WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

วันที่ 06 เมษายน พ.ศ. 2558 เวลา 00:20 น. ข่าวสดออนไลน์

 

เปิดแผนทุ่ม 20,000 ล้าน อุ้มเอสเอ็มอี-แม่ค้าตลาดสด

รายงานพิเศษ

     คงไม่สามารถปฏิเสธบทบาทของ วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม หรือผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ในฐานะฟันเฟืองชิ้นสำคัญต่อโครงสร้างเศรษฐกิจไทยไปได้

    เฉพาะอย่างยิ่งในภาวะเศรษฐกิจไม่ขยับ สิ่งที่เกิดขึ้นคือเอสเอ็มอีไทย สู่ภาวะเสี่ยงบาดเจ็บล้มตาย โดยเฉพาะกลุ่มก้อนที่ไม่สามารถเข้าถึงเม็ดเงิน หรือมีสภาพคล่องเพิ่มเติม

   ที่ผ่านมาการดูแลกิจการเอสเอ็มอีจากภาครัฐ อาจเรียกได้ว่าเข้าภาวะตึงมือ การใช้งบประมาณต้องจัดสรรอย่างจำกัดจำเขี่ย หรือกระบวนการคลอดมาตรการดูแลแต่ละครั้งก็ต้องใช้เวลา

     การประคับประคอง ดูแลไข้ให้กลุ่มเอสเอ็มอี ภายใต้แขนขาของภาครัฐ จึงจำเป็นต้องใช้เครื่องมืออื่นที่มีอยู่ หนึ่งในนั้นคือ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) หรือเอสเอ็มอีแบงก์

ก่อนหน้านี้เอสเอ็มอีแบงก์อยู่ในภาวะย่ำแย่ จากหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ที่พุ่งสูงหลายหมื่นล้านบาท

กระทั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ส่งหญิงเหล็ก นางสาลินี วังตาล มือดีจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เข้ามากุมบังเหียนในตำแหน่ง ประธานกรรมการเอสเอ็มอีแบงก์ พ่วงด้วยนายสุพจน์ อาวาส กรรมการผู้จัดการเอสเอ็มอีแบงก์

การบริหารงานเอสเอ็มอีแบงก์เริ่มเข้าที่เข้าทาง โดยเปิดยุทธศาสตร์เชิงรุก ทั้งแผนการลดหนี้เน่า รวมถึงเป้าหมายการปล่อยสินเชื่อใหม่ให้กับกลุ่มผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ในปี 2558 ที่ 40,000 ล้านบาท

ในจำนวนนี้ 20,000 ล้านบาท หรือกว่าครึ่งเรียกว่าถึงปากถึงมือเอสเอ็มอีกลุ่มเล็กกลุ่มน้อย และกลุ่มที่สายป่านใกล้ขาดอย่างทั่วถึง

โครงการสำคัญที่สะท้อนให้เห็นว่าเอสเอ็มอีแบงก์เข้าไปเจาะกลุ่มเชิงรุก และอยู่ภายใต้แผนการตลาดเพื่อสนับสนุนเอสเอ็มอี ในระดับรากหญ้า คือ โครงการสินเชื่อแม่ค้า วงเงิน 5,000 ล้านบาท เพื่อสนับสนุนพ่อค้าแม่ค้าที่ต้องการลงทุนปรับปรุงแผงค้าขาย รวมถึงเช่าพื้นที่ หรือต้องการเงินทุนเพื่อหมุนเวียนในกิจการ

ที่ผ่านมาธนาคารได้ลงนามความร่วมมือกับตลาดทั่วประเทศไปแล้วหลายแห่ง โดยในกรุงเทพฯ ได้ร่วมมือกับตลาดยิ่งเจริญ มีหลักการเดียวกัน คือเจ้าของตลาดทุกแห่งจะให้ความร่วมมือในการช่วยดูแลเรียกเก็บเงินจากพ่อค้าแม่ค้าในโครงการให้แก่ธนาคาร ซึ่งถือเป็นการทำงานร่วมกันเพื่อความสำเร็จของโครงการโดยภาพรวม

กำหนดวงเงินให้กู้ได้สูงสุด 5 ล้านบาทต่อราย เพื่อเสริมสภาพคล่องให้แก่ผู้ประกอบการในการซื้อวัตถุดิบที่เป็นปัจจัยการผลิต และช่วยลดการกู้เงินนอกระบบ โดยคิดอัตราดอกเบี้ยพิเศษ และสามารถใช้บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม(บสย.) บุคคล หรือหลักทรัพย์ค้ำประกัน โดยพิจารณาจากวงเงินขอกู้ ระยะเวลากู้สูงสุดไม่เกิน 6 ปี

