- Details
- Category: แบงก์พาณิชย์
- Published: Friday, 10 March 2017 06:58
- Hits: 5118
ธนาคารไทยพาณิชย์ร่วมทุน ‘Dymon Asia’ บริษัทเวนเจอร์แคปปิตอลชั้นนำในสิงคโปร์ ตอกย้ำความเป็นผู้บุกเบิกด้านฟินเทค เดินหน้าขยายเครือข่ายในเอเชียอย่างต่อเนื่อง
ธนาคารไทยพาณิชย์ ภายใต้การดำเนินงานของ ดิจิทัล เวนเจอร์ส เสริมความแข็งแกร่งเครือข่ายการลงทุนและฟินเทคในเอเชีย ประกาศลงทุนครั้งสำคัญในไดมอน เอเชีย (Dymon Asia) เวนเจอร์แคปปิตอลที่เน้นการลงทุนในสตาร์ทอัพกลุ่ม ฟินเทคของไดมอน เอเชีย แคปปิตอล (Dymon Asia Capital) บริษัทชั้นนำของสิงคโปร์ ที่ได้รับการยกย่องจากบลูมเบิร์กให้เป็นหนึ่งใน 10 กองทุนเฮดจ์ฟันด์ที่มีผลประกอบการดีที่สุดในเอเชียในปี 2557
การลงทุนในครั้งนี้ เป็นหนึ่งในกลยุทธ์สำคัญสำหรับธนาคารไทยพาณิชย์ที่จะสร้างและขยายเครือข่ายเวนเจอร์แคปปิตอลทั่วโลก และช่วยให้ธนาคารได้รับข้อมูลเชิงลึก และข้อมูลความเคลื่อนไหวเกี่ยวกับฟินเทคในตลาดโลก
นายธนา เธียรอัจฉริยะ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ดิจิทัล เวนเจอร์ส กล่าวว่า “การลงทุนในไดมอน เอเชีย จะเปิดโอกาสให้บริษัทสตาร์ทอัพในกลุ่มฟินเทคในสิงคโปร์และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เข้าถึงเงินทุนได้สะดวกยิ่งขึ้น ในขณะที่ ดิจิทัล เวนเจอร์ส จะได้ข้อมูล ความรู้ รับทราบความเคลื่อนไหวล่าสุดเกี่ยวกับธุรกิจฟินเทคและสตาร์ทอัพทั่วโลก ความร่วมมือในครั้งนี้จะทำให้ ดิจิทัล เวนเจอร์ส สามารถสร้างและขยายเครือข่ายฟินเทคระดับโลกได้อย่างมีประสิทธิภาพ และทำให้เรากลายเป็นศูนย์กลางข้อมูลความรู้ที่จะเป็นประโยชน์ต่อธนาคารไทยพาณิชย์และลูกค้าต่อไปในอนาคต”
บริษัท ไดมอน เอเชีย เวนเจอร์ส เป็นเวนเจอร์แคปปิตอลที่มุ่งเน้นการลงทุนในสตาร์ทอัพกลุ่มฟินเทคที่ดำเนินธุรกิจในระยะเริ่มต้นทั่วเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยให้ความสำคัญมากต่อกลุ่มฟินเทคที่ทำธุรกิจแบบ Business to Business (B2B) ในสายสินเชื่อ สินทรัพย์และการบริหารความมั่งคั่ง ธุรกิจประกัน และเทคโนโลยี Blockchain ซึ่งในปัจจุบัน บริษัทฯ กำลังทำการวิเคราะห์และตรวจสอบสถานะทางด้านการเงินและการประกอบการ (Due Diligence) ของบริษัทที่มีศักยภาพและน่าสนใจอีกกว่า 10 แห่ง
มร. จิเนช ปาเทล พาร์ทเนอร์ของบริษัท ไดมอน เอเชีย เวนเจอร์ส กล่าวว่า “การที่ธนาคารไทยพาณิชย์ได้เข้ามาเป็นนักลงทุนรายสำคัญของไดมอน เอเชีย เวนเจอร์ส สะท้อนให้เห็นถึงความมุ่งมั่นของธนาคารไทยพาณิชย์ที่ให้ความสำคัญ ต่อเทคโนโลยีด้านการเงินและการสร้างเครือข่ายความสัมพันธ์กับธุรกิจฟินเทคระดับโลก ไดมอน เอเชีย เวนเจอร์ส มีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้รับความไว้วางใจจากธนาคารไทยพาณิชย์ และ ดิจิทัล เวนเจอร์สในครั้งนี้”
