- Details
- Category: แบงก์พาณิชย์
- Published: Sunday, 07 August 2022 22:24
- Hits: 2866
ฟิทช์ คงอันดับเครดิตของธนาคารกรุงเทพที่ ‘BBB’ และ 'AA+(tha)' แนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ
ฟิทช์ เรทติ้งส์ - สิงคโปร์/กรุงเทพฯ - 27 กรกฎาคม 2565: ฟิทช์ เรทติ้งส์ ประกาศคงอันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะยาวของธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BBL ที่ ‘BBB’ และคงอันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวที่ 'AA+(tha)' แนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ พร้อมกันนี้ฟิทช์ประกาศคงอันดับความแข็งแกร่งทางการเงินของธนาคารและคงอันดับเครดิตสนับสนุนจากรัฐบาล ที่ 'bbb'
รายละเอียดอันดับเครดิตทั้งหมดแสดงไว้ในส่วนท้าย
ปัจจัยสนับสนุนอันดับเครดิต
อันดับเครดิตสากลพิจารณาจากอันดับความแข็งแกร่งทางการเงินและปัจจัยสนับสนุน: อันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะยาวของ BBL พิจารณาจากทั้งความแข็งแกร่งของโครงสร้างเครดิตของธนาคารเองซึ่งสะท้อนโดยอันดับความแข็งแกร่งทางการเงิน (Viability Rating) และความคาดหวังของฟิทช์ถึงโอกาสที่ธนาคารจะได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลไทยซึ่งสะท้อนโดยอันดับเครดิตสนับสนุนจากรัฐบาล
อันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะสั้นของ BBL ที่ F2 ซึ่งเป็นตัวเลือกที่สูงกว่าสำหรับอันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะยาว สะท้อนถึงโอกาสที่รัฐบาลจะให้การสนับสนุนซึ่งจะมีความแน่นอนกว่าในระยะสั้น นอกจากนี้อันดับเครดิตภายในประเทศของธนาคารยังรวมการพิจารณาถึงโครงสร้างเครดิตของธนาคารในเชิงเปรียบเทียบกับธนาคารหรือบริษัทอื่นที่ได้รับการจัดอันดับในประเทศ
สภาพแวดล้อมในการดำเนินงานฟื้นตัวจากผลกระทบโรคระบาด: สภาพแวดล้อมในการดำเนินงานปรับตัวดีขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป ซึ่งจะเป็นปัจจัยสนับสนุนผลการดำเนินงานของภาคธนาคาร โดยฟิทช์คาดว่าอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจ (GDP) จะอยู่ที่ 3.2% ในปี 2565 และ 4.5% ในปี 2566 อันดับคะแนนด้านสภาพแวดล้อมในการดำเนินงานยังคงไม่เปลี่ยนแปลงที่ ‘bbb’ แนวโน้มมีเสียรภาพ ซึ่งสูงกว่าคะแนนตามเกณฑ์มาตรฐานที่อยู่ในกลุ่ม ‘bb’
แต่ฟิทช์ มีการปรับเพิ่มอันดับคะแนนโดยใช้ปัจจัยด้าน ‘อันดับเครดิตของประเทศ’ ซึ่งประเทศไทยได้รับการจัดอันดับเครดิตที่ ‘BBB+’/แนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ รัฐบาลมีความสามารถและความตั้งใจที่จะช่วยเหลือสนับสนุนกิจกรรมทางธุรกิจและเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ ซึ่งสังเกตได้จากมาตรการช่วยเหลือต่างๆ ในช่วงโรคระบาดโควิด
