- Details
- Category: แบงก์พาณิชย์
- Published: Thursday, 15 May 2014 09:19
- Hits: 3573
ธพว.เดินหน้าล้างหนี้เน่าอานิสงส์คลังไฟเขียวเพิ่มทุนให้อีก 1 พันล้านสิ้น พ.ค.
บ้านเมือง : น.ส.ปาริฉัตร เหล่าธีระศิริวงศ์ รักษาการกรรมการผู้จัดการ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (เอสเอ็มอีแบงก์) เปิดเผยว่า กระทรวงการคลังเตรียมเพิ่มทุน 1 พันล้านบาท ให้กับ ธพว. สิ้นเดือนพฤษภาคมนี้ จากก่อนหน้านี้ได้รับการพิจารณาเพิ่มทุนแล้ว 2 พันล้านบาท ส่งผลให้อัตราส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง (BIS) ในช่วงไตรมาสแรกปีนี้รวมกำไรอยู่ที่ 6.9% หากนับรวมบัญชี PSA ที่กระทรวงการคลัง ไม่ต้องนับเป็นสินทรัพย์อีก 1 พันล้านบาท จะทำให้ BIS เพิ่มขึ้นอยู่ที่ 9%
ขณะเดียวกันในปีนี้เดินหน้าแก้ไขปัญหาหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) จากปีที่ผ่านมาอยู่ที่ 3.2 หมื่นล้านบาท ให้เหลือ 2.5 หมื่นล้านบาท โดยรอคณะกรรมการธนาคาร (บอร์ด) พิจารณาการตัดหนี้สูญของธนาคารเป็นครั้งแรก ซึ่งเป็นหนี้ที่ค้างมานานกว่า 10 ปี ที่ในขณะนั้นยังเป็นบรรษัทสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บอย.) จำนวน 2 พันล้านบาทก่อน รวมถึงการจะขายหนี้ให้กับบริษัทบริหารสินทรัพย์สุขุมวิท (บสส.) อีก 3 พันล้านบาทด้วย
พร้อมกันนี้ จะใช้การพิจารณาเกณฑ์ปรับชั้นลูกหนี้ใหม่เข้าเกณฑ์ของ ธปท. และต้องไม่มีการบังคับคดีโดยจะผ่อนปรนให้กับลูกหนี้ชำระหนี้ตามความสามารถ แต่จะมีลูกหนี้ที่ธนาคารยังไม่สามารถปรับชั้นหนี้ได้ แม้ว่าจะเป็นลูกหนี้ที่ชำระได้จริงในปีนี้แต่คาดว่าปีต่อไปอาจทำให้เป็นหนี้ตกชั้นได้อีกประมาณ 2 พันล้านบาท
สำหรับ ผลประกอบการไตรมาสแรกปีนี้ ธนาคารมียอดของสินเชื่อภาพรวมเพียง 2.5 พันล้านบาท ต่ำกว่าเป้าหมาย 50% เนื่องจากผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ยังมีความกังวลต่อสถานการณ์ทางการเมืองจึงไม่กล้าลงทุน ในขณะเดียวกันธนาคารยังระมัดระวังในการปล่อยสินเชื่อ และการปล่อยสินเชื่อทั้งระบบของสถาบันการเงินปีนี้จะหายไปถึง 50% ดังนั้น ธนาคารจะต้องรอดูสถานการณ์ว่าเศรษฐกิจจะมีทิศทางอย่างไร คาดว่าในช่วงไตรมาส 2 นี้ จะปรับลดเป้าหมายการปล่อยสินเชื่อ คาดว่าปีนี้การขอสินเชื่อของธนาคารจะทำได้เพียง 2 หมื่นล้านบาท จากเดิมคาดว่าอยู่ที่ 2.7 หมื่นล้านบาท จะทำให้ยอดสินเชื่อปรับลดลงมาอยู่ที่ 9.5 หมื่นล้านบาท ไม่ถึง 1 แสนล้านบาทตามเป้าหมายเดิม ขณะที่การปล่อยสินเชื่อใหม่จะตั้งเป้าไว้ที่ 5% หรือประมาณ 5 พันล้านบาท จากปี 2556 ธนาคารมียอดปล่อยสินเชื่อรวมทั้งสิ้น 9.3 หมื่นล้านบาท
