- Details
- Category: แบงก์พาณิชย์
- Published: Sunday, 18 June 2017 15:27
- Hits: 7425
ทริสเรทติ้ง คงอันดับเครดิตประเทศ & พันธบัตรรัฐบาล สปป. ลาว ที่ BBB+และปรับแนวโน้มเป็น Negative จาก Stable
ทริสเรทติ้ง คงอันดับเครดิตสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) และพันธบัตรที่ออกโดย สปป. ลาว ที่ระดับ’BBB+’พร้อมทั้งปรับแนวโน้มอันดับเครดิตเป็น ‘Negative’ หรือ ‘ลบ’จาก ‘Stable’หรือ ‘คงที่’ โดยอันดับเครดิตสะท้อนถึงอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจประเทศที่ค่อนข้างสูงแม้ว่าจะชะลอตัวลง ตลอดจนการมีเสถียรภาพทางการเมืองที่ยาวนาน ทรัพยากรธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ รายได้ของประเทศที่เพิ่มขึ้นจากการผลิตกระแสไฟฟ้าพลังน้ำ และความมุ่งมั่นของรัฐบาลในการนำพาประเทศไปสู่การพัฒนาที่เป็นสากลและขจัดความยากจน
แนวโน้มอันดับเครดิต ‘Negative’หรือ’ลบ’ สะท้อนถึงความเสี่ยงจากภาระหนี้ต่างประเทศของรัฐบาลที่เพิ่มสูงขึ้น รวมถึงระดับทุนสำรองระหว่างประเทศของประเทศที่ต่ำกว่าคาด และการจ่ายชำระหนี้ที่สูงขึ้น นอกจากนั้น รายได้ของรัฐบาลโดยเฉพาะจากทรัพยากรธรรมชาติที่ไม่สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ (Non-renewable Natural Resources) ที่ชะลอตัวลงในช่วงเวลาที่ผ่านมาอาจทำให้การบริหารงบประมาณการคลังต้องเผชิญกับความท้าทายในระยะปานกลางเนื่องจากรัฐบาลยังมีความจำเป็นต้องลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานและโครงการผลิตไฟฟ้าพลังน้ำ ในขณะเดียวกัน รัฐบาลยังมีข้อจำกัดทางด้านความพอเพียงของระบบข้อมูลซึ่งต้องได้รับการพัฒนาเพื่อสนับสนุนการกำหนดนโยบายเศรษฐกิจและการบริหารหนี้ของภาครัฐด้วยเช่นกัน
จากข้อมูลของธนาคารแห่ง สปป. ลาว คาดว่าเศรษฐกิจของ สปป. ลาว ซึ่งประเมินจากผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (Gross Domestic Product -- GDP) จะขยายตัวด้วยอัตราการเติบโตที่แท้จริงประมาณ 7% ในปี 2559 โดยลดลงจากปี 2558 ที่มีอัตราการขยายตัวประมาณ 7.3% ทั้งนี้ เนื่องจากการลดลงของราคาสินค้าโภคภัณฑ์ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อรายรับของรัฐบาลและมูลค่าการส่งออก ในขณะเดียวกัน ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ ณ ราคาประจำปีในปี 2559 คาดว่าจะเท่ากับ 15.92 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และรายได้ต่อหัวของประชากรในปี 2559 คาดว่าจะเท่ากับ 2,223 ดอลลาร์สหรัฐฯ โดยเพิ่มขึ้นจาก 2,051 ดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี 2558