ผู้นำด้านสินเชื่อธุรกิจ: อันดับความแข็งแกร่งทางการเงินของ BBL สะท้อนถึงสถานะที่แข็งแกร่งของธนาคารในฐานะที่เป็นหนึ่งในธนาคารที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย BBL มีจุดแข็งเป็นพิเศษในด้านความสัมพันธ์อันยาวนานกับลูกค้าองค์กรขนาดใหญ่และความสามารถในการปล่อยสินเชื่อรายใหญ่ BBL มีธุรกิจในต่างประเทศเป็นสัดส่วนที่มากที่สุดเทียบกับธนาคารไทยอื่นๆ
โดยมีสาขาใน 14 เขตเศรษฐกิจและมีความเชี่ยวชาญในการให้บริการธนาคารระหว่างประเทศสำหรับลูกค้าองค์กร นอกจากนี้ธนาคารยังมีเครือข่ายทางธุรกิจในด้านเงินฝากในประเทศที่แข็งแกร่ง ซึ่งมีปัจจัยสนับสนุนมาจากเครือข่ายที่กว้างขวางและชื่อเสียงที่เป็นที่รู้จัก
มีความสามารถที่แข็งแกร่งในการรองรับความเสี่ยง: อัตราส่วนสินเชื่อด้อยคุณภาพต่อสินเชื่อรวมของ BBL ยังคงได้รับแรงกดดันจากผลกระทบของโรคระบาด
ฟิทช์ คาดว่า อัตราส่วนสินเชื่อด้อยคุณภาพต่อสินเชื่อรวมของธนาคารจะยังอยู่ในระดับที่สูงกว่า 4% อยู่เล็กน้อยและอาจเข้าสู่ระดับสูงสุดในปี 2565 อย่างไรก็ตาม ธนาคารน่าจะยังรักษาระดับการตั้งสำรองที่แข็งแกร่งอย่างต่อเนื่อง โดยอัตราส่วนค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญต่อสินเชื่อด้อยคุณภาพอยู่ที่ 221% ในไตรมาส 1 ปี 2565 (ค่าเฉลี่ยของกลุ่มธนาคารที่ 161%) และน่าจะช่วยบรรเทาความเสี่ยงเชิงลบต่อคุณภาพสินทรัพย์
ฟิทช์ จึงให้อันดับคะแนนด้านคุณภาพสินทรัพย์ที่ 'bbb-' ซึ่งสูงกว่าคะแนนตามเกณฑ์ประเมินมาตรฐานของฟิทช์ที่ 'bb' การเปลี่ยนแปลงแนวโน้มคุณภาพสินทรัพย์เป็น 'มีเสถียรภาพ' จาก 'แนวโน้มเป็นลบ'
สะท้อนถึงมุมมองของฟิทช์ว่าความเสี่ยงเชิงลบต่อคุณภาพสินทรัพย์ปรับตัวลดลง และอันดับคะแนนด้านคุณภาพสินทรัพย์ไม่น่าจะถูกปรับลดลงในช่วง 2-3 ปีข้างหน้าตามสมมติฐานกรณีพื้นฐานของฟิทช์ว่าเศรษฐกิจจะค่อยๆปรับตัวดีขึ้น
กำไรฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป: ฟิทช์ปรับแนวโน้มสำหรับอันดับคะแนนด้านความสามารถในการทำกำไรของ BBL เป็น 'มีสเถียรภาพ' จาก 'แนวโน้มเป็นลบ' และคงคะแนนที่ 'bbb-' เพื่อสะท้อนถึงความคาดหวังว่าผลการดำเนินงานได้ผ่านพ้นจุดต่ำสุดไปแล้วในปี 2563
โดยจะได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการเติบโตของสินเชื่อ การปรับตัวดีขึ้นของส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยสุทธิ และค่าใช้จ่ายในการตั้งสำรองหนี้สูญที่ลดลง ฟิทช์ คาดว่า อัตรากำไรจากการดำเนินงานต่อสินทรัพย์เสี่ยงจะปรับตัวเข้าสู่ระดับปกติก่อนที่จะมีภาวะโรคระบาดและปรับตัวเพิ่มขึ้นเกิน 1.5% (ปี 2564: 1.1%) ในช่วงหลายปีข้างหน้า โดยมีปัจจัยสนับสนุนมาจากการเติบโตของสินเชื่อ ดังนั้นฟิทช์จึงให้คะแนนสูงกว่าคะแนนตามเกณฑ์ประเมินมาตรฐานของฟิทช์สำหรับความสามารถในการทำกำไร
เงินกองทุนแข็งแกร่งขึ้น: ฟิทช์ คาดว่า BBL จะยังคงรักษาอัตราส่วนเงินกองทุนในระดับที่แข็งแกร่งเมื่อเทียบกับธนาคารขนาดใหญ่อื่นในประเทศไทยในระยะปานกลาง การเข้าซื้อกิจการธนาคาร Permata ในปี 2563 ทำให้อัตราส่วน เงินกองทุนชั้นที่ 1 ที่เป็นส่วนของเจ้าของ (CET1) ของ BBL ลดลงไปเกือบ 3% สู่ระดับ 14%