ทั้งนี้ ล่าสุด ธนาคารจะพิจารณาการปล่อยสินเชื่อตามโครงการสินเชื่อเพื่อสนับสนุนผู้ประกอบการตามแผนยุทธศาสตร์ของกระทรวงอุตสาหกรรม ตั้งเป้าจะมียอดการขอสินเชื่อใหม่จำนวน 8 พันล้านบาท คาดว่าจะช่วยผู้ประกอบการเอสเอ็มอีเพิ่มขีดความสามารถในด้านการแข่งขัน
อย่างไรก็ตาม โดยหลักเกณฑ์ในการพิจารณาการให้สินเชื่อจากเดิมที่จะใช้หลักทรัพย์ในการค้ำประกัน แต่ในโครงการนี้จะมีเรื่องการพิจารณาความมุ่งมั่นในการประกอบธุรกิจของผู้ประกอบการ รวมถึงลิขสิทธิ์ทางปัญญาเข้ามาพิจารณาในการขอสินเชื่อให้กับผู้ประกอบการเอสเอ็มอีด้วย ซึ่งทางบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) จะเป็นผู้ค้ำประกันให้กับผู้ประกอบการที่มีศักยภาพแต่ขาดหลักประกัน
นายวิฑูรย์ สิมะโชคดี ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ในฐานะประธานกรรมการบริหารธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) หรือเอสเอ็มอีแบงก์ เปิดเผยในพิธีลงนามความร่วมมือและการประชุมเชิงปฏิบัติการ โครงการสินเชื่อเพื่อการสนับสนุนผู้ประกอบการตามแผนยุทธศาสตร์กระทรวงอุตสาหกรรม ว่าหน่วยงานภายใต้กระทรวงอุตสาหกรรม 20 แห่ง ร่วมกับเอสเอ็มอีแบงก์ และบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) บูรณาการช่วยเหลือผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ที่กำลังประสบปัญหาจากภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว เป้าหมายโครงการสินเชื่อเพื่อการสนับสนุนผู้ประกอบการตามแผนยุทธศาสตร์อุตสาหกรรม จะกำหนดวงเงินสินเชื่อ 8,000 ล้านบาท ในอัตราดอกเบี้ยพิเศษ
นโยบายในการปล่อยสินเชื่อครั้งนี้ ต้องดูปัจจัยในการพิจารณาเพิ่มเติม จากความสามารถในการชำระหนี้ หลักทรัพย์ค้ำประกัน แต่ให้ดูจากปัจจัยด้านคุณภาพเป็นหลักด้วย เช่น คุณภาพสินค้า ทรัพย์สินทางปัญญา กระบวนการผลิต และการประกอบธุรกิจที่คำนึงถึงผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม หรือกรีนอินดัสทรี ซึ่งกระทรวงฯ พยายามผลักดัน เพราะมีความสำคัญต่อการประกอบธุรกิจ เป็นการดูแลชุมชนและสิ่งแวดล้อม นอกจากเน้นเพียงผลกำไร ขณะเดียวกันยังเป็นเครื่องมือดึงให้อุตสาหกรรมขนาดเล็กสนใจลงทุนด้านสิ่งแวดล้อมมากขึ้น
"วงเงินสินเชื่อ 8,000 ล้านบาท เอสเอ็มอีแบงก์จะพิจารณาจากโรงงานของเอสเอ็มอีที่มีคุณภาพ มีแนวทางบริหารให้ความสำคัญต่อระบบกรีน" นายวิฑูรย์ กล่าว