หนี้ต่างประเทศภาครัฐของ สปป. ลาว มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นในระยะปานกลาง จากข้อมูลของกระทรวงการเงินแห่ง สปป. ลาว หนี้ต่างประเทศคาดว่าจะมากกว่า 7,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ตั้งแต่ปี 2560 เป็นต้นไป และทริสเรทติ้งคาดว่าภาระหนี้ต่างประเทศที่ต้องชำระ (Debt Service) จะสูงกว่า 600 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี 2561 หรือคิดเป็นประมาณ 50% ของทุนสำรองระหว่างประเทศในปีเดียวกัน โดยอัตราส่วนดังกล่าวสูงกว่าข้อมูลในอดีตก่อนปี 2558 ซึ่งเท่ากับประมาณ 30% ทริสเรทติ้งเชื่อว่าหนี้ต่างประเทศของ สปป. ลาว จะสูงขึ้นอีกและจะคงอยู่ในระดับสูงในช่วงระยะเวลาหนึ่งเนื่องจากรัฐบาลจำเป็นต้องใช้งบประมาณเพื่อการก่อสร้างโครงการหลายโครงการทั้งที่เป็นของรัฐบาลและรัฐวิสาหกิจในขณะที่แหล่งเงินจากภายในประเทศยังมีจำกัด ซึ่งสัดส่วนหนี้ต่างประเทศที่ค่อนข้างมากทำให้มีความเสี่ยงที่อาจได้รับผลกระทบจากค่าเงินที่ลดลง
อย่างไรก็ดี ความเสี่ยงดังกล่าวอาจลดลงบางส่วนเนื่องจากสัดส่วนของภาระหนี้ต่างประเทศของรัฐบาลส่วนมากเป็นหนี้เงินกู้ยืมจากองค์การระหว่างประเทศและหนี้ระหว่างรัฐบาล ซึ่งทริสเรทติ้งเชื่อว่าเงื่อนไขและระยะเวลาในการชำระคืนหนี้ดังกล่าวมีความยืดหยุ่นมากกว่าหนี้เงินกู้ยืมเชิงพาณิชย์อื่นๆ และมีอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำกว่าอัตราในตลาดเงิน อนึ่ง ในปี 2559 สปป. ลาวมีหนี้เงินกู้ยืมจากองค์การระหว่างประเทศและเงินกู้ยืมระหว่างรัฐบาลเท่ากับประมาณ 82% ของหนี้ต่างประเทศของรัฐบาลทั้งหมด
รายได้ของรัฐบาลลดลง 12% ในปีงบประมาณ 2559 ภายหลังจากที่มีอัตราการเติบโตมากกว่า 10% ต่อปีอย่างต่อเนื่องในช่วงระหว่างปี 2553-2557 รายได้ของรัฐบาลลดลงเนื่องจากภาวะเศรษฐกิจในประเทศที่ชะลอตัวและการลดลงของราคาสินค้าโภคภัณฑ์ รวมทั้งการลดลงของเงินช่วยเหลือจากต่างประเทศ ในขณะที่รายได้จากภาษีอากรของรัฐบาลในปีงบประมาณ 2559 ก็ขยายตัวเล็กน้อยเพียง 2.7% ซึ่งต่ำกว่าที่เคยขยายตัวที่ 8.7%-15.9% ในช่วงปีงบประมาณ 2556-2558 นอกจากนั้น รายได้จากเงินช่วยเหลือจากต่างประเทศก็ลดลงเป็นครั้งแรกในปีงบประมาณ 2559 ด้วย โดยลดลง 63.9% จากปีก่อนหน้า
ในขณะเดียวกัน รายได้รัฐบาลจากภาคการผลิตไฟฟ้าพลังน้ำคาดว่าจะเพิ่มขึ้นในอนาคตภายหลังจากที่การก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังน้ำหลาย ๆ แห่งแล้วเสร็จและเปิดดำเนินกิจการ สปป. ลาว จะมีโครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำที่ขายไฟฟ้าให้แก่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ตามแผนการซื้อขายไฟฟ้าเป็นจำนวน 3,577 เมกะวัตต์ในปี 2560 เพิ่มขึ้นจาก 3,086 เมกะวัตต์ในปี 2558 ทั้งนี้ กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (International Monetary Fund – IMF) คาดการณ์ว่ารายได้รัฐบาลจากภาคการผลิตไฟฟ้าพลังน้ำจะเท่ากับ 1.3% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศในปี 2560 จากข้อมูลของธนาคารพัฒนาเอเชีย (Asian Development Bank -- ADB) ประมาณว่าโดยทางเทคนิคแล้วสาขาลุ่มแม่น้ำโขงใน สปป. ลาว มีศักยภาพในการผลิตไฟฟ้าพลังน้ำได้มากถึง 20,000 เมกะวัตต์และในปี 2563 สปป. ลาว จะมีโรงไฟฟ้าพลังน้ำที่มีกำลังการผลิตรวมทั้งสิ้นประมาณ 8,100 เมกะวัตต์เพื่อให้บริการแก่ผู้ใช้ไฟฟ้าภายในประเทศและเพื่อการส่งออก โดยจากการประมาณการของเจ้าหน้าที่ของรัฐบาล สปป. ลาว รายได้ของรัฐบาลจากโรงผลิตไฟฟ้าพลังน้ำจะเพิ่มขึ้นเป็นประมาณ 1,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อปีตั้งแต่ปี 2563 เป็นต้นไป
