- Details
- Category: แบงก์พาณิชย์
- Published: Sunday, 30 April 2017 16:38
- Hits: 6803
ทริสเรทติ้ง จัดอันดับเครดิตองค์กร 'ธ.อาร์ เอช บี จำกัด ประเทศไทย' ที่ 'AA' และอันดับเครดิตระยะสั้นขององค์กร ที่ ‘T1+’ ด้วยแนวโน้ม’Stable’
ทริสเรทติ้ง จัดอันดับเครดิตองค์กรของ ธนาคาร อาร์ เอช บี จำกัด ประเทศไทย ที่ระดับ ‘AA’และจัดอันดับเครดิตระยะสั้นขององค์กรที่ระดับ ‘T1+’ด้วยแนวโน้ม ‘Stable’หรือ ‘คงที่’ โดยอันดับเครดิตดังกล่าวสะท้อนความน่าเชื่อถือของ RHB Bank Berhad, Malaysia (RHB Bank Berhad) ซึ่งเป็นธนาคารสำนักงานใหญ่ และสะท้อนสถานะสภาพคล่องของธนาคาร อาร์ เอช บี ประเทศไทย ทั้งนี้ ด้วยสถานะทางกฎหมายที่เป็นธนาคารสาขา ธนาคาร อาร์ เอช บี ประเทศไทย จึงได้รับการจัดอันดับเครดิตในระดับเดียวกับ RHB Bank Berhad ในการจัดอันดับเครดิตนั้น ทริสเรทติ้งมีการประเมินสถานะทางธุรกิจ ตลอดจนเงินทุนและผลประกอบการ สถานะความเสี่ยง ความสามารถในการระดมเงินและสถานะสภาพคล่องของ RHB Bank Berhad โดยเปรียบเทียบกับคู่แข่งในระบบธนาคารพาณิชย์ของประเทศมาเลเซีย ดังนั้น การที่ RHB Bank Berhad ประกอบธุรกิจส่วนใหญ่ในประเทศมาเลเซีย การจัดอันดับเครดิตจึงพิจารณาถึงความแข็งแกร่งและสถานะความเสี่ยงของเศรษฐกิจและระบบธนาคารพาณิชย์ในภาพรวมของประเทศมาเลเซีย
อันดับเครดิตระยะสั้นขององค์กรที่ระดับ 'T1+' สะท้อนถึงสถานะเครดิตระยะยาวและฐานะสภาพคล่องที่แข็งแกร่งของธนาคาร อาร์ เอช บี ประเทศไทย ทั้งนี้ ในฐานะที่เป็นสาขาของธนาคารต่างประเทศในประเทศไทย ธนาคาร อาร์ เอช บี ประเทศไทย จำเป็นต้องดำรงสินทรัพย์สภาพคล่องให้เพียงพอสำหรับการดำเนินธุรกิจตามปกติตามแนวทางที่กำหนดโดยธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ทั้งนี้ สภาพคล่องที่แข็งแกร่งของธนาคารยังรวมถึงความสามารถในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนจากสำนักงานใหญ่ รวมถึงจากตลาดเงินกู้ยืมระหว่างธนาคาร และวงเงินสำรองจากหน้าต่างตั้งรับ (Standing Facilities) เพื่อปรับสภาพคล่อง ณ สิ้นวันจาก ธปท. ด้วย
แนวโน้มอันดับเครดิต 'Stable' หรือ 'คงที่' สะท้อนความคาดหมายว่า RHB Bank Berhad จะสามารถดำรงสถานะทางการตลาด รวมถึงดำรงสถานะทางธุรกิจที่มีเสถียรภาพและสถานะเงินกองทุนที่แข็งแกร่งได้ต่อไป และโดยที่ไม่มีการเสื่อมถอยของคุณภาพสินทรัพย์ หรือความสามารถในการจัดหาแหล่งเงินทุน หรือสถานะสภาพคล่องอย่างรุนแรงแต่อย่างใด
