- Details
- Category: แบงก์พาณิชย์
- Published: Sunday, 12 February 2017 23:26
- Hits: 6800
KBANK ตั้งเป้าปี 60 ปล่อยกู้ธุรกิจไทยในกัมพูชา 1.5 พันลบ. หลังลุยเปิดสาขาพนมเปญ
นายปรีดี ดาวฉาย กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย (KBANK) เปิดเผยว่า ธนาคารกสิกรไทยได้เปิดสาขาพนมเปญ ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2559 เป็นต้นมา เป้าหมายการดำเนินธุรกิจของสาขาพนมเปญในระยะแรก จะมุ่งเน้นการเป็นช่องทางอำนวยความสะดวกต่อนักธุรกิจไทยทั้งด้านการให้สินเชื่อเพื่อธุรกิจ พร้อมสนับสนุนการระดมทุนเพื่อการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน เสื้อผ้า เครื่องนุ่งห่ม อาหารแปรรูป ฯลฯ นำเสนอบริการรับชำระเงินด้วยสกุลไทยบาท-กัมพูชาเรียลสำหรับการค้าระหว่างไทย-กัมพูชา และบริการธุรกรรมต่าง ๆ รวมทั้งการให้คำปรึกษาทางธุรกิจแก่นักลงทุนไทยที่เข้าไปลงทุนในประเทศกัมพูชา ซึ่งส่วนใหญ่จะอยู่ในธุรกิจเทรดดิ้ง ธุรกิจบริการ ธุรกิจโครงสร้างพื้นฐาน และโรงงานผลิตเป็นต้น
โดยภายในปี 60 ธนาคารกสิกรไทยตั้งเป้าหมายปล่อยสินเชื่อในกัมพูชาจำนวน 1,500 ล้านบาท พร้อมตั้งเป้าหมายขยายการให้บริการทางการเงินให้แก่ธุรกิจท้องถิ่นและลูกค้ารายย่อยในกัมพูชามากขึ้นในอีก 3-5 ปี ข้างหน้า ประเทศกัมพูชาเป็นประเทศที่มีพฤติกรรมการทำธุรกรรมทางการเงินแตกต่างไปจากประเทศไทย โดยเฉพาะการเติบโตของบริษัทประเภท Bank Agent ซึ่งเป็นบริษัทผู้ให้บริการธุรกรรมทางการเงินที่ไม่ใช่ธนาคาร โดยในอนาคตธนาคารกสิกรไทยมีแผนจะขยายจำนวนการปล่อยสินเชื่อเพื่อลูกค้ารายย่อยและไมโครไฟแนนซ์ ที่มีอัตราการเติบโตและมีความต้องการในการขยายธุรกิจเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งการปล่อยสินเชื่อเพื่อการเกษตรในพื้นที่การเกษตรของกัมพูชา
นายปรีดี กล่าวว่า ที่ผ่านมา ธนาคารกสิกรไทยเป็นธนาคารรายแรกที่ได้เป็นพันธมิตรกับ Wing Cambodia Limited Specialised Bank ซึ่งเป็น Bank Agent ผู้นำการให้บริการด้านการโอนเงินรายใหญ่ในกัมพูชา ในการให้บริการลูกค้าในประเทศไทยโอนเงินผ่านK-Mobile Banking จากประเทศไทยมายังบัญชีผู้รับในประเทศกัมพูชาผ่านWing ตั้งแต่ปี 2558 เป็นต้นมา รวมทั้งมีการให้คำแนะนำด้านการค้าการลงทุนแก่นักธุรกิจไทยที่เข้าไปลงทุนในกัมพูชาอย่างต่อเนื่อง
