- Details
- Category: แบงก์พาณิชย์
- Published: Sunday, 05 December 2021 09:23
- Hits: 6255
ฟิทช์ ปรับเพิ่มอันดับเครดิตของธนาคารกรุงไทยเป็น ‘BBB+’ และ 'AAA(tha)' แนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ
ฟิทช์ เรทติ้งส์-กรุงเทพฯ/สิงคโปร์ - 1 ธันวาคม 2564: ฟิทช์ เรทติ้งส์ ประกาศปรับเพิ่มอันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะยาว (Long-Term Issuer Default Rating) ของธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KTB เป็น ‘BBB+’ จาก 'BBB' และอันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาว (National Long-Term Rating) เป็น ‘AAA(tha)’ จาก 'AA+(tha)' แนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ ดังนั้น อันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะสั้น อันดับเครดิตหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ และอันดับเครดิตหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิจะถูกปรับเพิ่มขึ้น 1 อันดับเช่นกัน
โดยการจัดอันดับเครดิตสะท้อนถึงการพิจารณาของฟิทช์ว่าบทบาทในเชิงนโยบายของ KTB มีความชัดเจนมากขึ้นในช่วงที่ประเทศไทยเผชิญกับภาวะเศรษฐกิจที่ท้าทายจากการแพร่ระบาดของโคโรน่าไวรัส ซึ่งเป็นการพิจารณาเพิ่มเติมจากการที่ KTB เป็นธนาคารที่มีความสำคัญเชิงระบบในประเทศไทย (D-SIB)
พร้อมกันนี้ ฟิทช์ได้ยกเลิกอันดับเครดิตสนับสนุน (Support Rating) และอันดับเครดิตสนับสนุนขั้นต่ำ (Support Rating Floor) เนื่องจากอันดับเครดิตดังกล่าวมิได้มีนัยสำคัญเพียงพอในการติดตามวิเคราะห์อีกต่อไป หลังจากที่มีการปรับเกณฑ์การจัดอันดับเครดิตเมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน 2564 และเพื่อให้สอดคล้องกับหลักเกณฑ์ใหม่นี้ ฟิทช์ให้อันดับเครดิตสนับสนุนจากรัฐบาล (Government Support Rating: GSR) ที่ 'bbb+'
รายละเอียดอันดับเครดิตทั้งหมดแสดงไว้ในส่วนท้าย
ปัจจัยสนับสนุนอันดับเครดิต
อันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศ อันดับเครดิตภายในประเทศ และอันดับเครดิตหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ อันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศ อันดับเครดิตภายในประเทศของ KTB มีปัจจัยสนับสนุนหลักมาจากอันดับเครดิตสนับสนุนจากรัฐบาล (GSR) ซึ่งสะท้อนถึงมุมมองของฟิทช์ต่อความสามารถและโอกาสที่รัฐบาลจะให้การสนับสนุนพิเศษที่นอกเหนือจากการดำเนินงานตามปรกติ (extraordinary support) แก่ KTB ในกรณีที่มีความจำเป็น ทั้งนี้ฟิทช์ให้อันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศของประเทศไทยที่ BBB+/F1 แนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ
การปรับเพิ่มอันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะสั้น สะท้อนถึงอันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะยาวที่มีปัจจัยสนับสนุนจากรัฐบาล และมุมมองของฟิทช์ในการสนับสนุนจากรัฐบาลในระยะสั้นนั้นมีความชัดเจนมากขึ้น ซึ่งนำไปสู่การจัดอันดับเครดิตระยะสั้นในอันดับสูงสุดของตารางการพิจารณาอันดับเครดิตระยะสั้นของฟิทช์ที่ 'F1'
