WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

เช็ค'หนี้เน่า'3 เดือนแรกแบงก์รัฐอ่วม

     เช็ค'หนี้เน่า'3 เดือนแรกแบงก์รัฐอ่วม คลังสั่งงัดมาตรการอุ้มรายย่อย-เอสเอ็มอี : ณัฎฐ์ชิตา เกิดแดงรายงาน

   จากสถานการณ์การเมืองที่ยืดเยื้อและภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว ทำให้ภาคธุรกิจเริ่มประสบปัญหาสภาพคล่องไปจนถึงไม่มีความสามารถในการชำระหนี้คืน โดยเฉพาะธุรกิจขนาดเล็กและขนาดย่อม หรือ เอสเอ็มอี ที่มีสายป่านไม่ยาวนัก รวมไปถึงภาคครัวเรือนเองก็เริ่มมีปัญหาชักหน้าไม่ถึงหลัง จนเริ่มเห็นการค้างชำระค่างวดกันบ้างแล้ว ซึ่งสถาบันการเงินทั้งของภาครัฐและเอกชนต่างยอมรับว่า เริ่มเห็นสัญญาณตัวเลขหนี้เสียเพิ่มขึ้น โดยในส่วนของสถาบันการเงินของรัฐนั้น ขณะนี้กระทรวงการคลังได้สั่งเกาะติดและให้เร่งเข้าไปช่วยเหลือลูกค้าให้เร็วที่สุด

คลังเกาะติดแบงก์รัฐสั่งยืดหนี้

     นายรังสรรค์ ศรีวรศาสตร์ ปลัดกระทรวงการคลัง กล่าวว่า กระทรวงการคลังอยู่ระหว่างหามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยเฉพาะภาคธุรกิจเอสเอ็มอีที่ได้รับผลกระทบอย่างหนักจากปัญหาเศรษฐกิจชะลอตัว โดยสั่งการให้ธนาคารเฉพาะกิจของรัฐพิจารณาการขยายระยะเวลาการชำระหนี้ของลูกค้าออกไป เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนในเบื้องต้น ซึ่งขณะนี้ธนาคารของรัฐไม่สามารถปล่อยสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำช่วยเหลือได้ เพราะต้องผ่านการพิจารณาจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) และหากมีการอุดหนุนด้านอัตราดอกเบี้ยก็จะกลายเป็นภาระหนี้ผูกพันไปยังรัฐบาลชุดต่อไป ทำให้ในช่วงของรัฐบาลรักษาการนั้น กระทรวงการคลังและสถาบันการเงินของรัฐไม่สามารถดำเนินมาตรการช่วยเหลือได้มากนัก

     อย่างไรก็ตาม กระทรวงการคลังได้หารือไปยังนายประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เพื่อขอความร่วมมือธนาคารพาณิชย์ในการช่วยพิจารณาปล่อยกู้อัตราดอกเบี้ยต่ำแทน เพราะเอกชนสามารถดำเนินการเรื่องดังกล่าวได้คล่องตัวกว่า รวมทั้งการขยายระยะเวลาการชำระหนี้ให้ลูกค้าเอสเอ็มอี ซึ่งคาดว่าจะหาแนวทางในการช่วยเหลือเอสเอมอีได้ในทันช่วงรัฐบาลรักษาการนี้

       ด้าน นายสมชัย สัจจพงษ์ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ยอมรับว่า สศค. มีความเป็นห่วงและติดตามเรื่องความสามารถในการชำระหนี้ของลูกค้ารายย่อยและเอสเอ็มอีอย่างใกล้ชิด ในเบื้องต้นแม้ว่าตัวเลขการผิดนัดชำระหนี้เกิน 3 เดือน จะไม่มีสัญญาณเพิ่มขึ้น แต่ตัวเลขการชำระหนี้ล่าช้า หรือผิดนัดชำระหนี้ในระยะ 1-2 เดือน มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น และหากผิดนัดชำระหนี้ไปถึง 3 เดือน ก็จะกลายเป็นหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ หรือ เอ็นพีแอล จะทำให้ตัวเลขหนี้เสียในระบบสถาบันการเงินเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ

