- Details
- Category: ธปท.
- Published: Sunday, 30 September 2018 14:42
- Hits: 3681
ธปท.คาดใช้เกณฑ์สินเชื่อทะเบียนรถ พ.ย.นี้ ฟาก MTC-SAWAD ผ่านฉลุย
ธปท.เตรียมออกเกณฑ์คุมสินเชื่อจำนำทะเบียน พ.ย.นี้ ระบุอยู่ระหว่างรับฟังความเห็น 28 ก.ย.-12 ต.ค.นี้ เบื้องต้นบริษัทต้องมีทุนจดทะเบียนไม่ต่ำกว่า 50 ลบ. ปล่อยดอกเบี้ยไม่เกิน 28% ต่อปี ยัน MTC- SAWAD เงินติดล้อ มีคุณสมบัติผ่านเกณฑ์
นางสาวดารณี แซ่จู ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายกลยุทธ์สถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยถึงร่างแนวทางการกำกับดูแลสินเชื่อที่มีทะเบียนรถเป็นหลักประกัน ในวันนี้-12 ตุลาคม ธปท.จะเปิดรับฟังความเห็นจากประชาชน ผู้ประกอบการ ถึงแนวทางการกำกับดูแลสินเชื่อที่มีทะเบียนรถเป็นหลักประกันสำหรับผู้ประกอบการรายใหญ่ โดยกำหนดให้ต้องมีทุนจดทะเบียนไม่ต่ำกว่า 50 ล้านบาท และกำหนดอัตราเพดานดอกเบี้ยไม่เกิน 28% ต่อปี รวมค่าธรรมเนียมและค่าใช้จ่ายอื่นๆ ยกเว้นค่าทวงถามหนี้ที่จะคิดได้ตามจริงโดยสมเหตุสมผล ซึ่งคาดว่าเกณฑ์ดังกล่าวจะมีผลบังคับใช้ช่วงเดือนพฤศจิกายนนี้
สำหรับ แนวทางในการกำกับนั้น ระบุว่า ผู้ดำเนินธุรกิจดังกล่าวนั้นจะต้องมีทุนจดทะเบียนไม่ต่ำกว่า 50 ล้านบาท และหากปัจจุบันผู้ที่ดำเนินกิจการอยู่แล้ว แต่ยังมีทุนจดทะเบียนไม่ถึง 50 ล้านบาท จะให้ดำเนินกิจการได้ภายใน 1 ปี เพื่อเพิ่มทุนจดทะเบียนให้ถึงตามที่ทางการกำหนด แต่หากมีทุนจดทะเบียน 5 ล้านบาท แต่ไม่ถึง 50 ล้านบาท สามารถดำเนินกิจการในลักษณะดังกล่าวได้ แต่จะต้องจดทะเบียนภายใต้กฎหมายของ Pico Finance แต่จะสามารถปล่อยสินเชื่อได้ไม่เกิน 50,000 บาทต่อรายเท่านั้น ขณะที่ผู้ที่มีทุนจดทะเบียน 50 ล้านบาท จะปล่อยสินเชื่อได้ไม่กำหนด ตามมูลค่าหลักทรัพย์ค้ำประกัน
ด้านใบอนุญาตนั้น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังจะเป็นผู้ออกและผู้ถอนใบอนุญาต โดยภายใต้คำแนะนำของธปท. และให้อำนาจธปท.ในการระงับการดำเนินธุรกิจชั่วคราวในกรณีไม่ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด
นางสาวดารณี กล่าวว่า ปัจจุบัน มีผู้ใช้บริการใช้สินเชื่อจำนำทะเบียนมากถึง 3 ล้านราย โดยมียอดคงค้างสินเชื่อในตลาด 2 แสนล้านบาท และมีผู้ประกอบการมากกว่า 1,000 ราย โดยจำนวนดังกล่าวมี 100 กว่ารายที่มีทุนจดทะเบียนมากกว่า 50 ล้านบาท และมี 30 รายที่มีใบอนุญาตสินเชื่อบุคคล และมีทั้งหมด 17 รายที่ดำเนินกิจการสินเชื่อจำนำทะเบียนรถยนต์
ทั้งนี้ หากกฎหมายดังกล่าวมีผลบังคับใช้แล้วผู้ที่ดำเนินกิจการอยู่แล้ว และเข้าข่ายหลักเกณฑ์จะต้องมาแจ้งต่อธปท.รับทราบ เช่น บริษัท เมืองไทยลิสซิ่ง จำกัด (มหาชน) หรือ MTC , บริษัท ศรีสวัสดิ์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ SAWAD และ บริษัทเงินติดล้อ จำกัด เป็นต้น โดยทั้ง 3 บริษัทดังกล่าวข้างต้น มีใบอนุญาตการดำเนินธุรกิจสินเชื่อบุคคลอยู่แล้ว
“ทั้ง 3 บริษัท เป็นบริษัทขนาดใหญ่ และมีทุนจดทะเบียนมากกว่า 50 ล้านบาทอยู่แล้ว จึงมองว่าจะไม่ได้รับผลกระทบแต่อย่างใด เนื่องจากเข้าข่ายเกณฑ์ และ 3 บริษัทมีส่วนแบ่งทางการตลาดมากถึง 50%”นางสาวดารณี กล่าว