สำหรับหลักเกณฑ์ในการปล่อยสินเชื่อพ่อค้าแม่ค้าในตลาดสด จะยึดหลักการประสานความร่วมมือกับเจ้าของตลาด โดยเจ้าของตลาดต้องการันตีผู้ค้าว่ามีตัวตนอยู่จริง ขณะนี้ผู้ค้าในตลาดเองต้องมีเอกสารสิทธิในการเช่าแผงมาประกอบการพิจารณาสินเชื่อ

นางสาลินีระบุว่า ปัจจุบันพ่อค้าแม่ค้าในตลาดสด มีพฤติกรรมกู้ยืมเงินนอกระบบในอัตราดอกเบี้ย 10-20% ต่อเดือนอยู่แล้ว เพราะธุรกิจประเภทนี้มีสภาพคล่องสูงคือ ซื้อมาขายไป ทำให้ความกังวลในเรื่องของการจ่ายค่าดอกเบี้ยไม่มี

หากเอสเอ็มอีแบงก์สามารถเจาะเข้าไปในตลาดนี้ได้ ก็ยิ่งจะส่งผลดีต่อลูกค้า เพราะอัตราดอกเบี้ยที่เอสเอ็มอีคิดอยู่ที่ 8.5% ต่อปี แม้ว่าจะสูงกว่าธนาคารพาณิชย์ทั่วไป แต่ข้อดีคือต่ำกว่าดอกเบี้ยเงินกู้นอกระบบหลายเท่าตัว

"ในอดีตเอสเอ็มอีแบงก์ ไม่ได้เจาะตลาดลูกค้ากลุ่มนี้ แม้จะมีศักยภาพก็ตาม เพราะมองว่าวงเงินสินเชื่อต่ำกว่า 5 ล้านบาท ไม่คุ้มค่า จะมุ่งเน้นไปที่การปล่อยสินเชื่อรายใหญ่วงเงิน 50-100 ล้านบาทมากกว่า แต่ปัจจุบันกระทรวงการคลังกำหนดให้เอสเอ็มอีแบงก์ ปล่อยกู้ไม่เกินรายละ 15 ล้านบาท ทำให้เป้าหมายของวงเงินในการปล่อยสินเชื่อถูกกำหนดให้มีขนาดเล็กลง ซึ่งตรงกับแนวความคิดของธนาคารที่ต้องการลงมาดูแลและช่วยเหลือเอสเอ็มอีในระดับรากหญ้ามากขึ้น"

ที่ผ่านมาธนาคารประสานความร่วมมือกับเจ้าของตลาดสดหลายแห่ง เช่น ตลาดยิ่งเจริญ(สะพานใหม่) ตลาดคลองเตย (กรุงเทพฯ) ตลาดไท และตลาดสดสี่มุมเมือง เป็นต้น ตลาดสดเหล่านี้ มีแผงค้ามากกว่า 500 แผง

นอกจากนี้ยังเจาะตลาดสดหัวเมืองใหญ่ตามภาคต่างๆ โดยเฉพาะตลาดสดที่อยู่ใกล้พรมแดนไทยกับประเทศเพื่อนบ้านเพราะขณะนี้ประเทศเพื่อนบ้านมีอัตราการเติบโตและมีการพัฒนาเศรษฐกิจที่ดีขึ้น ทำให้คนในประเทศมีกำลังซื้อตามไปด้วย เช่น ตลาดสดประตูน้ำขอนแก่น ตลาดสดในจังหวัดเชียงราย และจังหวัดเชียงใหม่

ก่อนหน้านี้ที่นำร่องไปแล้วคือร่วมมือกับ บริษัท ยิ่งเจริญ บางพลี จำกัด และ สมาคมตลาดสดไทย ณ ตลาดยิ่งเจริญ บางพลี จังหวัดสมุทรปราการ ในโครงการ เยส บางพลี สร้างโอกาสให้พ่อค้าแม่ค้าในโครงการที่มีแผงร้านค้ากว่า 1,000 ราย

ขณะที่ความร่วมมือกับสมาคมตลาดสดไทย เพราะตลาดสดไทยมีสมาชิกกว่า 30 แห่ง ดังนั้นเมื่อเป็นพันธมิตรร่วมกันก็จะค่อยๆ พัฒนาขยายความร่วมมือ เพื่อเปิดโอกาสให้พ่อค้าแม่ค้า ในตลาดสด