     "ในส่วนของแบงก์รัฐนั้น เราได้ส่งทีมเข้าไปพูดคุยและส่งสัญญาณให้ทุกแบงก์เร่งปรับตัวรองรับกรณีที่อาจจะเกิดปัญหาหนี้เสียเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง และให้มอนิเตอร์ข้อมูลหนี้ทุกสัปดาห์ ที่น่าเป็นห่วงมากคือ หนี้เสียที่จะเกิดกับเอสเอ็มอี เพราะจะกระทบต่อการปิดกิจการ และทำให้เกิดปัญหาการว่างงานตามมา ซึ่งสัญญาณที่เห็นชัดเจนแล้วคือ ปัญหาเช็คเด้งเพิ่มขึ้นมากในกลุ่มเอสเอ็มอี" นายสมชัยกล่าว และว่า สศค.ได้ให้นโยบายธนาคารของรัฐต้องรายงานสถานการณ์เอ็นพีแอลทุกเดือน และหากเกิดปัญหาขึ้นมากับลูกค้ากลุ่มใหม่ในระยะ 1-2 เดือนนี้ ธนาคารจะต้องเข้าไปช่วยแก้ปัญหาอย่างทันท่วงทีเพื่อไม่ให้เป็นหนี้เน่า

'เอสเอ็มอีแบงก์-บสย.'งัดแผนอุ้ม

      น.ส.ปาริฉัตร เหล่าธีระศิริวงศ์ รักษาการกรรมการผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย หรือ เอสเอ็มอีแบงก์ กล่าวว่า จากการสำรวจการผิดนัดชำระหนี้ของลูกค้าที่เริ่มจะเป็นเอ็นพีแอล พบว่ามีลูกค้าที่ได้รับผลกระทบแล้ว คิดเป็นเม็ดเงินปล่อยกู้กว่า 2,000-3,000 ล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นลูกค้าในกลุ่มภาคใต้ที่ยังได้รับผลกระทบจากปัญหาอุทกภัยด้วย ขณะที่ลูกค้าบางส่วนก็ได้รับผลกระทบมาจากปัญหาการเมือง อย่างไรก็ตาม ธนาคารได้ขานรับนโยบายจากกระทรวงการคลัง โดยออกมาตรการช่วยเหลือขยายระยะเวลาการจ่ายดอกเบี้ยและยกเว้นเงินต้นออกไป 6 เดือน ซึ่งถือว่ายังเป็นลูกหนี้ที่มีสถานะหนี้ดีไม่เข้าไปอยู่ในกลุ่มเอ็นพีแอล

       "ยอมรับว่า ปัจจุบันเอ็นพีแอลของแบงก์ยังสูงกว่า 32,000 ล้านบาท แม้ว่าปีที่ผ่านมาจะเร่งแก้ปัญหาตามแผนฟื้นฟูกิจการแล้วก็ตาม แต่เมื่อแก้หนี้เสียเดิมไปแล้วก็มีหนี้เสียใหม่ที่ตกชั้นเพิ่มขึ้นเรื่อย ทำตัวเลขไม่ได้ปรับลดลงมากนัก โดยในปีนี้ธนาคารได้เตรียมแผนขายเอ็นพีแอลให้ส่วนราชการมารับซื้อไปบริหารจัดการต่อประมาณ 2,000ล้านบาท ซึ่งขณะนี้กำลังอยู่ระหว่างดำเนินงาน" น.ส.ปาริฉัตรกล่าว

       ด้าน นายวิเชษฐ วรกุล รองผู้จัดการทั่วไป สายงานธุรกิจ บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) ยอมรับว่า มีสัญญาณว่าลูกค้าเอสเอ็มอีจะกลายเป็นหนี้เสียเพิ่มขึ้นชัดเจน ทาง บสย.จึงได้ทำงานร่วมกับสำนักส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) และธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ในการหาแนวทางช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ได้รับความเดือดร้อน แต่ยอมรับว่าในช่วงของรัฐบาลรักษาการทำให้ค่อนข้างมีข้อจำกัดในการใช้มาตรการใหม่ๆ โดยเฉพาะการสนับสนุนด้านสินเชื่อในอัตราดอกเบี้ยผ่อนปรน เพราะหากรัฐบาลต้องอุดหนุนด้านอัตราดอกเบี้ยก็จะกลายเป็นภาระผูกพันไปยังรัฐบาลหน้า

