- Details
- Category: แบงก์พาณิชย์
- Published: Wednesday, 13 May 2015 23:08
- Hits: 1944
อุ๋ยอนุมัติแยกบัญชีสางหนี้' ไอ แบงก์'
ไทยโพสต์ *'อุ๋ย'สั่งไอแบงก์เร่งทำบัญชีแยกสินทรัพย์ดี-หนี้เสีย ก่อนลุยบริหารจัดการ เชื่อเป็นทางออกที่ดีแม้ต้องเจอผลขาดทุนจากการขายหนี้
นายวิสุทธิ์ ศรีสุพรรณ รมช.การคลัง เปิดเผยว่า ม.ร.ว. ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจ ได้สั่งการให้ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย (ไอแบงก์) เร่งศึกษาแนวทางในการดำเนินการแยกสินทรัพย์ดีและหนี้เสีย (Good Bank - Bad Bank) ออกจากกัน เพื่อแยกบันทึกรายการบัญชีหนี้ให้ชัดเจนก่อนนำไปบริหารจัดการ หลังแนวทางดังกล่าวได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการนโยบายและกำกับดูแลรัฐวิสาหกิจ (คนร.) หรือซูเปอร์บอร์ด เมื่อวันที่ 6 พ.ค.ที่ผ่านมา
นายมนต์ชัย รัตนเสถียร กรรมการและรักษาการกรรมการผู้จัดการไอแบงก์ เปิดเผยว่า ธนาคารได้เสนอ 3 แนวทางให้กับซูเปอร์บอร์ดพิจารณา คือ 1.เอสโครว์ แอคเคาต์ ซึ่งเป็นแนวทางที่ต้องใช้บริษัทตัวกลางในการบริหารจัดการหนี้เสีย 2.ตั้ง บริษัทบริหารสินทรัพย์ (เอเอ็มซี) เพื่อมาบริหารหนี้ และ 3.แยก หนี้ดีหนี้เสีย (Good Bank-Bad Bank) ซึ่งเป็นแนวทางในการบริหารหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) โดยให้แยกรายการบันทึกบัญชีหนี้ดีและหนี้เสีย ก่อนนำในส่วนของ Bad Bank ไปบริหารโดยการปรับโครงสร้างหนี้ หรือทำการขายออกไปให้กับบริษัทบริหารสินทรัพย์ต่างๆ
โดยหลังจากนี้จะเตรียมหารือกับซูเปอร์บอร์ด ชุดคณะอนุกรรมการพิจารณาและกลั่นกรองแผนงานการแก้ไขปัญหาของรัฐวิสาหกิจ ที่มี พล.อ.อนันตพร กาญจนรัตน์ เป็นประธาน ถึง รายละเอียดการแยกบัญชีทรัพย์หนี้ดีและหนี้เสีย จากนั้นจะต้องรายงานความคืบหน้าให้กับซูเปอร์บอร์ดรับทราบเป็นระยะๆ
แหล่งข่าวจากไอแบงก์เปิดเผยว่า การที่ซูเปอร์บอร์ดเลือกแนวทางที่ 3 เนื่องจากไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย ไม่ต้องมีต้นทุนมาก เพราะธนาคารเป็นผู้บริหารจัดการด้วยตนเอง ซึ่งต่างจาก 2 แนวทางแรก ที่จำเป็นต้องมีค่าใช้จ่ายในการจ้างเข้ามาบริหารจัดการหนี้ อย่างไรก็ตาม การแยกสินทรัพย์ออกมาเป็น 2 ก้อน จะทำให้ Good Bank หรือสินเชื่อที่ดี สามารถดำเนินธุรกิจปล่อยสินเชื่อต่อได้ สามารถเรียกความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนได้ในระดับหนึ่ง แต่ธนาคารจะต้องยอมรับความสูญเสียในส่วนของ Bad Bank ที่จะต้องบริหารจัดการขายออกแบบขาดทุน โดยปัจจุบันหนี้เอ็นพีแอลอยู่ที่ 5.5 หมื่นล้านบาท หรือกว่า 50% ของสินเชื่อคงค้างประมาณ 1 แสนล้านบาท ขณะเดียวกันธนา คารก็ต้องเร่งปล่อยสินเชื่อมุสลิมซึ่งเป็นไปตามพันธกิจหลักให้ได้มากที่สุด เพื่อให้ได้สินเชื่อในส่วนที่ดีเข้ามาในระบบบัญชี.