WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

3 เดือนสรุปความเสียหายเอสเอ็มอีแบงก์ ก่อนชี้ชะตาจับควบรวมออมสิน

   แนวหน้า : นายกุลิศ สมบัติศิริ ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ(สคร.) เปิดเผยว่า ทางกระทรวงการคลังได้หารือกับนางสาลินี วังตาล ประธานคณะกรรมการ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย(ธพว.) หรือเอสเอ็มอีแบงก์ อย่างใกล้ชิด โดยนางสาลินี ทราบดีว่าจะดำเนินการแก้ไขปัญหาอย่างไรให้เป็นขั้นเป็นตอน ซึ่งต้องเริ่มจากการตรวจสอบทรัพย์สินของธนาคารให้ชัดเจนเสียก่อนว่ามีความเสียหายมากน้อยขนาดไหน คาดว่าจะแล้วเสร็จภายใน 3 เดือน จากนั้นต้องมาพิจารณาว่าจะแก้ปัญหาด้วยการควบรวมกับธนาคารออมสินหรือไม่

   ที่ผ่านมากระทรวงการคลังมีแนวคิดควบรวม เอสเอ็มอีแบงก์ กับธนาคารออมสินจริง เนื่องจากเอสเอ็มอีแบงก์มีปัญหาหนี้เสียจำนวนมาก จนทำให้ขาดสภาพคล่อง ส่งผลให้เป็นภาระกับเงินงบประมาณของรัฐบาลที่นำเข้าไปเพิ่มทุน แต่ที่ผ่านมาฝ่ายการเมืองไม่เห็นด้วย โดยการแก้ปัญหาของเอสเอ็มอีแบงก์ในปัจจุบันคาดว่าจะหนีไม่พ้นที่จะต้องเดินตามแนวทางดังกล่าว แม้ว่าวันนี้ยังไม่ไปถึงจุดนั้น

  นายกุลิศ กล่าวว่า ในส่วนของธนาคารออมสินมีความพร้อมที่จะควบรวมเอสเอ็มอีแบงก์ เนื่องจากนายสมชัย สัจจพงษ์ อธิบดีกรมศุลกากร ในฐานะประธานคณะกรรมการธนาคารออมสิน เคยนั่งเป็นประธานคณะกรรมการเอสเอ็มอีแบงก์จึงทราบปัญหาดี และสมัยที่เป็นผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ก็เคยคิดควบรวมเอสเอ็มอีแบงก์กับธนาคารออมสินตามข้อเสนอของธนาคารโลก

   ก่อนหน้านี้ นายสมชัย ออกมาระบุว่า หากมีนโยบายให้ควบรวมเอสเอ็มอีแบงก์กับธนาคารออมสิน ทางธนาคารพร้อมที่จะดำเนินการ แต่การควบรวมต้องเป็นไปอย่างละเอียดรอบคอบและไม่เกิดผลกระทบในภายหลัง

   แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลัง กล่าวว่า ผลการตรวจสอบทรัพย์สินของเอสเอ็มอีแบงก์ คาดว่าจะมีหนี้เสียเกิน 50% ของหนี้ทั้งหมด เนื่องจากที่ผ่านมาเอสเอ็มอีแบงก์เคยมีหนี้เสียสูงถึง 3.9 หมื่นล้านบาท หรือ 40% ของหนี้ทั้งหมด และที่ผ่านมาหนี้เสียดังกล่าวไม่ได้รับการแก้ไขอย่างจริงจัง รวมถึงไม่มีการปล่อยสินเชื่อใหม่ เพราะธนาคารไม่มีสภาพคล่อง ทำให้หนี้เสียของเอสเอ็มอีแบงก์จะเพิ่มสูงขึ้น

   นอกจากนี้ ในช่วง 1-2 ปี ที่ผ่านมาเอสเอ็มอีแบงก์ปล่อยสินเชื่อเพื่อช่วยผู้ประกอบการเอสเอ็มอีจริงๆยังมีน้อยมาก ส่วนใหญ่เป็นการปล่อยกู้ให้กับนักการเมืองและคนใกล้ชิดนักการเมือง ทำให้เกิดหนี้เสียเป็นจำนวนมาก รวมถึงมีการทุจริตจากการปล่อยกู้ ทำให้ธนาคารยากที่จะดำเนินการต่อไปได้ ทำให้กระทรวงการคลังต้องคิดที่จะควบรวมเข้ากับธนาคารออมสิน

