- Details
- Category: แบงก์พาณิชย์
- Published: Wednesday, 24 May 2017 20:37
- Hits: 10384
นายกฯ เปิดตัวกองทุนพัฒนาเอสเอ็มอีตามแนวประชารัฐจังหวัดสงขลา พร้อมอนุมัติวงเงินกองทุน / สินเชื่อ กว่า 22 ล้านบาท นำร่อง 4 กิจการ
นายสมชาย หาญหิรัญ ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ฐานะประธานกองทุนพัฒนาเอสเอ็มอีตามแนวประชารัฐ ในนามประธานกรรมการ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว. หรือ SME Development Bank) เปิดเผยว่า ในวันนี้ (24 พ.ค. 2560) ธพว. ในฐานะหน่วยงานร่วมในการบริหารงานโครงการกองทุนพัฒนาเอสเอ็มอีตามแนวประชารัฐ ร่วมกับหน่วยงานภาครัฐลงพื้นที่จัดงานสัมมนาเชิงปฏิบัติการเรื่อง ‘คลินิกเอสเอ็มอีสัญจรแนวประชารัฐ’ เปิดตัวโครงการกองทุนพัฒนาเอสเอ็มอีตามแนวประชารัฐ นำร่องที่แรกจังหวัดสงขลา โดยได้รับเกียรติจากนายกรัฐมนตรี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา กล่าวมอบนโยบาย
‘การช่วยเหลือเอสเอ็มอีของรัฐบาล’ เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจการดำเนินงานของภาครัฐ แก่ผู้ประกอบการและประชาชนทั่วไปในพื้นที่ภาคใต้ เบื้องต้น ธพว.ได้ผลักดันลูกค้าธนาคารเข้าสู่แหล่งทุนเป็นผลสำเร็จ จำนวน 4 ราย วงเงิน 12 ล้านบาท และวงเงินสินเชื่อ SMEs Transformation Loan จำนวน 10 ล้านบาท รวมวงเงิน 22 ล้านบาท โดยมี นายพสุ โลหารชุน อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม นายทรงพล สวาสดิ์ธรรม ผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา ให้การต้อนรับพร้อมหน่วยงานพันธมิตร ผู้ประกอบการ SMEs ในพื้นที่จังหวัดสงขลาและจังหวัดใกล้เคียง ณ โรงแรมหรรษาเจบี หาดใหญ่ อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา พร้อมกันนี้ ธพว. ยังได้ลงพื้นที่สำรวจข้อมูลและเยี่ยมชมกิจการชุมชนเกาะยอ ชุมชนนำร่องเพื่อพัฒนาเป็น“หมู่บ้าน CIV” หรือ หมู่บ้านอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ โครงการสร้างสรรค์อุตสาหกรรมเชิงวัฒนธรรม โดยกระทรวงอุตสาหกรรม หวังต่อยอดยกระดับเป็นสถานที่พักผ่อนท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ระดับไฮเอนด์
จังหวัดสงขลากำหนด Rubber City เป็นยุทธศาสตร์หลักในการส่งเสริมและพัฒนาผู้ประกอบการ SMEs ในพื้นที่ โดยได้รับอนุมัติวงเงินจากกองทุนพัฒนาเอสเอ็มอีตามแนวประชารัฐจังหวัดสงขลาและสินเชื่อ SME Transformation Loan จำนวน 2 ราย วงเงินอนุมัติรวม 16 ล้านบาท ประกอบด้วย 1) บริษัท เอ.บิล.อาร์ท.