ภาระการจ่ายชำระหนี้ต่างประเทศของ สปป. ลาว มีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในระยะปานกลาง ในขณะเดียวกัน หนี้เงินกู้จากองค์การระหว่างประเทศก็จะทยอยครบกำหนดชำระและถูกทดแทนด้วยหนี้เงินกู้จากภาคเอกชนซึ่งมีภาระดอกเบี้ยที่สูงขึ้นกว่าเดิม ทั้งนี้ ทริสเรทติ้งคาดว่าอัตราภาระหนี้ต่างประเทศที่ต้องชำระต่อเงินทุนสำรองระหว่างประเทศของ สปป. ลาว จะสูงประมาณ 60% โดยเฉลี่ยในช่วง 3-5 ปีข้างหน้า
ภาครัฐของ สปป. ลาว รวมทั้งหน่วยงานกำกับดูแลทางการเงินจำเป็นต้องพัฒนาระบบการจัดเก็บข้อมูลและสร้างฐานข้อมูลที่เป็นมาตรฐานสากลให้ดียิ่งขึ้นเพื่อให้มีฐานข้อมูลสำคัญทางเศรษฐกิจที่ครอบคลุมทั่วถึงและทันสมัยสำหรับใช้ในการกำหนดนโยบายการพัฒนาประเทศหรือแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจที่อาจเกิดขี้นได้อย่างทันเหตุการณ์ โดยเฉพาะในช่วงที่ระบบเศรษฐกิจเกิดวิกฤต ในปัจจุบันหน่วยงานหลักของ สปป. ลาว ที่รับผิดชอบในการจัดเก็บรวบรวมและเผยแพร่ข้อมูลทางเศรษฐกิจที่สำคัญมี 2 หน่วยงานได้แก่ ธนาคารแห่ง สปป. ลาว (Bank of the Lao PDR) และศูนย์สถิติแห่งชาติ (Lao Statistics Bureau) ซึ่งเป็นหน่วยงานในสังกัดของกระทรวงแผนงานและการลงทุน (Ministry of Planning and Investment) ปัจจุบันการพัฒนาระบบการจัดเก็บและการรายงานข้อมูลกำลังดำเนินการภายใต้การสนับสนุนขององค์การระหว่างประเทศ นอกจากนี้ ในขณะที่รัฐบาล สปป. ลาว กำลังมีแผนการในการระดมทุนผ่านตลาดทุนในต่างประเทศเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องนั้นก็มีความจำเป็นที่จะต้องมีการจัดทำแผนการบริหารหนี้สาธารณะที่รัดกุม มีประสิทธิภาพ และอย่างเป็นระบบเพื่อให้เกิดการก่อหนี้ที่มีประสิทธิภาพและสามารถติดตามการชำระคืนหนี้ได้ตามกำหนดอย่างมีประสิทธิผลสูงสุดด้วย โดยการดูแลด้านการบริหารจัดการหนี้ต่างประเทศอยู่ภายใต้การดูแลของกระทรวงการเงิน
สปป. ลาว มีเสถียรภาพทางการเมืองมาเป็นเวลานานกว่า 40 ปีนับตั้งแต่การเปลี่ยนแปลงการปกครองและสถาปนาประเทศใหม่เป็นสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวอย่างเป็นทางการในปี 2518 ระบบการปกครองประเทศประกอบด้วยพรรคเดียวคือ พรรคประชาชนปฏิวัติลาว (Lao People’s Revolutionary Party) โดยมีสภาแห่งชาติแห่ง สปป. ลาว (National Assembly of the Lao PDR) ซึ่งเป็นคณะผู้มีอำนาจบริหารประเทศเป็นผู้เลือกตั้งประธานาธิบดี นายกรัฐมนตรี รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีอื่นๆ โดยความเห็นชอบของสภาแห่งชาติแห่ง สปป. ลาว การเมืองที่มีเสถียรภาพสูงทำให้รัฐบาลมีความต่อเนื่องในการนำนโยบายการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศมาใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
แนวโน้มอันดับเครดิต