ทั้งนี้ การพิจารณาอันดับเครดิตภายในประเทศยังพิจารณาเปรียบเทียบกับอันดับเครดิตของสถาบันการเงินไทยรายอื่นที่ได้รับการจัดอันดับเครดิตภายในประเทศด้วย การปรับเพิ่มอันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาว เป็น 'AAA(tha)' สอดคล้องกับการจัดอันดับเครดิตของธนาคารอื่นในประเทศไทยของฟิทช์ ซึ่งมีอันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะยาวที่ 'BBB+'
อันดับเครดิตของหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิของ KTB สะท้อนถึงภาระผูกพันที่ไม่มีหลักประกันและไม่ด้อยสิทธิของธนาคาร และได้รับการจัดอันดับเครดิตให้อยู่ในระดับเดียวกันกับอันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะยาวและอันดับเครดิตภายในประเทศ
อันดับเครดิตการสนับสนุนจากรัฐบาล
อันดับเครดิตการสนับสนุนจากรัฐบาล (GSR) ของ KTB สะท้อนว่า ฟิทช์เชื่อว่ามีความเป็นไปได้สูงที่รัฐบาลจะให้ความช่วยเหลือเป็นพิเศษกับ KTB ในกรณีที่จำเป็น ฟิทช์มองว่า KTB เป็นธนาคารที่มีความสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจของไทยด้วยส่วนแบ่งการตลาดของเงินฝากที่ 16% และถูกกำหนดโดยธนาคารแห่งประเทศไทยให้เป็นหนึ่งในหกธนาคารที่มีความสำคัญเชิงระบบในประเทศไทย (D-SIB)
นอกเหนือจากความสำคัญในเชิงระบบของ KTB ฟิทช์เชื่อว่า KTB ยังเป็นธนาคารที่มีความสำคัญในเชิงกลยุทธ์กับรัฐบาล ในฐานะที่เป็นธนาคารพาณิชย์รายเดียวที่ภาครัฐเป็นผู้ถือหุ้นส่วนใหญ่ โดยถือผ่านหน่วยงานของธนาคารแห่งประเทศไทยที่ 55% และฟิทช์มองว่าการถือหุ้นเป็นในลักษณะเชิงกลยุทธ์และระยะยาว
KTB มีบทบาทอย่างมากและมีหน้าที่โดยตรงในการสนับสนุนนโยบายของภาครัฐ เมื่อเปรียบเทียบกับธนาคารพาณิชย์เอกชนอื่น KTB มีบทบาทสำคัญในการช่วยภาครัฐกระจายเงินช่วยเหลือตามโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจและโครงการช่วยเหลือต่างๆ ผ่านทางแอพพลิเคชั่นและสาขาของธนาคาร อัตราการเติบโตของสินเชื่อของ KTB อยู่ที่ 12% ในปี 2563 และ 10% ในเดือนกันยายน ปี 2564 ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยของอุตสาหกรรมอย่างมีนัยสำคัญที่ 6% และ 4% ตามลำดับ ซึ่งการเติบโตของสินเชื่อส่วนใหญ่เป็นสินเชื่อของภาครัฐเพื่อรับมือกับผลกระทบจากวิกฤติโรคระบาด ฟิทช์คาดว่าการเชื่อมโยงซึ่งกันและกันกับรัฐบาล สะท้อนถึงบทบาทสำคัญของ KTB ในระบบเศรษฐกิจการเงิน
นอกจากนี้ อันดับเครดิตสนับสนุนจากรัฐบาล (GSR) ยังพิจารณาถึงความสามารถในการให้ความช่วยเหลือของรัฐบาล ซึ่งพิจารณาจากอันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศของประเทศ ฟิทช์เชื่อว่ารัฐบาลไทยยังคงมีความยืดหยุ่นทางการเงินในระดับที่ค่อนข้างสูง เมื่อเทียบกับระดับอันดับเครดิตปัจจุบัน และยังมีฐานะทางการคลังในระดับที่เพียงพอในการให้การสนับสนุนแก่ธนาคารไทยในกรณีที่จำเป็น แม้ว่าสัดส่วนหนี้สาธารณะจะปรับเพิ่มขึ้น การที่รัฐบาลได้ให้ความช่วยเหลือเพื่อรักษาเสถียรภาพของระบบการเงิน เช่น การให้ความช่วยเหลือผ่านทางมาตราการต่างๆ ของธนาคารแห่งประเทศไทย ยังสะท้อนถึงโอกาสที่รัฐบาลจะให้ความสนับสนุนแก่ธนาคารนั้นอยู่ในระดับที่สูง