อินดัสเตรียล จำกัด ลูกค้าเดิมของ ธพว. สาขาหาดใหญ่ ผู้วิจัยและคิดค้นนวัตกรรมใหม่ (ปะเก็นเหล็กเคลือบยางพารา) ซึ่งนำยางพาราวัตถุดิบหลักที่มีในพื้นที่มาพัฒนาจนสามารถเพิ่มมูลค่า สร้างรายได้กระจายสู่เกษตรกรในชุมชน มีระบบการบริหารจัดการแบบ Real Time ปัจจุบันขยายตลาดไปจำหน่ายที่ประเทศมาเลเซีย ประเทศเมียนมา โดยบริษัทได้รับอนุมัติวงเงินจากกองทุน จำนวน 3 ล้านบาท และได้รับอนุมัติสินเชื่อ SMEs Transformation Loan จำนวน 10 ล้านบาท เพื่อปรับเปลี่ยนเครื่องจักร ปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิต รองรับการขยายตลาดส่งออกจำหน่ายยังประเทศเวียดนามต่อไป รายที่ 2) บริษัท โกร รับเบอร์ ลาเท็กซ์ จำกัด กลุ่มผู้ประกอบการ Startup ที่นำผลงานวิจัย “อุปกรณ์รองช่วยลดความดันในส้นเท้าทำจากยางธรรมชาติ” มาพัฒนาต่อยอด ผลิตและจำหน่ายยางรองส้นเท้ายางพารา ผ่านการอบรมโครงการ NEC กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) และศูนย์บ่มเพาะ UBI ของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (มอ.) เน้นใช้ยางพาราในพื้นที่เป็นวัตถุดิบหลัก เพื่อลดปัญหาต้นทุนการขนส่งและยังช่วยสร้างรายได้ให้กับเกษตรกร บริษัทมีที่ตั้งโรงงานอยู่ในโครงการนิคมอุตสาหกรรมยางพารา นิคมอุตสาหกรรมภาคใต้ของจังหวัด โดยได้รับอนุมัติวงเงินกองทุน จำนวน 3 ล้านบาท เพื่อปรับเปลี่ยนซื้อเครื่องจักรพร้อมไลน์การผลิตรองเท้าแตะ รองรับการขยายตลาดผลิตรองเท้าแตะจากยางพาราต่อไป
จังหวัดสุราษฎร์ธานีกำหนดยุทธศาสตร์ตามวิสัยทัศน์จังหวัดคือ “เมืองเกษตรกรคุณภาพ การท่องเที่ยวยั่งยืน สังคมเป็นสุข” โดยได้รับอนุมัติวงเงินกองทุนพัฒนาเอสเอ็มอีตามแนวประชารัฐจังหวัดสุราษฎร์ธานี จำนวน 2 ราย วงเงินอนุมัติ 6 ล้านบาท ประกอบด้วย 1)บริษัท สุราษฎร์อินเตอร์ทัวร์ จำกัด ธุรกิจท่องเที่ยวโรงแรมและที่พัก 'แพ 500 ไร่' ลูกค้าเดิมของ ธพว. ที่ได้รับการส่งเสริมและสนับสนุนจากธนาคารและภาครัฐจนประสบความสำเร็จ สามารถพัฒนายกระดับเป็นแหล่งพักผ่อนเชิงอนุรักษ์ระดับไฮเอนด์ พลิกโฉมการท่องเที่ยวในท้องถิ่นอย่างครบวงจร เน้นการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ยั่งยืน ทั้งด้านธรรมชาติ วิถีชีวิต โดยได้รับอนุมัติวงเงินกองทุน จำนวน 3 ล้านบาท เพื่อนำไปต่อยอดสร้างศูนย์จำหน่ายสินค้าพื้นเมืองช่วยกระจายรายได้สู่ชุมชน ซึ่งอาจจะขยายต่อเนื่องไปถึงศูนย์การเรียนรู้และฝึกวิชีพในอนาคต รายที่ 2)บริษัท ซีการ์เด้น แอนด์ สปา ธุรกิจท่องเที่ยวโรงแรมและที่พัก ปัจจุบันมี 2 สาขา สาขาแรกตั้งอยู่ในย่านสถานที่ท่องเที่ยวระดับโลก ‘ฟูลมูนปาร์ตี้’ หาดริ้น มีกลุ่มเป้าหมายคือลูกค้าที่ชอบความบันเทิง ต้องการความ
