WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

Cกฤษฎา จนะวจารณะคลัง สั่ง 3 แบงก์รัฐฯ ออกมาตรการด้านการเงินช่วยผู้ประสบอุทกภัยในพื้นที่ภาคใต้ เพิ่มเติม

     คลัง สั่ง 3 แบงก์รัฐฯ ทั้ง ธ.ก.ส. - ออมสิน - SME Bank ออกมาตรการด้านการเงินช่วยผู้ประสบอุทกภัยในพื้นที่ภาคใต้และจังหวัดประจวบคีรีขันธ์  เพิ่มเติม

      นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลังในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า เหตุการณ์อุทกภัยที่ผ่านมาก่อให้เกิดความเสียหายและกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่และการประกอบอาชีพของประชาชน และภาครัฐได้มีมาตรการเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนด้านการเงินให้แก่ผู้ประสบภัยไปแล้ว ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 24 มกราคม 2560 อย่างไรก็ดี ยังคงมีเกษตรกร ประชาชน และผู้ประกอบการรายย่อยที่ยังคงต้องการความช่วยเหลือในด้านเงินทุนเพิ่มเติม ดังนั้น คณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2560 เห็นชอบ มาตรการด้านการเงินเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยในพื้นที่ภาคใต้และจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ปี 2560 เพิ่มเติม

ตามที่กระทรวงการคลังเสนอโดยมีรายละเอียดดังนี้

1. ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.)

      1.1 โครงการสินเชื่อเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายฉุกเฉินให้แก่เกษตรกรผู้ประสบอุทกภัยในพื้นที่ภาคใต้ ปี 2559/60 เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายฉุกเฉินหรือจำเป็นในครัวเรือนของเกษตรกรโดย ธ.ก.ส. ให้สินเชื่อรายละไม่เกิน 50,000 บาท ระยะเวลากู้ยืมไม่เกิน 3 ปี โดย 6 เดือนแรกคิดอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 0 หลังจากนั้นคิดอัตราดอกเบี้ยร้อยละ MRR ต่อปี (ปัจจุบัน MRR ของ ธ.ก.ส. อยู่ที่ร้อยละ 7 ต่อปี) วงเงินสินเชื่อรวม 10,000 ล้านบาท ทั้งนี้ เกษตรกรจะต้องยื่นขอสินเชื่อภายใน 3 เดือนนับถัดจากเดือนที่เกิดภัยพิบัติ

      1.2 โครงการสินเชื่อเพื่อฟื้นฟูการผลิตให้แก่เกษตรกรผู้ประสบอุทกภัยในพื้นที่ภาคใต้ ปี 2559/60 โดย ธ.ก.ส. สนับสนุนสินเชื่อใหม่เพื่อฟื้นฟูอาชีพให้แก่เกษตรกรรายละไม่เกิน 300,000 บาท ระยะเวลากู้ยืมไม่เกิน 10 ปี โดยปีที่ 1 – 4 คิดอัตราดอกเบี้ยจากเกษตรกรร้อยละ 2 ต่อปี และตั้งแต่ปีที่ 5 เป็นต้นไป คิดอัตราดอกเบี้ย MRR วงเงินสินเชื่อรวม 10,000 ล้านบาท ทั้งนี้ เกษตรกรสามารถยื่นขอสินเชื่อตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ ถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2560

2. ธนาคารออมสิน

      2.1 โครงการสินเชื่อประชารัฐเพื่อประชาชน เพื่อเป็นเงินทุนหรือเงินทุนหมุนเวียนในการประกอบอาชีพ โดยธนาคารออมสินให้สินเชื่อรายละไม่เกิน 50,000 บาท ระยะเวลากู้ยืมไม่เกิน 5 ปี ปีที่ 1 คิดอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 0 ต่อเดือน และปีที่ 2 – 5 คิดอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 1 ต่อเดือน วงเงินสินเชื่อรวม 4,000 ล้านบาท และสามารถใช้บุคคลค้ำประกันหรือค้ำประกันโดย บสย. ได้ โดยสามารถยื่นขอสินเชื่อภายในวันที่ 31 ธันวาคม 2560

     2.2 โครงการสินเชื่อเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ที่ประสบภัยน้ำท่วม ปี 2560 เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้แก่ SMEs ที่เป็นลูกค้าเดิมของธนาคารออมสินที่ประสบอุทกภัย โดยธนาคารออมสินให้สินเชื่อร้อยละ 10 ของวงเงินกู้สินเชื่อเดิม สูงสุดราบละไม่เกิน 5,000,000 บาท ระยะเวลากู้ยืมไม่เกิน 5 ปี ปีที่ 1 คิดอัตราดอกเบี้ยร้อยละ MLR – 2 ต่อปี และปีต่อไปคิดอัตราดอกเบี้ยร้อยละ MLR ต่อปี (ปัจจุบัน MLR ของธนาคารออมสินอยู่ที่ร้อยละ 6.5 ต่อปี) วงเงินสินเชื่อรวม 2,500 ล้านบาท ทั้งนี้ ลูกค้าสามารถยื่นขอสินเชื่อภายในวันที่ 31 มีนาคม 2560 และจัดทำนิติกรรมสัญญาให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 30 มิถุนายน 2560

3. ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.)

      ธพว. ได้จัดทำมาตรการให้ความช่วยเหลือผ่านโครงการสินเชื่อฟื้นฟู SMEs จากอุทกภัยภาคใต้ ปี 2560 เพื่อเป็นเงินทุนหมุนเวียนให้ SMEs ทั้งลูกค้าเดิมของ ธพว. และลูกค้าใหม่ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุอุทกภัย โดย ธพว. ให้สินเชื่อรายละไม่เกิน 15 ล้านบาท ระยะเวลากู้ยืมไม่เกิน 7 ปี ปีที่ 1 – 3 คิดอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 3 ต่อปี ปีที่ 4 - 7 เป็นไปตามอัตราดอกเบี้ยที่ ธพว. กำหนด โดยผู้กู้ต้องมีหลักประกันหรือให้ บสย. ค้ำประกันได้ ซึ่งหากใช้ บสย. ค้ำประกันจะฟรีค่าธรรมเนียมในปีแรก ทั้งนี้ SMEs สามารถยื่นขอสินเชื่อภายใน 1 ปี นับตั้งแต่วันที่คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบ หรือจนกว่าจะเต็มวงเงิน แล้วแต่อย่างหนึ่งอย่างใดจะถึงก่อน

      นายกฤษฎาฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า “อุทกภัยซึ่งเกิดขึ้นในพื้นที่ภาคใต้มีความรุนแรงและส่งผลกระทบต่อการประกอบอาชีพของประชาชนในพื้นที่เป็นอย่างมาก ดังนั้น มาตรการด้านการเงินเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยในพื้นที่ภาคใต้และจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ปี 2560 เพิ่มเติมนี้ จะสามารถช่วยเหลือประชาชนได้ครอบคลุมทุกกลุ่มเป้าหมายทั้งเกษตรกร ประชาชนรายย่อย และผู้ประกอบการในพื้นที่ ให้มีเงินทุนหมุนเวียน สามารถฟื้นฟูกิจการ ปรับปรุงและซ่อมแซมอาคาร โรงงาน เครื่องจักร เพื่อให้สามารถประกอบอาชีพต่อไปได้”

สำนักข่าวอีไฟแนนซ์ไทย

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!