อันดับเครดิตของ RHB Bank Berhad อาจได้รับผลกระทบในทางลบหากมีการเสื่อมถอยอย่างรุนแรงของสถานะเงินทุน ตลอดจนคุณภาพสินทรัพย์ ความสามารถในการจัดหาแหล่งเงินทุน หรือสภาพคล่อง ส่วนผลกระทบต่อสถานะเครดิตในทางบวกอาจเกิดขึ้นหากธนาคารสามารถปรับปรุงสถานะทางการตลาด รวมถึงความสามารถในการหาแหล่งเงินทุน และความสามารถในการทำกำไรได้อย่างต่อเนื่อง
RHB Bank Berhad เป็นธนาคารพาณิชย์ที่ใหญ่เป็นอันดับ 4 ในประเทศมาเลเซียจากจำนวนธนาคารพาณิชย์ในประเทศทั้งสิ้น 8 แห่ง นอกจากกิจการธนาคารแล้ว RHB Bank Berhad ยังประกอบธุรกิจนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์ ธุรกิจประกันภัย และธุรกิจบริการจัดการสินทรัพย์ด้วย โดยดำเนินการผ่านบริษัทย่อยต่างๆ อาทิ RHB Investment Bank Berhad สำหรับธุรกิจหลักทรัพย์ RHB Insurance Berhad สำหรับธุรกิจประกันภัย และ RHB Asset Management Sdn Bhd สำหรับธุรกิจบริการจัดการสินทรัพย์ โดยในปี 2559 ธนาคารมีส่วนแบ่งทางการตลาดในส่วนของสินเชื่อและเงินฝากภายในประเทศอยู่ที่ 9% และ 8.5% ตามลำดับ ธนาคารมีผลการดำเนินงานที่มีเสถียรภาพเมื่อพิจารณาจากสถานะทางการตลาดและผลประกอบการ โดยธนาคารมีรายได้ดอกเบี้ยสุทธิคิดเป็น 70% ของรายได้รวม และมีรายได้จากค่าธรรมเนียมทั้งสิ้นคิดเป็น 18.5% ของรายได้รวมในปี 2559
ลูกค้ารายย่อยเป็นกลุ่มลูกค้าที่ใหญ่ที่สุดของของ RHB Bank Berhad โดยสร้างรายได้คิดเป็น 37% ของรายได้รวมในปี 2559 เมื่อพิจารณาจากการปล่อยสินเชื่อแล้ว สินเชื่อรายย่อยส่วนบุคคลและสินเชื่อที่อยู่อาศัยมีสัดส่วนคิดเป็น 45% และ 26% ของสินเชื่อรวมของธนาคารตามลำดับ ส่วนสินเชื่อสำหรับธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SME) นั้นคิดเป็น 29% และ 13% ตามลำดับ ณ สิ้นปี 2559 RHB Bank Berhad มีกิจการอยู่ในเกือบทุกประเทศที่เป็นสมาชิกสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) แต่ฐานธุรกิจระหว่างประเทศที่สำคัญที่สุดอยู่ในประเทศสิงคโปร์ซึ่งสร้างรายได้ในสัดส่วนที่มากที่สุด โดยในปี 2559 สร้างรายได้ให้แก่ธนาคารคิดเป็น 15.8% ของรายได้รวม ในขณะที่สินเชื่อจากธุรกิจในต่างประเทศอื่นๆ คิดเป็น 12% ของสินเชื่อรวม
RHB Bank Berhad มีสถานะเงินทุนที่ค่อนข้างแข็งแกร่ง โดย ณ สิ้นปี 2559 ธนาคารมีอัตราเงินกองทุนก่อนเงินปันผลต่อสินทรัพย์เสี่ยงตามเกณฑ์ BASEL-III อยู่ที่ 17.41% ซึ่งอยู่ในระดับที่เพียงพอสำหรับรองรับการเติบโตของธุรกิจในช่วง 2-3 ปีข้างหน้า อัตรากำไรจากดอกเบี้ยที่ลดลงอย่างต่อเนื่องจากการแข่งขันที่รุนแรงและสภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวส่งผลกดดันต่อความสามารถในการทำกำไรของธนาคารในประเทศมาเลเซียในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา โดย RHB Bank Berhad มีอัตราส่วนกำไรสุทธิต่อสินทรัพย์สุทธิเฉลี่ยต่อปี ที่ระดับ 0.72% ในปี 2559 ซึ่งถือว่าอยู่ในระดับต่ำเมื่อเปรียบเทียบกับค่าเฉลี่ยของคู่แข่งรายอื่นๆ ในประเทศมาเลเซีย ธนาคารจึงได้ดำเนินโครงการลดค่าใช้จ่ายด้านบุคคลากรในช่วงปี 2558 เพื่อรักษาระดับความสามารถในการทำกำไร
