- Details
- Category: แบงก์พาณิชย์
- Published: Monday, 14 March 2022 16:42
- Hits: 8740
KBTG ร่วมเป็นสมาชิก MIT Media Lab ทำวิจัยบริการทางการเงินยุคใหม่
พร้อมตอบโจทย์การพัฒนาประเทศในระดับภูมิภาคอย่างเต็มรูปแบบ
KBTG เข้าร่วมเป็นสมาชิก MIT Media Lab ห้องปฏิบัติการวิจัยของสถาบันเทคโนโลยีแมสซาซูเซตส์ สหรัฐฯ อย่างเป็นทางการ เป็นบริษัทไทยแห่งแรกที่จะส่งนักวิจัยไปที่ห้องปฏิบัติการงานวิจัยของ MIT เพื่อทำงานร่วมกันในด้านการวิจัยเทคโนโลยีระดับแนวหน้าสำหรับบริการทางการเงินยุคใหม่ พร้อมแก้ไขปัญหาสำคัญระดับประเทศในมิติต่างๆ ให้มีความแข็งแรงมากยิ่งขึ้น
คุณเรืองโรจน์ พูนผล ประธานกลุ่มบริษัท กสิกร บิซิเนส-เทคโนโลยี กรุ๊ป (KBTG) เปิดเผยว่า KBTG ได้เข้าร่วมเป็นสมาชิกห้องปฏิบัติการวิจัยของ MIT (MIT Media Lab) หนึ่งในห้องปฏิบัติการวิจัยที่ทันสมัยที่สุดในโลกของสถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์ (Massachusetts Institute of Technology : MIT) สหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยชั้นนำระดับโลก เพื่อดำเนินการวิจัยเทคโนโลยีล้ำยุคที่อยู่ในความสนใจร่วมกัน แลกเปลี่ยนความรู้ทางวิชาการระหว่างกัน และยังทำให้นักวิจัยของทั้งสองฝ่ายได้ร่วมทำงานวิจัยที่ก้าวหน้าเพื่อแก้ไขปัญหาที่สำคัญต่างๆ ในระดับประเทศ ทั้งในด้านการเงิน ความเสมอภาค ความยั่งยืน และด้านการศึกษา โดย KBTG เป็นบริษัทไทยแห่งแรกที่จะส่งนักวิจัยไปที่ห้องปฏิบัติการวิจัยของ MIT
คุณเรืองโรจน์ กล่าวเพิ่มเติมว่า KBTG มีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้ร่วมมือกับ MIT Media Lab ซึ่งความร่วมมือในครั้งนี้สอดคล้องกับความมุ่งมั่นของ KBTG ในการพัฒนาความสามารถด้านเทคโนโลยี รวมทั้งการค้นคว้าวิจัยเพื่อต่อยอดในการสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ ให้เกิดประโยชนสูงสุด โดยความร่วมมือนี้ได้ริเริ่มจากการพูดคุยกับ คุณพัทน์ ภัทรนุธาพร นักศึกษาปริญญาเอกของไทยคนแรกในสาขา Fluid Interfaces ที่ MIT Media Lab และเจ้าของงานวิจัยด้านปฏิสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับ AI รวมไปถึงการศึกษาส่วนบุคคล
คุณมิเรย์ รียู ผู้อำนวยการด้านความสัมพันธ์กับต่างประเทศของ MIT Media Lab เปิดเผยว่า MIT Media Lab ยินดีที่ความร่วมมือนี้เกิดขึ้น ซึ่งทั้ง KBTG และ MIT Media Lab ต่างก็เชื่อมั่นในการวิจัยแบบพหุวิทยาการและมีเป้าหมายร่วมกันที่จะแก้ไขปัญหาด้านเทคโนโลยี สังคม และความท้าทายต่างๆ ของโลกในหลายระดับ ภายใต้สภาพแวดล้อมการเรียนรู้เปิดกว้างที่จะสร้างความเปลี่ยนแปลงอย่างแท้จริงต่อสังคม โดยความร่วมมือนี้จะช่วยขยายขอบเขตการวิจัยของทั้งสองฝ่าย รวมทั้งทำให้ MIT Media Lab สามารถเข้าไปสำรวจและแก้ไขปัญหาสังคมในประเทศไทยและภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้
A3483