โดยฟิทช์ คาดว่า BBL จะทยอยเพิ่มเงินกองทุนให้ปรับตัวเพิ่มขึ้นมาอีกครั้ง แม้ว่าการระบาดของเชื้อไวรัสจะส่งผลให้ความสามารถในการสะสมกำไรลดลงในช่วงสองปีที่ผ่านมา ฟิทช์คาดว่าอัตราส่วนเงินกองทุน CET 1 ของ BBL จะค่อยๆ ปรับตัวดีขึ้นในอีก 1-2 ปีข้างหน้าจาก ในเดือนมีนาคม 2565 ซึ่งอยู่ที่ 15.2%
สภาพคล่องแข็งแกร่งอย่างต่อเนื่อง: ฟิทช์ มองว่า การระดมทุนและสภาพคล่องของ BBL มีความแข็งแกร่งเมื่อเทียบกับธนาคารที่มีความสำคัญเชิงระบบรายอื่นในประเทศไทย (D-SIB) อัตราส่วนเงินให้สินเชื่อต่อเงินฝากของ BBL อยู่ที่ 81% ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2565 ยังคงต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของภาคธนาคารที่ 93%
และอัตราส่วนของปริมาณสินทรัพย์สภาพคล่องต่อประมาณการกระแสเงินสดไหลออก (LCR ratio) ของธนาคารก็แข็งแกร่งโดยอยู่ที่ 270% ณ สิ้นปี 2564 (ค่าเฉลี่ยของภาคธนาคารที่ : 192%) ฐานะการระดมทุนและสภาพคล่องที่แข็งแกร่งของธนาคารได้รับการสนับสนุนจากเครือข่ายฐานเงินฝากที่แข็งแกร่งในประเทศไทย ซึ่งฟิทช์มองว่ามั่นคงและยั่งยืน
มีความสำคัญเชิงระบบอย่างชัดเจน: อันดับเครดิตสนับสนุนจากรัฐบาลของ BBL สะท้อนให้เห็นถึงมุมมองของฟิทช์ในด้านความสำคัญเชิงระบบของธนาคารที่มีต่อระบบการเงินในประเทศ จึงทำให้มีโอกาสสูงที่ธนาคารจะได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาล
โดย BBL มีประวัติอันยาวนานในฐานะที่เป็นหนึ่งในธนาคารที่ใหญ่ที่สุดและเป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลายในประเทศไทย โดยมีเครือข่ายทางธุรกิจในประเทศที่แข็งแกร่งรวมถึงมีสัดส่วนการดำเนินงานในต่างประเทศอย่างมีนัยสำคัญ
ทั้งนี้ ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนดให้ BBL เป็นหนึ่งในหกธนาคารที่มีความสำคัญเชิงระบบในประเทศไทย ซึ่งสะท้อนถึงขนาดและความเชื่อมโยงธนาคารต่อระบบทางการเงิน อันดับเครดิตสนับสนุนจากรัฐบาลยังสะท้อนถึงความสามารถของรัฐบาลไทยในการให้การสนับสนุนแก่ธนาคารซึ่งบ่งชี้โดยอันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศของประเทศไทย
ปัจจัยที่อาจมีผลต่ออันดับเครดิตในอนาคต
ปัจจัยที่อาจส่งผลกระทบเชิงลบหรือส่งผลให้เกิดการปรับลดอันดับเครดิต (ปัจจัยเดียวหรือหลายปัจจัยรวมกัน)
อันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศ และอันดับเครดิตภายในประเทศ
การปรับลดอันดับเครดิตสนับสนุนจากรัฐบาลและอันดับความแข็งแกร่งทางการเงินพร้อมกันจะส่งผลให้อันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะยาว อันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาว
และอันดับเครดิตหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิถูกปรับลดอันดับเช่นกัน อันดับเครดิตภายในประเทศของธนาคารอาจได้รับการปรับลดอันดับหากฟิทช์มองว่าโครงสร้างเครดิตของธนาคารปรับตัวอ่อนแอลงเมื่อเทียบกับธนาคารอื่นที่ได้รับการจัดอันดับในประเทศไทย
อันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะสั้นของธนาคารอาจถูกปรับลดอันดับหากอันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะยาวของธนาคารถูกปรับลดลงเป็น 'BBB-'
อันดับความแข็งแกร่งทางการเงิน
อันดับความแข็งแกร่งทางการเงินของธนาคารอาจถูกปรับลดลงเป็น 'bbb-' หากธนาคารมีฐานะทางการเงินที่อ่อนแอลงมากกว่าที่ฟิทช์คาด ซึ่งอาจสะท้อนได้โดยการปรับลดคะแนนของปัจจัยต่างๆ ที่ใช้พิจารณาอันดับเครดิต
กรณีดังกล่าวอาจเกิดจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่ช้ากว่าคาดเนื่องจากสถานการณ์เศรษฐกิจโลก ซึ่งอาจส่งผลให้เกิดการคาดการณ์ว่าผลการดำเนินงานจะปรับตัวแย่ลงและทบทวนประวัติในการดำเนินธุรกิจของธนาคาร
โดยแรงกดดันดังกล่าวอาจบ่งชี้ได้จากการเพิ่มขึ้นของอัตราส่วนสินเชื่อด้อยคุณภาพต่อสินเชื่อรวมที่สูงกว่า 6% เป็นระยะเวลาต่อเนื่อง (ไตรมาส 1 ปี 2565 อยู่ที่ 3.9%) ประกอบกับธนาคารมีความสามารถในการรองรับความเสี่ยงที่ด้อยลง เช่น มีอัตราส่วนเงินกองทุน CET 1 ที่ต่ำกว่า 13 % และมีอัตราส่วนสำรองหนี้สูญและหนี้สงสัยจะสูญต่อสินเชื่อด้อยคุณภาพที่ต่ำกว่า 120% และไม่สามารถรักษาระดับอัตรากำไรจากการดำเนินงานต่อสินทรัพย์เสี่ยงที่ระดับสูงกว่า 1.5% ได้
อันดับเครดิตสนับสนุนจากรัฐบาล
อันดับเครดิตสนับสนุนจากรัฐบาลอาจถูกปรับลดอันดับหากฟิทช์เชื่อว่าความสามารถที่รัฐบาลจะให้การสนับสนุนแก่ธนาคารนั้นลดลง เหตุการณ์ดังกล่าวอาจเกิดขึ้นหากอันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะยาวของประเทศไทยถูกปรับลดอันดับ
นอกจากนี้ การปรับลดอันดับเครดิตยังอาจเกิดขึ้นได้หากฟิทช์เชื่อว่าโอกาสที่รัฐบาลจะให้การสนับสนุนแก่ BBL ลดลง เช่น จากการลดลงอย่างมีนัยสำคัญของระดับความสำคัญของธนาคารที่มีต่อระบบ หรือมีการเปลี่ยนแปลงของกฎระเบียบอย่างมีนัยสำคัญ อย่างไรก็ตามฟิทช์เชื่อว่ามีความเป็นไปได้ค่อนข้างน้อยที่โอกาสที่ BBL จะได้รับความช่วยเหลือจากรัฐบาลจะปรับตัวลดลงในระยะปานกลาง
ปัจจัยที่อาจส่งผลกระทบเชิงบวกหรือส่งผลให้เกิดการปรับเพิ่มอันดับเครดิต (ปัจจัยเดียวหรือหลายปัจจัยรวมกัน)
อันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศ และอันดับเครดิตภายในประเทศ
อันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศ อันดับเครดิตภายในประเทศ และอันดับเครดิตหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิของ BBL อาจได้รับการปรับเพิ่มอันดับหากอันดับเครดิตสนับสนุนจากรัฐบาลหรืออันดับความแข็งแกร่งทางการเงินได้รับการปรับเพิ่มอันดับ ทั้งนี้อันดับเครดิตภายในประเทศของ BBL ได้รวมการพิจารณาถึงโครงสร้างอันดับเครดิตของธนาคารเทียบกับธนาคารอื่นในประเทศที่ได้รับการจัดอันดับเครดิตภายในประเทศด้วย
อันดับความแข็งแกร่งทางการเงิน