อันดับความแข็งแกร่งทางการเงิน
อันดับความแข็งแกร่งทางการเงินของ KTB อยู่ที่ 'bbb-' ซึ่งสะท้อนสถานะทางการเงิน (standalone profile ) ที่พิจารณาถึงสภาวะแวดล้อมในการดำเนินงานที่ท้าทายของประเทศไทย ซึ่งได้รับคะแนนประเมินที่ 'bbb' โดยคะแนนสภาวะแวดล้อมในการดำเนินงานของธนาคารอยู่ในกลุ่ม 'bb' ตามเกณฑ์ของฟิทช์ แต่ฟิทช์ได้ปรับคะแนนเพิ่มโดยใช้อันดับเครดิตของประเทศไทย
ฟิทช์ เชื่อว่ารัฐบาลจะสนับสนุนเสถียรภาพของตลาดเงินและสภาพเศรษฐกิจ เพื่อส่งเสริมให้ธนาคารมีความสามารถในดำเนินงานที่มีกำไรและยั่งยืน ฟิทช์ คาดว่าสภาพเศรษฐกิจจะปรับตัวดีขึ้นในปี 2565 โดยคาดว่าอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจจะอยู่ที่ 4.8% ซึ่งน่าจะช่วยสนับสนุนผลประกอบการของธนาคารได้
อันดับความแข็งแกร่งทางการเงินของ KTB ยังสะท้อนถึงโครงสร้างธุรกิจในฐานะที่เป็นหนึ่งในธนาคารขนาดใหญ่ของประเทศไทย พร้อมกับมีสถานะการเงินในระดับปานกลาง โครงสร้างธุรกิจของ KTB ที่ 'bbb' สะท้อนถึงขนาดธุรกิจของธนาคารและการมีกลุ่มลูกค้าที่ค่อนข้างหลากหลาย ซึ่งสอดคล้องกับการดำเนินงานของ KTB ในลักษณะของการเป็นธนาคารพาณิชย์แบบครบวงจร (universal banking) แต่ก็รวมไปถึงแรงกดดันในการแข่งขันจากหลากหลายกลุ่มลูกค้าด้วยเช่นเดียวกัน โครงสร้างธุรกิจของ KTB ยังได้ประโยชน์จากความสัมพันธ์ที่ยาวนานและใกล้ชิดกับหน่วยงานรัฐ และในฐานะที่เป็นธนาคารหลักในการบริหารเงินสดให้กับภาครัฐ ซึ่งช่วยรักษาเสถียรภาพในด้านการดำเนินงานของธนาคาร
โครงสร้างความเสี่ยงของ KTB ที่ 'bbb-' สะท้อนถึงการที่ธนาคารมีนโยบายสินเชื่อที่มีความสม่ำเสมอน้อยกว่าและการควบคุมความเสี่ยงที่ด้อยกว่าเมื่อเทียบกับธนาคารขนาดใหญ่รายอื่นของไทย แต่ทั้งนี้ได้พิจารณาถึงการพัฒนาการในทางที่ดีขึ้นของนโยบายสินเชื่อ โดยเฉพาะสินเชื่อเพื่อรายย่อย
อัตราส่วนสินเชื่อด้อยคุณภาพต่อสินเชื่อรวมของ KTB มีการปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่องในระยะเวลาสองปีที่ผ่านมา เนื่องจากการขยายตัวของสินเชื่อที่สูงและมาตราการช่วยเหลือลูกหนี้ แม้ว่าอัตราส่วนสินเชื่อด้อยคุณภาพที่ 4.3% ณ สิ้นเดือนกันยายน 2564 จะยังคงอยู่ในระดับที่สูงกว่าค่าเฉลี่ยของอุตสาหกรรมที่ 3.8% และคุณภาพของสินทรัพย์ (bb+) จะยังคงมีแรงกดดันต่อเนื่อง
