WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

 

กรุงศรี มุ่งสู่อาเซียน เน้นความยั่งยืนพร้อมต่อยอดด้านนวัตกรรม เป้าหลักการดำเนินธุรกิจปี 2566

 

2124 Krungsri

          นายเซอิจิโระ อาคิตะ (กลาง) กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จํากัด (มหาชน) พร้อมด้วยนางสาวดวงดาว วงค์พนิตกฤต (2 จากซ้าย) ประธานคณะเจ้าหน้าที่ด้านการเงิน ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) นายไพโรจน์ ชื่นครุฑ (2 จากขวา) ประธานคณะเจ้าหน้าที่ด้านกลยุทธ์และวางแผนธุรกิจองค์กร ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) นายสยาม ประสิทธิศิริกุล (ซ้ายสุด) ประธานกลุ่มสนับสนุนธุรกิจด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและดิจิทัล ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) และนายประกอบ เพียรเจริญ (ขวาสุด) ประธานคณะเจ้าหน้าที่ด้านลูกค้าธุรกิจขนาดใหญ่และวาณิชธนกิจ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) ประกาศแผนธุรกิจประจำปี 2566 เน้นให้ความสำคัญในการสร้างอนาคตที่ยั่งยืนสำหรับทุกคน ทั้งในองค์กรตลอดจนพันธมิตรและลูกค้า โดยปีนี้เป็นปีสุดท้ายของแผนธุรกิจระยะกลางฉบับปัจจุบันปี 2564 – 2566 ที่กรุงศรีมุ่งมั่นเดินหน้าเพื่อบรรลุเป้าหมายสู่การเป็นสถาบันการเงินไทยที่เป็นที่หนึ่งในใจลูกค้า พร้อมเชื่อมโยงความต้องการของลูกค้าทั่วทั้งภูมิภาคอาเซียน

 

          กรุงศรี (ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน)) ในเครือของมิตซูบิชิ ยูเอฟเจ ไฟแนนเชียล กรุ๊ป (MUFG) หนึ่งในกลุ่มสถาบันการเงินที่ใหญ่ที่สุดระดับโลก ประกาศแผนธุรกิจประจำปี 2566 เน้นให้ความสำคัญในการสร้างอนาคตที่ยั่งยืนสำหรับทุกคน ทั้งในองค์กรตลอดจนพันธมิตรและลูกค้า โดยปีนี้เป็นปีสุดท้ายของแผนธุรกิจระยะกลางฉบับปัจจุบันปี 2564 – 2566 ที่กรุงศรีมุ่งมั่นเดินหน้าเพื่อบรรลุเป้าหมายสู่การเป็นสถาบันการเงินไทยที่เป็นที่หนึ่งในใจลูกค้า พร้อมเชื่อมโยงความต้องการของลูกค้าทั่วทั้งภูมิภาคอาเซียนผ่านกลยุทธ์สามด้าน ได้แก่ การดำเนินธุรกิจที่เชื่อมโยงภูมิภาคอาเซียน (ASEAN-Linked Business) ผ่านนวัตกรรมบริการด้านการเงิน การดำเนินธุรกิจที่เชื่อมโยงกับความยั่งยืนตามโมเดล ESG (ESG-Linked Business) เพื่อเป็นธนาคารพาณิชย์ที่ยั่งยืนที่สุดของประเทศไทยรวมถึงการเป็นหนึ่งในผู้นำในธุรกิจการเงินเพื่อความยั่งยืน และการพัฒนาด้านดิจิทัลและนวัตกรรม (Digital & Innovation) ด้วยการเดินหน้าสร้างสรรค์นวัตกรรมผลิตภัณฑ์และบริการดิจิทัลเพื่อประโยชน์ต่อลูกค้าทั้งในประเทศไทยและอาเซียน

