- Details
- Category: แบงก์พาณิชย์
- Published: Wednesday, 18 November 2015 20:09
- Hits: 1652
KBANK ตั้งสายงานธุรกิจบริการไพรเวทแบงค์ ชูลงทุนทางสายกลาง พร้อมบริการวางแผนความมั่งคั่งธุรกิจครอบครัว
ธนาคารกสิกรไทยเดินหน้ารุกลูกค้าไพรเวทแบงกิ้ง ตั้งสายงานธุรกิจบริการไพรเวทแบงค์ ตอบรับกระแสการเติบโตทั่วโลก เดินหน้ารักษาความเป็นผู้นำที่ครองส่วนแบ่งตลาดสูงสุด แนะกลยุทธ์จัดพอร์ทแบบทางสายกลางให้ผลตอบแทน 6 – 10% พร้อมผนึกธนาคารลอมบาร์ด โอเดียร์เพื่อให้บริการวางแผนความมั่งคั่งธุรกิจครอบครัว
นายปรีดี ดาวฉาย กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย เปิดเผยว่า ธนาคารกสิกรไทยยกฐานะบริการไพรเวทแบงค์กิ้งเป็นสายงานธุรกิจบริการไพรเวทแบงค์ ซึ่งเป็นสายงานใหม่ที่จะเน้นให้บริการแก่ลูกค้าที่มีสินทรัพย์กับธนาคารตั้งแต่ 50 ล้านบาทขึ้นไป เพื่อความคล่องตัว เพิ่มคุณภาพการให้บริการรองรับการแข่งขันในระดับสากล และสามารถปรับตัวได้รวดเร็วเพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้าที่มีความหลากหลายมากขึ้น เนื่องจากจำนวนลูกค้าบุคคลสินทรัพย์สูง (High-Net-Worth-Individuals หรือ HNWIs) ทั่วโลก และในประเทศไทยมีการเติบโตอย่างต่อเนื่องเฉลี่ยปีละ 10–12% โดย World Wealth Report 2015 ที่สำรวจโดย Capgemini รายงานว่า ในปี 2557 ประเทศไทยมีการเติบโตของจำนวนลูกค้าบุคคลสินทรัพย์สูงถึง 13% สูงกว่าการเติบโตของลูกค้ากลุ่มเดียวกันในเอเชียแปซิฟิกที่เติบโต 9% และทั่วโลกที่เติบโตเฉลี่ย 7% ในขณะที่การเติบโตของจำนวนสินทรัพย์ของลูกค้ากลุ่มดังกล่าวในประเทศไทยเติบโตถึง 15% สูงกว่าการเติบโตในเอเชียแปซิฟิกที่โต 11% และทั่วโลกที่ 7% จึงเป็นกลุ่มลูกค้าที่มีศักยภาพสูงที่ธนาคาร ฯ จะสามารถขยายตลาดได้ต่อเนื่องในระยะยาว
ทั้งนี้ ณ สิ้นกันยายน 2558 สายงานธุรกิจบริการไพรเวทแบงค์ ธนาคารกสิกรไทย มีลูกค้าที่มีทรัพย์สินตั้งแต่ 50 ล้านบาทขึ้นไปประมาณ 9,200 ราย และมีสินทรัพย์ภายใต้การดูแล 750,000 ล้านบาท เติบโตจากปี 2557 ที่มีลูกค้าประมาณ 8,500 คน มีสินทรัพย์ภายใต้การดูแล 727,000 ล้านบาท โดยธนาคารกสิกรไทยครองส่วนแบ่งตลาดถึง 41% และช่วงปลายปี 2557 ธนาคารกสิกรไทยได้จับมือกับธนาคารลอมบาร์ด โอเดียร์ พันธมิตรผู้ให้บริการไพรเวทแบงค์ระดับโลกในการยกระดับมาตรฐานบริการของธนาคารกสิกรไทยให้เทียบเท่าระดับสากลทั้งในเชิงองค์ความรู้ การวิจัย การบริหารความเสี่ยง การลงทุนเพื่อสร้างผลตอบแทนให้กับลูกค้าจากทางเลือกการลงทุนรูปแบบใหม่ ๆ