ฟิทช์ มองว่า มาตรการช่วยเหลือและมาตรการผ่อนปรนในเกณฑ์การจัดชั้นลูกหนี้ได้ช่วยชะลอผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโคโรน่าไวรัสต่อฐานะทางการเงินของธนาคารไทยทั้งระบบ รวมถึง KTB ด้วยซึ่งน่าจะมีการปรับตัวสูงขึ้นของอัตราส่วนสินเชื่อด้อยคุณภาพในปี 2565 แต่อย่างไรก็ตาม อัตราส่วนสำรองหนี้สูญต่อสินเชื่อด้อยคุณภาพ (loan loss absorption buffers) ของ KTB มีการปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ซึ่งน่าจะช่วยรองรับความเสี่ยงจากการปรับตัวเพิ่มขึ้นของสินเชื่อด้อยคุณภาพในอนาคตได้บ้าง โดยอัตราส่วนสำรองหนี้สูญต่อหนี้สินด้อยคุณภาพอยู่ที่ 157.2% ณ สิ้นเดือนกันยายน 2564 (2563:140.5%)
ความสามารถในการทำกำไรที่ชะลอตัวลงของ KTB มีแนวโน้มที่จะได้รับแรงกดดันต่อเนื่องในระยะสั้น ท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจที่น่าจะฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป การเติบโตของรายได้ที่ไม่ใช่ดอกเบี้ยที่ยังคงเผชิญกับความท้าทาย และแรงกดดันในด้านส่วนต่างอัตราดอกเบี้ย ฟิทช์คาดว่าการตั้งสำรองหนี้สูญอาจปรับตัวลดลงแต่น่าจะยังคงอยู่ในระดับที่สูงกว่าช่วงก่อนเกิดสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัส และจะยังคงจำกัดความสามารถในการทำกำไรของธนาคาร
นอกจากนี้ การฟื้นตัวของภาวะเศรษฐกิจที่อาจจะล่าช้ากว่าคาดการณ์ยังเป็นอีกหนึ่งความเสี่ยงของความสามารถในการทำกำไรของ KTB ดังนั้นอันดับคะแนนตามเกณฑ์ (implied factor score) จึงอยู่ในส่วนล่างของกลุ่ม 'bbb' (ฟิทช์ให้อันดับคะแนนที่ 'bb+') และสะท้อนถึงความผันผวนของความสามารถในการทำกำไรเมื่อเทียบกับธนาคารขนาดใหญ่ในประเทศ
อัตราส่วนสินเชื่อต่อเงินฝากมีการปรับสูงขึ้นเป็น 99.9% ณ สิ้นเดือนกันยายน 2564 แต่ฟิทช์มองว่าความสามารถในการระดมเงินของธนาคารยังคงมีความแข็งแกร่ง ฐานเงินฝากของธนาคารได้รับการสนับสนุนจากความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดกับหน่วยงานของภาครัฐ และมีสัดส่วนของเงินฝากกระแสรายวันและเงินฝากออมทรัพย์ในสัดส่วนที่สูง โดย ณ สิ้นเดือนกันยายน ปี 2564 อยู่ที่ 82% ของเงินฝากทั้งหมด ฟิทช์คาดว่าความสัมพันธ์ที่มีมาอย่างยาวนานกับภาครัฐจะยังคงมีอยู่อย่างต่อเนื่อง และช่วยสนับสนุนให้ธนาคารมีต้นทุนทางการที่ต่ำและช่วยสนับสนุนสภาพคล่องในระยะยาว
หุ้นกู้ด้อยสิทธิ
ฟิทช์จั ดอันดับหุ้นกู้ด้อยสิทธิที่นับเป็นเงินกองทุนชั้นที่ 2 ของ KTB ที่ระดับต่ำกว่าอันดับเครดิตเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะยาวของธนาคารอยู่ 2 อันดับ ซึ่งสอดคล้องกับเกณฑ์พื้นฐานตามเกณฑ์การพิจารณาอันดับเครดิตของฟิทช์
การใช้อันดับเครดิตภายในประเทศที่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลเ ป็นอันดับเครดิตที่ใช้อ้างอิง(anchor rating) สะท้อนถึงความคาดหวังที่ว่ารัฐบาลจะเข้ามาให้การช่วยเหลือ KTB ก่อนที่จะถึงจุดที่ไม่สามารถดำเนินกิจการต่อไปได้ (the point of non-viability) การจัดอันดับดังกล่าวสะท้อนถึงความเสี่ยงของการขาดทุนจากการชำระคืนเงินกู้ (loss severity risk) ที่มีสูงกว่าเมื่อเทียบกับตราสารหนี้ที่ไม่ด้อยสิทธิ ทั้งนี้ไม่ได้มีการลดทอนอันดับเครดิตเพิ่มเติมเนื่องจากข้อกำหนดสิทธิของหุ้นกู้ด้อยสิทธิดังกล่าวไม่ได้มีคุณสมบัติรองรับผลขาดทุนในระหว่างการดำเนินกิจการ (going-concern loss absorption) เช่น คุณสมบัติของการยกเลิกหรือการเลื่อนจ่ายดอกเบี้ย