สนุกสนาน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นกลุ่มนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศ สาขาสองตั้งอยู่ในพื้นที่การท่องเที่ยวเชิงธรรมชาติ สภาพแวดล้อมสงบเงียบ กลุ่มเป้าหมายคือลูกค้าที่ต้องการพักผ่อน ไม่ต้องการความเร่งรีบ ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มคู่รัก ครอบครัว โดยโรงแรมทั้ง 2 สาขา ให้การสนับสนุนสินค้าจากชุมชนท้องถิ่นมาวางจำหน่ายเป็นของที่ระลึก ซึ่งได้รับความนิยมจากนักท่องเที่ยวเป็นอย่างมาก ส่งผลให้แหล่งชุมชนมีรายได้เพิ่มมากขึ้น ชุมชนมีการพัฒนารูปแบบสินค้าอย่างต่อเนื่อง และบริษัทยังเข้าร่วมเป็นสมาชิกสมาคมโรงแรมเกาะพะงัน เพื่อเป็นแหล่งให้บริการประชาสัมพันธ์การท่องเที่ยวเกาะพะงันอีกทางหนึ่งด้วย บริษัทได้รับอนุมัติวงเงินกองทุน จำนวน 3 ล้านบาท เพื่อนำไปขยายสร้างห้องพักยกระดับให้บริการรูปแบบพรีเมียม
นอกจากนี้ ธพว. ยังเดินหน้าสานต่อภารกิจหลักการเป็นธนาคารเพื่อการพัฒนาผู้ประกอบการ ลงพื้นที่สำรวจข้อมูลพร้อมเยี่ยมชมกิจการชุมชนเกาะยอ เพื่อหาแนวทางเบื้องต้นในการส่งเสริมและพัฒนายกระดับการท่องเที่ยว ซึ่งจะดำเนินการร่วมกับผู้ประกอบการและหน่วยงานพันธมิตรในท้องถิ่น สอดรับกับนโยบายภาครัฐที่จัดทำโครงการสร้างสรรค์อุตสาหกรรมเชิงวัฒนธรรม ภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงอุตสาหกรรม ที่น้อมนำแนวพระราชดำรัส รัชกาลที่ 9 เรื่องการพัฒนาคน มาเป็นหัวใจในการสร้างฐานรากชุมชนให้แข็งแกร่งเป็นภูมิคุ้มกันให้กับชุมชนจากข้างใน ซึ่งเกาะยอหรือเรียกอีกชื่อหนึ่งว่าขุมทรัพย์กลางทะเลสาบ เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่ยังคงความอุดมสมบูรณ์ มีวิถีชีวิตที่เรียบง่ายเป็นเอกลักษณ์ มีวัฒนธรรมพื้นบ้านที่มีเสน่ห์ ชาวเกาะยอส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรแบบไม่ใช้สารเคมี 100% ผลผลิตที่ได้จึงมีคุณภาพและจะวางจำหน่ายภายในชุมชนก่อน เหลือจึงจะกระจายออกนอกพื้นที่ เกาะยอจึงเป็นแหล่งท่องเที่ยวอีกสถานที่หนึ่ง ที่มีศักยภาพสามารถพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวพักผ่อนเชิงอนุรักษ์ระดับไฮเอนด์ เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวทั้งในประเทศและต่างประเทศได้อย่างแน่นอน
“การจัดงานครั้งนี้เป็นโครงการการผสานความร่วมมือของหน่วยงานภาครัฐ เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนผู้ประกอบการในพื้นที่จังหวัดสงขลา และใกล้เคียง เข้าถึงแหล่งความรู้ควบคู่เงินทุนอย่างเป็นรูปธรรม ต่อยอดให้เกิดการสร้างงาน สร้างอาชีพ สร้างรายได้ ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายภาครัฐตามแผนยุทธศาสตร์แห่งชาติ ที่ต้องการกระจายโอกาสให้เข้าถึงทุกพื้นที่ เพื่อพัฒนายกระดับศักยภาพผู้ประกอบการให้มีความเข้มแข็ง มีความสามารถในการแข่งขัน พัฒนาวิถีชีวิตให้ก้าวทันเทคโนโลยีและนวัตกรรมยุค Thailand 4.0 โดยคงพื้นฐานความเป็นอยู่แบบดั้งเดิม ซึ่งจะส่งผลให้กลุ่มแรงงานในท้องถิ่นมีวิถีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ลดปัญหาการทิ้งที่อยู่อาศัย ลดภาวะการเกิดแรงงานหนาแน่นในเมืองอุตสาหกรรมใหญ่ๆ ได้เป็นอย่างดี เมื่อต้นน้ำธุรกิจมีความแข็งแกร่ง กลางน้ำและปลายน้ำก็จะเกิดความมั่นคงยั่งยืนตามไปด้วย”นายสมชาย กล่าวเพิ่มเติม