อันดับความแข็งแกร่งทางการเงินของ BBL อาจได้รับการปรับเพิ่มอันดับเป็น 'bbb+' หากอัตราส่วนทางการเงินที่สำคัญของธนาคารปรับตัวดีขึ้นอย่างยั่งยืน ในขณะที่โครงสร้างธุรกิจสามารถสนับสนุนให้ธนาคารมีผลการดำเนินงานที่แข็งแกร่งกว่าอุตสาหกรรมได้อย่างสม่ำเสมอโดยที่ไม่ได้ยอมรับความเสี่ยงเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ
ทั้งนี้ เหตุการณ์ดังกล่าวน่าจะต้องได้รับแรงหนุนจากสภาวะแวดล้อมในการดำเนินงานที่ปรับตัวดีขึ้นอย่างมากและจะเห็นได้จากอัตราส่วนทางการเงินที่สำคัญ เช่น อัตราส่วนกำไรจากการดำเนินงานต่อสินทรัพย์เสี่ยงที่ปรับตัวสูงกว่า 2.5% (ไตรมาส 1 ปี 2565: 1.3%) และมีค่าเฉลี่ยของอัตราส่วนสินเชื่อด้อยคุณภาพต่อสินเชื่อรวม 4 ปีย้อนหลังที่ระดับต่ำกว่า 3%
โดยที่ยังคงความสามารถในการรองรับความเสี่ยง เช่น การมีอัตราส่วนเงินกองทุน CET 1 ที่สูงกว่า 16% อย่างไรก็ตามโอกาสการปรับเพิ่มอันดับในระยะอันใกล้นี้ค่อนข้างจำกัดเนื่องจากความท้าทายของสภาพแวดล้อมในการดำเนินงาน
อันดับเครดิตสนับสนุนจากรัฐบาล
อันดับเครดิตสนับสนุนจากรัฐบาลอาจได้รับการปรับเพิ่มอันดับหากอันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะยาวของประเทศไทยได้รับการปรับเพิ่ม ซึ่งอาจบ่งชี้ได้ว่ารัฐบาลมีความสามารถเพิ่มขึ้นในการสนับสนุนธนาคารที่มีความสำคัญต่อระบบการเงินในประเทศรวมถึง BBL อย่างไรก็ตามการพิจารณาอันดับเครดิตสนับสนุนจากรัฐบาลต้องคำนึงถึงการที่โอกาสในการให้การสนับสนุนธนาคารว่าจะยังคงอยู่ในระดับเดิม
อันดับเครดิตหุ้นกู้และอันดับเครดิตอื่น
หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ
อันดับเครดิตของหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิของ BBL ได้รับการจัดอันดับเครดิตให้อยู่ในระดับเดียวกันกับอันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศ เนื่องจากหุ้นกู้ดังกล่าวนับเป็นภาระผูกพันที่ไม่ด้อยสิทธิของธนาคาร
หุ้นกู้ด้อยสิทธิ
อันดับเครดิตหุ้นกู้ด้อยสิทธิที่นับเป็นเงินกองทุนชั้นที่ 2 ของ BBL ได้รับการจัดอันดับที่ระดับต่ำกว่าอันดับเครดิตอ้างอิง (ซึ่งคืออันดับความแข็งแกร่งทางการเงิน) อยู่สองอันดับ เพื่อสะท้อนความเสี่ยงของการขาดทุนจากการชำระคืนเงินกู้ (loss severity risk) ที่มีสูงกว่าเมื่อเทียบกับตราสารหนี้ที่ไม่ด้อยสิทธิ
ทั้งนี้ ไม่ได้มีการลดทอนอันดับเครดิตเพิ่มเติมเนื่องจากข้อกำหนดสิทธิของหุ้นกู้ด้อยสิทธิดังกล่าวไม่ได้มีคุณสมบัติรองรับผลขาดทุนในระหว่างการดำเนินกิจการ (going-concern loss absorption) ซึ่งอันดับเครดิตของตราสารและจำนวนอันดับเครดิตที่ลดทอนจากอันดับเครดิตอ้างอิงสอดคล้องกับหลักเกณฑ์ของฟิทช์ในการจัดอันดับเครดิตตราสารประเภทดังกล่าว
ปัจจัยที่อาจส่งผลกระทบเชิงลบหรือส่งผลให้เกิดการปรับลดอันดับเครดิต (ปัจจัยเดียวหรือหลายปัจจัยรวมกัน)
อันดับเครดิตของหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิของ BBL อาจถูกปรับลดอันดับลงหากมีการปรับลดอันดับเครดิตอ้างอิงซึ่งคืออันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะยาว
การปรับลดอันดับความแข็งแกร่งทางการเงินของธนาคารจะส่งผลให้อันดับเครดิตหุ้นกู้ด้อยสิทธิของ BBL ได้รับการปรับลดอันดับ
ปัจจัยที่อาจส่งผลกระทบเชิงบวกหรือส่งผลให้เกิดการปรับเพิ่มอันดับเครดิต (ปัจจัยเดียวหรือหลายปัจจัยรวมกัน)
การปรับเพิ่มอันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะยาวน่าจะส่งผลให้อันดับเครดิตของหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิของธนาคารได้รับการปรับเพิ่มอันดับ
อันดับเครดิตหุ้นกู้ด้อยสิทธิของ BBL จะได้รับการปรับเพิ่มอันดับหากอันดับเครดิตอ้างอิงซึ่งคืออันดับความแข็งแกร่งทางการเงินได้รับการปรับเพิ่มอันดับ
การปรับคะแนนของปัจจัยในการพิจารณาอันดับความแข็งแกร่งทางการเงิน
อันดับคะแนนที่ให้แก่ปัจจัยด้านสภาพแวดล้อมในการดำเนินงานที่ 'bbb' อยู่สูงกว่าคะแนนตามเกณฑ์ซึ่งอยู่ในกลุ่ม 'bb' เนื่องจากการปรับเพิ่มคะแนนด้วยปัจจัยด้าน 'อันดับเครดิตของประเทศ'
อันดับคะแนนที่ให้แก่ปัจจัยด้านคุณภาพสินทรัพย์ที่ 'bbb-' อยู่สูงกว่าคะแนนตามเกณฑ์ซึ่งอยู่ในกลุ่ม 'bb' เนื่องจากการปรับเพิ่มคะแนนด้วยปัจจัยด้าน 'หลักประกันและระดับสำรองหนี้สูญ'
อันดับคะแนนที่ให้แก่ปัจจัยด้านความสามารถในการทำกำไรที่ 'bbb-' อยู่สูงกว่าคะแนนตามเกณฑ์ซึ่งอยู่ในกลุ่ม 'bb' เนื่องจากการปรับเพิ่มคะแนนด้วยปัจจัยด้าน 'เกณฑ์ชี้วัดในอดีตและอนาคต'
อันดับเครดิตที่มีความเชื่อมโยงกับอันดับเครดิตอื่น
อันดับเครดิตสนับสนุนจากรัฐบาลของ BBL มีความเชื่อมโยงกับอันดับเครดิตสากลของประเทศไทย
การพิจารณาปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (ESG)
ระดับคะแนนที่สูงที่สุดสำหรับความสัมพันธ์ของ ESG ต่ออันดับเครดิต (หากมีการเปิดเผย) แสดงว่าระดับคะแนนจะอยู่ที่ระดับ 3 ซึ่งหมายความว่าปัจจัยด้าน ESG จะไม่ส่งผลกระทบหรืออาจมีผลกระทบในระดับที่น้อยมากต่ออันดับเครดิตของธนาคาร ไม่ว่าจะด้วยปัจจัยจากลักษณะของธุรกิจหรือจากการบริหารจัดการของธนาคารก็ตามสำหรับรายละเอียดเพิ่มเติมหาได้จาก www.fitchratings.com/esg
BBL:
รายละเอียดของอันดับเครดิตทั้งหมดมีดังนี้
- อันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะยาว คงอันดับที่ ‘BBB’; แนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ
- อันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะสั้น คงอันดับที่ ‘F2’
- อันดับความเข็งแกร่งทางการเงิน คงอันดับที่ ‘bbb’
- อันดับเครดิตสนับสนุนจากรัฐบาล คงอันดับที่ 'bbb'
- อันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาว คงอันดับที่ ‘AA+(tha)’; แนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ
- อันดับเครดิตภายในประเทศระยะสั้น คงอันดับที่ ‘F1+(tha)’
- อันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะยาวของหุ้นกู้ ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน คงอันดับที่ ‘BBB’
- อันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะยาวของหุ้นกู้ด้อยสิทธิคงอันดับที่ ‘BB+