- Details
- Category: แบงก์พาณิชย์
- Published: Wednesday, 13 December 2017 17:01
- Hits: 6031
ออมสิน พร้อมเป็นแหล่งทุนเปิดทางสร้างอาชีพเพื่อผู้มีรายได้น้อย สินเชื่อธุรกิจแฟรนไชส์ ดอกเบี้ย 0%
ณ ห้องบุรฉัตรไชยากร สำนักงานปลัดกระทรวงพาณิชย์ กระทรวงพาณิชย์ ธนาคารออมสินได้เข้าร่วมงานสัมมนาสร้างอาชีพด้วยแฟรนไชส์ ในโครงการแฟรนไชส์สร้างอาชีพเพื่อผู้มีรายได้น้อย ซึ่งจัดขึ้นโดยกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ เพื่อให้ผู้สนใจเข้าร่วมงานและรับฟังความรู้เกี่ยวกับการทำธุรกิจด้วยแฟรนไชส์ ซึ่งจะมีส่วนผลักดันให้ผู้มีรายได้น้อยมีอาชีพเป็นของตนเอง มีกิจการทีมั่นคง และดำรงชีพได้อย่างยั่งยืน โดยไม่ต้องพึ่งพาสวัสดิการรัฐ
นายชาติชาย พยุหนาวีชัย ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน เปิดเผยว่า ธนาคารออมสิน ร่วมกับกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ ดำเนินโครงการแฟรนไชส์สร้างอาชีพเพื่อผู้มีรายได้น้อย โดยนำธุรกิจในระบบแฟรนไชส์ที่ผ่านเกณฑ์มาตรฐานของ กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ มาสร้างอาชีพให้แก่ผู้มีรายได้น้อยเพื่อส่งเสริมและยกระดับให้มีอาชีพและรายได้อย่างยั่งยืน ซึ่งจะเป็นส่วนสำคัญในการสร้างเศรษฐกิจฐานรากให้เข้มแข็งตามนโยบายของรัฐบาล โดยธนาคารออมสิน ได้สนับสนุนการให้เงินทุนพร้อมกับการให้ความรู้ทางการเงิน ด้วย ‘สินเชื่อธุรกิจแฟรนไชส์’วงเงินสินเชื่อต่อรายสูงสุดไม่เกิน 1 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ยปีแรก 0% ต่อเดือน ปีต่อไปคิดอัตราดอกเบี้ย 0.50 – 1.00% ต่อเดือน (Flat Rate) ตามประเภทหลักประกัน สามารถใช้บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) /หลักประกันทางธุรกิจ /หลักประกันที่เป็นอสังหาริมทรัพย์ค้ำประกันสินเชื่อได้ ระยะเวลาชำระคืนเงินกู้ไม่เกิน 7 ปี โดยสมัครใช้บริการสินเชื่อภายในเดือนมิถุนายน 2561
สำหรับ โครงการฝึกอาชีพ ธนาคารออมสินได้ดำเนินการผ่านช่องทางต่างๆ มากมาย ล่าสุด ได้เปิดโครงการ’มหาวิทยาลัยประชาชน’ ในการสร้างโอกาส เพิ่มพูนความรู้ และทักษะที่จำเป็นด้านอาชีพ เพิ่มรายได้ และความรอบรู้ในการดำรงชีวิตให้แก่ผู้มีรายได้น้อย และโครงการ ‘ออมสินยุวพัฒน์รักษ์ถิ่น’ ซึ่งร่วมกับสถาบันอุดมศึกษา 16 แห่งทั่วประเทศ นำนักศึกษาลงพื้นที่ศึกษาวิเคราะห์และพัฒนาองค์ความรู้ทางธุรกิจมาประยุกต์ใช้ในการวางแผนและแก้ไขปัญหา ประกอบด้วย จัดการด้านทรัพยากร รูปลักษณ์ผลิตภัณฑ์ และตราสินค้า พัฒนากระบวนการผลิต ทำแผนการเงิน และจัดทำบัญชี การจัดการราคา และความสามารถในการทำกำไร การจัดการการตลาด และการจัดการช่องทางการจัดจำหน่าย ให้แก่กลุ่มผู้ประกอบการ OTOP องค์กรชุมชน/กลุ่มอาชีพในชุมชน ผู้ประกอบการ SMEs ผู้ประกอบการ SME Startup และอื่น ๆ ซึ่งจะสนับสนุนการสร้างอาชีพตามนโยบายรัฐบาลเกิดขึ้นอย่างชัดเจน เพราะประชาชนจะได้พัฒนาอาชีพควบคู่ไปกับการเรียนรู้ตลอดเวลา ซึ่งจะส่งผลให้การค้าขายในอาชีพของตนเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพจากการพัฒนาอยู่อย่างสม่ำเสมอ
