- Details
- Category: แบงก์พาณิชย์
- Published: Tuesday, 11 July 2023 17:37
- Hits: 1782
SME D Bank เติมทุนคู่พัฒนา หนุน ‘เอสเอ็มอีสกลนคร’ โชว์เสน่ห์คราฟต์ ยกระดับภูมิปัญญาท้องถิ่น สร้าง Soft Power เดินหน้า ศก.ท่องเที่ยวเติบโต
ภาคอุตสาหกรรมท่องเที่ยวและเกี่ยวเนื่อง เป็นเครื่องจักรสำคัญช่วยขับเคลื่อนเดินหน้าเศรษฐกิจระดับท้องถิ่นให้เติบโต เกิดประโยชน์แก่ภาคการค้า ภาคบริการ ภาคผลิต และประชาชนในพื้นที่อย่างกว้างขวาง ดังนั้น ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) หรือ SME D Bank มุ่งมั่นส่งเสริมและสนับสนุนผู้ประกอบการธุรกิจในท้องถิ่น หยิบเสน่ห์จากภูมิปัญญาท้องถิ่นที่มีอยู่แล้วในตัว มานำเสนออย่างน่าสนใจ สามารถตอบเทรนด์ยุคปัจจุบันได้เหมาะสม เกิดเป็น Soft Power ขับเคลื่อนเศรษฐกิจ สร้างงาน สร้างรายได้ จากการเติบโตของการท่องเที่ยว
หนึ่งในจังหวัดที่ SME D Bank เข้าไปสนับสนุนผู้ประกอบการเอสเอ็มอีในพื้นที่ให้ยกระดับภูมิปัญญาท้องถิ่นสร้างเป็น Soft Power คือ “สกลนคร” เนื่องจากมีศักยภาพพร้อมทั้งแหล่งท่องเที่ยว ศิลปวัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ รวมถึง มีสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) เช่น ข้าวฮางหอมทองสกลทวาปี เนื้อโคขุนโพนยางคำ น้ำหมากเม่าสกลนคร หมากเม่าสกลนคร และผ้าครามธรรมชาติสกลนคร เป็นต้น โดย SME D Bank ยึดแนวทาง “เติมทุนคู่พัฒนา” เติมเต็มความต้องการให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี โดยเฉพาะกลุ่มงานฝีมือ หรือ คราฟต์ (craft) ยกระดับสินค้าหรือบริการให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาด ช่วยดึงดูดนักท่องเที่ยวให้ได้สัมผัส เรียนรู้วัฒนธรรม ศิลปะร่วมสมัย เข้าถึงภูมิปัญญาท้องถิ่นและเสน่ห์งานคราฟต์
นางสาวนารถนารี รัฐปัตย์ กรรมการผู้จัดการ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) หรือ SME D Bank เปิดเผยว่า จังหวัดสกลนคร โดดเด่นและมีความน่าสนใจ ทั้งประวัติศาสตร์ความเป็นมาที่ยาวนาน มีศิลปะที่เป็นเอกลักษณ์จากภูมิปัญญาชาวบ้าน มีสถานที่สำคัญทางพระพุทธศาสนาหลายแห่ง สร้างแรงดึงดูดให้นักท่องเที่ยวต่างถิ่นเข้ามาสัมผัส โดย SME D Bank สนับสนุนผู้ประกอบการเอสเอ็มอีในพื้นที่ที่มีศักยภาพให้ยกระดับธุรกิจ ช่วยขยายตลาดสู่ระดับสากล ผ่านการ “เติมทุนคู่พัฒนา” ได้แก่ “ด้านการเงิน” พาเข้าถึงแหล่งเงินทุน ผ่านผลิตภัณฑ์สินเชื่อที่ตอบโจทย์ วงเงินกู้สูงสุด 50 ล้านบาท ควบคู่การส่งเสริม “ด้านการพัฒนา” ร่วมกับพันธมิตรหน่วยงานภาครัฐและเอกชน ทั้งพื้นที่ส่วนกลางและท้องที่ จัดกิจกรรมอบรม สัมมนา จับคู่ธุรกิจ พร้อมมีโค้ชมืออาชีพมาให้คำปรึกษาแนะนำธุรกิจเชิงลึก เช่น ด้านดีไซน์ การตลาด และมาตรฐาน เป็นต้น ช่วยให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี เพิ่มศักยภาพเดินหน้าธุรกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ตัวอย่างลูกค้า จ.สกลนคร ที่ SME D Bank ให้การสนับสนุน เช่น ร้านครามสกล ผู้ผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ฝ้ายย้อมครามทอมือและจากสีธรรมชาติ โดย SME D Bank ส่งเสริมให้เข้าถึงแหล่งเงินทุน ช่วยเสริมสภาพคล่องธุรกิจ ควบคู่ช่วยประชาสัมพันธ์และโปรโมทงานฝีมือของชาวบ้าน ทำให้ร้านเป็นที่รู้จักและกระจายสู่สายตาสาธารณชนมากขึ้น ช่วยให้สินค้าเข้าถึงผู้บริโภคได้อย่างกว้างขวาง สร้างอาชีพและรายได้ให้กับชาวบ้านในพื้นที่เกิดการขยายตัวต่อเนื่อง และมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
