- Details
- Category: แบงก์พาณิชย์
- Published: Wednesday, 04 October 2017 18:50
- Hits: 7042
ธ.ก.ส.สรุปยอดผลการดำเนินงานการแจกบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ
ธ.ก.ส.เผยยอดแจกบัตรสวัสดิการแห่งรัฐสัปดาห์แรกคืบหน้ากว่า 60% มีทั้งดำเนินการส่งมอบที่ ธ.ก.ส.สาขาและลงพื้นที่แจกถึงหมู่บ้าน พร้อมเน้นให้คำแนะนำเกี่ยวกับวิธีการใช้บัตรและสิทธิประโยชน์ต่างๆ สำหรับผู้ที่ยังไม่ได้รับบัตร สามารถยกยอดวงเงินไปใช้ได้ถึงเดือนพฤศจิกายน ต่อไป
นายอภิรมย์ สุขประเสริฐ ผู้จัดการธนาคารเพื่อเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เปิดเผยว่า จากการลงทะเบียนโครงการสวัสดิการรัฐ ปี 2560 ทั้งหมด 14.1 ล้านราย ลงทะเบียนผ่านธ.ก.ส. 7.7 ล้านราย และผ่านการตรวจสอบคุณสมบัติทั้งสิ้น 6.17 ล้านราย ซึ่ง ธ.ก.ส.ได้ดำเนินการแจกบัตรสวัสดิการแห่งรัฐให้กับผู้มีสิทธิรับบัตรสวัสดิการรัฐตั้งแต่วันที่ 21 กันยายน 2560 เป็นต้นมา ผลการดำเนินงาน ณ 3 ตุลาคม 2560 สามารถแจกบัตรดังกล่าวไปได้แล้ว 4.1 ล้านราย หรือคิดเป็น 66.48ของยอดทั้งหมด สำหรับการใช้บัตรสวัสดิการที่เริ่มต้นเมื่อวันที่ 1ตุลาคมนั้น ผู้มีสิทธิสามารถนำบัตรสวัสดิการไปซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคในร้านธงฟ้า จำนวน 200 บาทต่อเดือน กรณีเป็นผู้มีรายได้เกินกว่า 30,000 บาทต่อปี และจำนวน 300 บาทต่อเดือน กรณีเป็นผู้มีรายได้ไม่เกิน 30,000 บาทต่อปี นอกจากนี้แล้ว ยังได้รับส่วนลดค่าซื้อก๊าซหุงต้มจากร้านค้าที่กระทรวงพลังงานกำหนด 45 บาทต่อคนต่อ 3 เดือน หรือใช้ในการเดินทางด้วยรถโดยสาร ขสมก./รถไฟฟ้า 500 บาทต่อคนต่อเดือน รถ บขส. 500 บาทต่อคนต่อเดือน และรถไฟ 500 บาทต่อคนต่อเดือน
นายอภิรมย์ยังกล่าวต่อไปอีกว่า เนื่องจากผู้ที่ลงทะเบียนไว้และผ่านคุณสมบัติยังไม่ได้ไปรับบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ รวมทั้งการนำบัตรสวัสดิการแห่งรัฐไปซื้อสินค้าที่ร้านธงฟ้าประชารัฐในช่วงแรกอาจทำให้ไม่ได้รับความสะดวกและไม่สามารถใช้วงเงินในบัตรสวัสดิการแห่งรัฐได้อย่างเต็มที่ ดังนั้นเพื่อให้ผู้มีสิทธิมีเวลาในการทำความคุ้นเคยกับการใช้บัตร ซื้อสินค้าที่ร้านธงฟ้าประชารัฐและสวัสดิการอื่นๆ กรมบัญชีกลางจึงจะยกยอดวงเงินคงเหลือจากการซื้อสินค้าร้านธงฟ้าประชารัฐและสวัสดิการทุกประเภทของเดือนตุลาคม ให้ไปใช้ต่อได้ในเดือนพฤศจิกายน 2560 อีก 1 เดือน
นายอภิรมย์ยังกล่าวเพิ่มเติมว่า ในส่วนของ ธ.ก.ส. นอกเหนือจากการส่งมอบบัตร ณ ที่ทำการของสาขาแล้ว ยังมีนโยบายให้พนักงานลงพื้นที่ส่งมอบบัตรสวัสดิการเพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้มีสิทธิถึงในตำบลและหมู่บ้านรวมทั้งได้ดำเนินการชี้แจงให้ความรู้แก่เกษตรกร อาทิ เงื่อนไข สิทธิประโยชน์ต่างๆ วิธีการใช้บัตร ตลอดจนข้อระมัดระวัง โดยจัดเตรียมทำเอกสาร ข้อแนะนำมอบให้เกษตรกรด้วย
โว 6 เดือนปล่อยสินเชื่อ 3.3 หมื่นล้าน ธกส.ห่วง'เอ็นพีแอล'ทะลุเฉียด 6%
ไทยโพสต์ : ธ.ก.ส.เผย 6 เดือนแรกปีบัญชี 2560 ยอดสินเชื่อปล่อยใหม่ขยายตัว 3.34 หมื่นล้านบาท ลุ้นสิ้นปีบัญชียอดสินเชื่อขยายตัวได้ตามเป้าหมายที่ 8.6 หมื่นล้านบาท รับหนี้เสียขยับแตะ 5.59% หลังราคาพืชผลทาง การเกษตรแผ่ว