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม สามารถติดตามได้ตามสื่อประชาสัมพันธ์ของธนาคารออมสินทุกช่องทาง ได้แก่ Website : www.gsb.or.th, Facebook : GSB Society, Official Line : GSB ธนาคารออมสิน หรือสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมจากเจ้าหน้าที่ธนาคารออมสินทุกสาขาทั่วประเทศ หรือ ศูนย์ลูกค้าสัมพันธ์ธนาคารออมสิน Call Center โทร.1115
บสย. เตรียมวงเงิน 3,500 ล้านบาท หนุน ก.พาณิชย์ ค้ำประกันสินเชื่อแฟรนไชส์สร้างอาชีพ
บสย. เตรียมวงเงิน 3,500 ล้านบาท หนุนกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ ช่วยผู้ประกอบการรายย่อย ค้ำประกันสินเชื่อแฟรนไชส์สร้างอาชีพ ภายใต้ ‘โครงการแฟรนไชส์สร้างอาชีพเพื่อผู้มีรายได้น้อย’
นายเกรียงไกร ไชยศิริวงศ์สุข ผู้อำนวยการฝ่าย ฝ่ายการตลาดและพัฒนาผลิตภัณฑ์ บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) เปิดเผยว่า ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา บสย. ได้ให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs เข้าถึงสินเชื่ออย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะผู้ประกอบการรายย่อย โดยล่าสุด บสย. ได้ให้การสนับสนุน กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ โครงการแฟรนไชส์สร้างอาชีพเพื่อผู้มีรายได้น้อย โดย บสย. ได้เตรียมวงเงินไว้ประมาณ 3,500 ล้านบาท ภายใต้โครงการค้ำประกันสินเชื่อไมโคร (Micro Entrepreneurs ระยะที่ 2) ในการช่วยเหลือผู้ประกอบการ
สำหรับ โครงการแฟรนไชส์สร้างอาชีพเพื่อผู้มีรายได้น้อยเป็นการนำระบบแฟรนไชส์มาสร้างอาชีพให้กับผู้มีรายได้น้อย ซึ่งเป็นวิธีหนึ่งที่มีสามารถลดความเสี่ยงของการลงทุน และส่งเสริมให้ผู้มีรายได้น้อยสามารถสร้างรายได้ด้วยตนเอง อีกทั้งยังช่วยลดความเสี่ยงของผู้มีรายได้น้อยที่ยังไม่เคยประกอบธุรกิจมาก่อน โดยจะมีเจ้าของแฟรนไชส์เป็นพี่เลี้ยงคอยดูแลตลอดระยะเวลาในการดำเนินธุรกิจ ซึ่งจะทำให้ผู้มีรายได้น้อยสามารถเติบโตได้อย่างยั่งยืน
ทั้งนี้ ปัจจุบัน บสย. มีโครงการค้ำประกันสินเชื่อรองรับอยู่ 2 โครงการ คือ 1.โครงการค้ำประกันสินเชื่อไมโคร (Micro Entrepreneurs ระยะที่ 2) ซึ่งยังมีวงเงินค้ำประกันสินเชื่อประมาณ 3,500 ล้านบาท 2.โครงการค้ำประกันสินเชื่อ SMEs ทวีทุน (PGS 6) ปรับปรุงใหม่ ซึ่งยังมีวงเงินเหลือกว่า 50,000 ล้านบาท ซึ่งสามารถรองรับความต้องการสินเชื่อของผู้ขอสินเชื่อและธนาคารที่ปล่อยสินเชื่อที่ร่วมโครงการค้ำประกันสินเชื่อไมโคร
“บสย. ได้ร่วมกับแบงก์รัฐ ทั้งธนาคารออมสินและธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ในการช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อย โดยนำเสนอสินเชื่อพิเศษโดยมี บสย. ค้ำประกัน ซึ่งความร่วมมือดังกล่าวจะช่วยยกระดับให้ผู้มีรายได้น้อยประกอบธุรกิจในระบบแฟรนไชส์เติบโตอย่างยั่งยืน”