- Details
- Category: แบงก์พาณิชย์
- Published: Wednesday, 13 May 2015 17:56
- Hits: 1909
กรุงไทยหวังการเร่งใช้จ่ายของภาครัฐกระตุ้นเศรษฐกิจ
ผลสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นธุรกิจกรุงไทยลดลงสะท้อนนักธุรกิจยังมีความกังวลว่าเศรษฐกิจจะฟื้นตัวช้ากว่าที่คาดไว้ ชี้ความหวังในการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย ขึ้นอยู่กับการเร่งใช้จ่ายของภาครัฐ กรุงไทยปรับลดประมาณการเศรษฐกิจจากร้อยละ 3.9 เหลือร้อยละ 3.0 – 3.5
นายพูลพัฒน์ ศรีเปล่ง ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่อาวุโส สายงานบริหารความเสี่ยง ธนาคารกรุงไทย กล่าวถึงผลการสำรวจความเชื่อมั่นของนักธุรกิจในช่วงไตรมาสแรก พบว่าปรับลดลงมาอยู่ที่ระดับ 51.53 ตามการลดลงของดัชนีความเชื่อมั่นทั้งในปัจจุบันและอนาคต หลังเศรษฐกิจในไตรมาสแรกฟื้นตัวช้ากว่าที่คาด แม้ภาครัฐได้เร่งดำเนินมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง แต่การบริโภคภาคเอกชนยังถูกบั่นทอนจากสัดส่วนหนี้ภาคครัวเรือนที่สูงขึ้น และการส่งออกที่หดตัว
อย่างไรก็ตาม ดัชนีความเชื่อมั่นยังสูงกว่าระดับปกติ (50) และสูงกว่าช่วงเดียวกันปีก่อนที่เกิดวิกฤติการเมือง (49.52) เนื่องจากเศรษฐกิจและธุรกิจโดยรวมยังมีแนวโน้มฟื้นตัว อีกทั้งมีปัจจัยบวกจากการท่องเที่ยวที่ฟื้นตัวดีขึ้น ราคาน้ำมันที่มีแนวโน้มทรงตัวในระดับต่ำ และการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ซึ่งจะส่งผลบวกต่อต้นทุนธุรกิจ รวมถึงมีความคาดหวังเชิงบวกต่อมาตรการลงทุนภาครัฐ ที่จะเริ่มเห็นผลชัดเจนในครึ่งปีหลัง
นายพูลพัฒน์ ศรีเปล่ง กล่าวต่อไปว่าธุรกิจส่วนใหญ่มีความเชื่อมั่นลดลง ทั้งในภาคอุตสาหกรรม อุตสาหกรรมเกษตร ก่อสร้าง อสังหาริมทรัพย์ รวมถึงธุรกิจการเงิน ซึ่งได้รับผลกระทบจากปัญหาหนี้ครัวเรือน ส่งผลให้สินเชื่อและคุณภาพหนี้ลดลง โดยเฉพาะรายย่อย ส่วนธุรกิจเกษตรเป็นธุรกิจเดียวที่ความเชื่อมั่นเพิ่มขึ้น เนื่องจากธุรกิจปศุสัตว์ มีความต้องการเพิ่มขึ้นทั้งในและต่างประเทศ และผลผลิตขยายตัวได้ในเกณฑ์ดี
ทั้งนี้ ผลจากการส่งออกที่โตต่ำกว่าที่คาดไว้ อีกทั้งการบริโภคภาคเอกชนยังถูกกดดันจากปัญหาหนี้ครัวเรือน และราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ ฝ่ายวิจัยความเสี่ยงธุรกิจ จึงได้ปรับลดประมาณการเศรษฐกิจไทยลงจากเดิมที่คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 3.9 เหลือร้อยละ 3.0 –3.5 อย่างไรก็ตาม การเร่งการใช้จ่ายของภาครัฐ โดยเฉพาะการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน จะผลักดันให้เกิดการจ้างงานและการลงทุนภาคเอกชนตามมา และกระตุ้นให้เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวดีขึ้น
ฝ่ายสื่อสารองค์กรและภาพลักษณ์ โทร.0-2208-4174-7