     “เราอยู่ระหว่างหารือกับคลังและแบงก์ชาติ เกี่ยวกับโครงการที่จะทำโดยไม่ก่อหนี้ผูกพันไปยังรัฐบาลใหม่ เพื่อออกมาเป็นมาตรการใดเพิ่มเติมได้บ้างในช่วงนี้ เช่น อาจใช้งบประมาณที่มีอยู่ หรือการให้หน่วยงานอื่นที่มีศักยภาพเข้ามาดำนินการโดยที่ไม่ก่อให้เกิดปัญหาตามมาภายหลัง แต่ยอมรับว่าค่อนข้างทำได้จำกัด เพราะทุกแบงก์เองก็มีปัญหาเหมือนๆ กันหมด” นายวิเชษฐกล่าวและว่า ขณะนี้บริษัทขนาดเล็กที่มีสายป่านสั้นกำลังได้รับความเดือดร้อนอย่างหนัก หากกลุ่มนี้ไม่ได้รับความช่วยเหลือภายในกลางปีนี้น่าจะเห็นว่ามีการปิดกิจการมากขึ้นเรื่อยๆ

      อย่างไรก็ตาม ในส่วนของ บสย. พบว่ามีหนี้เสียเพิ่มขึ้นจากสิ้นปีก่อนที่ระดับ 3.8% เพิ่มมาอยู่ที่ 4.35% จากผู้ประกอบการผลิตสินค้าแล้วขายไม่ได้ ส่งผลให้ผู้ประกอบการขาดสภาพคล่อง ขาดส่งค่างวด ซึ่งจากการหารือกับแบงก์เอกชนที่เป็นพันธมิตร พบว่าลูกหนี้รอจัดชั้น 1-2 เดือน มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น และหากไม่มีมาตรการเข้าไปช่วยเหลือ เชื่อว่าจะทำให้ตัวเลขเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ขณะที่แบงก์เองก็ช่วยลูกค้าด้วยการยืดหนี้ให้ 6 เดือน หรือปรับโครงสร้างหนี้ให้อยู่แล้ว แต่หากจะหวังให้แบงก์ปล่อยสินเชื่อเพิ่มขึ้นคงยาก เพราะแบงก์ก็กลัวความเสี่ยงในอนาคต  ส่งผลให้ยอดค้ำประกันสินเชื่อของ บสย.ในช่วง 3 เดือน ค่อนข้างต่ำอยู่ที่ประมาณ 1 หมื่นล้านบาท

ออมสินโอดสินเชื่อสวัสดิการยังเสี่ยง

     ขณะที่ นายธัชพล กาญจนกูล รองผู้อำนวยการธนาคารออมสินอาวุโส กลุ่มลงทุนและบริหารเงิน รักษาการแทนผู้อำนวยการธนาคารออมสิน กล่าวว่า เริ่มเห็นสัญญาณหนี้เสียเพิ่มขึ้นมาตั้งแต่ปลายปีที่แล้ว จึงสั่งการให้สาขาติดตามและเข้าไปแก้ปัญหาอย่างใกล้ชิด โดยปัญหาที่พบเป็นกลุ่มสินเชื่อสวัสดิการมากกว่ากลุ่มผู้ประกอบการรายย่อย แม้จะทำสัญญาหักเงินกับหน่วยงานราชการ รัฐวิสาหกิจและเอกชน แต่ปรากฏว่าตามกฎเกณฑ์กำหนดให้สหกรณ์นั้นๆ มีอำนาจในการหักหนี้ไปก่อน ทำให้ลูกค้าบางรายไม่มีเงินเหลือพอหักจ่ายค่างวดกับธนาคาร โดยเฉพาะค่าผ่อนบ้าน ออมสินจึงกำลังหารือกับสหกรณ์ออมทรัพย์ โดยเฉพาะสหกรณ์ที่ออมสินปล่อยกู้เพื่อให้ช่วยติดตามหนี้ดังกล่าวด้วย เพราะถือเป็นลูกหนี้ 2 ฝ่ายและจะเข้มงวดในการปล่อยกู้มากขึ้น

