หมวดยานยนต์และชิ้นส่วน ตามการนำเข้ารถยนต์นั่งและชิ้นส่วนยานยนต์ สอดคล้องกับยอดขายรถยนต์ในประเทศที่ขยายตัวดี

       การใช้จ่ายภาครัฐที่ไม่รวมเงินโอนหดตัวเล็กน้อยจากระยะเดียวกันปีก่อน ตามรายจ่ายลงทุนที่หดตัวจากผลของฐานสูงในปีก่อนที่มีการเบิกจ่ายเพื่อซื้ออากาศยานของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และการเบิกจ่ายค่าก่อสร้างอาคารโรงพยาบาลของสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข ขณะที่รายจ่ายประจำขยายตัวจากรายจ่ายเพื่อซื้อสินค้าและบริการเป็นสำคัญ

     ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ที่ 0.94% ชะลอจาก 1.23% ในเดือนก่อน ตามราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศที่ลดลงตามราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก ประกอบกับอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานปรับลดลงในหมวดที่มิใช่อาหารเป็นสำคัญ สำหรับอัตราการว่างงานที่ปรับฤดูการทรงตัวจากเดือนก่อน ดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลลดลงตามดุลการค้าเป็นสำคัญ ขณะที่ดุลบัญชีเงินทุนเคลื่อนย้ายขาดดุลสุทธิจากด้านสินทรัพย์ ตามการนำเงินออกไปฝากในต่างประเทศเพื่อปรับฐานะเงินตราต่างประเทศ และการลงทุนในตราสารหนี้ต่างประเทศของสถาบันการเงินที่รับฝากเงิน (ODC) รวมถึงการลงทุนโดยตรงในต่างประเทศ (Thai Direct Investment : TDI) ของธุรกิจโฮลดิ้งและธุรกิจบริการทางการเงิน

      น.ส.พรเพ็ญ ยังคาดว่า เศรษฐกิจในไตรมาส 4/2561 จะขยายตัวได้ดีกว่าไตรมาส 3/2561 โดยได้รับอานิสงส์จากการใช้จ่ายในประเทศ และการลงทุนภาคเอกชนที่ฟื้นตัวชัดเจน โดยเฉพาะการลงทุนภาคเอกชนที่ฟื้นตัวต่อเนื่อง และคาดว่าในปี 2562 จะขยายตัวดีกว่าปี 2561 จากเครื่องชี้ในการลงทุนหมวดเครื่องจักรและอุปกรณ์ ตามการนำเข้าสินค้าทุนของภาคเอกชน โดยเฉพาะการนำเข้าเครื่องจักรเพื่อใช้ในการตรวจสอบอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ตามการย้ายฐานการผลิตธุรกิจฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์มาในไทย และยอดจดทะเบียนรถยนต์เพื่อการลงทุน ขณะที่ภาคการส่งออกไม่ได้เร่งตัวมากนัก

         อินโฟเควสท์

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!