- Details
- Category: ธปท.
- Published: Saturday, 17 March 2018 19:26
- Hits: 4397
ผู้ว่าธปท. เผยเตรียมเพิ่มเป้า GDP ปี61 สิ้นเดือนนี้ จากเดิมคาดโต 3.9% หลังส่งออก - ท่องเที่ยวโตดี
ผู้ว่าธปท.เผย เตรียมทบทวนประมาณการเศรษฐกิจไทยปีนี้ จากเดิมคาดเติบโต 3.9% หลังเศรษฐกิจโลกดี หนุนส่งออกเพิ่มขึ้น ภาคการท่องเที่ยวเติบโตต่อเนื่อง พร้อมยืนยันเงินบาทแข็งค่าไม่ได้เกิดจากปัจจัยในประเทศ แต่เป็นปัญหาจากสถานการณ์สหรัฐ และธปท.พร้อมเข้าดูแล หากเงินบาทเปลี่ยนแปลงรวดเร็ว
นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ในปลายเดือน มี.ค.นี้ ธปท.จะมีการทบทวนประมาณการเติบโตเศรษฐกิจไทยปีนี้ จากเดิมคาดเติบโต 3.9% เนื่องจากเศรษฐกิจโลกฟื้นตัวที่ดีส่งผลดีต่อการส่งออกของประเทศ และที่นักท่องเที่ยวต่างประเทศเดินทางมาท่องเที่ยวในไทยมากขึ้น ทำใหตัวเลขภาพรวมเศรษฐกิจดีขึ้น แต่ยอมรับว่าเศรษฐกิจในภาคชนบทยังไม่ดี เนื่องจากยังมีภาระหนี้ระดับสูง
'เศรษฐกิจไทย เป็นเศรษฐกิจแบบเปิด ซึ่งจะขึ้นอยู่กับเศรษฐกิจโลกค่อนข้างมาก ซึ่งปีนี้ เศรษฐกิจโลกมีการฟื้นตัวที่ดี เช่นสหรัฐ ยุโรป ญี่ปุ่น ฟื้นตัวที่ดี ซึ่งมีผลดีต่อการส่งออกของไทยมากขึ้น และยังส่งผลดีต่อภาคการท่องเที่ยวโต ทำให้ภาพรวมเศรษฐกิจเติบโตดี ซึ่งธปท.จะมีการทบทวนทุกไตรมาส จากเดือน ธ.ค.ที่ผ่านมา มองเศรษฐกิจปีนี้โต3.9% 'นายวิรไท กล่าว
ส่วนเงินบาทที่แข็งค่า ไม่ได้เกิดจากปัญหาภายในประเทศ แต่เกิดจากค่าเงินดอลลาร์ที่อ่อนค่าจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของนายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐ ไม่เป็นไปตามที่คาดหวังไว้ โดยธปท.จะเข้าไปดูแลค่าเงินบาท ต่อเมื่อค่าเงินมีการเปลี่ยนแปลงเร็วเกินไป จนผู้ประกอบการปรับตัวไม่ทัน อย่างไรก็ตามค่าเงินยังมีแนวโน้มผันผวน ซึ่งผู้ประกอบการต้องมีการบริหารความเสี่ยงที่ดี
ด้านสถานะสถาบันการเงินไทยปัจจุบันถือว่ามีความแข็งแกร่งมาก เป็นที่น่าพอใจ เพราะมีระดับเงินกองทุนที่สูง มีความสามารถทำกำไรที่ดี แม้สินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) จะปรับตัวเพิ่มขึ้นบ้าง ดังนั้น จึงไม่มีเรื่องน่าตกใจ หาก ธปท.มีการออกมาตรการเพื่อดูแลธนาคารพาณิชย์เพิ่มเติม เพราะไม่ได้เกิดจากธนาคารพาณิชย์มีปัญหา แต่เป็นการเตรียมการเพื่อดูแลเสถียรภาพในอนาคตเท่านั้น
สำนักข่าวอีไฟแนนซ์ไทย
ผู้ว่า ธปท.เผยบาทแข็งค่าสอดคล้องทุกสกุลจากความกังวลปัจจัยสหรัฐกดดันดอลลาร์อ่อนค่า
นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า สถานการณ์ค่าเงินบาทที่แข็งค่าในระยะนี้เกิดขึ้นกับทุกสกุล สาเหตุหลักมาจากเงินดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าเป็นสำคัญ ทั้งจากปัจจัยการปลด รมว.ต่างประเทศของสหรัฐ และนโยบายกีดกันทางการค้า ซึ่งไม่ส่งผลดีต่อเศรษฐกิจสหรัฐฯ