     สำหรับลูกหนี้ประเภทพ่อค้าแม่ค้าธนาคารประชาชน หรือเอสเอ็มอีนั้น ยังไม่พบว่ามีตัวเลขหนี้เสียเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ เพราะเจ้าหน้าที่ของธนาคารมีความใกล้ชิดและติดตามหนี้ดังกล่าวได้ดี อย่างธนาคารประชาชนจากที่มีลูกค้า 3.6 ล้านบัญชี วงเงินสินเชื่อ 1.88 แสนล้านบาท ล่าสุดเดือนมีนาคม ที่ผ่านมา มีการทยอยจ่ายหนี้คืนหมดเหลือเพียง 8.5 แสนบัญชี วงเงิน 6.2 หมื่นล้านบาทเท่านั้น และมีตัวเลขหนี้เสียประมาณ 3%

     นายธัชพล กล่าวอีกว่า ช่วงนี้แบงก์รัฐทั้งหมดต้องพยายามปรับปรุงองค์กรภายใน และปรับลดหนี้เสีย เพื่อเตรียมพร้อมรองรับปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้นจากภาวะเศรษฐกิจ และเพื่อช่วยภาครัฐกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงครึ่งปีหลัง ออมสินเองพยายามปล่อยสินเชื่อกลุ่มเอสเอ็มอีวงเงินต่อราย 5-30 ล้านบาท และไม่เกิน 100 ล้านบาท ให้มากขึ้น แต่การปล่อยสินเชื่อกลุ่มนี้ยังต้องรัดกุม โดยกลุ่มเอสเอ็มอีจะขอสินเชื่อได้ ต้องมีหลักประกันที่คุ้มวงเงินสินเชื่อ ผู้บริหารต้องมีแผนงานที่ชัดเจน เพื่อดูแลเอ็นพีแอลควบคู่ไปด้วย

    ขณะเดียวกันได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่สาขาและฝ่ายปรับโครงสร้างหนี้เข้าไปหาวิธีการรีไฟแนนซ์ตามแผนเชิงบูรณาการในกลุ่มหนี้ครัวเรือนรายย่อยที่เป็น ครู ทหาร ตำรวจ เงินกู้ห้องแถวและธนาคารประชาชน ซึ่งได้รับผลกระทบจากกำลังซื้อลดลงและไม่มีเงินเพียงพอชำระหนี้ ส่วนกลุ่มลูกหนี้รายย่อยที่ขอสินเชื่อใหม่จะเพิ่มความรัดกุมมากขึ้น หลังจากเริ่มเห็นสัญญาณหนี้เสียกลุ่มนี้เพิ่มขึ้น และหากเห็นว่ามีแนวโน้มการผิดนักชำระหนี้เพิ่มขึ้นหรือมีหนี้คงค้าง 1-2 เดือน มากขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ออมสินก็พร้อมจะให้การช่วยเหลือรวมทั้งการยืดหนี้ 6 เดือนตามนโยบายของกระทรวงการคลังด้วย

 

ธอส.หนี้เน่าพุ่ง-เปิดทางผ่อนผัน

       ด้านธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) ก็ตกที่นั่งลำบากเช่นกัน โดยพบว่า 2 ดือนแรกของปีนี้ เอ็นพีแอลเพิ่มขึ้น 2,000 ล้านบาท จากสิ้นปี 2556 ที่มีอยู่ 4.5 หมื่นล้านบาท มาเป็น 4.7 หมื่นล้านบาท หรือเพิ่มจาก 6.12% มาอยู่ที่ 6.35% ของยอดสินเชื่อคงค้าง 736,467 ล้านบาท แม้ในเดือนมีนาคมที่ผ่านมา สถานการณ์จะเริ่มทรงตัวก็ตาม