ปัจจัยที่อาจมีผลต่ออันดับเครดิตในอนาคต
ปัจจัยที่อาจส่งผลกระทบเชิงลบหรือส่งผลให้เกิดการปรับลดอันดับเครดิต (ปัจจัยเดียวหรือหลายปัจจัยรวมกัน)
อันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศ อันดับเครดิตภายในประเทศ และอันดับเครดิตหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ
การปรับลดอันดับเครดิตสนับสนุนจากรัฐบาล จะส่งผลกระทบในทิศทางเดียวกันต่ออันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศ อันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวและอันดับเครดิตของหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ อันดับเครดิตภายในประเทศของ KTB จะพิจารณาถึงโครงสร้างเครดิตของธนาคารที่อาจด้อยลงเมื่อเทียบกับธนาคารหรือบริษัทอื่นในประเทศ
อันดับความแข็งแกร่งทางการเงิน
อันดับความแข็งแกร่งทางการเงินของ KTB อาจถูกปรับลดลง หากฐานะทางการเงินของธนาคารปรับลดลงอย่างมีนัยสำคัญมากกว่าที่ฟิทช์คาดการณ์ไว้ ซึ่งอาจสะท้อนได้โดยการปรับลดคะแนนของปัจจัยต่างๆ ที่ใช้พิจารณาอันดับเครดิต โดยเหตุการณ์ดังกล่าวอาจเกิดได้จากสภาพแวดล้อมในการดำเนินงานที่ปรับตัวแย่ลงกว่าที่คาดการณ์ และมีส่วนแบ่งทางการตลาดลดลง ตัวอย่างเช่น การที่ธนาคารมีความสามารถในการรองรับความเสี่ยงที่ลดลง ซึ่งอาจแสดงได้จากการปรับตัวลดลงของอัตราส่วนเงินกองทุนชั้นที่ 1 ที่เป็นส่วนของเจ้าของที่ต่ำกว่า 13 % เป็นระยะเวลาต่อเนื่อง (ณ สิ้นเดือนกันยายน 2564: 15.5%)
ควบคู่ไปกับการลดลงของอัตราส่วนสำรองหนี้สูญต่อหนี้สินด้อยคุณภาพที่ต่ำกว่า 100% การปรับเพิ่มระดับความเสี่ยงของธนาคาร ซึ่งสะท้อนจากการเปลี่ยนแปลงของคะแนนโครงสร้างความเสี่ยง และอาจนำไปสู่การปรับตัวด้อยลงอย่างมีนัยสำคัญของคุณภาพสินทรัพย์และการสร้างรายได้อย่างต่อเนื่องตลอดช่วงวัฏจักรธุรกิจ ซึ่งอาจส่งผลให้เกิดการปรับลดอันดับเครดิตได้เช่นกัน
อันดับเครดิตสนับสนุนจากรัฐบาล
การปรับลดอันดับเครดิตสนับสนุนจากรัฐบาล อาจเกิดขึ้นได้ หากความสามารถในการสนับสนุนจากรัฐบาลลดลง ซึ่งดูได้จากอันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะยาวของประเทศไทย
นอกจากนี้ อันดับเครดิตสนับสนุนจากรัฐบาลของ KTB อาจถูกปรับลดอันดับได้ ในกรณีที่มีการปรับลดลงของแนวโน้มในการให้การสนับสนุนจากรัฐบาล เช่น การลดลงอย่างมีนัยสำคัญของระดับความสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจและการเงินของประเทศ พร้อมทั้งการลดลงของระดับความสัมพันธ์กับรัฐบาล แต่อย่างไรก็ตามฟิทช์มองว่าเหตุการณ์ดังกล่าวไม่น่าจะเกิดขึ้นในระยะสั้น
หุ้นกู้ด้อยสิทธิ
การปรับลดลงของอันดับเครดิตภายในประเทศ จะส่งผลให้อันดับเครดิตของหุ้นกู้ด้อยสิทธิถูกปรับลดอันดับ
ปัจจัยที่อาจส่งผลกระทบเชิงบวกหรือส่งผลให้เกิดการปรับเพิ่มอันดับเครดิต (ปัจจัยเดียวหรือหลายปัจจัยรวมกัน)
อันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศ อันดับเครดิตภายในประเทศ และอันดับเครดิตหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ
การปรับเพิ่มอันดับเครดิตสนับสนุนจากรัฐบาลจะส่งผลกระทบในทิศทางเดียวกันต่ออันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศ ระยะยาวและ อันดับเครดิตของหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ
อันดับเครดิตภายในประเทศของ KTB ไม่มีโอกาสปรับเพิ่มอีกแล้ว เนื่องจากเป็นอันดับเครดิตสูงสุดแล้ว
อันดับความแข็งแกร่งทางการเงิน
การปรับเพิ่มอันดับความแข็งแกร่งทางการเงินอาจเกิดขึ้นได้ หากคุณภาพของสินทรัพย์และรายได้ของธนาคาร มีการปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง ตัวอย่างเช่น การปรับลดลงของอัตราส่วนสินเชื่อด้อยคุณภาพต่อสินเชื่อรวมลงไปต่ำกว่า 3.5% (ณ สิ้นเดือนกันยายน 2564: 4.3%) พร้อมทั้งที่ยังคงรักษาระดับความเสี่ยงที่ยอมรับได้ให้ทรงตัวหรือลดลง ควบคู่ไปกับการมีอัตราส่วนกำไรจากการดำเนินงานต่อสินทรัพย์เสี่ยงที่สูงขึ้นมากกว่า 2% (ณ สิ้นเดือนกันยายน 2564: 1.5%) และการดำรงเงินกองทุนที่แข็งแรงสอดคล้องกับค่าเฉลี่ยของอุตสาหกรรม
อันดับเครดิตสนับสนุนจากรัฐบาล
อับดับเครดิตสนับสนุนจากรัฐบาลได้รับการจัดอันดับให้อยู่ในระดับเดียวกันกับอันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะยาวของประเทศไทย ดังนั้นการปรับเพิ่มอันดับเครดิตสนับสนุนจากรัฐบาลจะเกิดขึ้นได้ ก็ต่อเมื่ออันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะยาวของประเทศไทยได้รับการปรับเพิ่มอันดับเช่นกัน ซึ่งจะเป็นการบ่งชี้ถึงความสามารถที่เพิ่มขึ้นของรัฐบาลในการให้ความสนับสนุนแก่ KTB แต่อย่างไรก็ตาม ต้องพิจารณาสมมุติฐานอื่นที่เกี่ยวข้องกับแนวโน้มการให้ความสนับสนุนด้วยว่าไม่มีการเปลี่ยนแปลง ณ ระดับอันดับเครดิตของประเทศที่สูงขึ้น
หุ้นกู้ด้อยสิทธิ
อันดับเครดิตของหุ้นกู้ด้อยสิทธิ สกุลเงินบาทของ KTB ไม่มีโอกาสปรับขึ้นได้อีก เนื่องจากอันดับเครดิตอ้างอิงอยู่ในระดับที่สูงสุดของอันดับเครดิตภายในประเทศแล้ว
การปรับคะแนนของปัจจัยในการพิจารณาอันดับความแข็งแกร่งทางการเงิน
คะแนนที่ให้แก่ปัจจัยด้านสภาพแวดล้อมในการดำเนินงานที่ 'bbb' อยู่สูงกว่าคะแนนตามเกณฑ์ที่อยู่ในกลุ่ม 'bb' เนื่องจากการปรับเพิ่มคะแนนด้วยปัจจัยด้าน 'อันดับเครดิตของประเทศ'
คะแนนที่ให้แก่ปัจจัยด้านรายได้และอัตรากำไรที่ ‘bb+’ อยู่ต่ำกว่าคะแนนตามเกณฑ์ที่อยู่ในกลุ่ม 'bbb' เนื่องจากการปรับลดคะแนนด้วยปัจจัยด้าน 'ความผันผวนของความสามารถในการทำกำไร'
อันดับเครดิตที่มีความเชื่อมโยงกับอันดับเครดิตอื่น
อันดับเครดิตสนับสนุนจากรัฐบาล อันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะยาว และอันดับเครดิตภายในประเทศของ KTB มีความเชื่อมโยงกับอันดับเครดิตสากลของประเทศไทย
การพิจารณาปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (ESG)