จะเห็นได้ว่าตั้งแต่ปลายปี 2559 ที่มีการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐ นักลงทุนคาดว่าสหรัฐจะมีมาตรการยาแรง ทำให้ค่าเงินดอลลาร์แข็งขึ้นเร็ว แต่เมื่อเวลาผ่านไปไม่สามารถทำนโยบายได้อย่างที่คาด แม้สหรัฐจะเศรษฐกิจดี มีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย แต่ความมั่นใจของนักลงทุนและมุมมองตลาดก็เปลี่ยนไป ขณะที่การฟื้นตัวเศรษฐกิจเอเชีย ยุโรป มีความชัดเจนเงินที่คาดว่าจะลงทุนในสหรัฐก็กระจายไปยังภูมิภาคอื่นมากขึ้น
"มีความเข้าใจคลาดเคลื่อน ว่า ธปท.ไม่ทำอะไรกับเงินร้อน โดยข้อเท็จจริงที่ผ่านมา มีเงินทุนไหลเข้าทั้งหุ้น และพันธบัตรกว่า 6,000 ล้านเหรียญสหรัฐ มีการเกินดุลบัญชีเดินสะพัด 4.9 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็น 10% ของ GDO ส่งผลให้ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้น แต่ ธปท.ไม่ต้องการกำหนดให้ค่าเงินอยู่ในระดับใด ที่ทำคืออาจจะช่วยเข้าไปชะลอไม่ให้ค่าเงินเคลื่อนไหวเร็วเกินไป เพราะความผันผวนจะยังคงมีสูงขึ้นเรื่อยๆ ภาคเอกชนอย่าชะล่าใจว่าจะมีใครมาดูแล การบริหารความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนจึงมีความจำเป็น" นายวิรไท กล่าว
ผู้ว่า ธปท. ระบุว่า ธปท.อยู่ระหว่างแก้ไข ร่างพ.ร.บ.ธนาคารแห่งประเทศไทย พ.ศ.2485 ซึ่งในปีที่ผ่านมา ได้ผ่านความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) เรียบร้อยแล้ว ขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ในวาระที่ 1 โดยสาระสำคัญเพื่อต่ออายุกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน และเพิ่มกลไกอำนาจให้เข้าไปแก้ไขปัญหาวิกฤติสถาบันการเงินให้ครบถ้วนรอบด้านมากขึ้น ในกรณีที่สถาบันการเงินมีปัญหาวิกฤติจะต้องไม่ตกเป็นภาระของภาครัฐอย่างที่ผ่านมา คนที่รับภาระจะต้องเป็นผู้ที่ได้ประโยชน์จากสถาบันการเงิน ซึ่งบริหารโดยกองทุนฟื้นฟูเป็นกลไกสำคัญในการแก้ไขปัญหา
ทั้งนี้ การแก้ไขกฎหมายได้มีการสำรวจความเห็นจากสถาบันการเงินในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา พิจารณาว่าการดำเนินการของธนาคารใดที่ยังเป็นช่องโหว่และไม่เท่าทันโลก ต้องมีการปรับปรุงแก้ไข โดยศึกษากรณีวิกฤติสถาบันการเงินในช่วงปี 2008-2009 เพื่อให้มีกลไกควบคุมและเครื่องมือดูแลที่รอบด้านมากขึ้น
"ยืนยันว่า การแก้ไขกฎหมาย ไม่ได้หมายความว่ามีสถาบันการเงินเจอปัญหาวิกฤติ ธปท.หวังว่าจะไม่ต้องใช้ แต่ต้องเตรียมพร้อมไว้สำหรับอนาคต ซึ่งหลายประเทศก็ดำเนินการในลักษณะเดียวกัน" ผู้ว่าฯ ธปท.กล่าว
อินโฟเควสท์