การชะลอตัวของเศรษฐกิจมาเลเซียในช่วงที่ผ่านมาประกอบกับอุตสาหกรรมน้ำมันและก๊าซซึ่งอยู่ในช่วงขาลงได้ส่งผลกระทบอย่างมากต่อคุณภาพสินทรัพย์ของธนาคาร โดยเห็นได้จากการเพิ่มขึ้นของต้นทุนเครดิตและระดับสินเชื่อด้อยคุณภาพในปี 2559 ทั้งนี้ อัตราส่วนสินเชื่อด้อยคุณภาพต่อสินเชื่อรวมของธนาคารเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 2.43% ณ สิ้นปี 2559 และต้นทุนเครดิตเพิ่มขึ้นจาก 0.31% ในปี 2558 มาอยู่ที่ 0.39% ในปี 2559 ตามการเพิ่มขึ้นของค่าเผื่อหนี้ด้อยคุณภาพโดยเฉพาะในส่วนที่ได้รับความเสี่ยงจากอุตสาหกรรมน้ำมันและก๊าซธรรมชาติซึ่งมีสัดส่วนราว 3% ของสินเชื่อรวม อย่างไรก็ตาม การถดถอยของคุณภาพสินทรัพย์คาดว่าจะถึงจุดสูงสุดในปี 2559 โดยในปี 2560 คาดว่าจะปรับตัวดีขึ้นหรืออย่างน้อยที่สุดก็ไม่ถดถอยลงไปกว่าเดิม ส่วนสัดส่วนต้นทุนเครดิตเฉลี่ยย้อนหลัง 5 ปีที่ระดับ 0.26% ต่อปีนั้นถือว่าอยู่ในระดับค่าเฉลี่ยของอุตสาหกรรม
ความสามารถในจัดหาแหล่งเงินทุนของ RHB Bank Berhad อยู่ในระดับค่าเฉลี่ยสำหรับธนาคารขนาดกลาง สัดส่วนของบัญชีเงินฝากกระแสรายวันและออมทรัพย์ (Current Account and Savings Account -CASA) อยู่ที่ 25.6% ณ สิ้นปี 2559 ซึ่งค่อนข้างต่ำกว่ากลุ่มธนาคารขนาดใหญ่ในประเทศมาเลเซีย เงินฝากประจำมีสัดส่วนมากที่สุดของแหล่งเงินทุนของธนาคาร ในขณะที่เงินฝากจากกลุ่มลูกค้าจากภาคธุรกิจมีสัดส่วนที่ใหญ่ที่สุดประมาณ 60% ของฐานเงินฝากรวมจากลูกค้า
กลยุทธ์ของธนาคารในการหาแหล่งเงินทุนคือการขยาย CASA จากการทำธุรกรรมในกลุ่มเจ้าของกิจการและผู้ประกอบการในธุรกิจ SME ธนาคารอาศัยแหล่งเงินทุนจากการกู้ยืมซึ่งรวมถึงเงินฝากและการกู้ยืมจากธนาคารอื่นในสัดส่วนที่สูงกว่าธนาคารที่มีขนาดใหญ่กว่า โดยสัดส่วนสินเชื่อต่อเงินฝากของธนาคารซึ่งอยู่ที่ 93.2% ณ สิ้นปี 2559 นั้นถือว่าใกล้เคียงกับค่าเฉลี่ยของธนาคารพาณิชย์ในประเทศมาเลเซีย
สภาพคล่องของ RHB Bank Berhad อยู่ในระดับใกล้เคียงกับค่าเฉลี่ยของอุตสาหกรรมโดยมีสัดส่วนสินทรัพย์สภาพคล่องต่อเงินฝากทั้งหมดรวมตั๋วแลกเงินและการรับรองตั๋วเงินอยู่ที่ 34.3% ณ สิ้นปี 2559 การลงทุนในสินทรัพย์ส่วนใหญ่ของธนาคารเป็นการลงทุนในตราสารหนี้ภาครัฐที่มีสภาพคล่อง รวมถึงตราสารในตลาดเงิน และตราสารหนี้ภาคเอกชน