          นายเซอิจิโระ อาคิตะ กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จํากัด (มหาชน) กล่าวว่าขณะที่เรากำลังก้าวเข้าสู่ปีสุดท้ายของแผนธุรกิจระยะกลางฉบับปัจจุบัน เมื่อมองย้อนกลับไปจะเห็นถึงความสำเร็จที่เกิดขึ้นมากมาย อย่างเช่นเรื่องของการเชื่อมโยงโครงข่ายในอาเซียนสู่ตลาดหลักๆ ในภูมิภาค การเติบโตอย่างแข็งแกร่งแม้ในช่วงท้าทายของสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ความยืดหยุ่นในการปรับตัว และพัฒนาการที่สำคัญสู่เป้าหมายด้าน ESG สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นความสำเร็จที่เกิดขึ้นระหว่างปี 2564-2565 ที่เราเชื่อมั่นว่าจะเป็นฐานรากที่แข็งแกร่งให้กรุงศรีสามารถเดินหน้าสู่อนาคตที่ยั่งยืนเพื่อผู้มีส่วนได้เสียทุกกลุ่ม และในปีนี้จะเป็นปีที่ทุกคนจะได้เห็นการยกระดับตำแหน่งของกรุงศรีในอาเซียน ในการดำเนินธุรกิจบนแนวทาง ESG และในการต่อยอดความเป็นผู้นำด้านดิจิทัลและนวัตกรรมเพื่อการเติบโตของธุรกิจ

 

2124 Krungsri Seiichiro Akita

นายเซอิจิโระ อาคิตะ กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จํากัด (มหาชน)

 

          ความสำเร็จในปี 2564-2565

          ขณะที่ประเทศไทยเริ่มฟื้นตัวจากการสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่เกิดขึ้นทั่วโลก กรุงศรียังคงยึดมั่นให้การดูแลช่วยเหลือในเชิงรุกแก่ลูกค้าที่ได้รับผลกระทบ และยังคงมีลูกค้าที่อยู่ภายใต้มาตรการช่วยเหลือต่างๆ คิดเป็นเงินให้สินเชื่อคงเหลือกว่า 150,000 ล้านบาท และอีกกว่า 16,000 ล้านบาทในรูปของโครงการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (Soft loan) และสินเชื่อเพื่อการฟื้นฟูธุรกิจ อีกทั้งกรุงศรียังมีผลการดำเนินงานที่เติบโตอย่างแข็งแกร่ง ด้วยยอดสินเชื่อรวมเติบโตเพิ่มขึ้น 3.1% และความสามารถในการทำกำไร (NIM) ที่ 3.45% 

          ในช่วงสองปีแรกของแผนธุรกิจระยะกลางฉบับปัจจุบัน กรุงศรีได้ยกระดับโครงข่ายอาเซียนอย่างแข็งแกร่งด้วยการขยายกิจการในต่างประเทศทั้งในประเทศฟิลิปปินส์ เวียดนาม และอินโดนีเซีย ขณะที่ธุรกิจในประเทศกัมพูชา และสปป.ลาว ก็ยังสามารถรักษาระดับการเติบโตได้ดี ส่งผลให้กรุงศรีสามารถขยายฐานลูกค้าใหม่เพิ่มขึ้นกว่า 150,000 ราย ผ่านการสร้างระบบนิเวศ (Ecosystem) และการร่วมเป็นพันธมิตร (Partnership)

          นอกจากนี้ กรุงศรียังได้ขยายกิจการไปทั่วทั้งภูมิภาคอาเซียนอย่างต่อเนื่องผ่านความร่วมมือทางธุรกิจกับ SB Finance ประเทศฟิลิปปินส์ และ SHB Finance ในประเทศเวียดนาม ขณะเดียวกันก็มีการพัฒนาโครงข่ายเชื่อมโยงในประเทศอินโดนีเซีย สิงคโปร์ และกัมพูชาอย่างต่อเนื่อง สถานะของ Hattha Bank ในประเทศกัมพูชาเองก็มีการยกระดับขึ้นสู่การเป็นธนาคารพาณิชย์ ในด้านภาพรวมผลประกอบการ กรุงศรีมีรายได้สุทธิจากการดำเนินธุรกิจในอาเซียนเพิ่มขึ้นจาก 3% ในปี 2563 เป็น 6% ในปี 2565 

          ในฐานะที่เป็นผู้นำในธุรกิจการเงินเพื่อความยั่งยืน กรุงศรีเดินหน้าต่อยอดเพื่อบรรลุพันธกิจด้าน ESG พร้อมวิสัยทัศน์ด้านความเป็นกลางทางคาร์บอน โดยโครงการต่างๆ ที่กรุงศรีริเริ่มและประสบความสำเร็จระหว่างปี ประกอบไปด้วย โครงการ Krungsri x SET ‘Care the Whale’ โครงการ Zero Food Waste และเข้าร่วมเป็นสมาชิกของ RE100 Thailand Club หรือสมาคมพลังงานหมุนเวียนไทย

 

