- Details
- Category: ธปท.
- Published: Sunday, 14 October 2018 23:01
- Hits: 13058
ธปท.เผยศก.โลกยังเสี่ยงจากสงครามการค้า กังวลดบ.ต่ำทำระบบการเงินเปราะบาง
ธปท.ระบุเศรษฐกิจโลกยังแข็งแกร่ง แต่ยังมีปัจจัยเสี่ยงจากนโยบายกีดกันการค้า-การเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างต้องติดตาม กังวลดอกเบี้ยต่ำนาน เชื่อสะสมความเปราะบางในระบบการเงินโดยเฉพาะภาคอสังหาฯ พร้อมแนะลดความเหลื่อมล้ำผ่านการเข้าถึงช่องทางการเงิน
รายงานข่าวจากธนาคารแห่งประเทศไทย ได้เผยแพร่เอกสารงานสัมมนาวิชาการในโอกาสครบรอบ 75 ปี ธปท. ในหัวข้อทิศทางและบทบาทของธนาคารกลางในอนาคต โดยมีผู้ว่าการและอดีตผู้ว่าการธนาคารกลางจาก 8 ประเทศ ผู้บริหารของ The Official Monetary and Financial Institution Forum (OMFIF) ว่า ในงานสัมมนาผู้ร่วมงานได้แลกเปลี่ยนความเห็นเกี่ยวกับความท้าทายของธนาคารกลางในการปรับนโยบายการเงินเข้าสู่ระดับปกติ โดยปัจจุบันแม้เศรษฐกิจโลกจะเติบโตแข็งแกร่งมากขึ้น แต่ยังมีความเสี่ยงและมีความท้าทายมากขึ้น จากนโยบายกีดกันทางการค้า และการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้าง เช่น การเปลี่ยนผ่านเข้าสู่เศรษฐกิจดิจิทัล การก้าวสู่สังคงสูงอายุ และกระแสโลกาภิวัฒน์ที่ทำให้โลกมีความเชื่อมโยงกันมากขึ้น
ในขณะที่การดำเนินนโยบายอัตราดอกเบี้ยต่ำเป็นเวลานาน ทำให้ระบบการเงินสะสมควาเมปราะบาง โดยเฉพาะภาคอสังหาริมทรัพย์ หนี้ของภาคครัวเรือนปรับสูงขึ้น ซึ่งปัจจัยเหล่านี้ทำให้การดำเนินนโยบายการเงินของธนาคารกลางมีความท้าทาย การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเข้าสู้ระดับปกติจำเป็นต้องทำอย่างค่อยเป็นค่อยไปให้สอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจของประเทศแต่ละประเภท
ทั้งนี้ ผู้ร่วมสัมมนา มองว่า ที่ผ่านมา ประเด็นที่ยังไม่ได้สื่อสารกันมาก คือ ข้อเสียของการปรับนโยบายการเงินช้าเกินไป ซึ่งอาจทำให้ระบบเศรษฐกิจการเงินมีความเสี่ยงและเปราะบาง โดยในปัจจุบัน เห็นว่า ธนาคารกลางมีเครื่องมือในการดำเนินนโยบายเพียงพอที่จะสามารถดูแลเสถียรภาพของเศรษฐกิจและระบบการเงิน โดยความยืดหยุ่นในการดำเนินนโยบายของธนาคารกลางเป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยรับมือกับความท้าทายดังกล่าว
นอกจากนี้ การเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างที่กำลังเกิดขึ้น ส่งผลต่อผลิตภาพการผลิต และประสิทธิภาพการส่งผ่านนโยบายการเงินไปสู่ภาคเศรษฐกิจจริง นอกจากนี้การพัฒนาที่ผ่านมาแม้จะทำให้เศรษฐกิจเติบโต แต่ยังพบว่าปัญหาความเหลื่อมล้ำยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น และเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว ธนาคารกลางจะต้องส่งเสริมให้ประชาชนในระดับฐานรากเข้าถึงบริการทางการเงินได้ดีขึ้นในราคาที่ถูกลง รวมทั้งอาจต้องขยายบทบาทให้ครอบคลุมการแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างเพื่อเพิ่มผลิตภาพของประเทศ ซึ่งนอกจากจะช่วยสนับสนุนการขยายตัวทางเศรษฐกิจแล้ว จะช่วยในการพัฒนาเศรษฐกิจเป็นไปอย่างสมดุลและยั่งยืนมากขึ้น
ทั้งนี้ บทบาทของธนาคารกลางภายในยุคที่พัฒนาการทางเทคโนโลยีและนวัตกรรมทางการเงินเป็นไปอย่างรวดเร็ว ซึ่งในด้านหนึ่งถือเป็นโอกาที่จะใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของการทำธุรกรรมทางการเงินและส่งเสริมการเข้าถึงบริการทางการเงิน และอีกด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมทางการเงินใหม่ๆทำให้เกิดความเสี่ยง เช่น Cyber Security การรักษาข้อมูลส่วนตัว รวมไปถึงความเสี่ยงที่เกิดจากระบบการเงินมีความเชื่อมโยงกันมากขึ้น ในบริบทที่เปลี่ยนแปลงและท้าทาย ธนาคารกลางจึงต้องปรับบทบาท เช่น ในการกำกับดูแลสถาบันการเงิน ต้องไม่เข้มงวดจนขัดขวางการพัฒนาเทคโนโลยี นอกจากนี้ ธนาคารกลางในฐานะผู้รักษามาตรฐานและความน่าเชื่อถือของระบบการเงิน จำเป็นต้องพัฒนาองค์ความรู้ให้เท่าทันให้พร้อมรับมือกับภูมิทัศน์ทางการเงินที่เปลี่ยนแปลง
สำนักข่าวอีไฟแนนซ์ไทย