- Details
- Category: แบงก์พาณิชย์
- Published: Wednesday, 29 September 2021 23:04
- Hits: 17856
ธอส. เร่งช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบจากพายุ ‘เตี้ยนหมู่’
ผ่าน 7 มาตรการ ที่ได้ประกาศไปเมื่อ 16 ก.ย.64
พร้อมลงพื้นที่แจกถุงยังชีพบรรเทาความเดือดร้อนเบื้องต้น
ธนาคารอาคารสงเคราะห์ เร่งให้ความช่วยเหลือผู้ประสบอุกทกภัยจากพายุโซนร้อน “เตี้ยนหมู่” ผ่าน 7 มาตรการที่ได้ประกาศไปเมื่อ 16 ก.ย.64 ใน “โครงการเงินกู้ที่อยู่อาศัยเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติ ทางธรรมชาติปี 2564” ภายใต้กรอบวงเงินรวมของโครงการ 100 ล้านบาท ครอบคลุมทั้งการลดดอกเบี้ย ให้กู้เพิ่ม/กู้ใหม่อัตราดอกเบี้ยต่ำ มาตรการประนอมหนี้ ปลอดหนี้ และพิจารณาสินไหมเร่งด่วน พร้อมลงพื้นที่มอบถุงยังชีพและสิ่งของที่จำเป็น มูลค่ารวม 840,000 บาท เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนเบื้องต้นให้ผู้ประสบอุทกภัย
นายฉัตรชัย ศิริไล กรรมการผู้จัดการ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) เปิดเผยว่า ตามที่เกิดฝนตกหนักจนทำให้น้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลากในหลายจังหวัดของพื้นที่ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคกลาง สร้างความเสียหายต่อลูกค้าประชาชนเป็นวงกว้างจากอิทธิพลของพายุโซนร้อน “เตี้ยนหมู่” โดยเฉพาะผลกระทบทางด้านที่อยู่อาศัย เส้นทางการคมนาคมถูกตัดขาด และการประกอบอาชีพ ธอส. ในฐานะสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐมีที่มีพันธกิจ “ทำให้คนไทยมีบ้าน” นอกจากการจัดทำ 7 มาตรการ บรรเทาความเดือดร้อนให้แก่ลูกค้าประชาชนด้วย “โครงการเงินกู้ที่อยู่อาศัยเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติ ทางธรรมชาติปี 2564” ภายใต้กรอบวงเงินรวมของโครงการ 100 ล้านบาท ที่เริ่มให้ความช่วยเหลือลูกค้าตั้งแต่วันที่ 16 กันยายน 2564 ล่าสุดได้มอบหมายให้คณะผู้บริหาร และผู้ปฏิบัติงานของธนาคารในสำนักเขตและสาขาในพื้นที่ภาคเหนือตอนล่างภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง และภาคกลางและภาคใต้ตอนบน เร่งลงพื้นที่เพื่อสำรวจความเสียหายและความต้องการของลูกค้าประชาชนที่ได้รับผลกระทบเพิ่มเติม และส่งมอบถุง ยังชีพที่บรรจุเครื่องอุปโภคบริโภคสิ่งของที่จำเป็นมูลค่ารวม 840,000 บาท ให้แก่ผู้ประสบอุทกภัยในจังหวัด ต่างๆ อาทิ พิษณุโลก สุโขทัย กำแพงเพชร เพชรบูรณ์ พิจิตร นครสวรรค์ ชัยนาท ชัยภูมิ นครราชสีมา สุพรรณบุรี พระนครศรีอยุธยา สิงห์บุรี อ่างทอง เป็นต้น เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนเบื้องต้น ซึ่งถือเป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินงานด้านความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม หรือ CSR ของธนาคาร
