- Details
- Category: แบงก์พาณิชย์
- Published: Wednesday, 24 December 2014 01:05
- Hits: 1965
ธ.อิสลาม เผยยื่นแผนฟื้นฟูฯไปที่คลังแล้ว 2 แนวทาง แก้หนี้เสีย-ขอเพิ่มทุน รอแค่อนุมัติ
นายครรซิต สิงห์สุวรรณ์ รองกรรมการผู้จัดการ ธนาคารอิสลามแห่งประเทศ หรือ IBANK เปิดเผยว่าธนาคารอยู่ระหว่างรอทางกระทรวงการคลังทำหนังสือตอบกลับแบบเป็นลายลักษณ์อักษรในการอนุมัติแผนการจัดทำดีลดิลิเจ้นซ์ (Due Diligence) หรือประเมินผลดำเนินงานในการสำรวจสถานะกิจการของธนาคาร ซึ่งเป็นภารกิจเร่งด่วนในการฟื้นฟูกิจการธนาคาร โดยรอดูว่าทางคลังจะอนุมัติและเห็นชอบในแผนงานส่วนใดบ้าง ซึ่งหลักๆทางธนาคารได้ยื่นไป 2ข้อ คือการแก้ปัญหาหนี้เสียที่มีอยู่ 5 หมื่นล้านบาท และการขอเพิ่มทุนจำนวน1.6หมื่นล้านบาท ซึ่งจะทำให้เงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง (BIS) กลับมาเป็น8.5% จากปัจจุบัน -1%
โดยการแก้ไขปัญหาหนี้เสียและบริหารหนี้ที่มีอยู่ 5 หมื่นล้านบาทนั้นมี 4 ทางเลือก คือการขายหนี้ให้กับบริษัททั่วไป ,การขายหนี้ให้กับบริษัท บริหารสินทรัพย์สุขุมวิท จำกัด หรือ SAM, การตั้งบริษัทบริหารหนี้ขึ้นมาเองโดยธนาคารถือหุ้น100% ,การตั้งบริษัทบริหารหนี้และถือหุ้นโดยกระทรวงการคลัง100% อย่างไรก็ตามธนาคารพร้อมจัดการกับหนี้เสียให้เร่งด่วนที่สุด
ทั้งนี้ ธนาคารตั้งเป้าแผนงานในปี 2558 ขยายฐานลูกค้าโดยเน้นลูกค้าที่เป็นชาวมุสลิม ทำธุรกิจพันธมิตรกับผู้นับถือศาสนาอิสลามและกลุ่มลูกค้าทั่วไป โดยคาดว่าปี 2560 จะมีฐานลูกค้าเพิ่มขึ้นเป็น 1 ล้านราย จากเดิมปัจจุบันมีอยู่ 3 แสนราย ซึ่งมีสัดส่วนเป็นชาวมุสลิม 40% จากทั้งพอร์ต และตั้งเป้าหนี้ด้อยคุณภาพ (NPF)ในปีหน้ามีไม่เกิน 2% และหนี้ใหม่ที่เข้ามาต้องไม่เกิน 2%อย่างไรก็ตามคาดว่าในปีหน้าจะขาดทุนลดลง และจะเห็นกำไรได้ในปี2559 ซึ่งการเห็นกำไรต้องอยู่ในข้อแม้ที่แผนงานทุกอย่างเป็นไปตามเป้าหมาย
ด้านยอดรวมการปล่อยสินเชื่อของไอแบงก์ในปีนี้ลดลงกว่าครึ่งจากที่ตั้งเป้าในปี 2557 ไว้ที่ 1.1 หมื่นล้านบาท จากกลุ่มลูกค้ารายใหญ่ ธุรกิจSME และกลุ่มลูกค้ารายย่อย ปัจจุบันทำได้เพียง 5พันล้านบาท เป็นผลจากเศรษฐกิจซบเซา และทางธนาคารหันมาพัฒนาแผนฟื้นฟูเพื่อกอบกู้สถานการณ์ทางการเงินก่อน จึงไม่เน้นปล่อยสินเชื่อรายใหม่มากนัก
นอกจากนี้ ธนาคารอิสลามประเทศไทยได้ลงนามความร่วมมือกับการทางพิเศษแห่งประเทศไทยออกสินเชื่อสวัสดิการแก่พนักงานและลูกจ้างการทางพิเศษ โดยมีผลิตภัณฑ์สินเชื่อที่อยู่อาศัยและสินเชื่อบุคคล เพื่อเป็นทางเลือกให้กับพนักงานที่เป็นมุสลิมให้สามารถใช้บริการทางการเงินได้ถูกตามหลักศาสนา และเป็นการบูรณาการความร่วมมือระหว่าง 2 หน่วยงานรัฐวิสาหกิจ สร้างศักยภาพในการดำเนินธุรกิจต่อไปในอนาคต
สำนักข่าวอีไฟแนนซ์ไทย