ทั้งนี้ โครงการกองทุนพัฒนาเอสเอ็มอีตามแนวประชารัฐ วงเงินกองทุน 20,000 ล้านบาท เพื่อให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs ที่จดทะเบียนในรูปแบบของนิติบุคคล อัตราดอกเบี้ยเพียงร้อยละ 1 ต่อปี ตลอดอายุสัญญา ระยะเวลาชำระคืน 7 ปี ปลอดชำระคืนเงินต้นสูงสุด 3 ปี ไม่ต้องมีหลักประกัน ให้กู้สูงสุด 10 ล้านบาทต่อราย และ 75% ขึ้นไปจะเป็นวงเงินกู้ไม่เกิน 3 ล้านบาทต่อราย โดยธุรกิจต้องอยู่ในกลุ่มยุทธศาสตร์ของแต่ละจังหวัด ขณะนี้แต่ละจังหวัดจะเริ่มทยอยพิจารณาอนุมัติสินเชื่อไปบ้างแล้ว สินเชื่อ SMEs Transformation Loan วงเงิน 15,000 ล้านบาท เพื่อให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs ที่จดทะเบียนในรูปแบบของนิติบุคคล ที่ได้รับผลกระทบด้านเศรษฐกิจที่ทำให้กิจการมีความต้องการเงินทุนหมุนเวียนเพื่อความเข้มแข็ง อัตราดอกเบี้ยต่ำ 3% 3 ปีแรก ปีที่ 4-7 คิดอัตราดอกเบี้ย MLR ปกติของธนาคาร ระยะเวลาชำระคืน 7 ปี สามารถใช้ บสย. ค้ำประกันได้โดยไม่ต้องมีหลักทรัพย์
นอกจากนี้ภายในงานยังมีบรรยายพิเศษ อาทิ การสนับสนุนและช่วยเหลือวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม, แนวทางการดำเนินงานศูนย์สนับสนุนและช่วยเหลือ SMEs (SME Support & Rescue Center), การดำเนินงานช่วยเหลือเอสเอ็มอีทางด้านการเงิน และการบรรยายเรื่อง'ทำอย่างไรถึงได้รับสินเชื่อ (กองทุน)' โดย ประสบการณ์จริงจากผู้ประกอบการที่ได้รับบริการสินเชื่อจากกองทุนพัฒนาเอสเอ็มอีตามแนวประชารัฐ รวมถึงกิจกรรมเปิดบูธเผยแพร่บริการและคลินิกเอสเอ็มอีจากหน่วยงานพันธมิตร ซึ่งผู้ประกอบการที่สนใจยื่นกู้หรือต้องการคำปรึกษาแนะนำ สามารถแจ้งความประสงค์ได้ภายในงาน
ผู้ประกอบการ SMEs ที่สนใจกองทุนพัฒนาเอสเอ็มอีตามแนวประชารัฐ ท่านสามารถแสดงความประสงค์ยื่นคำขอได้ที่ สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัด ศูนย์สนับสนุนและช่วยเหลือ SMEs (SME Support & Rescue Center) กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม หรือ ธพว.สำหรับสินเชื่อ SMEs Transformation Loan หรือสินเชื่ออื่นๆ ของธนาคาร สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ Call Center 1357 หรือ ธพว.ทุกสาขาทั่วประเทศ และติดตามกิจกรรมดีๆ ผ่านช่องทาง facebook.com/SMEDevelopmentBank
---------------------------------------------------------------------------------------------------------------
ข้อมูลเพิ่มเติมติดต่อ : นางอุบลรัตน์ ค่าแพง ผู้อำนวยการฝ่ายสื่อสารองค์กรและกิจกรรมเพื่อสังคม โทร. 085-980-7861 หรือ 0-265-4574-5