นายจิรวัฒน์ สุภรณ์ไพบูลย์ รองกรรมการผู้จัดการ ผู้บริหารสายงานธุรกิจบริการไพรเวทแบงค์ ธนาคารกสิกรไทย กล่าวว่า ในปี 2558 ธนาคาร ฯ เน้นให้คำแนะนำ และความรู้แก่ลูกค้าในการจัดพอร์ตการลงทุน และบริหารจัดการความมั่งคั่งธุรกิจครอบครัวทั้งในกรุงเทพฯ และจังหวัดหัวเมืองใหญ่ โดยเน้นเสนอทางสายกลางการลงทุนที่สามารถสร้างผลตอบแทนได้ 6-10% ผ่านการจัดสรรการลงทุนแบบ K-Alpha หรือการลงทุนโดยอาศัย “หลักการกระจายความเสี่ยง” ที่มีการลงทุนในผลิตภัณฑ์ที่หลากหลาย ในจังหวะที่เหมาะสม K-Alpha สามารถสร้างผลงานย้อนหลังที่สามารถพิสูจน์ได้ตลอด 6 ปี ด้วยผลตอบแทนถึง 65.63% หรือเฉลี่ย 7.9% ต่อปี
สำหรับ กลยุทธ์ในปี 2559 สายงานธุรกิจบริการไพรเวทแบงค์ ธนาคารกสิกรไทย จะดำเนินงานบนหลัก 3Q 1C โดยการผสานความแข็งแกร่งและความรู้ภายในประเทศจากธนาคารกสิกรไทย และความเชี่ยวชาญภายนอกประเทศผ่านทางธนาคารลอมบาร์ด โอเดียร์ เพื่อให้คำปรึกษาที่ครอบคลุมและได้มาตรฐานสากล (Quality of Advice) ทั้งยังเพิ่มความสามารถในการเข้าถึงหลักทรัพย์ทั้งภายในและภายนอกประเทศ (Quality of Product) เพื่อมอบคุณภาพบริการมาตรฐานโลกผ่านไพรเวทแบงค์เกอร์มืออาชีพของธนาคารกสิกรไทย (Quality of Service) และ เพื่อมอบบริการที่มากกว่าการลงทุนส่วนบุคคล (Concierge) ด้วยบริการ Integrated Wealth Planning Services ซึ่งเป็นบริการรักษาความมั่งคั่งอย่างยั่งยืนจากรุ่นสู่รุ่น ทั้งหมดนี้เพื่อให้บริการไพรเวทแบงค์กิ้ง ธนาคารกสิกรไทย ตอบโจทย์ลูกค้าทุกด้านให้สามารถรับมือกับความผันแปรได้ทุกสถานการณ์
ปีหน้าเราจะยังคงเน้นการจัดพอร์ตการลงทุนด้วยกลยุทธ์ทางสายกลางต่อเนื่อง โดยพิจารณาระดับความเสี่ยง และผลตอบแทนที่ลูกค้าได้รับเป็นสำคัญ และเน้นกองทุน K-SGM (K Strategic Global Multi-Asset Fund) ซึ่งเป็นการนำความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านการบริหารความเสี่ยงของธนาคารลอมบาร์ด โอเดียร์ มาใช้ในการบริหารจัดการลงทุน อีกทั้งเราจะให้ความสำคัญกับการแนะนำลูกค้าวางแผนความมั่งคั่งของครอบครัวอย่างยั่งยืนด้วยบริการ Integrated Wealth Planning Services โดยมีทีมงานที่ตั้งขึ้นมาเฉพาะเพื่อให้บริการลูกค้าได้มากกว่าการให้คำแนะนำในการลงทุนเท่านั้น
ทั้งนี้ สายงานธุรกิจบริการไพรเวทแบงค์ ธนาคารกสิกรไทย ตั้งเป้าสินทรัพย์ภายใต้การดูแล (AUM) ในปี 2559 เพิ่มเป็น 8 แสนล้านบาท จากปัจจุบันในปี 2558 มีจำนวน 7.5 แสนล้านบาท พร้อมตั้งเป้าหมายจำนวนลูกค้าในปี 2559 เพิ่มเป็น 9,800 ราย จากปัจจุบันในปี 2558 มีจำนวน 9,200 ราย