ธนาคาร อาร์ เอช บี จำกัด ประเทศไทย (RHB)
อันดับเครดิตองค์กร: AA
อันดับเครดิตระยะสั้นขององค์กร: T1+
แนวโน้มอันดับเครดิต: Stable
บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด/ www.trisrating.com
ติดต่อ [email protected] โทร. 0-2231-3011 ต่อ 500 อาคารสีลมคอมเพล็กซ์ ชั้น 24 191 ถ. สีลม กรุงเทพฯ 10500
บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด สงวนลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2560 ห้ามมิให้บุคคลใด ใช้ เปิดเผย ทำสำเนาเผยแพร่ แจกจ่าย หรือเก็บไว้เพื่อใช้ในภายหลังเพื่อประโยชน์ใดๆ ซึ่งรายงานหรือข้อมูลการจัดอันดับเครดิต ไม่ว่าทั้งหมดหรือเพียงบางส่วน และไม่ว่าในรูปแบบ หรือลักษณะใดๆ หรือด้วยวิธีการใดๆ โดยที่ยังไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษรจาก บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ก่อน การจัดอันดับเครดิตนี้มิใช่คำแถลงข้อเท็จจริง หรือคำเสนอแนะให้ซื้อ ขาย หรือถือตราสารหนี้ใดๆ แต่เป็นเพียงความเห็นเกี่ยวกับความเสี่ยงหรือความน่าเชื่อถือของตราสารหนี้นั้นๆ หรือของบริษัทนั้นๆ โดยเฉพาะ ความเห็นที่ระบุในการจัดอันดับเครดิตนี้มิได้เป็นคำแนะนำเกี่ยวกับการลงทุน หรือคำแนะนำในลักษณะอื่นใด การจัดอันดับและข้อมูลที่ปรากฏในรายงานใดๆ ที่จัดทำ หรือพิมพ์เผยแพร่โดย บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ได้จัดทำขึ้นโดยมิได้คำนึงถึงความต้องการด้านการเงิน พฤติการณ์ ความรู้ และวัตถุประสงค์ของผู้รับข้อมูลรายใดรายหนึ่ง
ดังนั้น ผู้รับข้อมูลควรประเมินความเหมาะสมของข้อมูลดังกล่าวก่อนตัดสินใจลงทุน บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ได้รับข้อมูลที่ใช้สำหรับการจัดอันดับเครดิตนี้จากบริษัทและแหล่งข้อมูลอื่นๆ ที่เชื่อว่าเชื่อถือได้ ดังนั้น บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด จึงไม่รับประกันความถูกต้อง ความเพียงพอ หรือความครบถ้วนสมบูรณ์ของข้อมูลใดๆ ดังกล่าว และจะไม่รับผิดชอบต่อความสูญเสีย หรือความเสียหายใดๆ อันเกิดจากความไม่ถูกต้อง ความไม่เพียงพอ หรือความไม่ครบถ้วนสมบูรณ์นั้น และจะไม่รับผิดชอบต่อข้อผิดพลาด หรือการละเว้นผลที่ได้รับหรือการกระทำใดๆโดยอาศัยข้อมูลดังกล่าว ทั้งนี้ รายละเอียดของวิธีการจัดอันดับเครดิตของ บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด เผยแพร่อยู่บน Website: http://www.trisrating.com/th/rating-information-th2/rating-criteria.html