สะท้อนให้เห็นถึงบทบาทเชิงรุกของธนาคารที่มุ่งเข้าไปจับพื้นที่ตลาดทั้งตลาดเก่าและตลาดเปิดใหม่ เรียกว่า พ่อค้าแม่ค้าที่ไม่เคยเข้าถึงการเงินในระบบก็สามารถเข้าถึงได้ง่ายมากขึ้น สามารถทำมาหากิน มีเงินเช่าแผงต่อไปได้ ดังนั้นตลาดสดใดที่มีศักยภาพ เอสเอ็มอีก็เตรียมตบเท้าเข้าไปร่วมปล่อยสินเชื่อแน่นอนตลอดทั้งปีนี้

นอกจากสินเชื่อเอสเอ็มอีระดับรากหญ้าแล้ว ในส่วน เอสเอ็มอีที่ทำมาหากิน แต่ยังขาดโอกาสในการเข้าถึงสินเชื่อ หรือไม่มีศักยภาพมากพอที่จะชำระสินเชื่อหรือแบกรับภาระดอกเบี้ยไม่ไหว ก็เตรียมตัวรอรับข่าวดี

คณะรัฐมนตรี(ครม.) เห็นชอบโครงการปล่อยสินเชื่อให้กับผู้ประกอบการ โดยรัฐจะชดเชยอัตราดอกเบี้ยให้ เพื่อให้ ผู้ประกอบการสามารถกู้เงินได้ในอัตราดอกเบี้ยที่ไม่สูงมาก ซึ่งที่ผ่านมาข้อเสนอนี้ภาคเอกชน ผู้ประกอบการได้หารือกันมาหลายรอบ แต่ก็ยังไม่สัมฤทธิผล

โครงการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำกำหนดวงเงินโครงการไว้สูงถึง 15,000 ล้านบาท โดยใช้เงินของเอสเอ็มอีแบงก์ ในการปล่อยกู้ โดยมี บสย.เข้ามาร่วมค้ำประกันเงินกู้ให้ ที่ผ่านมาแม้จะยังไม่มีความชัดเจนว่าจะเริ่มปล่อยกู้ได้เมื่อใด เนื่องจากอยู่ในระหว่างชั้นการต่อรองของกระทรวงการคลัง ว่าจะยอมแบกรับภาระดอกเบี้ย ตามที่ ธพว. เสนอให้คลังชดเชยดอกเบี้ย 3% โดยเอสเอ็มอีแบงก์ปล่อยกู้ลูกค้าในอัตราดอกเบี้ย 4% ได้หรือไม่

ทั้งหมดจึงอยู่ที่แผนของเอสเอ็มอีแบงก์ว่าจะกระจายเม็ดเงินนี้ไปถึงกลุ่มใดบ้าง และจะมีแนวทางป้องกันปัญหาหนี้เสียในระยะยาวได้อย่างไร เป็นเรื่องที่ต้องทำให้เห็นคำตอบก่อนคลังจะทุบโต๊ะอุ้มภาระดอกเบี้ยให้

เบื้องต้นสินเชื่อจำนวน 15,000 ล้านบาท คาดว่าจะแบ่งปล่อยกู้ให้ผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจ 9,000 ล้านบาท, เอสเอ็มอีที่มีนวัตกรรม จำนวน 2,250 ล้านบาท และปล่อยกู้ให้เอสเอ็มอีเพื่อรองรับการขยายตัวของเขตเศรษฐกิจพิเศษ หรือเออีซี อีก 3,750 ล้านบาท

ถ้าวงเงินไหนเต็มก่อนสามารถโยกเงินในโครงการอื่นมาปล่อยกู้ได้ ส่วนเกณฑ์การปล่อยกู้จะเป็นอย่างไร ก็เป็นเรื่องที่ต้องติดตามกันต่อไป ซึ่งคาดว่าจะไม่เกินกลางปีนี้

วงเงิน 20,000 ล้านบาทคงเพียงพอที่จะช่วยหล่อเลี้ยงกับกลุ่มเอสเอ็มอีที่เป็นทั้งโอกาสใหม่ หรือทุเลาปัญหา ให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีได้ หากเอสเอ็มอีแบงก์ทำได้ตามเป้าหมาย และตีกันปัญหาหนี้เน่าไม่ให้ลุกลามขึ้นมาอีก ก็นับว่าเป็นเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพของรัฐบาล

เป็นงานหนัก งานใหญ่ ที่ต้องการทั้งโอกาสและฝีมืออย่างมาก

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!