WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

1AAKBankTCG

กสิกรไทยจับมือบสย.ค้ำประกันสินเชื่อธุรกิจนำเข้า-ส่งออกและท่องเที่ยว วงเงินสูงสุด 60 ล้านบาทต่อราย
      กสิกรไทย เดินหน้าจับมือ บสย.ค้ำประกันสินเชื่อเอสเอ็มอีทวีทุนต่อเนื่อง เน้นธุรกิจนำเข้า-ส่งออกให้สินเชื่อสูงสุด 60 ล้านบาท และธุรกิจท่องเที่ยวให้สินเชื่อ 3.3 เท่าของหลักประกัน โดย บสย. ค้ำประกันเพิ่มสูงสุด 40 ล้านบาทต่อราย และฟรีค่าธรรมเนียม 1.75% เป็นเวลา 4 ปีแรก ตั้งเป้าปล่อยสินเชื่อเอสเอ็มอีสองกลุ่มธุรกิจนี้ 1,500 ล้านบาท ภายในสิ้นปีนี้
    นายสุรัตน์ ลีลาทวีวัฒน์ รองกรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย เปิดเผยว่า ธนาคารกสิกรไทย ร่วมกับบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) สนับสนุนผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ภายใต้ “โครงการค้ำประกันสินเชื่อเอสเอ็มอีทวีทุน” (PGS ระยะที่ 6) เพื่อช่วยเรื่องเงินทุนหมุนเวียนและขยายกิจการแก่กลุ่มธุรกิจนำเข้า-ส่งออกและธุรกิจท่องเที่ยว โดยกลุ่มธุรกิจนำเข้า-ส่งออก ให้วงเงินสินเชื่อเพื่อนำเข้า-ส่งออกสูงสุด 60 ล้านบาท ไม่ต้องมีหลักประกัน โดย บสย. ค้ำประกันสูงสุด 40 ล้านบาท พร้อมเพิ่มวงเงินสินเชื่อเพื่อป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน เพื่อลดความเสี่ยงจากความผันผวนของค่าเงินบาทให้กับเอสเอ็มอี ซึ่งการสนับสนุนในครั้งนี้จะช่วยให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีขนาดเล็กธุรกิจนำเข้า-ส่งออกที่มีศักยภาพ ให้สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนและเติบโตในธุรกิจได้เพิ่มขึ้น
      กลุ่มธุรกิจท่องเที่ยว สนับสนุนสินเชื่อเพื่อเสริมสภาพคล่องหรือลงทุนขยายกิจการ สูงสุด 3.3 เท่าของมูลค่าหลักประกันให้แก่ ธุรกิจโรงแรม ร้านอาหาร ร้านขายของฝาก ธุรกิจนำเที่ยว บริการสปา โดย บสย. ค้ำประกันเพิ่มสูงสุด 40 ล้านบาท พร้อมเพิ่มช่องทางการรับชำระเงินผ่านเครื่องรูดบัตร We Chat และ Alipay โดยคิดค่าธรรมเนียมพิเศษ รวมถึงการรับชำระเงินผ่านบริการ K PLUS Shop นอกจากนี้ยังฟรีค่าธรรมเนียมค้ำประกัน บสย. 1.75% ใน 4 ปีแรก สำหรับลูกค้าธุรกิจนำเข้า-ส่งออก และธุรกิจท่องเที่ยวที่เข้าร่วมโครงการ ทั้งนี้ธนาคารฯ ตั้งเป้าปล่อยสินเชื่อใหม่สำหรับธุรกิจนำเข้า-ส่งออกและธุรกิจท่องเที่ยวในสิ้นปี 2560 จำนวน 1,500 ล้านบาท
      ด้านนายนิธิศ มนุญพร กรรมการและผู้จัดการทั่วไป บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม เปิดเผยว่า สถานการณ์เอสเอ็มอีในภาพรวมมีแนวโน้มที่ดีขึ้น จากการที่รัฐบาลเดินหน้านโยบายการให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการเอสเอ็มอีมาอย่างต่อเนื่อง 2-3 ปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งโครงการความช่วยเหลือผู้ประกอบการผ่านกลไกการค้ำประกันสินเชื่อของบสย. ขณะที่สถาบันการเงินก็มีส่วนสำคัญในการช่วยเหลือเอสเอ็มอี โดยการทำงานร่วมมือกับภาครัฐ เช่น โครงการค้ำประกันสินเชื่อเอสเอ็มอีทวีทุน (PGS ระยะที่ 6) และโครงการอื่นๆ โดย 8 เดือนที่ผ่านมา (ม.ค.-ส.ค.2560) มียอดค้ำประกันสินเชื่อ 43,434 ล้านบาท อนุมัติหนังสือค้ำประกันสินเชื่อ 69,743 ฉบับ และมีลูกค้ารายใหม่ถึง 57,966 ราย ซึ่งบสย. คาดว่าสิ้นปีจะมียอดค้ำประกันตามเป้าหมาย
      สัดส่วนธุรกิจที่บสย.ค้ำประกันมากที่สุด 5 อันดับแรก ได้แก่ ภาคบริการ คิดเป็นสัดส่วน 25.7% เป็นภาคที่มีการค้ำประกันสูงที่สุดและเติบโตทุกปี ซึ่งภาคนี้จะครอบคลุมทั้งธุรกิจด้านการท่องเที่ยว โรงแรม ภาคการผลิตและการค้าสัดส่วน 14.36% ภาคอาหารและเครื่องดื่ม 8.66% ภาคอุตสาหกรรมประเภทเหล็กและโลหะ 8.24% และภาคการเกษตร 8.13% โดยเฉพาะธนาคารกสิกรไทย ที่ได้ร่วมมือกันอย่างใกล้ชิดกับ บสย. ในการให้ความช่วยเหลือเอสเอ็มอีมาโดยตลอด สำหรับโครงการ PGS ระยะที่ 6 ทางธนาคารกสิกรไทยมีการให้สินเชื่อ โดยมี บสย. ค้ำประกันเพิ่มขึ้นมาก โดยมีส่วนแบ่งตลาดอยู่ที่ 31% มากที่สุดเป็นอันดับ 1
     นายนิธิศ กล่าวเพิ่มเติมว่า บสย.มั่นใจว่าความร่วมมือครั้งนี้ จะผลักดันให้เกิดการขับเคลื่อนเศรษฐกิจผ่านกลไกการค้ำประกันสินเชื่อและการปล่อยสินเชื่อของธนาคารผ่านโครงการค้ำประกันสินเชื่อเอสเอ็มอีทวีทุน (PGS ระยะที่ 6) ซึ่งบสย.และธนาคารกสิกรไทย จะร่วมกันผลักดันสินเชื่อและค้ำประกันสินเชื่อ ตลอดโครงการนี้ไม่ต่ำกว่า 12,000 ล้านบาท ช่วยให้เอสเอ็มอีได้รับสินเชื่อรวมกว่า 27,000 ราย ก่อให้เกิดสินเชื่อในระบบสถาบันการเงินประมาณ 136,000 ล้านบาท ก่อให้เกิดการจ้างงานเพิ่มรวมประมาณ 108,000 คนและสร้างเงินทุนหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจกว่า 371,000 ล้านบาท