“ผ้าครามธรรมชาติสกลนคร ได้รับคัดเลือกให้เป็นสินค้า GI มีอัตลักษณ์ท้องถิ่นเฉพาะและเป็นของดีของจังหวัดสกลนคร กระบวนการผลิตใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่น โดยเป็นผ้าฝ้ายทอมือ และย้อมครามธรรมชาติ ปราศจากสารเคมี ไม่ตกสี มีกลิ่นเฉพาะตัว นำมาสร้างสรรค์ประเภทเสื้อผ้า กระเป๋า รวมถึงสินค้าเครื่องประดับและของชำร่วยต่างๆ เช่น พวงกุญแจ ปกสมุด เป็นต้น” นางสาวณฐมน เผ่าวงศ์ษา ผู้จัดการร้านครามสกล เล่าถึงจุดเด่นของผ้าครามสกล
อีกรายเป็นผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่ลุกขึ้นสู้จากติดลบ โดย นายนิภัทร สุวาส เจ้าของ บริษัท สมาร์ทอิมเมจ อินเตอร์เนชั่นแนล (ประเทศไทย) จำกัด ได้รับการจุดประกายไอเดียจาก SME D Bank ผ่านการเข้าร่วมโครงการส่งเสริมและต่อยอดผู้ประกอบการใหม่ พร้อมกับได้เงินทุน สร้างเป็นโรงงานวุ้นเส้น ภายใต้ชื่อ ต.เจริญวุ้นเส้น ซึ่งเติบโตมาด้วยดีจนกระทั่ง ต้องเผชิญกับปัญหาต้นทุนการผลิตสูง คู่แข่งขายตัดราคา ไม่สามารถจะแข่งขันต่อไปได้ ต้องเลิกกิจการผลิตวุ้นเส้นไปในที่สุด
ในเวลานั้น ประมาณ พ.ศ.2549 กำลังคิดสร้างธุรกิจใหม่ มีโอกาสเดินทางมากรุงเทพฯ ซึ่งเป็นปีที่ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงครองราชย์ครบ 60 ปี ทางกรุงเทพฯ มีการจัดงานเฉลิมฉลองอย่างยิ่งใหญ่และมีการตกแต่งด้วยงานประติมากรรมที่สวยงามในพื้นที่ต่างๆ ซึ่งในต่างจังหวัดนั้น งานลักษณะนี้ค่อนข้างมีน้อย ทำให้เกิดไอเดีย บุกเบิกธุรกิจผลิตงานประติมากรรมเพื่อเป็นแลนด์มาร์คในจังหวัดต่างๆ กลายเป็นจุดเริ่มต้นของธุรกิจสมาร์ทอิมเมจฯ ผลงานที่ผ่านมา เช่น รูปปั้น สิงห์สีทองตัวใหญ่ สัญลักษณ์ประจำ สิงห์ปาร์คเชียงราย พญาศรีภุชงค์มุกดานาคราช และ พญานาคเจ็ดเศียร จ.มุกดาหาร รวมถึง ปลาใบ จ.กระบี่ เป็นต้น
ทั้งนี้ การเปลี่ยนธุรกิจมาผลิตงานประติมากรรม ทาง SME D Bank ให้การสนับสนุนต่อเนื่อง ทั้งคำปรึกษาเพื่อพัฒนาธุรกิจ รวมถึง พร้อมจะเติมทุนหมุนเวียนเพื่อขยายกิจการในอนาคต
และราย ห้างหุ้นส่วนจำกัด คิงส์คอบร้าโกลด์ ผู้ประกอบธุรกิจบริการรับเหมาก่อสร้าง ต่อยอดธุรกิจด้วยแนวคิดสร้างแลนด์มาร์คประจำจังหวัดสกลนคร ในสไตล์ปราสาทขอม ก่อตั้ง บริษัท คนสร้างเมือง พันนาบุรี จำกัด ประกอบกิจการโรงแรม รีสอร์ท ภัตตาคาร สถานที่พักตากอากาศ และร้านอาหาร ภายใต้ชื่อ “พันนาบุรี” โดย นางสาวอภิญญา พันทะสา และ นายเอกสิทธิ์ ใจกว้าง ผู้บริหาร พันนาบุรี เล่าถึงแนวคิดการสร้างพันนาบุรี ว่า ต้องการกระตุ้นการท่องเที่ยวในท้องถิ่น และสนับสนุนสินค้าชุมชน โดยเปิดโอกาสให้วิสาหกิจกว่า 30 ชุมชน สามารถนำสินค้ามาวางจำหน่าย ช่วยยกระดับขยายตลาดให้แก่สินค้าจากฝีมือชาวบ้าน
ทั้งนี้ พันนาบุรี ได้รับการสนับสนุนเงินทุนจาก SME D Bank นำไปพัฒนาก่อสร้างสถานที่ และให้คำปรึกษาแนะนำ ความรู้ต่างๆ ในดำเนินธุรกิจ แผนธุรกิจในอนาคต พร้อมต่อยอดสร้างโฮมสเตย์ รองรับความต้องการของลูกค้าที่เพิ่มขึ้น
เหล่านี้เป็นเพียงจุดเด่นบางส่วน หากต้องการเรียนรู้วิถีชีวิต ธรรมชาติงดงาม ภูมิปัญญาชาวบ้าน และสัมผัสเสน่ห์แห่งงานคราฟต์ บอกเลยว่า ห้ามพลาด จังหวัดสกลนครจึงเหมาะเป็นดินแดนในการสร้าง Soft Power อันทรงพลัง ช่วยผลักดันและขับเคลื่อนเศรษฐกิจจากการท่องเที่ยวท้องถิ่น
A7335