      นางอังคณา ปิลันธน์โอวาท ไชยมนัส กรรมการผู้จัดการ ธอส. ยังมั่นใจว่าจะสามารถควบคุมหนี้เสียได้ ซึ่งสาเหตุที่หนี้เสียเพิ่มขึ้น มาจากการชุมนุมทางการเมืองยืดเยื้อ ส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการรายย่อยที่ค้าขาย ทำให้รายได้ลดลงจนกระทบความสามารถในการชำระหนี้ โดยลูกหนี้ที่เริ่มรู้ตัวส่วนใหญ่จะเข้ามาขอประนอมหนี้ก่อนที่จะกลายมาเป็นเอ็นพีแอล ขณะที่ธนาคารเองก็มีมาตรการมารองรับลูกหนี้แต่ละราย

      สำหรับมาตรการผ่อนผันและประนอมหนี้ให้แก่ลูกค้ารายย่อยนั้น มีทั้งมาตรการผ่อนผันและประนอมหนี้และการช่วยเหลือลูกหนี้ที่ถูกดำเนินคดี ทางด้านการผ่อนผันและประนอมหนี้ จะขยายระยะเวลาชำระหนี้ โดยลูกหนี้สามารถขอขยายระยะเวลากู้เงินต่อไปได้ถึง 30 ปีนับจากปัจจุบัน แต่อายุของผู้กู้เมื่อรวมกับระยะเวลาที่ขอขยายแล้วต้องไม่เกิน 70 ปี และลูกหนี้จะต้องชำระดอกเบี้ยที่ค้างทั้งหมด (ถ้ามี)

       ส่วนการขอผ่อนชำระยอดหนี้ที่ค้างชำระสามารถผ่อนชำระได้ แต่ต้องไม่ต่ำกว่าเงินงวดปกติ ระยะเวลาไม่เกิน 24 เดือน หรือผ่อนชำระไม่ต่ำกว่าดอกเบี้ยรายเดือน ระยะเวลาไม่เกิน 12 เดือน และสามารถขอชำระยอดหนี้ที่ค้างเป็นเงินก้อนเป็นงวดๆ ตามเวลาที่ตกลง โดยในวันยื่นคำร้องลูกหนี้ต้องชำระเงินในส่วนที่ค้างชำระอย่างน้อย 1 งวด และเมื่อครบกำหนดระยะเวลาประนอมหนี้แล้วลูกหนี้ต้องชำระหนี้ที่ค้างชำระทั้งหมด หรือขอประนอมหนี้ตามมาตรการอื่นของธนาคารต่อไป

       ทั้งนี้ หากขอพักชำระดอกเบี้ยที่ค้างชำระสามารถพักชำระได้ระยะเวลาไม่ต่ำกว่า 1 ปีแต่ไม่เกิน 2 ปี แล้วแต่ระยะเวลาบังคับคดีคงเหลือ โดยวันยื่นคำร้องลูกหนี้ต้องชำระเงินงวดอย่างน้อย 1 งวด และเมื่อครบระยะเวลาชำระแล้วลูกหนี้ได้ชำระเงินตามข้อตกลงอย่างสม่ำเสมอ สามารถขอลดดอกเบี้ย 25% ของดอกเบี้ยที่ธนาคารยังไม่บันทึกรับรู้เป็นรายได้ ในส่วนที่ตั้งพักไว้ โดยในระหว่างพักชำระดอกเบี้ย ต้องมีหนี้ค้างชำระไม่เกิน 2 งวด หรือไม่ถูกยกเลิกข้อตกลง ส่วนมาตรการปรับโครงสร้างหนี้ ลูกหนี้สามารถขอปรับโครงสร้างหนี้ โดยธนาคารจะพิจารณาให้ส่วนลดดอกเบี้ยค้างชำระ ขึ้นอยู่กับความสามารถในการชำระหนี้ ประวัติการชำระเงิน ความเดือดร้อน และความจำเป็นของลูกหนี้แต่ละรายไป

(หมายเหตุ : เช็ค'หนี้เน่า'3 เดือนแรกแบงก์รัฐอ่วม คลังสั่งงัดมาตรการอุ้มรายย่อย-เอสเอ็มอี : ณัฎฐ์ชิตา เกิดแดงรายงาน)

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!