KTB มีระดับคะแนนด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (ESG)ที่ระดับ 4 สำหรับความสัมพันธ์ของโครงสร้างธรรมาภิบาล (Governance Structure) เนื่องจากมีโอกาสที่ภาครัฐจะมีอิทธิพลต่อการกำกับดูแลกิจการและความเสี่ยง (risk governance) จากการถือหุ้นโดยรัฐบาลในธนาคารรวมถึงจะสามารถมีอิทธิพลต่อคณะกรรมการและผู้บริหารซึ่งเป็นปัจจัยที่อาจส่งผลกระทบทางลบต่อโครงสร้างเครดิตและสัมพันธ์ต่ออันดับเครดิตเช่นเดียวกับปัจจัยสนับสนุนอันดับเครดิตอื่น การเชื่อมโยงที่แข็งแกร่งกับรัฐบาลยังอาจเป็นปัจจัยที่เราพิจารณาถึงความเป็นไปได้ในการสนับสนุนจากรัฐบาลซึ่งเป็นตัวขับเคลื่อนอันดับเครดิตสนับสนุนจากรัฐบาลและอันดับเครดิตสากลระยะยาว
หากมีการเปิดเผย ระดับคะแนนที่สูงที่สุดสำหรับความสัมพันธ์ของ ESG ต่ออันดับเครดิต แสดงว่าระดับคะแนนจะอยู่ที่ระดับ 3 ซึ่งหมายความว่าปัจจัยด้าน ESG จะไม่ส่งผลกระทบหรืออาจมีผลกระทบในระดับที่น้อยมากต่ออันดับเครดิตของธนาคาร ไม่ว่าจะด้วยปัจจัยจากลักษณะของธุรกิจหรือจากการบริหารจัดการของธนาคารก็ตามสำหรับรายละเอียดเพิ่มเติมหาได้จากwww.fitchratings.com/esg
รายละเอียดของอันดับเครดิตทั้งหมดมีดังนี้
- อันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะยาว ปรับเพิ่มอันดับเครดิตเป็น ‘BBB+’ แนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ
- อันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะสั้น ปรับเพิ่มอันดับเครดิตเป็น ‘F1’
- อันดับความแข็งแกร่งทางการเงิน คงอันดับเครดิตที่ ‘bbb-’
- อันดับเครดิตสนับสนุนจากรัฐบาล ให้อันดับเป็น 'bbb+'
- อันดับเครดิตสนับสนุน ยกเลิกอันดับเครดิต
- อันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาว ปรับเพิ่มอันดับเครดิตเป็น ‘AAA(tha)’ แนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ
- อันดับเครดิตภายในประเทศระยะสั้น คงอันดับเครดิตที่ ‘F1+(tha)’
- อันดับเครดิตภายในประเทศของหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิไม่มีหลักประกัน ปรับเพิ่มอันดับเครดิตเป็น ‘AAA(tha)’
- อันดับเครดิตภายในประเทศของหุ้นกู้ด้อยสิทธิที่นับเป็นเงินกองทุนชั้นที่ 2 (ตามเกณฑ์บาเซล 3) ปรับเพิ่มอันดับเครดิตเป็น ‘AA(tha)’
ติดต่อ
Primary Rating Analysts
Tania Gold (อันดับเครดิตสากล)
Senior Director
+65 6796 7224
Fitch Ratings Singapore Pte Ltd
One Raffles Quay #22-11, South Tower
Singapore 048583
อาลฎา สุขะการผดุง (อันดับเครดิตภายในประเทศ)
Associate Director
+662 108 0163
บริษัท ฟิทช์ เรทติ้งส์ (ประเทศไทย) จำกัด
อาคารปาร์คเวนเชอร์ ชั้น 17
57 ถนน วิทยุ ลุมพินี
ปทุมวัน กรุงเทพฯ 10330
Secondary Rating Analysts
อาลฎา สุขะการผดุง (อันดับเครดิตสากล)
Associate Director
+662 108 0163
พชร ศรายุทธ (อันดับเครดิตภายในประเทศ)
Director
+662 108 0152
Committee Chairperson
Jonathan Cornish
Managing Director
+852 2263 9901
ข้อมูลเพิ่มเติมหาได้จาก www.fitchratings.com