นายอภิรมย์ สุขประเสริฐ ผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เปิดเผยว่า ผลดำเนินงานในช่วง 6 เดือนแรกของปีบัญชี 2560 สิ้นสุด ณ เดือน ก.ย. ที่ผ่านมา มียอดสินเชื่อปล่อยใหม่มีอัตราการขยายตัวกว่า 3.34 หมื่นล้านบาท โดยมียอดสินเชื่อคงค้างที่ระดับ 1.27 ล้าน ล้านบาท คาดว่าเมื่อถึงสิ้นปีบัญชี 2560 ณ สิ้นเดือน มี.ค.2561 ธนาคารจะมียอดสินเชื่อปล่อยใหม่ขยายตัวได้ที่ระดับ 8.6 หมื่นล้านบาทตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ เนื่องจากในช่วงหลังจากนี้กำลังจะเข้าสู่ฤดูการผลิตซึ่งเกษตรกร จะเร่งการขอสินเชื่อเข้ามามากขึ้นในช่วงปลายปีนี้
"ภาพรวมการปล่อยสินเชื่อที่ผ่านมาไม่ชะลอตัว ในเป้าสินเชื่อปล่อยใหม่ 8.6 หมื่นล้านบาท ธ.ก.ส. ตั้งเป้าหมายจะปล่อยสินเชื่อให้เอสเอ็มอีเกษตรกรด้วย 4.5 หมื่นล้านบาท" นายอภิรมย์กล่าว
สำหรับ ยอดหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ณ สิ้นเดือน ก.ย.2560 พบว่า ยอดเอ็นพีแอล ปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 5.59% เทียบจากสิ้นปีบัญชี 2559 ซึ่งสิ้นสุด ณ เดือน มี.ค.2560 มียอดเอ็นพีแอล อยู่ที่ 4.8 หมื่นล้านบาท หรือคิดเป็น 3.9% ของสินเชื่อรวม ทั้งนี้ สาเหตุที่เอ็นพีแอลเพิ่มขึ้น เนื่องจากราคาพืชผลทางการเกษตรตกต่ำ.
ธกส.หารือคลัง-ธปท.ยกเครื่องดูแลนาข้าว
ไทยโพสต์ : พระราม 6 * "ธ.ก.ส." ถกร่วมคลัง-ธปท. สรุปแนวทางปรับปรุงระบบประกันภัยข้าว นาปี ฤดูกาลผลิต 2561/62 เล็งดึง "ข้าวโพด-โคนม" เข้า โครงการด้วย พร้อมรับพิจารณา 2 วิธีการให้ชาวนาจ่ายเบี้ยประกันเอง
นายอภิรมย์ สุขประ เสริฐ ผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การ เกษตร (ธ.ก.ส.) เปิดเผยว่า ธ.ก.ส.อยู่ระหว่างหารือร่วมกับสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ ของธนาคารแห่งประเทศ ไทย (ธปท.) ศึกษาแนวทางปรับปรุงระบบประกันภัยข้าว นาปี ฤดูกาลผลิตปี 2561/62 เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ และ เป็นการลดภาระงบประมาณ โดยเบื้องต้นจะนำพืชชนิดอื่นเข้าร่วมโครงการด้วย เช่น ข้าวโพด และโคนม เป็นต้น
ทั้งนี้ ที่ผ่านมา ธ.ก.ส. ได้มีการช่วยเหลือข้าวโพดในรูปแบบอื่น ซึ่งเป็นการนำ ร่องมาแล้ว โดยใช้ปริมาณดัชนีน้ำฝน และต้องมีพื้นที่ในเอกสารสิทธิ เป็นข้อมูลใน การพิจารณาความช่วยเหลือ โดยเบื้องต้นอาจใช้รูปแบบเดิม ส่วนใหญ่เป็นภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคกลาง โดยจะต้องสรุปรูปแบบให้ได้ในปีนี้ คาดว่าจะเริ่มดำเนินการได้ในฤดูกาลผลิตหน้า
นอกจากนี้ ยังต้องหารือร่วมกับสมาคมประกันวินาศภัย ถึงแนวทางการ จ่ายเบี้ยประกันของเกษตรกร ผู้ปลูกข้าว หลังจากรัฐบาลต้องการให้เกษตรกรเป็นผู้จ่ายเบี้ยด้วยส่วนหนึ่งในฤดูกาลผลิตหน้า โดยรูปแบบยังไม่มีการสรุป แต่เบื้องต้นมี 2 รูปแบบที่ต้องพิจารณา คือ ความคุ้มครองเท่าเดิมเหมือนกับโครงการประกันภัยข้าวนาปี 2560/61 ไร่ละ 1,260 บาท และสิทธิ์เหมือนเดิม แต่จะพิจารณาเรื่องของสัดส่วนการจ่ายเบี้ยระหว่างรัฐบาล ธ.ก.ส.และเกษตรกรใหม่
ส่วนรูปแบบที่ 2 อาจ เพิ่มในส่วนของวงเงินคุ้ม ครองจาก 1,260 บาทต่อไร่ แต่ต้องดูผลกระทบอาจทำให้ผู้เข้าร่วมโครงการน้อย ซึ่งอาจส่งผลให้เบี้ยประกันปรับ สูงขึ้น โดยในส่วนนี้จะเป็น แบบภาคสมัครใจของเกษตรกร และจะมีการกำหนดการจ่ายเบี้ยอีกครั้งว่าคิดอย่างไร.