- Details
- Category: ธปท.
- Published: Friday, 05 September 2014 19:11
- Hits: 3735
ธปท.เผย หลัง ECB ลดดอกเบี้ย ต้องติดตามการฟื้นตัวของ ศก.แต่ละประเทศ อาจส่งผลกระทบต่อเงินทุนเคลื่อนย้าย
ธปท.เผย หลัง ECB ลดดอกเบี้ย ต้องติดตามการฟื้นตัวของ ศก.แต่ละประเทศ อาจส่งผลกระทบต่อเงินทุนเคลื่อนย้าย ขณะที่ยังมั่นใจว่าปีนี้ไทยจะเกินดุลบัญชีเดินสะพัด พร้อมระบุว่าล่าสุดมี 5 แบงก์ขอเสนอขายตราสาร Basel III หลัง ก.ล.ต.ไฟเขียว
นายจิรเทพ เสนีวงศ์ ณ อยุธยา โฆษกธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า หลังจากการที่ธนาคารกลางยุโรป (ECB) ประกาศปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงเหลือ 0.05% ต่อปีนั้น ยืนยันว่า ธปท.ไม่เป็นห่วงต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจยุโรป เพราะสาเหตุที่ ECBต้องปรับลดอัตราดอกเบี้ย เนื่องจากไม่ต้องการให้มีการคาดการณ์ในเรื่องของอัตราเงินเฟ้อ ซึ่งปัจจุบันอยู่ที่ระดับ 0.3% จากเดือน ก.ค. ที่อยู่ที่ 0.4%
นอกจากนี้ ธปท.มองว่า การที่แต่ละประเทศในโลกมีการฟื้นตัวที่แตกต่างกัน อาจส่งผลกระทบต่อกระแสเงินทุนเคลื่อนย้ายที่อ่อนไหวต่อข่าวสารของแต่ละประเทศที่ออกมา รวมทั้งต้องระมัดระวังความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนด้วย แต่เท่าที่ ธปท.ติดตามสถานการณ์ค่าเงินบาทนั้นยังมีเสถียรภาพ ซึ่งยืนยันว่าจะติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด และมีเครื่องไม้ เครื่องมือที่เหมาะสมในการดูแล เพื่อรองรับความผันผวนที่จะเกิดขึ้นด้วย
“มันเป็นธรรมชาติของโลกที่เศรษฐกิจมีระดับการฟื้นตัวแตกต่างกัน เพราะสหรัฐก็มีจุดอ่อนคือภาคครัวเรือน ปัญหาการว่างงาน แต่จุดอ่อนของยุโรปคือการปฏิรูปเศรษฐกิจไม่ได้เกิดจากภาคครัวเรือน ขณะที่จีนก็ต้องการที่จะชะลอความร้อนแรงของเศรษฐกิจจากที่เติบโต 7.7% ให้เหลือ 7.5%”นายจิรเทพ กล่าว
นายจิรเทพ กล่าวต่อว่า ธปท.ยังคงคาดการณ์ว่า ปีนี้ไทยจะเกินดุลบัญชีเดินสะพัดอย่างแน่นอน แต่หากประเทศจะขาดดุลบัญชีเดินสะพัด ที่เกิดจากการลงทุน ถือว่าเป็นสิ่งที่ดีต่อประเทศ เนื่องจากเป็นการเพิ่มศักยภาพของเศรษฐกิจ แต่หากการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดนั้น มาจากการนำเข้าน้ำมันเพิ่มขึ้น คงจะต้องมาติดตามว่าในประเทศมีการประหยัดพลังงานน้อยเกินไปหรือไม่
“หากขาดดุลบัญชีเดินสะพัดจากการลงทุนเชื่อว่าไม่น่าห่วง แต่สถานการณ์ตอนนี้ที่เราคาดการณ์ไว้ คือ ปีนี้ยังคงเกินดุลบัญชีเดินสะพัดอยู่ แต่อย่างที่ผู้ว่าการ ธปท.เคยระบุไว้ว่า ไม่อยากให้ใจร้อน หรือต้องการให้เศรษฐกิจฟื้นแบบฮวบฮาบ อยากให้ค่อยเป็นค่อยไปมากกว่า”นายจิรเทพ กล่าว
ส่วนกรณีที่ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) อนุญาตให้ธนาคารพาณิชย์ ออกและเสนอขายตราสารทางการเงินที่สามารถนำมาคำนวณเป็นเงินกองทุนชั้นที่ 2 ตามแนวทางของ Basel III นั้น ขณะนี้มีธนาคารพาณิชย์ 5 แห่งสนใจที่จะออกตราสารทางการเงินดังกล่าวแล้ว
โดยตราสารประเภทนี้ซับซ้อนและมีความเสี่ยงแตกต่างจากตราสารหนี้ทั่วไป เนื่องจากผู้ถือตราสารจะถูกบังคับให้แปลงสภาพตราสารเป็นหุ้นสามัญของธนาคารในภาวะที่ธนาคารมีปัญหาทางการเงิน ดังนั้น ก.ล.ต.จึงกำหนดราคาแปลงสภาพขั้นต่ำที่เป็นมาตรฐานเดียวกัน
ทั้งนี้ การออกตราสารทางการเงินดังกล่าว เชื่อว่า จะช่วยส่งเสริมให้สถาบันการเงินมีทุนที่เข้มแข็งมากยิ่งขึ้น เพื่อกันสำรองไว้กรณีที่ประสบปัญหาการดำเนินงาน นอกจากนี้ การออกดังกล่าวยังสามารถออกได้ทั้งสกุลเงินบาท และสกุลเงินตราต่างประเทศ แต่หากออกเป็นสกุลเงินบาทนั้นจะมีข้อจำกัดว่าต้องออกให้กลุ่มที่มีความมั่งคั่งสูงเกิน 50 ล้านบาทขึ้นไป