   แหล่งข่าวกล่าวว่า การแต่งตั้งคณะรัฐมนตรี หาก ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล มานั่งเป็น รมว.คลังคาดว่าจะทำให้การควบรวมเอสเอ็มอีแบงก์กับธนาคารออมสินเร็วขึ้น เนื่องจากม.ร.ว.ปรีดิยาธร เคยให้ความเห็นว่า เอสเอ็มอีแบงก์ไม่ควรมีอยู่ เพราะมีหนี้เสียมากเกินไป

คลังจ่อควบรวม SME แบงก์ ขีดเส้น 3 เดือนตรวจทรัพย์สิน

   ไทยโพสต์ : พระรามหก * คลังให้โอกาสเอสเอ็มอีแบงก์ทำข้อมูลตรวจสอบทรัพย์สิน 3 เดือน ก่อนลงดาบควบรวมกิจการกับออมสิน

    นายกุลิศ สมบัติศิริ ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) เปิดเผยว่า ที่ผ่านมากระทรวงการคลังเคยมี แนวคิดควบรวมกิจการธนาคารพัฒ นาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (เอสเอ็มอีแบงก์) กับธนาคารออมสิน เนื่องจากมีปัญหาหนี้เสียจำนวนมาก ขาดสภาพคล่อง ทำให้เป็นภาระกับงบประมาณที่ต้องใช้เข้าไปเพิ่มทุนหลายครั้ง แต่ฝ่ายการเมืองที่ผ่านมาไม่เห็นด้วย ซึ่งการแก้ปัญหาของเอสเอ็มอีแบงก์ปัจจุบันคาดว่าจะหนีไม่พ้นที่จะต้องเดินตามแนวทางดังกล่าว แม้ว่าวันนี้ยังไม่ไปถึงจุดนั้นก็ตาม

   ขณะนี้ นางสาลินี วังตาล ประธานเอสเอ็มอีแบงก์ ยืนยันว่าได้หารือกับกระทรวงการคลังอย่างใกล้ชิด และทราบดีว่าจะดำเนินการแก้ไขปัญหาอย่างไรให้เป็นขั้นเป็นตอน ซึ่งต้องเริ่มจากการตรวจสอบทรัพย์สินของธนาคารให้ชัดเจนเสียก่อนว่ามีความเสียหายมากน้อยขนาดไหน คาดว่าจะแล้วเสร็จภายใน 3 เดือน หลังจากนั้นก็ต้องมาพิจารณาจะแก้ปัญหาด้วยการควบรวมหรือไม่

   นายกุลิศ กล่าวอีกว่า ในส่วนของธนาคารออมสินมีความพร้อมที่จะควบรวมกับเอสเอ็มอีแบงก์ เพราะนายสมชัย สัจจพงษ์ อธิบดีกรมศุลกากร ในฐานะประธานธนาคารออมสิน เคยนั่งเป็นประธานเอสเอ็มอีแบงก์มาก่อนจึงทราบปัญหาต่างๆ ดี

   แหล่งข่าวกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ผลการตรวจสอบทรัพย์ สินของเอสเอ็มอีแบงก์คาดว่าจะมีหนี้เสียเกิน 50% ของหนี้ทั้งหมด เนื่องจากที่ผ่านมาเอสเอ็มอีแบงก์มีหนี้เสียถึง 3.9 หมื่นล้านบาท หรือ 40% ของหนี้ทั้งหมด และที่ผ่านมาหนี้เสียดังกล่าวไม่ได้รับการแก้ไขอย่างจริงจัง และไม่มีการปล่อยสินเชื่อใหม่ เพราะธนาคารไม่มีสภาพคล่อง ทำให้นี้เสียของเอสเอ็มอีแบงก์จะเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!