- Details
- Category: แบงก์พาณิชย์
- Published: Thursday, 28 August 2014 21:42
- Hits: 2681
ฟิทช์ฯ ชี้ 4 แบงก์ใหญ่ของไทย มีแนวโน้มเติบโตภายในปท.จำกัด มองอนาคตเสี่ยงถูกปรับลดเครดิต หากศก.ชะลดตัวยืดเยื้อกว่าที่คาด
ฟิทช์ เรทติ้ง ประเมินสถานะ 4 แบงก์ใหญ่ไทย ระบะแนวโน้มการเติบโตภายในประเทศเริ่มมีจำกัด หลังส่วนแบ่งการตลาดในธุรกิจสูงมากแล้ว ขณะที่การขยายไปต่างประเทศยังทำแบบค่อยเป็น ค่อยไป เพราะเน้นตอบสนองธุรกิจในประเทศเป็นหลักมากกว่า เตือนอาจมีความเสี่ยงต่อฐานะการเงิน - ปรับลดเรทติ้ง การแข่งขันจากแบงก์ต่างชาติเริ่มมีสูง เศรษฐกิจในประเทศชะลอตัวรุนแรง และยืดเยื้อ รวมทั้งการรองรับความเสี่ยงทางการเงินของแบงก์ไทยทั้งระบบ จะมีมากขึ้นด้วยเช่นกัน
รายงานข่าวจาก ฟิทช์ เรทติ้งส์ ระบุว่า ธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ของไทยได้เพิ่มความสามารถในการรองรับความเสี่ยง (buffer) ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมาทั้งในด้านของฐานะเงินกองทุนและระดับเงินสำรองหนี้สงสัยจะสูญ (reserve coverage) ซึ่งน่าจะช่วยให้ธนาคารสามารถรับมือกับการชะลอตัวทางเศรษฐกิจที่อยู่ในระดับปรกติตามวัฏจักรเศรษฐกิจได้
"อย่างไรก็ตามธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่นั้นมีแนวโน้มการเติบโตภายในประเทศที่ค่อนข้างจำกัดมากขึ้น เนื่องจากธนาคารเหล่านี้มีส่วนแบ่งทางการตลาดในธุรกิจการเงินต่างๆในระดับที่สูงมากแล้ว"
ธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ทั้ง 4 แห่ง คือ ธนาคารกรุงเทพ (BBL), ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB), ธนาคารกสิกรไทย (KBank) และธนาคารกรุงไทย (KTB) ประสบความสำเร็จในการขยายเครือข่ายธุรกิจธนาคารแบบครบวงจร (universal bank franchises) ในช่วงห้าปีที่ผ่านมา ทั้งในด้านธุรกิจการบริหารจัดการกองทุน ธุรกิจนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์ วาณิชธนกิจ และธุรกิจประกันชีวิต นอกจากนั้นธนาคารทั้ง4 แห่งยังคงมีส่วนแบ่งทางการตลาดทั้งด้านสินเชื่อและเงินฝากในระดับสูงอย่างต่อเนื่อง โดยธนาคารพาณิชย์ทั้ง 4 แห่งมีขนาดของสินทรัพย์รวมกันประมาณ 59% ของสินทรัพย์รวมของธนาคารพาณิชย์ทั้งระบบ
ดังนั้น ธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ดังกล่าว น่าจะมีกลยุทธ์ที่มุ่งเน้นในการรักษาส่วนแบ่งทางการตลาดพร้อมกับการบริหารค่าใช้จ่ายและการเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินงาน ขณะที่การขยายธุรกิจในต่างประเทศนั้นนับว่ายังมีโอกาส แต่มองว่าน่าจะเป็นไปอย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยธนาคารเหล่านี้น่าจะมุ่งเน้นไปที่การตอบสนองต่อปริมาณธุรกิจ และการลงทุนในภูมิภาคที่เพิ่มมากขึ้นของบริษัทไทยเป็นหลัก
การแข่งขันจากธนาคารอื่นในภูมิภาคที่เข้ามาดำเนินธุรกิจในภาคการธนาคารของไทยเริ่มมีความรุนแรงมากขึ้นโดยเฉพาะหลังจากมีการซื้อกิจการธนาคารกรุงศรีอยุธยา (ซึ่งเป็นธนาคารพาณิชย์ไทยที่ใหญ่เป็นอันดับ 5) ในช่วงปลายปี 2556 โดยธนาคารแห่งโตเกียว-มิตซูบิชิ ยูเอฟเจ (Bank of Tokyo-Mitsubishi UFJ) แม้ว่าธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ของไทยต่างมีฐานะทางการเงินที่ดีและน่าจะสามารถรับมือกับการชะลอตัวทางเศรษฐกิจในช่วงขาลงได้ แต่ความเสี่ยงต่อฐานะทางการเงินและโอกาสในการถูกปรับลดอันดับเครดิตอาจปรับตัวเพิ่มขึ้น หากภาวะการชะลอตัวของเศรษฐกิจนั้นรุนแรงและยืดเยื้อกว่าที่คาดการณ์
นอกจากนี้ ในรายงาน APAC Banks - Chart of the Month report พบว่าธนาคารพาณิชย์ของไทยมีความสามารถในการรองรับความเสี่ยงเพียงพอที่จะรับมือกับภาวะการชะลอตัวของเศรษฐกิจได้ แต่ธนาคารเหล่านี้จะเผชิญกับความเสี่ยงมากขึ้นหากการชะลอตัวของเศรษฐกิจนั้นรุนแรงและยืดเยื้อกว่าที่คาดการณ์
การเติบโตของสินเชื่อได้ชะลอตัวลงในปีที่ผ่านมา ในขณะที่ฐานะเงินกองทุนอยู่ในระดับที่ยอมรับได้และสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPLs) นั้นยังคงทรงตัว อย่างไรก็ตามระดับสินเชื่อภาคเอกชน (private-sector) และสินเชื่อภาคครัวเรือนยังคงอยู่ในระดับสูง (ที่ 154% และ 83% ของ GDP ตามสำดับ) ซึ่งอาจทำให้ความเสี่ยงในด้านคุณภาพสินทรัพย์ปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วงภาวะเศรษฐกิจถดถอย
ฟิทช์คาดว่า การเติบโตของสินเชื่อจะปรับตัวดีขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี 2557 เนื่องจากสภาพแวดล้อมทางธุรกิจเริ่มทรงตัวและมีการลงทุนเพิ่มขึ้นจากเม็ดเงินลงทุนที่ยังค้างสะสม อย่างไรก็ตามการเติบโตของสินเชื่ออาจส่งผลให้การแข่งขันในด้านเงินฝากในกลุ่มธนาคารพาณิชย์ปรับตัวเพิ่มขึ้นในอนาคต โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาวะที่สภาพคล่องเริ่มมีการตึงตัวมากขึ้นแล้วในปัจจุบัน