สำหรับ การเข้าไปให้บริการในประเทศกัมพูชาอย่างเต็มรูปแบบครั้งนี้ ธนาคารกสิกรไทยจะนำเอาศักยภาพของธนาคารทั้งด้านการให้สินเชื่อ นวัตกรรมเพื่อการให้บริการธุรกรรมต่าง ๆ รวมทั้งบริการรับชำระด้วยสกุลเงินท้องถิ่นทั่วภูมิภาคอาเซียน และความเป็นผู้นำด้านดิจิทัลแบงกิ้ง เข้ามาต่อยอดให้บริการที่ดีที่สุดให้แก่ลูกค้าในประเทศกัมพูชา ทั้งลูกค้าธุรกิจรวมไปถึงการให้บริการแก่ลูกค้ารายย่อยในอนาคตด้วยเช่นกัน เพื่อตอกย้ำความมุ่งมั่นของธนาคารกสิกรไทยในการเป็นธนาคารแห่งภูมิภาค AEC+3
นายปรีดี กล่าวว่า ธนาคารตั้งเป้าปล่อยสินเชื่อในกัมพูชาภายใน 1-2 ปี (ปี 60-61) มูลค่า 2,000 ล้านบาท โดยปัจจุบันมีนักลงทุนชาวไทยที่เข้ามาลงทุนในกัมพูชามีมูลค่าการลงทุนรวม 1 พันล้านเหรียญสหรัฐ ทำให้ธนาคารเห็นถึงศักยภาพของการเติบโตในประเทศกัมพูชา ซึ่งมีโอกาสขยายตัวได้มากขึ้นในอนาคต โดยในวันนี้ธนาคารกสิกรไทยได้เปิดสาขาพนมเปญอย่างเป็นทางการ ด้วยทุนจดทะเบียน 50 ล้านเหรียญสหรัฐ ขณะเดียวกันธนาคารกสิกรไทยยังมีแผนที่จะเปิดสาขาที่ 2 ในลาว ที่เวียงจันทน์ ภายในเดือนมีนาคมนี้
นายรณดล นุ่มนนท์ ผู้ช่วยผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ธปท.เล็งเห็นถึงการเติบโตของการขยายตัวในเรื่องการลงทุนทางธุรกิจในภูมิภาคอาเซียน โดยเฉพาะในกลุ่ม CLMV โดยปัจจุบันในประเทศกัมพูชามี 4 ธนาคารพาณิชย์รายใหญ่ในประเทศไทยมาเปิดสาขา ได้แก่ ธนาคารกรุงเทพ (BBL) ธนาคารกรุงไทย (KTB) ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) และส่าสุดธนาคารกสิกรไทย ซึ่งปัจจุบันยังไม่พบข้อมูลธนาคารรายอื่นในประเทศไทยเข้ามาขออนุญาตเข้ามาเปิดสาขาในกัมพูชาเพิ่มเติม
ทั้งนี้ ธปท.ต้องการเห็นการทำธุรกิจไมโครไฟแนนซ์ในประเทศไทยให้เพิ่มมากขึ้น โดยอยากให้นำรูปแบบไมโครไฟแนนซ์ในประเทศกัมพูชามาศึกษาเป็นตัวอย่าง เพราะธุรกิจไมโครไฟแนนซ์ในประเทศกัมพูชามีการขยายตัวค่อนข้างมาก และมีการบริหารจัดการที่ดี ประชาชนกัมพูชามีความต้องการสินเชื่อดังกล่าวค่อนข้างสูง และธุรกิจไมโครไฟแนนซ์ไนกัมพูชาไม่จำเป็นต้องมีหลักทรัพย์ค้ำประกันซึ่งต่างจากประเทศไทยที่จะต้องมีหลักทรัพย์ค้ำประกัน และหนี้เสียของสินเชื่อดังกล่าวในกัมพูชาถือว่าอยู่ในระดับต่ำ จึงอยากให้ธุรกิจไมโครไฟแนนซ์เกิดขึ้นในประเทศไทย แต่อย่างไรก็ตามจะต้องมีการศึกษาและหาพันธมิตรที่มีความเชี่ยวชาญเข้ามาร่วมลงทุนในธุรกิจดังกล่าว
ส่วนธุรกิจนาโนไฟแนนซ์ที่ได้เริ่มให้บริการไปแล้วในประเทศไทย ผลตอบรับที่กลับมาไม่เป็นที่นิยมของประชาชน ทำให้ผู้ประกอบการชะลอการปล่อยสินเชื่อดังกล่าว ซึ่งธนาคารแห่งประเทศไทยก็อยู่ระหว่างการพูดคุยกับผู้ประกอบการนาโนไฟแนนซ์ในการหาทางแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น แต่อย่างไรก็ตามยังจะต้องกำหนดอัตราเพดานดอกเบี้ยให้อยู่ในระดับเดิมที่ 36% ซึ่งแนวทางการแก้ปัญหาจะยังคงต้องรอข้อสรุปต่อไป