- Details
-
Category: แบงก์พาณิชย์
-
Published: Wednesday, 08 February 2017 08:42
-
Hits: 2847
ธ.ก.ส.บรรเทาอุทกภัยพื้นที่ภาคใต้ ปล่อยสินเชื่อฟื้นฟูคุณภาพชีวิตกว่า 20,000 ล้านบาท
ธ.ก.ส. พร้อมบรรเทาผลกระทบอุทกภัยภาคใต้ตามมติ ครม. เตรียมวงเงินกว่า 20,000 ล้านบาท ใช้จ่ายฉุกเฉิน ฟื้นฟูอาชีพ และพักชำระหนี้ให้แก่เกษตรกรที่ประสบภัยกว่า 460,000 ราย
นายลักษณ์ วจนานวัช ผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2560 มีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงการคลังและกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เสนอมาตรการด้านการเงินเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยในพื้นที่ภาคใต้และจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ประกอบด้วย
1. โครงการสินเชื่อเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายฉุกเฉินให้แก่เกษตรกรผู้ประสบอุทกภัยในพื้นที่ภาคใต้ ปี 2559/60 เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายฉุกเฉินหรือจำเป็นในครัวเรือนของเกษตรกรและเพื่อลดปัญหาการก่อหนี้นอกระบบ สำหรับกลุ่มเป้าหมาย เกษตรกรลูกค้า ธ.ก.ส. หรือลูกค้าใหม่ ที่ได้รับความเสียหายจากอุทกภัย จำนวนประมาณ 200,000 ราย
โดยให้สินเชื่อแก่เกษตรกรรายละไม่เกิน 50,000 บาท ระยะเวลากู้ยืมไม่เกิน 3 ปี โดยใน 6 เดือนแรกคิดอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 0 หลังจากนั้นคิดอัตราดอกเบี้ย MRR ต่อปี (ปัจจุบัน MRR ของ ธ.ก.ส. อยู่ที่ร้อยละ 7 ต่อปี) วงเงินสินเชื่อรวม 10,000 ล้านบาท มีระยะเวลาจ่ายสินเชื่อภายใน 3 เดือนนับถัดจากเดือนที่เกิดภัยพิบัติ และ ธ.ก.ส. ไม่ขอรับชดเชยภาระดอกเบี้ยและต้นทุนเงิน
2. โครงการสินเชื่อเพื่อฟื้นฟูการผลิตให้แก่เกษตรกรผู้ประสบอุทกภัยในพื้นที่ภาคใต้ ปี 2559/60 เพื่อสนับสนุนสินเชื่อเพื่อการผลิตใหม่ ทดแทนการผลิตเดิม หรือปรับเปลี่ยนประเภทการผลิตที่เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ รวมทั้งการปรับปรุงพื้นที่การผลิต และลงทุนซื้อ ซ่อมแซม เครื่องมือและอุปกรณ์การเกษตรที่ได้รับความเสียหาย มีกลุ่มเป้าหมาย เกษตรกรลูกค้า ธ.ก.ส. หรือลูกค้าใหม่ที่ได้รับความเสียหายจากอุทกภัย ส่งผลให้รายได้ลดลงมากกว่าร้อยละ 50 จากรายได้ปกติ และจำเป็นต้องได้รับการฟื้นฟูการผลิตจำนวนประมาณ 50,000ราย
โดยให้สินเชื่อแก่เกษตรกรรายละไม่เกิน 300,000 บาทระยะเวลากู้ยืมไม่เกิน 10 ปี โดยปีที่ 1 – 4 คิดอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 5 ต่อปี เรียกเก็บจากเกษตรกรในอัตราร้อยละ 2 ต่อปี และรัฐบาลชดเชยดอกเบี้ยแทนเกษตรกรในอัตราร้อยละ 3 ต่อปี และตั้งแต่ปีที่ 5 เป็นต้นไป คิดอัตราดอกเบี้ย MRR (ปัจจุบัน MRR ของ ธ.ก.ส. อยู่ที่ร้อยละ 7 ต่อปี) วงเงินสินเชื่อรวม10,000 ล้านบาท เริ่มโครงการเดือนกุมภาพันธ์ ถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2560 ทั้งนี้ ธ.ก.ส. ขอรับการชดเชยจากรัฐบาลในอัตราร้อยละ 3 ต่อปี ระยะเวลา 4 ปี รวมวงเงินชดเชยไม่เกิน 1,200ล้านบาท โดยขอรับการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีตามภาระที่เกิดขึ้นจริงตามขั้นตอนต่อไป
3. โครงการพักชำระหนี้เงินต้นและลดดอกเบี้ยให้เกษตรกรผู้ประสบอุทกภัยในพื้นที่ภาคใต้และจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ปี 2559/60 เพื่อบรรเทาภาระหนี้สินและลดต้นทุนในการประกอบอาชีพของเกษตรกรลูกค้า ธ.ก.ส. ให้สามารถนำเงินส่วนนี้ไปปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตของตนเองให้ดีขึ้น รวมทั้งมีเงินเหลือเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายที่จำเป็นในครัวเรือน สามารถพึ่งพาตนเองและฟื้นฟูการประกอบอาชีพในช่วงที่ได้รับความเดือดร้อนจากอุทกภัยได้ มีกลุ่มเป้าหมาย เกษตรกรลูกค้า ธ.ก.ส. ที่ได้รับความเสียหายจากอุทกภัย ส่งผลให้รายได้ลดลงมากกว่าร้อยละ 50 จากรายได้ปกติ จำนวนประมาณ 212,850 ราย วงเงินพักชำระหนี้ประมาณ39,310 ล้านบาท
โดยขยายเวลาชำระคืนต้นเงินกู้ที่มีอยู่ ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2559 ออกไปเป็นระยะเวลา 2 ปี นับจากงวดชำระเดิม (พักเงินต้น 2 ปี) และ ธ.ก.ส. งดคิดดอกเบี้ยจากเกษตรกรวงเงินกู้ไม่เกินรายละ 300,000 บาท เป็นระยะเวลา 2 ปี ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2560 – 31ธันวาคม 2561
“อุทกภัยที่เกิดขึ้นในพื้นที่ภาคใต้ในครั้งนี้ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงและเป็นวงกว้างต่อชีวิตความเป็นอยู่และการประกอบอาชีพของพี่น้องเกษตรกร เพื่อเป็นการฟื้นฟูอาชีพและความเป็นอยู่ ธ.ก.ส.จึงพร้อมดำเนินการตามที่ได้รับมอบหมายจากรัฐบาลเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนในระยะสั้นและระยะยาวให้กับพี่น้องเกษตรกร โดยสามารถติดต่อขอรับความช่วยเหลือด้านต่างๆ ตามนโยบายของรัฐบาลได้ที่ ธ.ก.ส.ในพื้นที่ประสบภัยทุกสาขาใกล้บ้านท่าน” นายลักษณ์กล่าว