แนวโน้มอันดับเครดิต ‘Negative’ หรือ’ลบ’ สะท้อนจำนวนหนี้ของรัฐบาลที่เพิ่มสูงขึ้นและปริมาณเงินทุนสำรองระหว่างประเทศที่ต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้ การเพิ่มขึ้นของหนี้ภาครัฐจะทำให้ภาระหนี้ที่ต้องชำระของรัฐบาล สปป. ลาว สูงขึ้นในช่วงระยะปานกลางถึงระยะยาว นอกจากนี้ การที่หนี้ของรัฐบาลส่วนใหญ่เป็นหนี้ต่างประเทศนั้นจะทำให้รัฐบาลต้องเผชิญกับความเสี่ยงจากความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนด้วย
ปริมาณเงินทุนสำรองระหว่างประเทศในปี 2559 คาดว่าจะลดลงมาอยู่ที่ 814.93 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดยลดลง 17.4% จากปีก่อนหน้า ทั้งนี้ การลดลงของเงินทุนสำรองระหว่างประเทศเป็นผลมาจากการมีเงินทุนเคลื่อนย้ายออกจากประเทศมากกว่าที่คาดไว้ ซึ่งบางส่วนของเงินทุนเคลื่อนย้ายออกคือเงินที่ใช้ชำระหนี้ต่างประเทศ รวมถึงการลดลงของการลงทุนทางตรงจากต่างประเทศสุทธิ
การชะลอตัวลงของรายได้ของรัฐบาลในช่วงเวลาที่ผ่านมาโดยเฉพาะจากทรัพยากรธรรมชาติที่ไม่สามารถนำกลับมาใช้ใหม่อาจทำให้การบริหารงบประมาณการคลังเป็นไปด้วยความยากลำบากในระยะปานกลางเนื่องจากรัฐบาลยังมีความจำเป็นต้องลงทุนในโครงการโครงสร้างพื้นฐานและโครงการผลิตไฟฟ้าพลังน้ำ
การเปลี่ยนแปลงแนวโน้มอันดับเครดิตเป็น “Stable” หรือ “คงที่” ขึ้นอยู่กับการมีเงินทุนสำรองระหว่างประเทศที่เพิ่มมากขึ้นและมีเสถียรภาพมากยิ่งขึ้น ความสำเร็จของรัฐบาลในการเพิ่มรายได้อย่างยั่งยืน การขยายฐานภาษี และการดำเนินงานของโครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำและโครงการลงทุนอื่น ๆ ของรัฐบาลที่ก่อให้เกิดผลิตภาพกับระบบเศรษฐกิจก็จะเพิ่มรายได้ให้แก่รัฐบาลและสามารถลดการพึ่งพิงแหล่งเงินทุนจากต่างประเทศของรัฐบาล ทั้งนี้ การลดลงของสัดส่วนของภาระหนี้ที่ต้องชำระต่อเงินทุนสำรองระหว่างประเทศ ตลอดจนสัดส่วนของรายจ่ายดอกเบี้ยต่อรายได้ของรัฐบาล และระดับของหนี้ต่างประเทศล้วนเป็นปัจจัยบวกต่ออันดับเครดิตทั้งสิ้น ในขณะที่การลดลงของปริมาณเงินทุนสำรองระหว่างประเทศที่มากกว่าที่คาดไว้ ตลอดจนการเพิ่มขึ้นอย่างมากของหนี้ของภาครัฐซึ่งจะนำไปสู่สัดส่วนของหนี้ต่างประเทศต่อ ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ หรือสัดส่วนของภาระหนี้ที่ต้องชำระต่อเงินทุนสำรองระหว่างประเทศที่สูงกว่าที่คาดถือว่าเป็นปัจจัยลบต่ออันดับเครดิต
สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป. ลาว)
อันดับเครดิตประเทศ: BBB+
อันดับเครดิตตราสารหนี้:
MOFL186A: พันธบัตรรัฐบาล 1,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2561 BBB+
MOFL19NA: พันธบัตรรัฐบาล 4,802.90 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2562 BBB+
MOFL206A: พันธบัตรรัฐบาล 5,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2563 BBB+
MOFL21NA: พันธบัตรรัฐบาล 1,870.50 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2564 BBB+
MOFL23NA: พันธบัตรรัฐบาล 1,063.80 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2566 BBB+