ขณะเดียวกัน ระหว่างการลงพื้นที่ธนาคารยังได้ให้คำแนะนำลูกค้าประชาชนที่ได้รับผลกระทบเข้ารับความช่วยเหลือตามมาตรการใน “โครงการเงินกู้ที่อยู่อาศัยเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติ ทางธรรมชาติปี 2564” ประกอบด้วย มาตรการที่ 1 สำหรับลูกค้าเดิมของ ธอส. กรณีหลักประกัน (ที่อยู่อาศัยที่จดจำนองกับธนาคาร) ของตนเองหรือคู่สมรสได้รับความเสียหายจากการประสบอุทกภัยสามารถขอลดอัตราดอกเบี้ยและเงินงวดผ่อนชำระ เดือนที่ 1-4 อัตราดอกเบี้ย 0% ต่อปี มาตรการที่ 2 สำหรับลูกค้าใหม่ หรือลูกค้าเดิมของ ธอส. ที่หลักประกันของตนเองหรือคู่สมรสได้รับความเสียหายจากการประสบอุทกภัย สามารถขอกู้เพิ่ม หรือกู้ใหม่ เพื่อปลูกสร้างอาคารทดแทนหลังเดิม หรือกู้ซ่อมแซมอาคาร ที่ได้รับความเสียหาย วงเงินให้กู้ต่อรายไม่เกิน 1 ล้านบาท ต่อ 1 หลักประกัน คิดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้คงที่ 3.00% ต่อปี นาน 1 ปี
มาตรการที่ 3 ลูกหนี้ NPL ที่หลักประกันได้รับความเสียหาย ให้ลูกหนี้ประนอมหนี้ระยะเวลาไม่เกิน 1 ปี 4 เดือน อัตราดอกเบี้ย 0% ต่อปี นาน 4 เดือนแรกโดยไม่ต้องชำระเงินงวด มาตรการที่ 4 ลูกหนี้ NPL ที่ได้รับผลกระทบด้านรายได้ ให้ประนอมหนี้เป็นระยะเวลาไม่เกิน 1 ปี อัตราดอกเบี้ย 1.00% ต่อปี มาตรการที่ 5 ลูกหนี้ที่เสียชีวิตหรือทุพพลภาพถาวร ให้ผ่อนชำระโดยใช้อัตราดอกเบี้ย 0.01% ต่อปี ตลอดระยะเวลาที่คงเหลือ มาตรการที่ 6 กรณีที่อยู่อาศัยได้รับความเสียหายทั้งหลังและไม่สามารถซ่อมแซมได้ ให้ปลอดหนี้ ในส่วนของราคาอาคาร และให้ผ่อนชำระต่อเฉพาะในส่วนของที่ดินที่คงเหลือ และ มาตรการที่ 7 พิจารณาสินไหมเร่งด่วน (Fast Track) สำหรับลูกค้าที่ทำกรมธรรม์ประกันอัคคีภัยสำหรับที่อยู่อาศัยซึ่งคุ้มครองภัยธรรมชาติ รวมถึงกรณีน้ำท่วม หรือ ลมพายุ
ทั้งนี้ ลูกค้าที่ประสงค์ขอรับบริการของ “โครงการเงินกู้ที่อยู่อาศัยเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติธรรมชาติปี 2564” ตามมาตรการที่ 1-6 สามารถติดต่อได้ที่สาขาของ ธอส. ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไปถึงวันที่ 31 ตุลาคม 2564 และมาตรการที่ 7 ติดต่อได้ที่สาขาของ ธอส. ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ศูนย์ลูกค้าสัมพันธ์ (Call Center) โทร 0-2645-9000 หรือ Facebook Fanpage ธนาคารอาคารสงเคราะห์ หรือที่ ธอส. ทุกสาขาทั่วประเทศ และติดตามข้อมูลข่าวสารได้ที่ Application : GHB ALL และ www.ghbank.co.th
A91043
******************************************
กด Like - Share เพจ Corehoon-Power Time เพื่อติดตามเคล็ดลับ ข่าวสาร เทรนด์ และบทวิเคราะห์ดีๆ อัพเดตทุกวัน คัดสรรมาเพื่อท่านนักลงทุนโดยเฉพาะ