นายธนา กล่าวเสริมว่า “ด้วยความมุ่งมั่นของเราที่จะสร้างระบบนิเวศทางการเงิน (FinTech Ecosystem) ความร่วมมือในครั้งนี้จะเป็นก้าวสำคัญที่จะลงทุนอย่างต่อเนื่อง เรามีความเชื่อมั่นว่าความร่วมมือในครั้งนี้จะทำให้เราได้เพิ่มพูนความรู้และได้รับข้อมูลเชิงลึกที่ทันสมัยเกี่ยวกับเทคโนโลยีและโซลูชั่นอื่นๆ เช่น Blockchain และ Artificial Intelligence ในด้านการเงิน ที่จะสร้างประโยชน์ให้แก่ธนาคาร ผู้ประกอบการ และลูกค้าของเราในอนาคตอันใกล้”
เกี่ยวกับ ดิจิทัล เวนเจอร์ส (Digital Ventures) – www.dv.co.th
ดิจิทัล เวนเจอร์ส คือบริษัทผู้สร้างสรรค์นวัตกรรมทางการเงินในเครือธนาคารไทยพาณิชย์ ก่อตั้งขึ้นเมื่อต้นปี 2559 ตาม กลยุทธ์ในการก้าวเข้าสู่ยุคดิจิทัล (Digital Transformation) ของทางธนาคารฯ ดิจิทัล เวนเจอร์ส มุ่งมั่นที่จะเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงของอุตสาหกรรมธนาคารผ่านการลงทุน การค้นคว้านวัตกรรม รวมถึงการสนับสนุนผู้ประกอบการไทยให้เติบโตร่วมไปกับธนาคารฯ เบื้องต้น ดิจิทัล เวนเจอร์ส มีเงินลงทุนใน Financial Technology จำนวน 1,750 ล้านบาท (หรือประมาณ 50 ล้านเหรียญสหรัฐฯ)
เกี่ยวกับไดมอน เอเชีย เวนเจอร์ (Dymon Asia Ventures)
ไดมอน เอเชีย แคปปิตอล เป็นบริษัทบริหารเงินลงทุนที่มีมูลค่าสินทรัพย์การลงทุนรวมประมาณ 5,400 ล้านดอลล่าร์ (รวมไปถึงเงินลงทุน และสินทรัพย์ภายใต้การจัดการโดยประมาณ) ณ เดือนมกราคม 2560 โดยบริหารกองทุนเฮดจ์ฟันด์ หลายแห่ง รวมถึงไดมอน เอเชีย แมคโคร ฟันด์ (Dymon Asia Macro Fund) ซึ่งเป็นกองทุนเฮดจ์ฟันด์ระดับแมคโคร ที่ใช้กลยุทธ์ที่มีความยืดหยุ่น บนสกุลเงิน สัญญาซื้อขายล่วงหน้า และอัตราดอกเบี้ย ของกลุ่มประเทศอาเซียนและ G10 โดยในปี 2555 ไดมอน เอเชีย ได้เปิดตัวไดมอน เอเชีย ไพรเวท อีควิตี้ (เซาธ์อีสต์เอเชีย) ฟันด์ แอล.พี. (Dymon Asia Private Equity (S.E. Asia) Fund, L.P.) ซึ่งเป็นกองทุนประเภทไพรเวทอีควิตี้แห่งแรกของไดมอน เอเชีย
ไดมอน เอเชีย เวนเจอร์ แคปปิตอล ฟันด์ แอล.พี. (Dymon Asia Venture Capital Fund, L.P.) เป็นกองทุนเวนเจอร์แคปปิตอลแรกของไดมอน เอเชีย ที่เน้นการสร้างกำไรโดยการลงทุนในส่วนทุนของบริษัทที่ดำเนินธุรกิจเกี่ยวกับเทคโนโลยีหรือธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับบริการทางการเงิน (ฟินเทค) ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมทั้งสนใจลงทุนในกลุ่ม B2B ในอุตสาหกรรมอื่นๆ ที่มีศักยภาพสูง