- Details
- Category: แบงก์พาณิชย์
- Published: Monday, 22 April 2024 10:07
- Hits: 9433
KBANK Q1/67 กำไร 13,486 ล้านบาท เศรษฐกิจไทยอาจประคองเส้นทางการฟื้นตัวได้ดีขึ้น หากภาคการท่องเที่ยวยังคงขยายตัว และมีแรงหนุนเพิ่มเติมจากการกลับมาเร่งเบิกจ่ายงบประมาณ และมาตรการอื่น ๆ ของภาครัฐ…
นางสาวขัตติยา อินทรวิชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารกสิกรไทย เปิดเผยว่า ภาวะเศรษฐกิจไทยในไตรมาส 1 ปี 2567 ยังคงเผชิญข้อจำกัดในการฟื้นตัว เพราะแม้จะมีแรงหนุนจากการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวและการส่งออกสินค้า แต่การผลิตภาคอุตสาหกรรมยังคงหดตัวลงอย่างต่อเนื่อง เช่นเดียวกับผลผลิตสินค้าเกษตรที่ลดลงจากผลกระทบของปัญหาภัยแล้ง ขณะที่การใช้จ่ายภายในประเทศขยายตัวแต่ในอัตราที่ชะลอลงทั้งในส่วนของภาครัฐและเอกชน
สำหรับ แนวโน้มในช่วงที่เหลือของปี 2567 มองว่า เศรษฐกิจไทยอาจประคองเส้นทางการฟื้นตัวได้ดีขึ้น หากภาคการท่องเที่ยวยังคงขยายตัว และมีแรงหนุนเพิ่มเติมจากการกลับมาเร่งเบิกจ่ายงบประมาณ และมาตรการอื่นๆ ของภาครัฐ
ท่ามกลางความท้าทายของปัจจัยต่างๆ ในปีนี้ธนาคารกสิกรไทยได้วางยุทธศาสตร์ 3+1 โดยการเพิ่มประสิทธิภาพการเติบโตด้านสินเชื่ออย่างมีคุณภาพภายใต้การบริหารความเสี่ยงที่เหมาะสม การขยายธุรกิจรายได้ค่าธรรมเนียม การเสริมสร้างความแข็งแกร่งของช่องทางการให้บริการ การแสวงหารายได้ใหม่ในระยะกลางและระยะยาว
รวมถึงการบริหารจัดการทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อส่งมอบคุณค่าที่ยั่งยืนให้แก่ผู้มีส่วนได้เสียทุกฝ่าย ทั้งลูกค้า ผู้ถือหุ้น พนักงาน หน่วยงานกำกับดูแล และสังคม ภายใต้บริบทของเศรษฐกิจที่มีความไม่แน่นอน
ในไตรมาส 1 ปี 2567 ธนาคารและบริษัทย่อยมีกำไรจากการดำเนินงานก่อนหักผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นและภาษีเงินได้จำนวน 29,439 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 9.93% เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน หลัก ๆ จากการเติบโตของรายได้จากการดำเนินงานสุทธิ การบริหารจัดการค่าใช้จ่ายอย่างคุ้มค่า และการเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินงาน ในไตรมาสนี้ธนาคารพิจารณาตั้งสำรองผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้น (Expected credit loss : ECL) จำนวน 11,684 ล้านบาท
โดยธนาคารยังคงยึดหลักความระมัดระวังอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้สำรองฯ อยู่ในระดับที่เหมาะสมเพียงพอ สะท้อนสถานการณ์ในปัจจุบัน และรองรับความไม่แน่นอนของปัจจัยต่างๆ ที่อาจจะส่งผลต่อแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในประเทศ ส่งผลให้กำไรสุทธิในไตรมาสนี้มีจำนวน 13,486 ล้านบาท
รายได้ดอกเบี้ยสุทธิมีจำนวน 38,528 ล้านบาท โดยมีอัตราผลตอบแทนสินทรัพย์ที่ก่อให้เกิดรายได้สุทธิ (Net interest margin : NIM) อยู่ที่ระดับ 3.76% เป็นไปตามภาวะตลาด นอกจากนี้ รายได้ค่าธรรมเนียมและบริการสุทธิมีจำนวน 8,299 ล้านบาท หลักๆ จากการเติบโตของค่าธรรมเนียมรับจากการจัดการกองทุน ค่าธรรมเนียมรับจากการรับรองตั๋ว อาวัล และค้ำประกัน และค่าธรรมเนียมรับจากธุรกิจบัตร
รวมรายได้จากการดำเนินงานสุทธิมีจำนวน 50,152 ล้านบาท เติบโต 7.68% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน สำหรับค่าใช้จ่ายจากการดำเนินงานมีจำนวน 20,713 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 4.65% จากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน หลักๆ เป็นการเพิ่มขึ้นของค่าใช้จ่ายจากการดำเนินงานต่างๆ ที่สอดคล้องกับรายได้ที่เพิ่มขึ้น ส่งผลให้อัตราส่วนค่าใช้จ่ายจากการดำเนินงานอื่นๆ ต่อรายได้จากการดำเนินงานสุทธิ (Cost to income ratio) อยู่ที่ระดับ 41.30% ลดลงเมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนซึ่งอยู่ที่ระดับ 42.50%
สำหรับ ผลการดำเนินงานไตรมาส 1 ปี 2567 เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาส 4 ปี 2566 ธนาคารและบริษัทย่อยมีกำไรจากการดำเนินงานก่อนหักผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นและภาษีเงินได้จำนวน 29,439 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 11.57% โดยหลักๆ เกิดจากค่าใช้จ่ายจากการดำเนินงานที่ลดลง ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นค่าใช้จ่ายทางการตลาดที่เป็นปกติตามฤดูกาล
รวมทั้ง ธนาคารและบริษัทย่อยได้บริหารจัดการค่าใช้จ่ายอย่างต่อเนื่อง แม้รายได้จากการดำเนินงานสุทธิลดลงเล็กน้อยจากกำไรจากการลงทุนในตราสารทางการเงินต่างๆ ที่ลดลงตามภาวะตลาด นอกจากนี้ มีการตั้งสำรองผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้น จำนวน 11,684 ล้านบาท ซึ่งยังคงสอดคล้องกับหลักความระมัดระวังอย่างต่อเนื่อง
ณ วันที่ 31 มีนาคม 2567 ธนาคารและบริษัทย่อยมีสินทรัพย์รวมจำนวน 4,318,809 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากสิ้นปี 2566 จำนวน 35,253 ล้านบาท หรือ 0.82% ส่วนใหญ่เพิ่มขึ้นจากเงินลงทุนในตราสารทางการเงินเพิ่มตามการคาดการณ์ทิศทางอัตราดอกเบี้ย อย่างไรก็ตาม เงินให้สินเชื่อสุทธิลดลงตามภาวะตลาด ทั้งนี้ เงินให้สินเชื่อด้อยคุณภาพต่อเงินให้สินเชื่อ (%NPL gross) อยู่ที่ระดับ 3.19%
และค่าเผื่อผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นต่อเงินให้สินเชื่อด้อยคุณภาพ (Coverage ratio) อยู่ที่ระดับ 150.35% สำหรับอัตราส่วนเงินกองทุนทั้งสิ้นต่อสินทรัพย์เสี่ยงของกลุ่มธุรกิจทางการเงินธนาคารกสิกรไทยตามหลักเกณฑ์ Basel III ณ วันที่ 31 มีนาคม 2567 ยังคงมีความแข็งแกร่งอยู่ที่ 19.37%