 

บสย. เตรียมจับมือ KBANK ค้ำประกันสินเชื่อลิสซิ่งกับแฟคตอริ่งในต้นปีหน้า ตั้งเป้าเบื้องต้น 2 พันลบ.

       บสย. เตรียมจับมือ KBANK ค้ำประกันสินเชื่อลิสซิ่งกับแฟคตอริ่งในต้นปีหน้า ตั้งเป้าเบื้องต้น 2 พันลบ. คาดปล่อยกู้ได้ในต้นปี 61พร้อมมองสถานการณ์เอสเอ็มอีปรับตัวดีขึ้น ตามการท่องเที่ยว - ส่งออก

  นายนิธิศ มนุญพร กรรมการและผู้จัดการทั่วไป บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม หรือ บสย. เปิดเผยว่า บสย. กำลังเจรจากับธนาคารกสิกรไทยในการค้ำประกันสินเชื่อสิสซิ่ง และ แฟคตอริ่ง โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการคิดโปรแกรมในการนำเสนอผลิตภัณฑ์ ซึ่งคาดว่าจะปล่อยกู้ได้ในต้นปี 61 โดยเบื้องต้นจะทำร่วมกับ KBANK และ ธนาคารเพื่อการพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขยาดย่อมแห่งประเทศไทย หรือ SMEBANK

  "เราเพิ่งแก้กฎหมายในการที่จะค้ำประกันลูกค้ากลุ่มนี้ เพราะว่าลูกค้ากลุ่มดังกล่าวไม่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ โดยเพราะเครื่องจักร เพราะถเาหากมีความเสียหายแบงก์ยึดไปขายก็ขาดทุนทั้งที่เครื่องจักรเป็นสิ่งจำเป็นที่ธุรกิจต้องใช้"นายนิธิศ กล่าว

   นายสุรัตน์ ลีลาทวีวัฒน์ รองกรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย จำกัด(มหาชน) หรือ KBANK เปิดเผยว่า บริษัทลูกของของธนาคาร โดยเฉพาะลีสซิ่งกสิกรไทย และ แฟคเตอรี แอนด์ อีควิปเมนท์ กสิกรไทย ที่ปัจจุบันทั้ง 2 บริษัทมีพอร์ตสินเชื่อคงค้างรวมกันประมาณ 1 แสนล้านบาท โดย 50% เป็นกลุ่มบริษัท ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างหารือเพื่อคิดโปรแกรมดังกล่าวทั้งเรื่องอัตราดอกเบี้ย และ ความเสี่ยงที่ต้องแบกรับ

  ในขณะที่สถานการณ์เอสเอ็มอีปรับตัวดีขึ้น โดยภาพรวมเศรษฐกิจไตรมาส 3/60 เติบโตประมาณ 3.2% จากภาคส่งออกที่ยังขยายตัวดีต่อเนื่อง ซึ่งคาดทั้งปีโต 3.8% ประกอบกับ ภาคการท่องเที่ยวเติบโตดี โดยเห็นสัญญาณฟื้นตัวของนักท่องเที่ยวที่คาดว่าปีนี้จะเติบโต 7-8% อย่างไรก็ตาม ยังมีแรงกดดันจากหนี้ครัวเรือน และ ภาคอื่นๆอย่างโภคภัณฑ์ที่ยังขยายตัวได้ไม่มาก

  โดยล่าสุด ธนาคารได้ร่วมมือกับ บสย. ในการค้ำประกันสินเชื่อเอสเอ็มอี โดยปัจจุบันวงเงินโครงการค้ำประกันสินเชื่อเอสเอ็มอีทวีทุน(PGS ระยะที่ 6) คงเหลือ 81,000 ล้านบาท โดย 1 เดือนธนาคารพาณิชย์ 18 แห่ง ปล่อยสินเชื่อไปแล้ว 4,300 ล้านบาท

  โดย KBANK ตั้งเป้าปล่อยสินเชื่อดังกล่าว 12,000 ล้านบาท โดย 1 เดือนที่ผ่านมาปล่อยสินเชื่อไปแล้ว 1,700 ล้านบาท และ ธนาคารกรุงไทย 700 ล้านบาท ซึ่งโปรแกรมดังกล่าวจะสิ้นสุดสิ้นเดือนมิ.ย. 61

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!