MOFL256A: พันธบัตรรัฐบาล 6,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2568 BBB+
MOFL26NA: พันธบัตรรัฐบาล 1,371.50 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2569 BBB+
MOFL28NA: พันธบัตรรัฐบาล 1,891.30 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2571 BBB+
MOFL25DA: พันธบัตรรัฐบาล 162 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ไถ่ถอนปี 2568 BBB+
MOFL27DA: พันธบัตรรัฐบาล 20 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ไถ่ถอนปี 2570 BBB+
แนวโน้มอันดับเครดิต: Negative
บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด/ www.trisrating.com
ติดต่อ [email protected] โทร. 0-2231-3011 ต่อ 500 อาคารสีลมคอมเพล็กซ์ ชั้น 24 191 ถ. สีลม กรุงเทพฯ 10500
บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด สงวนลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2560 ห้ามมิให้บุคคลใด ใช้ เปิดเผย ทำสำเนาเผยแพร่ แจกจ่าย หรือเก็บไว้เพื่อใช้ในภายหลังเพื่อประโยชน์ใดๆ ซึ่งรายงานหรือข้อมูลการจัดอันดับเครดิต ไม่ว่าทั้งหมดหรือเพียงบางส่วน และไม่ว่าในรูปแบบ หรือลักษณะใดๆ หรือด้วยวิธีการใดๆ โดยที่ยังไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษรจาก บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ก่อน การจัดอันดับเครดิตนี้มิใช่คำแถลงข้อเท็จจริง หรือคำเสนอแนะให้ซื้อ ขาย หรือถือตราสารหนี้ใดๆ แต่เป็นเพียงความเห็นเกี่ยวกับความเสี่ยงหรือความน่าเชื่อถือของตราสารหนี้นั้นๆ หรือของบริษัทนั้นๆ โดยเฉพาะ ความเห็นที่ระบุในการจัดอันดับเครดิตนี้มิได้เป็นคำแนะนำเกี่ยวกับการลงทุน หรือคำแนะนำในลักษณะอื่นใด การจัดอันดับและข้อมูลที่ปรากฏในรายงานใดๆ ที่จัดทำ หรือพิมพ์เผยแพร่โดย บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ได้จัดทำขึ้นโดยมิได้คำนึงถึงความต้องการด้านการเงิน พฤติการณ์ ความรู้ และวัตถุประสงค์ของผู้รับข้อมูลรายใดรายหนึ่ง
ดังนั้น ผู้รับข้อมูลควรประเมินความเหมาะสมของข้อมูลดังกล่าวก่อนตัดสินใจลงทุน บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ได้รับข้อมูลที่ใช้สำหรับการจัดอันดับเครดิตนี้จากบริษัทและแหล่งข้อมูลอื่นๆ ที่เชื่อว่าเชื่อถือได้ ดังนั้น บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด จึงไม่รับประกันความถูกต้อง ความเพียงพอ หรือความครบถ้วนสมบูรณ์ของข้อมูลใดๆ ดังกล่าว และจะไม่รับผิดชอบต่อความสูญเสีย หรือความเสียหายใดๆ อันเกิดจากความไม่ถูกต้อง ความไม่เพียงพอ หรือความไม่ครบถ้วนสมบูรณ์นั้น และจะไม่รับผิดชอบต่อข้อผิดพลาด หรือการละเว้นผลที่ได้รับหรือการกระทำใดๆโดยอาศัยข้อมูลดังกล่าว ทั้งนี้ รายละเอียดของวิธีการจัดอันดับเครดิตของ บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด เผยแพร่อยู่บน Website: http://www.trisrating.com/th/rating-information-th2/rating-criteria.html