          การยกระดับฐานะของกรุงศรีในภูมิภาคอาเซียน

          ต่อยอดจากรากฐานที่มั่นคงในภูมิภาคอาเซียน ในปี 2566 กรุงศรีตั้งเป้าที่จะผนึกกำลังธุรกิจต่างๆ ในอาเซียนภายใต้กลยุทธ์ One Krungsri เพื่อสร้างมูลค่าให้กับลูกค้าในประเทศไทยและอาเซียน ด้วยเป้าหมายดังกล่าวจะทำให้เกิดบริการทางการเงินที่สำคัญ อาทิ บริการโอนเงิน การลงทุนในต่างประเทศ บริการที่ปรึกษา และบริการอื่นๆ อย่างบัตรเครดิตที่จะเข้าถึงผู้ใช้มากขึ้นด้วยการนำเสนอสิทธิประโยชน์ที่ดียิ่งขึ้นให้แก่ลูกค้า นอกจากนี้ธนาคารยังมุ่งขับเคลื่อนเพื่อบรรลุสู่เป้าหมายในการสร้างรายได้สุทธิจากการดำเนินธุรกิจในอาเซียนให้เป็น 10%

 

          ยกระดับสถานะของกรุงศรีในด้านความยั่งยืน (ESG)

          ด้วยเป้าหมายที่จะเป็นธนาคารพาณิชย์ที่ยั่งยืนที่สุดในประเทศไทย กรุงศรีประกาศเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน ลดปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์จากการดำเนินงานของธนาคารภายในปี 2573 โดยธนาคารจะยังคงเดินหน้าอย่างไม่หยุดยั้งเพื่อบรรลุเป้าหมายด้าน ESG ในปี 2566 นี้ด้วยการสนับสนุนให้ลูกค้าสามารถเปลี่ยนผ่านและดำเนินงานตามแนวทาง ESG ผ่านหลากหลายโครงการสำหรับลูกค้าธุรกิจและรายย่อย ในส่วนของภาคธุรกิจ ยังรวมถึงการให้เงินสนับสนุนกับโครงการที่เกี่ยวข้องกับการประหยัดพลังงาน เช่น หลังคาพลังงานแสงอาทิตย์ จุดชาร์จไฟฟ้าสำหรับรถยนต์พลังงานไฟฟ้า (EV) และพลังงานทดแทน อีกทั้งสินเชื่อที่เชื่อมโยงกับการดำเนินงานด้านความยั่งยืนและหุ้นกู้ส่งเสริมความยั่งยืน สินเชื่อที่เกี่ยวเนื่องกับธุรกิจสีเขียว ธุรกิจเพื่อสังคม และธุรกิจเพื่อความยั่งยืนก็เป็นสิ่งที่ธนาคารให้ความสำคัญเป็นลำดับต้นๆ ในส่วนของรายย่อย การให้สินเชื่อรถยนต์พลังงานไฟฟ้า การให้สินเชื่อที่รับผิดชอบต่อสังคม และกองทุนที่เกี่ยวข้องกับ ESG จะได้รับการเสนอให้กับลูกค้า ภายใต้การประกาศวิสัยทัศน์ด้านความเป็นกลางทางคาร์บอนของกรุงศรี ธนาคารมีเป้าหมายจะเพิ่มการสนับสนุนทางการเงินให้แก่โครงการธุรกิจเพื่อสังคมและความยั่งยืนเป็น 50,000 – 100,000 ล้านบาทภายในปี 2573

 

          สร้างการเติบโตทางธุรกิจด้วยเทคโนโลยีดิจิทัลและนวัตกรรม

          การลงทุนต่อเนื่องในโครงการพัฒนาด้านดิจิทัลและนวัตกรรมที่ประสบความสำเร็จของกรุงศรีจะทำให้ธนาคารเพิ่มการสนับสนุนความเชื่อมโยงอาเซียนในวงกว้างผ่านการส่งเสริมการชำระและการโอนเงินข้ามประเทศ โดยในประเทศไทยได้มีการเปิดโครงการนำร่องสกุลเงินดิจิทัลที่ออกโดยรัฐบาลกลาง (CBDC) ภาคประชาชนและภาคธุรกิจที่จะเปลี่ยนอนาคตของการชำระเงินดิจิทัล ด้วยความเชี่ยวชาญและความพร้อมจึงทำให้กรุงศรีเป็นหนึ่งในสองธนาคารพาณิชย์ของไทยที่ได้รับเลือกโดยธนาคารแห่งประเทศไทยในการเข้าร่วมโครงการนำร่องสกุลเงินดิจิทัลภาคประชาชนที่ออกโดยรัฐบาลกลาง ทั้งนี้ ประสบการณ์ของลูกค้ายังถือเป็นสิ่งสำคัญสุดสำหรับการพัฒนานวัตกรรม กรุงศรีมีเป้าหมายที่จะเชื่อมโยงแอปบนมือถือที่มีไม่ว่าจะเป็น KMA-Krungsri Mobile App, UCHOOSE และ GO เพื่อช่วยให้ผู้ใช้มีชีวิตที่ง่ายยิ่งขึ้น นับเป็นส่วนหนึ่งของโร้ดแมปแผนงานพัฒนาระยะยาวเพื่อสนับสนุนอนาคตของการธนาคารและการปรับพัฒนาด้านความปลอดภัยของแอปและดิจิทัลแบงก์กิ้งอย่างต่อเนื่องเพื่อสร้างสภาพแวดล้อมดิจิทัลที่ปลอดภัย

