- Details
- Category: แบงก์พาณิชย์
- Published: Friday, 24 November 2017 23:41
- Hits: 18214
ธ.ก.ส. ร่วมมือภาครัฐบรรเทาอุทกภัยเพชรบุรี เร่งมอบถุงยังชีพ - สินเชื่อใช้จ่ายฉุกเฉินครัวเรือนละ 5 หมื่นบาท
ธ.ก.ส. เร่งสำรวจพื้นที่การเกษตรที่ได้รับผลกระทบจากพายุคีโรกี ระดมพนักงานร่วมกับฝ่ายปกครองท้องถิ่น จ.เพชรบุรี มอบถุงยังชีพบรรเทาทุกข์ พร้อมเตรียมวงเงินฉุกเฉินครัวเรือนละ 5 หมื่นบาท ปลอดดอกเบี้ย 6 เดือน แนะชาวนานอกพื้นที่ประกาศภัยพิบัติถ่ายภาพความเสียหายแจ้งที่ ธ.ก.ส. ขอเคลมสินไหมประกันภัยข้าวนาปี
นายอภิรมย์ สุขประเสริฐ ผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เปิดเผยว่า จากอิทธิพลของพายุดีเปรชชั่นคีโรกีได้ส่งผลกระทบต่อพื้นที่ทางการเกษตรในจังหวัดเพชรบุรีและใกล้เคียง โดยข้อมูลเบื้องต้นที่ได้รับรายงานจากเกษตรจังหวัดและเจ้าหน้าที่ ธ.ก.ส. ทั้ง 8 สาขาในจังหวัดเพชรบุรีที่ร่วมลงพื้นที่สำรวจพบว่า มีเกษตรกรได้รับผลกระทบจำนวน 10,179 ราย พื้นที่ได้รับความเสียหายกว่า 114,752 ไร่ แบ่งเป็นนาข้าว 94,619 ไร่ พืชยืนต้น ผลไม้และผัก 19,833 ไร่ และพืชไร่อื่นๆ 300 ไร่ โดยเฉพาะนาข้าวที่อยู่ระหว่างรอการเก็บเกี่ยวผลผลิตได้รับความเสียหายเกือบทั้งหมด มีเพียงบางส่วนที่สามารถเกี่ยวข้าวขึ้นมาได้แต่ก็ขายได้ราคาต่ำเนื่องจากผลผลิตข้าวเปลือกที่ได้มีความชื้นสูง
ทั้งนี้ มอบหมายให้สำนักงาน ธ.ก.ส. จังหวัดเพชรบุรีและสาขาทั้ง 8 แห่งในพื้นที่ ประสานงานกับส่วนราชการและหน่วยงานปกครองส่วนท้องถิ่นร่วมลงพื้นที่มอบถุงยังชีพ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนในระยะเร่งด่วน ไปแล้วกว่า 4,900 ชุด และหากเกษตรกรลูกค้า ธ.ก.ส. มีความต้องการเงินเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายจำเป็นฉุกเฉินในการดำรงชีพ สามารถติดต่อขอสินเชื่อได้ที่ ธ.ก.ส. สาขาใกล้บ้าน ในวงเงินครัวเรือนละ 50,000 บาท ปลอดดอกเบี้ยระยะ 6 เดือน หลังจากนั้นคิดในอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลูกค้ารายย่อยชั้นดี MRR ปัจจุบันอยู่ที่ร้อยละ 7 ต่อปี วงเงินรวม 10,000 ล้านบาท ในปัจจุบัน ธ.ก.ส. ได้จ่ายสินเชื่อฉุกเฉินให้เกษตรกรลูกค้าทั่วประเทศไปแล้วจำนวน 33,432 ราย วงเงิน 1,494 ล้านบาท และเมื่อสถานการณ์คลี่คลายลง ธ.ก.ส.จะเร่งสรุปความเสียที่เกิดขึ้นเพื่อหามาตรการช่วยเหลือในระยะต่อไป
นายอภิรมย์กล่าวต่อไปว่า สำหรับพื้นที่นาข้าวที่อยู่ระหว่างรอการเก็บเกี่ยวผลผลิตในจังหวัดอื่นที่เข้าร่วมโครงการประกันภัยข้าวนาปี ปีการผลิต 2560 จะได้รับค่าสินไหมทดแทนในอัตราสูงสุด 1,260 บาทต่อไร่ มีพื้นที่การเกษตรที่ประกาศเป็นพื้นที่ประสบภัยพิบัติ ได้สำรวจความเสียหายและทำประชาคมแล้ว 3.9 ล้านไร่ เป็นที่พื้นที่ร่วมโครงการประกันภัยข้าวนาปี 1.3 ล้านไร่ ณ วันที่ 24 พฤศจิกายน 2560 ได้จ่ายค่าสินไหมแล้ว 462,000 ไร่ วงเงิน 582 ล้านบาท
"เกษตรกรที่ร่วมโครงการประกันภัยข้าวนาปีและได้รับความเสียหายแต่อยู่นอกเขตประกาศภัยพิบัติ ขอให้ถ่ายรูปความเสียหายของพื้นที่การเกษตร หรือนำหนังสือรับรองความเสียหายจากกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ไปแจ้งกับพนักงาน ธ.ก.ส. ในพื้นที่ เพื่อรวบรวมหลักฐาน/เอกสาร ก่อนประสานไปยังคณะกรรมการฯ ตรวจประเมินความเสียหายให้พิจารณาจ่ายค่าสินไหมทดแทนโดยเร็ว ทั้งนี้ในส่วนของเกษตรกรลูกค้าที่มีภาระหนี้สินอยู่กับ ธ.ก.ส. อย่ากังวล เพราะ ธ.ก.ส.รวมทั้งพนักงานในพื้นที่ เข้าใจถึงปัญหาความเดือดร้อนดังกล่าวและพร้อมที่จะนำมาตรการต่าง ๆ เข้าไปดูแลและช่วยเหลืออย่างเต็มที่" นายอภิรมย์กล่าว