          เพื่อเป็นการดึงดูดผู้มีความสามารถ (Talent) และขับเคลื่อนการพัฒนาภูมิทัศน์ดิจิทัลของประเทศไทยที่สอดรับกับเป้าหมายด้านเศรษฐกิจดิจิทัลของประเทศ กรุงศรีได้ลงทุนสร้างออฟฟิศที่ตอบโจทย์คนรุ่นใหม่เพื่อดึงดูดทีมงานที่มีศักยภาพสูงด้านไอที อีกทั้งการขยายธุรกิจในอาเซียนยังเป็นการเปิดโอกาสให้ธนาคารได้เข้าถึงบุคลากรมากความสามารถ โดยกรุงศรีได้เปิด Innovation Hub ศูนย์กลางนวัตกรรมสร้างสรรค์ชุมชนสายเทคนำร่องในจังหวัดเชียงใหม่ เพื่อเข้าถึงกลุ่มบุคลากรมากความสามารถในสายเทคและสร้างพื้นที่เปิดให้คนได้มาแบ่งปันไอเดียและได้รับโอกาสทำงานร่วมกับผู้เชี่ยวชาญของกรุงศรี

          ปีนี้จะเป็นปีที่ท้าทายจากการที่ประเทศเศรษฐกิจหลักกำลังเผชิญกับความเสี่ยงจากภาวะเศรษฐกิจถดถอย ผลจากการเปิดประเทศของจีนที่ยังคงไม่ชัดเจนนัก แต่อุปสงค์ในภาคบริการน่าจะเติบโตเร็วขึ้นกว่าอุปสงค์ต่อสินค้า การเติบโตของเศรษฐกิจในอาเซียนชะลอตัวลงอยู่ที่ 4.9% ในปี 2566 จาก 5.3% ในปี 2565 แต่ยังคงเป็นภูมิภาคที่เติบโตเร็วที่สุด นอกจากประเทศไทยแล้ว ประเทศเวียดนาม ฟิลิปปินส์ และอินโดนีเซียมีการเติบโตที่ดี โดยมีปัจจัยขับเคลื่อนจากอุปสงค์ภายในประเทศและการฟื้นตัวของการท่องเที่ยวต่างประเทศ รวมทั้งข้อตกลงการค้าเสรีที่รวมถึง RCEP และเม็ดเงินลงทุนจากต่างประเทศ (FDI) ที่ไหลเข้ามา ด้วยกลยุทธ์ของกรุงศรี เราหวังที่จะก้าวข้ามความท้าทายเหล่านี้ไปได้ และจะอาศัยข้อได้เปรียบจากโอกาสต่างๆ ที่มีในอาเซียนโดยการปรับตัวให้เข้ากับความต้องการที่เปลี่ยนแปลงไป และเสนอโซลูชันที่เหมาะสมสำหรับลูกค้าธุรกิจและลูกค้ารายย่อยทั่วภูมิภาคนายอาคิตะ กล่าวเสริม

          กรุงศรีคาดว่าในปี 2566 เงินให้สินเชื่อจะเติบโตที่ 3-5% และตั้งเป้าหมายของส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยสุทธิ (NIM) อยู่ที่ 3.5% ซึ่งคาดว่ารายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ย (Non-Interest Income) จะยังอยู่ในระดับเดียวกับปีที่ผ่านมา และอัตราส่วนสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL Ratio) อยู่ที่ราว 2.5-2.6%

 

 

A2124

Click Donate Support Web  

QIC 720x100

วิริยะ 720x100

AXA 720 x100

aia 720 x100

BKI 720 x 100

PTG 720x100ais 720x100 

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!